posttoday

คำว่ารักคงยังไม่พอ ต้องมี 'สินสอด' ด้วย

01 มีนาคม 2561

ดาราเลิกกันทีไร สินสอดกลายเป็นประเด็นให้นักข่าวถามถึงอย่างบ่อยครั้ง และส่งผลให้คนยังไม่ได้แต่งงานอย่างผมต้องไปคุยกับผู้เชี่ยวชาญ

เรื่อง : วรรณโชค ไชยสะอาด

ดาราเลิกกันทีไร สินสอดกลายเป็นประเด็นให้นักข่าวถามถึงอย่างบ่อยครั้ง และส่งผลให้คนยังไม่ได้แต่งงานอย่างผมต้องไปคุยกับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อประเมินว่าสินสอดนั้นสำคัญอย่างไร ถึงเวลาไปขอผู้หญิงแต่งงาน จะได้ให้คำอธิบายกับเธอถูก 

เริ่มกันที่ความหมายของสินสอดและของหมั้น

พล.ต.หลวงวิจิตรวาทการ บอกในหนังสือวิชาการครองรักครองเรือน ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2494 ว่า ของหมั้นเป็นของที่พ่อแม่ฝ่ายหญิงเรียกจากฝ่ายชาย เหตุที่ฝ่ายชายต้องให้ เพื่อเป็นเครื่องรับประกัน เพราะมีไม่น้อยที่ถึงเวลาจะแต่งกันจริงๆ เจ้าบ่าวกลับไม่ยอมแต่งงานเอาเสียดื้อๆ การเป็นหม้ายขันหมากถือเป็นเรื่องสาหัสสำหรับผู้หญิง ในกรณีที่มีเหตุให้ไม่ได้แต่งงานกันเพราะฝ่ายชาย ของหมั้นจะตกเป็นของฝ่ายหญิง

ส่วนสินสอด พ่อแม่ฝ่ายหญิงจะเรียกเป็นพิธีเท่านั้น เรียกกันว่าเป็นค่าน้ำนม "สินสอดนี้จะเรียกไม่เกิน 40 บาท หากเรียกเกินกว่านี้ถือว่าเป็นการ ‘ขายลูกสาว’ ไม่ว่าครอบครัวทั้งสองฝ่ายจะมั่งมีขนาดไหนก็จะไม่ทำกัน"

ส่วนคำว่า เงินกองทุน เป็นเครื่องแสดงฐานะของพ่อแม่ทั้งสองฝ่าย ถ้าฐานะดีจะเรียกกันสูง พ่อแม่ของทั้งฝ่ายชายและหญิงต้องให้เท่ากันทั้งสองฝ่าย ในวันแต่งงานจะมีการแกะห่อนับจำนวนเงินกันเพื่อให้ผู้ที่มาร่วมพิธีเป็นพยาน เงินกองทุนที่พ่อแม่ฝ่ายหญิงเรียกนั้นเป็นหลักประกันว่า ผู้ที่มาเป็นเขยสามารถเลี้ยงดูลูกสาวได้ไม่ด้อยไปกว่าที่พ่อแม่เลี้ยงดูมา และเงินกองนี้จะถูกยกให้กับคู่บ่าวสาวไปตั้งตัว

ผมขอความรู้ต่อกับ อ.ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์ นักวิชาการด้านศาสนวิทยา และผู้สนใจปรัชญาและมานุษยวิทยา อาจารย์บอกว่าสินสอดเป็นวัฒนธรรมโบราณ ตามความเชื่อเรื่องชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงตกอยู่ในคติของความอ่อนแอ ต้องได้รับการดูแลภายใต้การปกครองของพ่อแม่จนกระทั่งออกเรือน

การนำสิ่งของมีค่ามามอบให้กับครอบครัวของฝ่ายหญิง ด้านหนึ่งเป็นการสะท้อนคุณค่าและตอบแทนการดูแลของครอบครัวฝ่ายหญิง ขณะที่อีกด้านเป็นเสมือนเครื่องชี้วัดให้ความมั่นใจว่าฝ่ายหญิงจะได้รับการดูแลที่ดี

เขาบอกว่าสินสอดเป็นวัฒนธรรมที่ยังดำรงอยู่เฉพาะในเอเชีย ขณะที่โลกตะวันตกหลุดพ้นเรื่องนี้ไปแล้ว เลือกให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียม ความเป็นอิสระ นอกจากนั้นยังเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาสวัสดิภาพและกฎหมายครอบครัว ทำให้คนที่นั่นไม่ได้คิดเรื่องสินสอดเป็นสำคัญ

“สินสอดเป็นตัวปิดกั้นให้หลายคู่รักแต่งงานกันยากขึ้น และกลายเป็นการตีราคาความรักด้วยเงิน” อ.ศิลป์ชัย บอก

คุยในแง่ประวัติศาสตร์ไปแล้ว มามองกันในมุมการตลาดบ้าง อ.วีรพล สวรรค์พิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด เปรียบเทียบได้อย่างน่าสนใจว่า ความสำเร็จและการสร้างความสัมพันธ์ในระยะยาวต้องเกิดขึ้นจากความพึงพอใจทั้งสองฝ่าย

“ถ้าเรียกสูงเกินไป คุณจะแฮปปี้อยู่ฝ่ายเดียว ถึงแม้เขาจะจ่ายได้แต่อาจจะไม่แฮปปี้ สุดท้ายความสัมพันธ์ก็มีข้อแคลงใจ ดังนั้นสำหรับการเรียกสินสอด มันต้องเป็นความพอใจทั้งสองฝ่าย ถึงจะเกิดความสัมพันธ์อันดีในระยะยาว”

เออจริง แล้วเราควรจ่ายเท่าไหร่ดีล่ะ...

วิทยานิพนธ์หลักสูตรเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ของ ภศุ ร่วมความคิด เรื่อง "ถ้าฉันจะแต่งงาน ควรจะได้รับ/จ่ายสินสอดเท่าไร" เมื่อปี 2549 นั้นเหมือนจะมีคำตอบ

ผลการศึกษาของภศุ พบว่าปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อราคาสินสอด ขึ้นอยู่กับระดับรายได้ การศึกษา ภาระรับผิดชอบต่อครอบครัว และการแต่งงานเป็นลำดับแรกของครอบครัว ขณะที่ทรัพย์สินมีผลน้อยมาก และภาระความรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายในการแต่งงานและอาชีพไม่มีผลต่อมูลค่าสินสอด

เมื่อระดับรายได้ของคู่บ่าวสาวเพิ่มขึ้นประมาณ 1 เท่าตัว กลับพบว่าฝ่ายชายยินดีจ่ายค่าสินสอดเพิ่ม 20% ขณะที่ฝ่ายหญิงจะเรียกสินสอดเพิ่ม 32% ซึ่งไม่ตรงกัน

ถ้าฐานะการงานของทั้งคู่ดีและคบกันนาน ฝ่ายชายยินดีที่จะจ่ายเงินค่าสินสอดเพิ่มขึ้น ขณะที่เรื่องนี้ไม่มีผลกับผู้หญิง นั่นคือถึงจะคบระยะสั้นๆ ก็เป็นไปได้ที่ฝ่ายหญิงจะเรียกค่าสินสอดในระดับสูงตามความพอใจของตน และถ้าฝ่ายเจ้าบ่าวเป็นคนกรุงเทพฯ เจ้าสาวมีแนวโน้มจะเรียกค่าสินสอดเพิ่มขึ้น แตกต่างจากฝ่ายชาย แม้ตนเป็นคนต่างจังหวัด เจ้าสาวเป็นคนกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้คิดที่จะจ่ายเงินค่าสินสอดเพิ่มแต่อย่างใด

จากผลการศึกษาชิ้นดังกล่าว เว็บไซต์ setthasat ได้เผยโปรแกรมคำนวณมูลค่าสินสอดตามแบบจำลองสมการเส้นตรง ตามรูปแบบสมการดังนี้

มูลค่าสินสอด = (2.2205 x รายได้ต่อเดือน) + (8,986.92 x อายุ) + (174,818.6 หากเป็นคนกรุงเทพฯ) – (454,350.5 หากจบการศึกษาไม่เกินมัธยม/ปวช.) + (227,064.1 หากแต่งงานเป็นลำดับแรกของครอบครัว) – (134,160.8 หากมีภาระต้องดูแลครอบครัวอยู่) + (1,890,610 หากเป็นผู้บริหารระดับสูง)

ทั้งนี้ โปรแกรมคำนวณมูลค่าสินสอดดังกล่าว ถูกเปิดเผยตั้งแต่เมื่อปี 2011 ขณะที่งานของ ภศุ นั้นศึกษาไว้ตั้งแต่ปี 2007 หากผู้อ่านจะลองคำนวณ ต้องคิดอัตราเงินเฟ้อเข้าไปด้วย

ลองคิดถึงประวัติศาสตร์ อารมณ์ และเหตุผล ก่อนไปพูดคุยกับครอบครัวแฟนสาวดูครับ ว่าสินสอดนั้นควรอยู่ที่เท่าไหร่ ที่แน่ๆ อย่าให้มันเกินเลยจนเป็นอุปสรรคต่อความรัก