posttoday

พิริยะ วัชจิตพันธ์ หลงใหลในสัตว์ดึกดำบรรพ์

25 กุมภาพันธ์ 2561

จะมีเด็กสักกี่คนที่ประทับใจกับอะไรสักอย่างแล้วมุ่งมั่นอย่างหนักในการตามล่าฝันของตัวเองอย่างทุ่มเทจริงจังและหนักหน่วง

โดย อณุสรา ทองอุไร ภาพ  วิศิษฐ์   แถมเงิน

จะมีเด็กสักกี่คนที่ประทับใจกับอะไรสักอย่างแล้วมุ่งมั่นอย่างหนักในการตามล่าฝันของตัวเองอย่างทุ่มเทจริงจังและหนักหน่วง จนกระทั่งเติบโตเป็นหนุ่มใหญ่ แม้แต่งงานมีครอบครัวแล้วเขาก็สานฝันจนยิ่งใหญ่เผื่อแผ่แบ่งปันให้คนอื่นได้มีความสุขไปพร้อมกับเขา เช่นผู้ชายคนนี้ พิริยะ วัชจิตพันธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ้าพระยาทัวร์ริสท์โบ๊ท ดูแลเรื่องเรือท่องเที่ยว การตลาดและโฆษณาของเรือด่วน และเป็นคอลัมนิสต์ที่เขียนเรื่องเกี่ยวกับไดโนเสาร์และช้างแมมมอส ในนิตยสารพลอยแกมเพชร และมีหนังสือพ็อกเกตบุ๊กรวมเล่มชื่อ ”หลงยุค” ออกมา โดยใช้นามปากกาว่า “ตัวแน่น” ซึ่งเป็นชื่อของลิงพันธ์ุจิ๋วเพศเมียตัวอ้วนกลมที่เขาเลี้ยงไว้คู่กับลิงหนุ่มตัวผอมที่โดนตัวแน่นแย่งกินตลอดเวลา

เขาจะมาบอกเล่าเรื่องราวสิ่งละอันพันละน้อยของสิงสาราสัตว์ ทั้งจากอดีตและปัจจุบัน จากเรื่องแนววิทยาศาสตร์ไกลตัว จนกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สนุกสนานน่าหลงใหลอย่างเหลือเชื่อ เขาหลงใหลในดึกดำบรรพ์ อาจทำให้ตระหนักนึกถึงสัตว์ต่างๆ ที่สูญหายไปจากโลกใบนี้ เป็นเรื่องน่าเสียดายเหลือเกิน

ด้านการศึกษานั้นเขาไปเรียนไฮสกูลที่สหรัฐอเมริกา ต่อปริญญาตรีทางด้านการตลาดที่ซานฟรานซิสโก  เมื่อจบกลับมาประเทศไทย เขาก็ทำธุรกิจร้านอาหารและผับอยู่พักใหญ่ จึงมาช่วยธุรกิจของญาติๆ ก่อนจะมาทำด้านการตลาดและการท่องเที่ยวที่ บริษัท เจ้าพระยาทัวร์ริสท์โบ๊ท

พิริยะ วัชจิตพันธ์ หลงใหลในสัตว์ดึกดำบรรพ์

เขาเล่าว่า ตอนเขายังเล็กๆ พ่อแม่ไม่ค่อยพาไปเดินห้าง แต่ได้ไปสวนสัตว์และพิพิธภัณฑ์บ่อยๆ เท่าที่จำความได้ก็เลยชอบเรื่องอะไรพรรค์นี้มาตลอด เข้าโรงเรียนอนุบาลมงคลทิพย์ในละแวกบ้าน ก็ไปวิ่งไล่จับกิ้งก่าบ้าน ตามกอดอกเข็ม พอไปเรียนประถมที่สาธิตจุฬาฯ ก็เอาอิกัวน่าเกาะไหล่ไปเรียนด้วย แถมยังเขียนหนังสือสอนเลี้ยงวางขายทั่วประเทศ พอขึ้นชั้นมัธยมก็ตั้งตู้เพาะปลาเอาไว้หลังห้องเรียน เพาะตั้งแต่ปลาตัวละบาท จนรวบรวมเงินไปซื้อปลาตัวละหมื่นได้

พอย้ายไปเรียนไฮสกูลที่เวอร์จิเนียก็ไปรับจ้างเขาล้างจานและเอาเงินทั้งหมดที่ได้ไปซื้อซากฟอสซิล ต่อมาพอเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เลือกไปเรียนบริหารธุรกิจที่ยูออฟซานฟรานซิสโก ก็ยังเลี้ยงตุ๊กแกเผือกคู่ตุนาหงันอยู่ข้างหัวเตียง หลังจากจบปริญญาตรีกลับมาบ้านเรา แล้วไปเรียนต่อปริญญาโทด้านการบริหารการตลาดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ก็ยังคงเลี้ยงตัวอะไรต่อมิอะไรไว้หลายสิ่ง และยังคงสะสมซากฟอสซิลอยู่เต็มบ้านอย่างไม่ว่างเว้น มีเยอะเสียจนเกือบโดนจับอยู่ก็หลายครั้ง เนื่องจากสมัยนั้นกฎหมายยังไม่ชัดเจน

“โชคดีว่าผมเป็นคนไม่หวงของ เพราะเอาฟอสซิลต่างๆ ที่มีอยู่เยอะไปบริจาคหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐอยู่เสมอ ตั้งใจจะทำตัวให้เป็นประโยชน์ เลยมีผู้หลักผู้ใหญ่เห็นใจคอยช่วยเหลือมาโดยตลอด  ทั้งยังอุตส่าห์ตั้งชื่อตัวโน้นตัวนี้ที่เป็นชนิดที่ค้นพบใหม่ตามชื่อเราบ้าง ชื่อพ่อบ้าง ชื่อครอบครัว เป็นเกียรติเป็นศรีตราบกัลปาวสาน บางที่ก็มีคนให้เราไปเขียนหนังสือ ทำรายการ สร้างพิพิธภัณฑ์ เป็นที่ปรึกษางานราษฎร์งานหลวงเกี่ยวกับเรื่องอะไรที่เกี่ยวกับซากสัตว์ยุคโบราณอยู่ตลอด ซึ่งผมก็ยินดีและตอบรับอยู่เสมอโดยไม่หวังอะไรตอบแทนใดๆ เพราะการที่ได้เผยแพร่สิ่งที่เรารักให้คนอื่นๆ ได้เห็นคุณค่าด้วยนั้น มันวิเศษและอิ่มอกอิ่มใจกว่าการหาเงินหาทองเป็นไหนๆ (หัวเราะ) ก็คนมันชอบอ่ะครับ” เขากล่าวอย่างอารมณ์ดี

พิริยะ วัชจิตพันธ์ หลงใหลในสัตว์ดึกดำบรรพ์

เขาเล่าว่า ตอนเป็นเด็กเขาชอบไดโนเสาร์มาก ชอบไปดูพิพิธภัณฑ์ ไปดูสัตว์ป่าสัตว์โบราณ โดยเฉพาะ ซากกระดูกไดโนเสาร์ สะสมทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับไดโนเสาร์ รวมไปถึงฟอสซิลต่างๆ ไปเที่ยวที่ไหนจะต้องไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เป็นลำดับแรก ตอนเรียนไฮสกูลก็ทำงานพิเศษที่ร้านอาหารบ้าง รับล้างจานบ้าง เพื่อเอาเงินมาซื้อพวกฟอสซิล กระดูกไดโนเสาร์ต่างๆ พอปิดเทอมกลับมาประเทศไทยก็ไปเดินตลาดนัดจตุจักร ไปหาซื้อซากกระดูกต่างๆ ไปนั่งคุย ไปถามว่าเขาได้มาจากไหน

“พี่เขาบอกคนแถวบ้านเขาขุดมาขาย จาก อ.เฉลิมพระเกียรติ โคราช จ.นครราชสีมา ผมก็ไปที่นั่นเลยโห ไปเห็นเขาขุดแล้วโยนๆ หักบ้างอะไรบ้าง เห็นแล้วเสียดาย ก็เลยไปขอซื้อให้เขาขุดแล้วเก็บมาดีๆ หน่อย พอได้เยอะๆ ก็ให้เขาขนใส่รถกระบะมาส่งที่บ้าน เขาก็ส่งมาเป็นปีหลายสิบคันรถ เหมาซื้อเขาคันละหมื่น ที่บ้านก็ตกใจสั่งซื้ออะไรมานักหนา ผมต้องไปทำโกดังเก็บของใส่พวกซากต่างๆ เหล่านี้โดยเฉพาะ แบ่งแยก จัดเก็บให้เป็นสัดเป็นส่วน รักษาให้สภาพดี ไม่แตกหัก เรียกว่าช่วงมัธยมปลาย 2-3 ปีนี่ผมทำงานล้างจาน ทำงานพิเศษได้มาเป็นล้านบาท เพื่อเอาเงินมาซื้อซากกระดูกไดโนเสาร์เก็บไว้เป็นโกดังๆ ส่วนหนึ่งผมเก็บเอาไว้เอง อีกส่วนก็บริจาคให้กับพิพิธภัณฑ์ของสถาบันราชภัฏโคราช ซึ่งเขาตั้งชื่อซากโครงต่างๆ ว่า ซากพิริยะ (หัวเราะ) เพราะผมเป็นผู้บริจาครายใหญ่ให้กับเขา”

พิริยะ บอกว่า ชิ้นไหนที่มีซ้ำๆ เขาจะเก็บไว้ส่วนหนึ่งและบริจาคไปส่วนหนึ่ง บางครั้งก็นำไปแลกกับกลุ่มคนสะสมที่เขามีซ้ำแล้วเราไม่มี หรือเรามีซ้ำก็แลกเปลี่ยนกันไป เพราะว่าที่อเมริกาก็มีคนสะสมซากฟอสซิลกันเยอะ ระหว่างเรียนมหาวิทยาลัยก็ยังคงทำงานพิเศษ แล้วก็ยังเอาเงินไปซื้อซากฟอสซิลแบบนี้อยู่ตลอดมา จนกระทั่งมาระยะหลังๆ มีกฎหมายคุ้มครองห้ามซื้อขายซากกระดูกและฟอสซิลต่างๆ ก็หยุดซื้อไป แต่ก็สะสมมากว่า 7-8 ปี ได้เยอะมากพอ เรียกว่าเก็บโครงไดโนเสาร์ได้ครบทั้งตัว แอบคิดไว้ในใจว่าสักวันจะเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์เปิดให้เด็กๆ หรือผู้ใหญ่ที่ชอบเหมือนเราได้เข้าเยี่ยมชม เพราะประเทศไทยยังมีพิพิธภัณฑ์น้อย โดยเฉพาะที่ทำโดยเอกชน     

พิริยะ วัชจิตพันธ์ หลงใหลในสัตว์ดึกดำบรรพ์

เขาบอกว่าโชคดีที่มาปรึกษากับผู้ใหญ่ที่นับถือ คือคุณลุงหมอปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ท่านเห็นด้วยส่งเสริมอยากให้ทำพิพิธภัณฑ์ เพราะท่านเองก็ชอบสะสมของมีคุณค่าทางใจหลายชิ้น และอยากเปิดพิพิธภัณฑ์เหมือนกัน ท่านมีที่มีทางอยู่ใกล้ๆ สนามบินสุโขทัย ท่านเลยชวนมาเปิดด้วยกัน จะได้มีของเยอะๆ หลากหลาย ทำแล้วจะได้มีของเยอะให้น่าดูน่าศึกษาความรู้กัน ตอนนี้ก็ทำเป็นรูปเป็นร่างแล้วแต่ยังไม่เรียบร้อยเท่าไร เลยยังไม่ได้เปิดอย่างเป็นทางการ คาดว่าอาจจะเปิดได้ปลายปีหน้า มี 2 ตึก มีทั้งไดโนเสาร์และช้างแมมมอส มีทั้งของจากประเทศไทยเราเองและของจากต่างประเทศ แล้วยังมีเครื่องโถโบราณอีกบางส่วนที่คุณลุงท่านเก็บสะสมไว้

“ญาติผู้ใหญ่ที่บ้าน เขาเห็นผมคลั่งไคล้ของพวกนี้ตั้งแต่เด็กๆ ตอนนั้นเขาบอกว่าผมเป็นเด็กหลงยุค ชอบของเก่าของโบราณ ชอบซากหินซากฟอสซิล ไปเที่ยวไหนทั้งในและต่างประเทศก็มองหาแต่พิพิธภัณฑ์ ไม่ได้เข้าร้านของเล่นเหมือนเด็กคนอื่น ปิดเทอมอยู่บ้านก็คัดแยกซากฟอสซิล ไม่ก็ตะลอนไปหาของเก่าของโบราณ มีเงินเก็บก็ไปซื้อของพวกนี้หมด ตอนอยู่อเมริกา พิพิธภัณฑ์ดังๆ และประเทศใกล้ๆ ย่านนั้นผมไปมาหมดแล้ว ไปหลายครั้ง ไม่มีเบื่อ จนกระทั่งตอนนี้ก็ยังชอบเห็นอะไรแบบนี้ ก็อยากจะซื้อมาเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ จนกระทั่งป้าชุลิตา อารีย์พิพัฒน์กุล เจ้าของพลอยแกมเพชร เคยเห็นผมแต่เด็กๆ ว่าบ้าไดโนเสาร์มาก เลยชวนมาเขียนเป็นตอนๆ ลงในพลอยแกมเพชรเมื่อ 4-5 ที่แล้ว” เขาเล่าอย่างมีความสุข

ความสุขจากการหลงใหลในเรื่องไดโนเสาร์ของเขา เรียกว่าลึกซึ้งถึงดีเอ็นเอ ทุกวันนี้เขาก็ยังศึกษาหาความรู้ในเรื่องนี้อยู่ ให้รู้ลึกถ่องแท้ลงไปอีก เพราะยิ่งศึกษาก็ยิ่งสนุก อยากเรียนรู้เพิ่มเติมไปเรื่อยๆ แล้วก็อยากเผยแพร่ให้คนอื่นได้รับรู้ ไม่อยากเก็บไว้กับตัว ไม่ได้ประโยชน์กับคนอื่น เพราะมันคือประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าควรอนุรักษ์รักษาเอาไว้อย่างดี เขาจึงมีโครงการที่จะให้เพื่อนชาวต่างชาติเขียนหนังสือเล่มเป็นภาษาอังกฤษสี่สีสวยงามอย่างดี เพื่อเผยแพร่ให้กับคนรุ่นหลังสนใจและร่วมอนุรักษ์และรักษาของโบราณอย่างยั่งยืน ให้ของดีคงอยู่ในบ้านเรา เพราะเด็กไทยหรือคนไทยมีน้อย คนที่จะมีใจรักษาหวงแหนของเก่าของโบราณส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเห็นคุณค่าสักเท่าไร เสียดายเวลาที่เห็นคนต่างชาติซื้อของเก่าของโบราณของประเทศเรากลับไป ของเก่าของไทยไม่ว่าจะอะไรก็ตามมันควรอยู่ในประเทศของเรา

พิริยะ วัชจิตพันธ์ หลงใหลในสัตว์ดึกดำบรรพ์

เขาเล่าต่อไปว่า ตอนนี้เขากำลังศึกษาศิลปะย้อนยุค รูปปั้น รูปแกะสลัก รูปวาดต่างๆ ตั้งแต่ยุคผาแต้ม  ศิลปะในอดีตมีเสน่ห์น่าค้นหา จากงานที่ทำเพื่อศาสนาในอดีตมายุคนี้เราทำเพื่อธุรกิจ

“แม้ผมจะไม่ได้จบปริญญาตรีทางชีววิทยาหรือวิทยาศาสตร์ใดๆ ทั้งนั้น แต่ความรู้ที่เอามาจากการรวบรวม เรียบเรียง เป็นเรื่องโน้นเรื่องนี้ได้นั้น เกิดขึ้นทั้งหมดจากการอ่าน การดู การถาม ทั้งยังศึกษาด้วยตัวเอง และด้วยความกรุณาของผู้รู้ ด้วยความรัก ความสนใจเป็นที่ตั้ง เป็นเวลาเกือบเท่าชีวิตของผม ที่ใส่ใจอย่างจริงจังมา 30 กว่าปี” เขากล่าวอย่างจริงจัง