posttoday

เจนณรงค์ นบนอบ ครูดนตรี หัวใจ(รัก)เกษตร

04 มีนาคม 2561

เห็นบ้านหลังน้อยรูปทรงเก๋ๆ ในสวนผักบนพื้นที่ 1 ไร่ ในบรรยากาศกลางคืนที่เงียบสงบ อากาศกลางคืนเย็นสบาย ยามเช้าสดชื่นแจ่มใส

โดย วรธาร ทัดแก้ว

เห็นบ้านหลังน้อยรูปทรงเก๋ๆ ในสวนผักบนพื้นที่ 1 ไร่ ในบรรยากาศกลางคืนที่เงียบสงบ อากาศกลางคืนเย็นสบาย ยามเช้าสดชื่นแจ่มใส กลางวันไม่ร้อนมาก เพราะสวนโอบล้อมด้วยต้นไม้สีเขียว หลายคนคงแอบอิจฉาเจ้าของบ้านอยู่แน่ๆ เป็นหนุ่มโสดวัยยังไม่ถึงเลข 3 อีกต่างหาก ทั้งหน้าที่การงานดี โดยเป็นถึงครูสอนดนตรีและศิลปะอีกด้วย

เขาคือ เจนณรงค์ นบนอบ หรือครูแบงค์ ปัจจุบันเป็นครูสอนวิชาดนตรีและศิลปะ โรงเรียนปิยะฉัตร (โรงเรียนระดับประถมศึกษา อนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 ในเขต อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี) โดยสอนมาเป็นเวลา 4 ปีแล้ว ตั้งแต่เรียนจบทางด้านดนตรีสากลมา ทุกวันนี้เขายังคงมีความสุขกับการถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านดนตรีให้แก่เด็กนักเรียน

เจนณรงค์ นบนอบ ครูดนตรี หัวใจ(รัก)เกษตร

“ผมรักในการสอนนะ สนุกดี และผมรักดนตรี จึงไม่รู้สึกเบื่อทุกครั้งที่ได้สอนเด็กๆ ผมสอนทั้งดนตรีไทย ดนตรีสากล นอกจากนี้ก็พยายามส่งเสริมให้พวกเขาได้แสดงความสามารถทางด้านดนตรีอยู่บ่อยๆ เริ่มจากการตั้งวงขึ้นมากับเด็กๆ ชื่อวง ปิยะฉัตรแบนด์ ตามชื่อโรงเรียนเลย เวลาโรงเรียนมีงานก็เล่นเอง ไม่ต้องหาวงอื่น

รวมทั้งหางานข้างนอกให้พวกเขาได้แสดงฝีมืออย่างวันที่ 11 มี.ค.นี้ พวกเขาจะแสดงโชว์ที่โรงเรียนเป็นงานสุดท้าย เพราะแต่ละคนจบ ป.6 แล้วก็ต้องแยกย้ายไปเรียนต่อแต่เด็กเหล่านี้มีความสามารถทางด้านดนตรีติดตัวไปด้วย ขณะเดียวกันเราก็ต้องสร้างนักดนตรีรุ่นใหม่ขึ้นมาแทน เพราะที่โรงเรียนเรามีชมรมดนตรีอยู่แล้ว”

เจนณรงค์ นบนอบ ครูดนตรี หัวใจ(รัก)เกษตร

นอกจากสอนหนังสือเป็นอาชีพหลักแล้ว ครูนักดนตรีหนุ่มยังชื่นชอบธรรมชาติ ต้นไม้ พืชผักสีเขียวมาตั้งแต่เด็ก ทุกครั้งที่เห็นการเจริญเติบโตของต้นไม้ พืชผักสีเขียวเขารู้สึกได้ถึงความสุขและความอยากจะลงมือปลูกให้ได้ แต่ยังไม่มีโอกาสได้ลงมือ จนกระทั่งมาเป็นครูสอนดนตรี จึงเริ่มเก็บเงินไปพร้อมกับศึกษาวิธีปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์ด้วยตัวเองไปด้วย

“ผมจะศึกษาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต พอเลิกจากโรงเรียนหรือวันหยุดก็พยายามหาข้อมูล หาเทคนิค วิธีการปลูก ศึกษาว่าเขาใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง ทำอย่างไร จากนั้นก็ลองปลูก เลือกผักสลัดนี่แหละ ปลูก 1 แปลง ลงทุน 3 หมื่นบาท ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจทำเป็นธุรกิจ แค่อยากปลูกผักปลอดสารพิษกินในครอบครัว ทุกคนได้ทำกิจกรรมร่วมกัน

ทำในช่วงแรกๆ ก็เจอปัญหามากมาย ทั้งเรื่องโรค แมลง สภาพน้ำ เนื่องจากเรายังขาดความรู้และเทคนิคต่างๆ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้ผมท้อเลยนะ คือ เรื่องนี้ผมมีความสุขที่จะทำอยู่แล้ว ฉะนั้นเวลาเจอปัญหาผมก็ค่อยๆ หาวิธีแก้ ศึกษาเทคนิค วิธีการปลูกอย่างจริงจัง เอาใจใส่ ให้เวลากับมันเยอะๆ ในที่สุดก็ได้ผลผลิตและคุณภาพดีขึ้น”

เจนณรงค์ นบนอบ ครูดนตรี หัวใจ(รัก)เกษตร

ครูแบงค์ บอกว่า พอทำไปได้สองเดือนก็เริ่มมีลูกค้าติดต่อเข้ามาจากนั้นจึงขยายแปลงเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีแปลงขนาด 6 เมตร ประมาณ 40 แปลง ในพื้นที่ 1 ไร่ สามารถผลิตออกจำหน่ายได้อาทิตย์ละ 250-300 กิโลกรัม โดยผักที่ปลูกส่วนใหญ่คือผักสลัด ได้แก่ กรีนโอ๊ก เรดโอ๊ก เรดคอรอล และฟินเนอร์เร ส่วนคอสไม่ได้ปลูกมาก ซึ่งใช้เวลา  45 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้แล้ว

“ตอนนี้ผมได้ทดลองปลูกสตรอเบอร์รี่และมัลเบอร์รี่ ซึ่งได้พันธุ์มาจากประเทศตุรกี โดยปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์อยู่ในขั้นของการทดลอง เพิ่งเริ่มได้เดือนเดียวแต่น่าสนใจมากที่สตรอเบอร์รี่เป็นต้นไม้ที่ไม่ชอบน้ำขัง ผมก็ได้นำมาทดลองปลูกในระบบน้ำที่ไหลวนตลอดเวลา ปรากฏว่าเขาอยู่รอดและได้ให้ผลแก่เราด้วย ส่วนมัลเบอร์รี่ก็น่าพอใจครับ”

นักดนตรีผู้รักการทำเกษตรเล่าว่า การเลือกการปลูกด้วยวิธีไฮโดรโปนิกส์ เพราะมองว่าดีกว่าระบบในดิน เป็นระบบที่เชื้อโรค หรือสารตกค้างในดินมีโอกาสยากมากที่จะแทรกซึมเข้าสู่พืชผัก เนื่องจากได้ปรับระดับพื้นดินสูงประมาณ 1 เมตร อีกทั้งเป็นระบบที่สามารถควบคุมอาหารได้ตามอายุช่วงที่เหมาะสมของพืชได้ด้วย ดังนั้น พืชจะกินอาหารได้ใกล้เคียงกันหมด โตมาสวยและมีขนาดใกล้เคียงกัน แต่ข้อเสียของวิธีนี้คือลงทุนค่อนข้างสูง

เจนณรงค์ นบนอบ ครูดนตรี หัวใจ(รัก)เกษตร

“สำหรับใครที่อยากปลูกผักด้วยวิธีไฮโดรโปนิกส์ แต่ไม่มีความรู้มาก่อนเหมือนผม อยากแนะนำให้ไปศึกษาหาความรู้จากฟาร์มปลูกผักจริงๆ จะดีกว่าสามารถสอบถามจากเจ้าของฟาร์มโดยตรง จะได้ความรู้ที่เข้าใจง่ายกว่า และไม่ต้องเสียเวลาเหมือนผม ส่วนที่ผมศึกษาด้วยตัวเองเพราะไม่มีเวลา แต่เหนืออื่นใดผมทำด้วยใจรัก จึงอยู่กับมันได้แม้ว่าเจอปัญหาอะไรก็ไม่รู้สึกท้อ

ปัจจุบัน ผักสลัด ครูแบงค์ได้รับการตอบรับดีมากจากลูกค้า จากการบอกต่อปากต่อปากและการประชาสัมพันธ์ผ่านทางเฟซบุ๊ก “ผักสลัด ครูแบงค์” เนื่องจากเป็นผักปลอดสารพิษในการปลูกไม่มีการใช้สารเคมี หรือยาฆ่าแมลง

“ฟาร์มผักผมไม่ใช้ยาฆ่าแมลงและสารเคมีทุกชนิดในการกำจัดและป้องกันศัตรูพืช แต่จะใช้สารชีวภัณฑ์ (Microbial Pesticide) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่ผลิตและพัฒนามาจากสิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์ พอแมลงมาโดนก็จะหนีไปแต่ไม่มีอันตรายต่อคน พืชผักกินได้ปลอดภัยไม่มีสารพิษตกค้าง”

ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าชีวิตของครูนักดนตรีหนุ่มผู้นี้มีความสุขมาก ทั้งในบทบาทครูที่เป็นอาชีพหลักและเกษตรกรผู้ผลิตอาหารสะอาดปลอดภัยให้คนอื่นที่เป็นอาชีพเสริม ใครที่อยากจะลองทำเหมือนครูแบงค์ก็ได้ แต่การจะทำได้อย่างครูแบงค์ต้องมีใจรักเป็นพื้นฐานจึงจะทำได้