posttoday

บันทึกไว้...ต้นไม้แห่งแผ่นดิน

24 กุมภาพันธ์ 2561

“รุกขมรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี” เป็นหนังสือเล่มแรกที่กระทรวงวัฒนธรรมจัดทำขึ้น โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์เพื่อรวบรวมต้นไม้ใหญ่เก่าแก่สำคัญของชาติทั่วประเทศจำนวน 65 ต้น

เรื่อง - ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

“รุกขมรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี” เป็นหนังสือเล่มแรกที่กระทรวงวัฒนธรรมจัดทำขึ้น โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์เพื่อรวบรวมต้นไม้ใหญ่เก่าแก่สำคัญของชาติทั่วประเทศจำนวน 65 ต้น โดยเปิดตัวหนังสือไปแล้วกลางปีที่ผ่านมา เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 65 พรรษา เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2560

หนังสือทรงคุณค่าเล่มนี้จัดพิมพ์ครั้งแรกจำนวน 3,000 เล่ม ครั้งที่สอง 1,700 เล่ม ไม่มีจำหน่าย แต่วางอยู่ในห้องสมุดทั่วประเทศ ส่วนประชาชนสามารถโหลดทางอี-บุ๊ก เนื้อหาบรรยายด้วยรูปต้นไม้สำคัญ ประวัติเรื่องราวที่มีการบอกเล่า รวมถึงความรู้ทางวิชาการด้านพฤกษศาสตร์ โดยขณะนี้กำลังจัดทำเล่มที่ 2 บันทึกอีก 63 ต้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 63 พรรษาในวันที่ 2 เม.ย. 2561

เบื้องหลังการถ่ายทำ กว่าจะได้ต้นไม้จากสุดยอดทั่วไทยคัดสรรเหลือ 65 ต้น เพื่อให้ตรงตามพระชนมพรรษาของรัชกาลที่ 10 ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีการเสนอรวมกว่า 500 ต้น จากวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศ ที่สำคัญมีระยะเวลาในการจัดทำค่อนข้างกระชั้นชิด

บันทึกไว้...ต้นไม้แห่งแผ่นดิน

 

“ช่างภาพทุกคนทำด้วยใจและตื่นเต้นที่จะทำให้หนังสือเล่มนี้เกิดมาได้ พอเล่มนี้ออกไปคนสนใจเยอะมาก เราก็ภูมิใจ” ความในใจจาก วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร ศิลปินแห่งชาติปี 2552 สาขาทัศนศิลป์ด้านภาพถ่าย ที่ถูกมอบหมายจากกระทรวงวัฒนธรรมให้เป็นหัวหน้าคณะทำงานประสานงานช่างภาพ และบันทึกภาพต้นไม้แห่งชาติทั่วประเทศ รวมถึงเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิร่วมคัดเลือกรูปทั้งหมดลงในหนังสือเล่มนี้

การรวบรวมช่างภาพฝีมือดีให้มาร่วมภารกิจพิเศษครั้งนี้ วรนันทน์ ช่างภาพระดับโลกของไทย เล่าว่า เนื่องจากมีระยะเวลาสั้นเพียงเดือนกว่า ต้องทำให้เสร็จเดือน ก.ค. แต่เพราะกลัวไม่ทันจึงให้ช่างภาพต่างจังหวัดในเครือข่ายช่วยถ่ายเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงช่างภาพที่ฝีมือดีที่รู้จักกัน ส่วนใหญ่เข้าร่วมงานถวายอาลัยรัชกาลที่ 9 หลายคนก็เป็นช่างภาพสมัครเล่นที่ได้รางวัลเยอะ เราก็รู้เรื่องฝีมือ การใช้เลนส์ อุปกรณ์ เพราะถ้าเราใช้ช่างภาพที่ไม่คุ้นกัน ก็จะมีปัญหาในช่วงที่กระชั้น รวมแล้วเราใช้ทีมช่างภาพประมาณ 60 กว่าคน

บันทึกไว้...ต้นไม้แห่งแผ่นดิน ต้นมะขามคู่ วัดโพธิ์ ภาพ : วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร

 

ตามขั้นตอนการคัดเลือกต้นไม้เข้าโครงการ จะมีคณะกรรมการ มีอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นประธาน คัดเลือกต้นไม้โบราณแต่ละพื้นที่ ยังได้ป่าไม้จังหวัดช่วยดูว่าเป็นต้นลักษณะไหน กลุ่มยืนต้นหรือไม่ รวมถึงผู้แทนจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้แทนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่แต่ละคนมีประสบการณ์ไปดูงานเมืองนอก มาช่วยกันพิจารณา

คุณสมบัติของต้นไม้ของแผ่นดินที่ถูกคัดเลือก จะต้องเข้าข้อใดข้อหนึ่ง อาทิ 1.มีขนาดใหญ่ อายุ 100 ปีขึ้นไป 2.มีตำนานและความสำคัญทางประวัติศาสตร์ 3.อยู่ในพื้นที่ที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรม 4.สอดคล้องกับระบบนิเวศพื้นฐาน 5.เป็นต้นไม้หายาก หรือใกล้สูญพันธุ์

บันทึกไว้...ต้นไม้แห่งแผ่นดิน ต้นโพธิ์ จ.อ่างทอง ภาพ : สมศักดิ์ ล่ำพงศ์พันธุ์

 

หลายต้นที่เคยเป็นข่าวแปลก ที่สุดของจังหวัด จึงถูกบันทึกในหนังสือเล่มนี้ เช่น ตะเคียนทองพันปี อยู่ในอุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา อายุกว่า 1,000 ปี ขนาด 13 คนโอบ เป็นพันธุ์ไม้ตะเคียนทองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี เป็นต้นโพธิ์อายุเก่าแก่ที่สุดในไทยกว่า 2,000 ปี ต้นจำปาดะถวาย จ.ปัตตานี อายุกว่า 150 ปี ออกผลทุกปี อยู่ในสวนของ วาเด็ง ปูเต๊ะ “พระสหายแห่งสายบุรี” ของในหลวงรัชกาลที่ 9

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มต้นจันทน์หอมในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นไม้มงคลชั้นสูง มักใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ ป่าคำชะโนด จ.อุดรธานี พื้นที่ 20 ไร่ ซึ่งเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ตำนานพญานาค “ปู่ศรีสุทโธ” ศูนย์รวมจิตใจของชาว อ.บ้านดุง มีต้นชะโนดพืชหายากขึ้นหนาแน่น อายุกว่า 2,000 ปี ต้นจำปีสิรินธร จ.ลพบุรี ต้นพระเจ้าห้าพระองค์ จ.ชลบุรี ต้นจามจุรีอลังการ จ.กาญจนบุรี ต้นอินจัน วัดหลวง จ.ราชบุรี ต้นเทพทาโรมงคล จ.พังงา ต้นลิ้นจี่โบราณ กรุงเทพฯ ต้นสะเดาเทียมยักษ์ จ.สงขลา ต้นยางนา ริมถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน ต้นไทรยักษ์พันปี ณ บ้านอุโมงค์ปิยะมิตร อ.เบตง จ.ยะลา

บันทึกไว้...ต้นไม้แห่งแผ่นดิน ต้นมะม่วง จ.บุรีรัมย์ ภาพ : นรินทร์ ไชยวรณ์

 

วรนันทน์ เล่าว่า โครงการเฉลิมพระเกียรตินี้บันทึกต้นไม้ของแผ่นดิน เขาเป็นคนถ่ายภาพเองกว่า 20 ต้น ส่วนช่างภาพอื่นที่ต้องเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงภัยถึงป่าลึกอันตรายจะให้ทำเป็นทีม 4-5 คน อย่าง จ.ปัตตานี ต้นจำปาดะถวาย อายุ 150 ปี เป็นประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับในหลวงรัชกาลที่ 9 วาเด็ง ปูเต๊ะ พระสหายในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นคนดูแล ตอนที่เขามีชีวิตอยู่จะส่งผลจำปาดะมาถวายในหลวงทุกปี  เมื่อช่างภาพเราไปจะให้ทุกคนคอยติดต่อเจ้าหน้าที่ให้ดีเพื่อให้ทุกคนปลอดภัย และเผื่อติดขัดปัญหาในการเดินทาง

หลักในการถ่ายภาพต้นไม้ ต้องเน้นกิ่งก้านใบ ถ้ามีผล ดอก ก็ให้ถ่าย แต่ระยะเวลาเพียงเดือนกว่าและช่วงดังกล่าวจึงไม่ใช่ช่วงออกดอก การถ่ายต้องให้มีคนเข้าไปเปรียบเทียบด้วยเพื่อให้รู้ว่าใหญ่อย่างไร และถ้าเป็นไปได้ก็ควรเป็นคนพื้นถิ่น

บันทึกไว้...ต้นไม้แห่งแผ่นดิน ต้นหว้าน้ำ จ.อุบลราชธานี ภาพ : จามิกร สุขทรามร

 

สำหรับ วรนันทน์ การได้มาถ่ายภาพต้นไม้ทรงคุณค่าเพื่อบันทึกไว้ในแผ่นดิน ยังความประทับใจหลายอย่าง เช่น การได้เห็นต้นจามจุรีขนาดยักษ์ที่ จ.กาญจนบุรี ตั้งอยู่ค่ายทหารในเขตเมืองแถวศาลากลางจังหวัด ซึ่งเป็นภาพปกหนังสือ

“ผมตกใจที่นั่น ต้นนี้ใหญ่มาก และก็มีศาลเจ้าแม่จามจุรี ผมถามรุกขกรว่าทำไมต้นนี้ใหญ่พิเศษ เขาบอกว่าเนื่องจากต้นไม้นี้อยู่ในค่ายทหารมีพื้นที่เยอะ และไม่มีต้นอื่นบริเวณใกล้เคียง ทำให้กิ่งก้านแผ่ออกไปกว้างมาก ผมเองก็ไม่เคยเจอต้นจามจุรีที่ใหญ่มากอย่างนี้ พอหนังสือเสร็จ ท่าน รมว.วัฒนธรรม ก็เลือกสถานที่นี้เปิดตัวหนังสือเล่มนี้ และทำพิธีมอบโล่ให้กับผู้ที่ดูแลต้นไม้ และองค์กรต่างๆ รวมถึงทำโครงการอบรมรุกขกร ผู้ดูแลต้นไม้ ตอนนี้ทำได้ 2 รุ่นแล้ว”

บันทึกไว้...ต้นไม้แห่งแผ่นดิน ต้นโพธิ์ ธรรมศาสตร์ ภาพ : วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร

 

ความประทับใจอีกแห่งคือ ต้นอินจัน ที่ จ.ราชบุรี และฉะเชิงเทรา ทราบจากชาวบ้านว่าแต่ละต้นในบริเวณนั้น มีคนเสียชีวิตเป็นพัน เลือดนองโบสถ์ เพราะสมัยก่อนมีการฆ่ากัน ไม่รู้มันเกี่ยวข้องกับการประหารชีวิตคนหรือไม่ เพราะมีเขียงประหารอยู่ข้างต้นไม้ตรงนั้น อย่างที่ฉะเชิงเทรา เวลาไปถ่ายต้องกราบเจ้าที่เจ้าทาง

“ต้นพุทราในอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา 800 กว่าปี ผมไปเห็นเพราะเราไม่เคยรู้ว่าลูกพุทราที่นั่นยังมีชาวบ้านมาเก็บและตากในพื้นที่ทำเป็นสมุนไพร หรือต้นมะขามยักษ์ร้อยกว่าปีที่วัดแจ้งกับวัดอรุณ ที่ผมรับผิดชอบถ่ายก็อายุร่วมร้อยปี แต่ก็ไม่ได้ใหญ่มาก เป็นต้นซ้ายกับขวา ใหญ่เล็กไม่เท่ากัน มันเป็นต้นประวัติศาสตร์จริงๆ ใครไปวัดอรุณก็ต้องถ่าย ต้นมะขามก็มีเสนอมาหลายต้น มีหลายจังหวัดทางอีสานและเพชรบูรณ์ บางต้นเป็นโพรงเข้าไปนั่งข้างในได้ บางที่ก็มีประวัติศาสตร์จากต้นมะขามพันธุ์แรกที่เราเอามาปลูกแถวเพชรบูรณ์ กระทั่งสร้างเงินทองให้ชาวบ้านที่ร่ำรวยจากการปลูกมะขามหวาน หรือบางต้นเช่นมะขามในวรรณคดีขุนช้างขุนแผน”

บันทึกไว้...ต้นไม้แห่งแผ่นดิน ต้นไทร จ.ยะลา ภาพ : วีระพันธ์ ไชยคีรี

 

กลุ่มต้นตะเคียนอายุเกิน 100 ปี ก็มีมากจากวัดต่างๆ แม้บางต้นไม่ได้ใหญ่มาก แต่เท่าที่ดูหลายวัดก็สงสัยว่าไปขุดถึงตอขึ้นมาได้อย่างไร ให้ประชาชนมากราบไหว้ ถูเลข มีศาลา ในอนาคตอยากเสนอกระทรวงวัฒนธรรมให้แต่ละวัดอนุรักษ์ต้นตะเคียนไว้เป็นมรดกเช่นกัน หรือต้นยางที่นครนายก ที่ผมถ่ายมาใหญ่มาก อายุ 400-500 ปี  ต้นยางก็เยอะ จะปลูกเกือบทุกวัด หรือ ยางนาเป็นร้อยต้น จ.ลำพูน ช่างภาพที่ถ่ายก็เลือกเปรียบเทียบช่วงที่คนขับสามล้อผ่านมากให้ความใหญ่โต

“ต้นโพธิ์ที่อ่างทองผมถ่ายเอง ถ้าไม่มีไทรล้อมอยู่สี่มุมโบสถ์นี้ก็อยู่ลำบากเพราะไทรค้ำไว้หมด  ที่นี่มีคนมาถ่ายมาไหว้ และก็ต้นโพธิ์ธรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรคือ ต้นกร่าง ตระกูลเดียวกับไทร น่าสงสารเพราะถูกตัดจนหมดเกลี้ยง ข้างล่างกำลังล้อมรั้วก่อสร้างแทบไม่มีพื้นที่ถ่าย”

บันทึกไว้...ต้นไม้แห่งแผ่นดิน ต้นชะโนด จ.อุดรธานี ภาพ : ประสบชัย จันดก

 

“ต้นไม้ที่เกี่ยวข้องความเชื่อ เช่น ป่าคำชะโนด ที่ จ.อุดรธานี สวยมาก ช่างภาพเรามีโดรนถ่ายเป็นเกาะที่ลอยน้ำ แล้วมันก็เกิดต้นว่านน้ำเป็นร้อยปีอยู่ในแม่น้ำโขง หรือไทรงามที่พังงา สวยมากเหมือนป่าอะเมซอน บริสุทธิ์ ช่างภาพที่เรามอบหมายที่พังงาถ่ายออกมาแล้ว ทำให้ผมอยากไปเที่ยว ในหนังสือเราก็มีต้นเทพทาโรที่เอาไปทำมวลสารองค์จตุคามรามเทพ”

ความยากของงานคือ ตอนคัดเลือกภาพออกจากที่ถ่ายมาทั้งหมดร้อยกว่าภาพให้เหลือ 65 ภาพ โดยต้นโพธิ์มีภาพส่งเข้ามาเยอะมาก บางต้นใหญ่มากอายุพันกว่าปี เมื่อโพธิ์แต่ละต้นมาประชันกัน เราก็ต้องเอาโพธิ์ต้นที่เด่นก่อน ทำให้โพธิ์อีกหลายๆ ต้นถูกตัดทิ้งไป ส่วนต้นยางนา มะขาม ต้นลั่นทม ก็มีมาเยอะ ทุเรียนก็มีมาจากชุมพร มีทั้งผลไม้ บางชื่อก็เฉพาะถิ่น จำเป็นต้องตัดออกเพื่อให้หนังสือเล่มนี้มันทรงคุณค่า หลากหลาย น่าดูยิ่งขึ้น

อีกหลายความประทับใจที่ศิลปินแห่งชาติท่านนี้ว่าไว้ โดยเฉพาะการได้ความรู้ด้านต้นไม้ เช่นเดียวกับช่างภาพ 60 กว่าชีวิต ทำให้เห็นว่าประเทศไทยมีของดีอีกมากเด่นกว่าหลายประเทศ เช่น ต้นไม้ที่ญี่ปุ่นที่เคยไปดู ต้องขับรถไปไกล พอไปถึงต้นไม้ก็เล็กนิดเดียวอยู่บนเขา คนญี่ปุ่นก็ยืนดูทั้งวัน หรือในสิงคโปร์ การ์เดน บาย เดอะเบย์ (Gardens by The Bay) สวนพฤกษศาสตร์ธรรมชาติที่มีชื่อเสียงของเขาหลายต้น ก็ซื้อมาจากอินโดนีเซีย และไม่มีไม้ใหญ่เหมือนเมืองไทย

บันทึกไว้...ต้นไม้แห่งแผ่นดิน ต้นยางนา จ.เชียงใหม่ ภาพ : วินนิวัตร ไตรตรงธนรัตน์

 

ศิลปินแห่งชาติท่านนี้ยังเล่าด้วยว่า ที่ผ่านมาได้มีโอกาสเป็นกรรมการตัดสินภาพขิงข่าโลก ครั้งที่ 1 จัดที่ จ.เชียงใหม่ ทำให้ได้ทราบว่าขิงข่าทั่วโลกที่มีอยู่พันกว่าชนิด อยู่ที่เมืองไทย 75% ไม่ว่าจะเป็นขมิ้น สมุนไพร กวาวเครือ โด่ไม่รู้ล้ม อยู่ในตระกูลขิงข่าหมด สะท้อนให้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์ไม้หลากหลายในประเทศ ยังไม่นับรางวัลสมุนไพรต่างๆ ที่ประเทศไทยชนะเลิศทั่วโลก เช่น กระท่อม กัญชา ต่างชาติถึงขั้นรีบจดลิขสิทธิ์เพื่อใช้เป็นยารักษา

“ผมภูมิใจที่ได้ทำหนังสือดีๆ เล่มหนึ่ง มันไม่ได้รวบรวมเฉพาะต้นไม้อย่างเดียว แต่เราสามารถเล่าถึงประวัติศาสตร์ ความเชื่อ ต้นไม้มงคล เล่าอดีตที่ยาวนานที่บรรพบุรุษได้ปลูกต้นไม้ ซึ่งบ้านเราเป็นเขตเมืองร้อน เหมาะกับการปลูกต้นไม้ที่สุด สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมามีคนขอ เช่น ช่างภาพอยากจะได้ตำแหน่งชื่อต้นไม้ 65 ต้น เพื่ออยากไปเที่ยวต่อ ผมก็ดีใจเพราะทำให้เกิดเรื่องราวดีๆ”

บันทึกไว้...ต้นไม้แห่งแผ่นดิน

 

โครงการในอนาคต วรนันทน์ เล่าว่า ในปีนี้นอกจากจะมีโครงการเล่ม 2 เน้นต้นไม้สำคัญของชาติแล้ว ต่อไปอาจเพิ่มต้นไม้เฉพาะถิ่น หรือรูปทรงแปลก เช่น เป็นรูปหัวใจ เป็นรูปม้าวิ่ง ก่อนหน้านี้ก็มีการเสนอให้เอาต้นเถาวัลย์เข้าร่วม เพราะมีรูปทรงแปลกเยอะ อย่างไรก็ตามบางท่านว่า เป็นไม้ล้มลุก แต่ถ้ามีอายุเป็นร้อยปีก็อาจจะเข้าเงื่อนไข หรือกลุ่มต้นโพธิ์คุมวัดก็เยอะและสวยมาก หากต้นไม้เหล่านี้ได้รับการบรรจุอยู่ในโครงการก็ช่วยเป็นเกียรติประวัติให้กับจังหวัดและได้โล่รางวัลประกาศให้เป็นต้นไม้ทรงคุณค่า รวมถึงรางวัลกับผู้ที่อนุรักษ์ดูแลรักษาด้วย เพราะอยากให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลต้นไม้ตลอดไป เนื่องจากบางต้นอยู่ในป่า ถ้าอยู่ในวัดก็ให้วัดรับผิดชอบและก็ให้รางวัลกับวัดเช่นกัน

หมายเหตุ – ภาพปกต้นยางนา ถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน ถ่ายโดย วินนิวัตร ไตรตรงธนรัตน์ สำหรับประชาชนผู้สนใจหนังสือสามารถดูผ่านระบบอี-บุ๊ก ดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ http://tree.culture.go.th นอกจากนี้สามารถสแกนคิวอาร์โค้ดของหนังสือที่ป้ายชื่อของต้นไม้ทั้ง 65 ต้นได้ 

บันทึกไว้...ต้นไม้แห่งแผ่นดิน วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร

 

ล้อมกรอบ

ช่างภาพระดับโลก

วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร ปัจจุบันอายุ 63 ปี ผลงานสำคัญก่อนได้รับเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่าย) เมื่อปี 2552  คือการได้รางวัลจากสมาคมถ่ายภาพทั่วโลกมากถึง 1,000 รางวัล เช่น รางวัลชนะเลิศยอดเยี่ยม การประกวดภาพถ่ายสไลด์สีนานาชาติทั่วโลก เหรียญทองจากสมาคมถ่ายภาพแห่งสหรัฐอเมริกา จำนวน 86 ครั้ง

ที่โดดเด่นคือ คว้ารางวัลชนะเลิศที่ 1 จากสมาคมถ่ายภาพอเมริกา ซึ่งเป็นการประกวดท็อปเทนระดับโลกถึง 17 ปีติดต่อกัน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1987-2009 ประเภทภาพท่องเที่ยว ในจำนวนนี้ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ถึง 22 ปี วรนันทน์ บอกว่า ภาพที่ส่งประกวดจะใช้รูปจากเมืองไทยเกือบ 100% เพราะต้องการเสนอสถานที่ท่องเที่ยวในเมืองไทย ประเพณี วัฒนธรรมโบราณ เช่น พระสงฆ์ ศาสนา

"ประเพณีเมืองไทยมีสิ่งสวยงามและแปลกๆ เยอะ เช่น ผมใช้รูปพระสงฆ์เพราะจีวรสวย ส่วนของพม่าที่เป็นคู่แข่ง จีวรจะไม่สวย จะออกสีเข้มๆ ของเราออกสีใส บางวัดเวลาถ่ายออกมาก็จะสว่างสดใส"

"พอผมได้ศิลปินแห่งชาติปี 2552 ผมก็เลิกส่ง เพราะคิดว่าต้องการพัฒนาฝีมือต่อเนื่อง ตอนนี้ก็เป็นกรรมการตัดสินภาพถ่ายจากต่างประเทศเยอะจากหลายประเทศ เดือนนึงตัดสินเยอะมากผ่านระบบออนไลน์"

นอกจากจะมีผลงานด้านถ่ายภาพแล้ว วรนันทน์ ยังเป็นอาจารย์พิเศษและวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับการถ่ายภาพให้กับสมาคมถ่ายภาพ สถาบันการศึกษา นอกจากนี้กระทรวงวัฒนธรรมยังมอบหมายให้ไปสอนการถ่ายภาพทางมือถือให้กับประชาชนฟรี ซึ่งคนสมัครเรียนเยอะมาก ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการกับประชาชน สอนให้รู้การถ่าย การใช้แอพพลิเคชั่นแต่งรูปฟรี ที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ

บันทึกไว้...ต้นไม้แห่งแผ่นดิน