posttoday

ต้นแบบสนามเด็กอัจฉริยะ

24 กุมภาพันธ์ 2561

การพัฒนาย่านพื้นที่สร้างสรรค์ เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของการจัดเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2561

เรื่อง : แมงโก้หวาน

การพัฒนาย่านพื้นที่สร้างสรรค์ เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของการจัดเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2561 (Bangkok Design Week 2018) โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาย่านสร้างสรรค์ให้เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการใช้ประโยชน์ของชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ

ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้พัฒนา 3 ต้นแบบสนามเด็กเล่นสำหรับชุมชนในโครงการแอ็กทีฟเพลย์ ของ สสส.

กิตติรัตน์ ปิติพานิช รักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ กล่าวว่า ทั้ง 3 ต้นแบบประกอบด้วย 1.โคเพลย์อิ้ง เพลย์กราวน์ (Co-Playing playground) การปรับปรุงสนามเด็กเล่นให้เอื้อต่อการเล่นร่วมกันของเด็กและเยาวชนในชุมชน โดยเน้นการออกแบบในลักษณะที่เด็กเห็นแล้วอยากเล่น อยากขยับตัว อยากออกแรง อย่างบ้านไม้ของเล่นที่ถูกแบ่งออกเป็นโซนต่างๆ อาทิ โซนวิ่งออกกำลังแบบวงล้อ เพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อขาและการทรงตัว โซนชู้ตบาสเกตบอลให้ลงห่วง เพื่อฝึกกล้ามเนื้อแขน ที่ออกแบบมาใน 2 ระดับความสูง เพื่อรองรับการเล่นสำหรับเด็กโต และเด็กเล็ก ฯลฯ

ต้นแบบสนามเด็กอัจฉริยะ

2.แอ็กทีฟเลิร์นนิ่งเพลย์กราวน์ (Active Learning Playground) การพัฒนาสื่อการเรียนรู้ของครูผู้สอนที่เหมาะสมในแต่ละวิชา โดยเน้นการเรียนรู้ในรูปแบบแอ็กทีฟ เลิร์นนิ่ง (Active Learning) ที่ช่วยให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้อย่างสนุก มีความกระตือรือร้น ควบคู่ไปกับการมีพัฒนาการของสมองที่โลดแล่นอย่างต่อเนื่อง อาทิ สายรัดข้อมือแก้โจทย์คณิตคิดเร็ว ที่ออกแบบให้มีช่องพลาสติกใส สำหรับใส่คำตอบหรือโจทย์คำนวณที่มาพร้อมกับสีสันสดใส และไม่ระคายผิว ฯลฯ

3.เฮาส์โฮลด์ แฮ็ก (Household Hack) การประยุกต์ใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน ที่ทำให้เรื่องงานบ้านกลายเป็นการเล่นที่สนุกสนาน อาทิ ถังขยะซูเปอร์ชู้ต การฝึกกระตุ้นกล้ามเนื้อขา จากการกะน้ำหนักเท้าเพื่อเหยียบฝาถังให้เปิด พร้อมกับโยนวัตถุบนฝาให้ลงปากท่อที่ติดไว้ ไม้กวาดไดรฟ์กอล์ฟ การกระตุ้นกล้ามเนื้อแขนผ่านการกวาดลูกกอล์ฟให้ลงหลุม บนที่ตักขยะ ฯลฯ

สามต้นแบบดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการออกแบบและพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อแอ็กทีฟเพลย์ ซึ่งเหมาะกับการเรียนรู้และการพัฒนาสมรรถภาพด้านร่างกายในเด็กวัย 6-14 ปี เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องปัจจัยต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ ทั้งในพื้นที่สาธารณะในชุมชน โรงเรียน และบ้าน

ต้นแบบสนามเด็กอัจฉริยะ

“เริ่มนำร่องทดสอบในย่านสร้างสรรค์เจริญกรุง ผ่านการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็ก ผู้ปกครองและครูในพื้นที่กว่า 250 คนจาก 2 ชุมชน 4 โรงเรียน ควบคู่กับการใช้องค์ความรู้ด้านการออกแบบบริการ ก่อนขยายผลไปยังชุมชนและโรงเรียนอื่นๆ ต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบต้องการให้โครงการนี้เป็นแรงกระตุ้นให้เด็กๆ ผู้ปกครอง ครูอาจารย์เห็นคุณค่าของการเล่น และการมีปฏิสัมพันธ์ทั้งทางกายและทางใจ แฝงข้อคิดในเรื่องการแบ่งปัน ความสามัคคี และความมีวินัย”

ด้าน ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักงานสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวเสริมว่า ปัญหาหนึ่งที่พบในยุคปัจจุบัน คือผู้คนเคลื่อนไหวกันน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กๆ และเยาวชน ที่มีพฤติกรรมเนือยนิ่งกันมากขึ้น เนื่องจากให้ความสนใจกับสื่อและอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ ที่อยู่ตรงหน้ามากกว่าเพื่อนรอบข้าง โดยพฤติกรรมดังกล่าวถือเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ จึงกลายเป็นที่มาของโครงการแอ็กทีฟ เพลย์ ที่ต้องการดึงเด็กๆ ออกจากหน้าจอสู่โลกแห่งความเป็นจริง ใช้ชีวิตกับคนรอบข้างมากขึ้น

ต้นแบบสนามเด็กอัจฉริยะ

“ในความเป็นจริงเด็กในช่วงวัย 6-14 ปี ควรทำกิจกรรมทางกายอย่างน้อย 60 นาที/วัน ซึ่งต้นแบบนวัตกรรมที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบได้พัฒนาขึ้น ถือเป็นหนึ่งในทางออกสำคัญที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ และผู้ปกครองได้กลับมาเห็นความสำคัญของการเล่นอย่างมีคุณภาพอีกครั้งหนึ่ง”

เมื่อไม่นานมานี้ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) และ สสส.จึงได้จัดพิธีเปิด 3 นวัตกรรมสนามเด็กเล่นต้นแบบจากความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดโครงการแอ็กทีฟเพลย์ พร้อมสาธิตการเล่นต้นแบบอย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยมี ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี เมื่อเร็วๆ นี้ ณ บ้านพักตำรวจน้ำ ชุมชนมัสยิดฮารูณ ซอยเจริญกรุง 36 กรุงเทพฯ

สนใจติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.bangkokdesignweek.com หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร.02-105-7441