posttoday

อภิชัย ล้ำเลิศพงศ์พนา ชีวิตกับธุรกิจไม่ต่างกัน

24 กุมภาพันธ์ 2561

ตลอดระยะเวลา 35 ปีบนเส้นทางธุรกิจด้านอุตสาหกรรมทำความเย็น แช่แข็ง และถนอมอาหาร กลุ่มบริษัท ไอ.ที.ซี. (I.T.C.)

เรื่อง : กองทรัพย์ ภาพ : วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี

ตลอดระยะเวลา 35 ปีบนเส้นทางธุรกิจด้านอุตสาหกรรมทำความเย็น แช่แข็ง และถนอมอาหาร กลุ่มบริษัท ไอ.ที.ซี. (I.T.C.) ภายใต้การนำของสองพี่น้อง ดร.อภิชิต และอภิชัย ล้ำเลิศพงศ์พนา ผ่านช่วงเวลาที่ล้มลุกคลุกคลานมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง

จากเด็กหนุ่มสองคนที่ไม่มีแม้เงินจะจ่ายพนักงาน ปัจจุบันกลุ่มบริษัท ไอ.ที.ซี. เติบโตได้อย่างมั่นคง และก้าวหน้าเป็นลำดับ และไม่เคยหยุดพัฒนา เห็นได้จากรางวัลการันตีระดับโลก “เทคโนโลยีอะวอร์ด” หมวดอุตสาหกรรมและกระบวนการผลิต (First Place 2008 ASHRAE Technology Award-The Industrial Facilities and Processes Category) จากสมาคมแอชเร่ย์ (ASHRAE) สหรัฐอเมริกา

รางวัลแห่งความภาคภูมิใจอีกหนึ่งรางวัล คือรางวัลพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในฐานะหน่วยงานดีเด่นของชาติ ด้านเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์ ต่อมาเป็นรางวัลของสภาวิจัยแห่งชาติ ด้านวิศวกรรม รางวัลที่ 4 Thailand Energy Awards ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ที่นำเทคโนโลยีมาแปลงเป็นทุน

รางวัลธรรมาภิบาลดีเด่น โดย 3 สถาบัน คือ สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสมาคมเอสเอ็มอี ล่าสุดได้จากสมาคมจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย TMA ในการบริหารจัดการ

อภิชัย ล้ำเลิศพงศ์พนา ชีวิตกับธุรกิจไม่ต่างกัน

ธุรกิจไม่มีทางลัด

อภิชัย เริ่มต้นพูดคุยว่า งานของเขามีทั้งงานเทคโนโลยี นวัตกรรม งานบริหาร และการบริหารจัดการ คำถามคืออะไรคือแรงผลักดันให้องค์กรแห่งนี้ดำเนินงานมาไกล และพัฒนาภายในจนได้รับรางวัลครบทุกด้าน อภิชัย ล้ำเลิศพงศ์พนา กรรมการบริหารกลุ่ม ไอ.ที.ซี. บอกว่า

“เริ่มแรกบริษัทเราก่อตั้งก็ยังไม่ได้มีความมุ่งหมายอะไรมากว่าอยากมีกำไร แต่พอเรารู้จักตัวตนของเราในจุดหนึ่งว่าเราคือใคร เป้าหมายในการทำงานของเราก็ชัดเจนไปด้วย ก็เหมือนเรียนหนังสือ เมื่อเจอตัวเองแล้ว เราก็เดินไปสู่เป้าหมายได้ง่ายขึ้น บริษัทก็เช่นกัน ที่มุ่งเน้นไปที่ความเย็นถนอมอาหาร เราอยู่ในแวดวงนี้ไม่ได้เป็นคนเก่ง แต่ลูกค้าสอนเราตลอดเวลา

เรานำสิ่งที่เขาสอนมาต่อยอดเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า การได้รับรางวัลต่างๆ มาก็เป็นสิ่งที่ลูกค้าตั้งโจทย์ให้เราแก้ปัญหา ประสบการณ์ที่ผ่านมา 35 ปี ก็สะสมในสายเลือดว่าจะต้องแก้ปัญหาอย่างไร สิ่งที่ลูกค้าสอน ทำให้เราคิดนวัตกรรมต่างๆ ขึ้นมาได้ สายตาของลูกค้าก็มองเราด้านเทคโนโลยี

ไอ.ที.ซี.เกิดจากบริษัททำแอร์คอนดิชันเนอร์เล็กๆ บริษัทหนึ่ง รับซ่อมคอนเทนเนอร์ในท่าเรือ ทำเป็นพาร์ตไทม์กันในช่วงนั้น เพราะต่างคนต่างมีงานประจำ และมาทำเป็นรายได้เล็กๆ น้อยๆ ช่วงเสาร์-อาทิตย์ พอมีลูกค้า ก็เติบโตไปเรื่อยๆ เราเริ่มต้นโดยไม่ได้กู้แบงก์มาทำ แต่เราค่อยๆ โต เอากำไรมาขยาย เติบโตมาได้เพราะวงการอาหารเติบโตขึ้น

พูดได้ว่าเป็นองค์กรที่เติบโตมาพร้อมกับธุรกิจอาหารของประเทศไทย เพราะฉะนั้นเราก็สะสมประสบการณ์มาเรื่อยๆ ไม่ได้แพ้ชาติมหาอำนาจเลย” อภิชัย ลำดับเหตุการณ์ของ ไอ.ที.ซี.

อภิชัย ล้ำเลิศพงศ์พนา ชีวิตกับธุรกิจไม่ต่างกัน

เรียนรู้จากวิกฤต

กรรมการบริหารกลุ่ม ไอ.ที.ซี. บอกว่า ช่วงล้มลุกคลุกคลานเริ่มต้นหลังจากดำเนินธุรกิจมาแล้ว 10 ปี ช่วงแรกคือการแยกทางกับพาร์ตเนอร์เก่าที่มีความคิดไม่ตรงกัน

สองพี่น้องล้ำเลิศพงศ์พนา ก็เริ่มต้นใหม่ แม้จะมีคอนแท็กต์ลูกค้าในมือ แต่ปัญหาคือไม่มีกระแสเงินเพื่อดำเนินธุรกิจต่อ

“ผมถือว่าเป็นช่วงที่สาหัสมาก เราไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง หลังจากแยกออกมาเราก็ยังเดินในสายนี้อยู่ แต่ตอนนั้นเราหมดตัว พอดีเจ้านายเก่าที่อยู่แบงก์เอเชียในขณะนั้น มาช่วยเรื่องสนับสนุนเรื่องกระแสเงิน ทำให้ธุรกิจเราเดินต่อได้

เป็นความโชคดีของผม เพราะเราไม่ได้มองในเรื่องตัวเงินเป็นหลักเมื่อเราแยกกัน ไม่ได้มองสมบัติเป็นเรื่องใหญ่ สิ่งที่เราเห็นก็คือ คอนเนกชั่น เมื่อก่อนเบอร์โทรศัพท์สำคัญมาก เราขออยู่ออฟฟิศเก่า ซึ่งมูลค่าที่ดินของสำนักงานน้อยกว่าโรงงาน แต่เรามองว่ามันมีค่าสำหรับเรา วันที่แยกกันเราสองพี่น้องสามารถเดินงานต่อได้เลย เปิดบริษัทใหม่ แต่โทรศัพท์เดิม ลูกค้าเดิมก็ยังอยู่ เรามีงานที่จะต้องทำเลย ผมมองความต่อเนื่องของการตลาดก่อนสินทรัพย์”

ผ่านพ้นวิกฤตแรกไปได้ไม่กี่ปี วิกฤตที่สองก็ตามมาก็คือวิกฤตค่าเงินบาท จากงานมูลค่าเงินจาก 25 บาท เป็น 55 บาท/1 ดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าหนี้สินเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า

อภิชัย ล้ำเลิศพงศ์พนา ชีวิตกับธุรกิจไม่ต่างกัน

“ตอนนั้นถือว่าหนักมากนะ สาหัสมาก เราไม่รู้จะทำยังไง ก็ใช้วิธีเจรจากับเมืองนอก ต้องเสี่ยงดวง พอเรายืดไประยะหนึ่งจาก 55 ค่อยๆ กลายมาเป็น 36 บาท การขาดทุนเราก็น้อยลง แต่งานในเมืองไทยหายไปหมดเลย

ในช่วงนั้นทุกบริษัทเลือกที่จะปลดคนงาน และงานห้องเย็นก็ปลดช่างซ่อมบำรุง ก็ทำให้โรงงานขาดการซ่อมบำรุงเครื่องจักร เรามองเห็นโอกาสตรงนี้ก็เลยทำเป็นเอาต์ซอร์สคนไปดูแลเครื่องจักรต่อ ช่วยบรรเทาในเรื่องของเงินได้ เป็นการเก็บเล็กผสมน้อยเรื่อยมา

จริงๆ ธุรกิจต้องเจอแบบนี้แหละ มันไม่มีอะไรที่จะสวยหรู เราเรียนรู้จากประสบการณ์ แม้จะเคยได้ยินเรื่องราวจากอดีต แต่หากไม่ได้เจอกับตัวก็จะนึกถึงความเจ็บปวดไม่ออก แต่พอมาเจอเองก็เจ็บและจดจำไว้ สิ่งที่องค์กรเราได้เรียนรู้อีกอย่างหนึ่งจากปี 2540 ก็คือ เราไม่ปลดพนักงานเลย ด้วยความคิดว่า 1 ชีวิตที่เขาอยู่ เขาเลี้ยงอีก 2 ชีวิต เมื่อเราปลดแล้วอาจมีอีกหลายชีวิตที่ได้รับผลกระทบ

เมื่อเราไม่ปลด พอเศรษฐกิจบูมขึ้น ผลของการไม่ปลดพนักงานของเรา คือการเกิดองค์ความรู้ในองค์กร เราไม่ต้องจ้างคนใหม่ ไม่ต้องสร้างคนใหม่ เราเดินงานได้ต่อเนื่อง เราก้าวหน้ามากกว่าคนที่ปลดพนักงานแล้วรับเข้ามาใหม่ เราคิดว่าพนักงานคือทรัพย์สินที่มีค่าขององค์กร ไม่ใช่ภาระขององค์กร” อภิชัย ให้ภาพ

อภิชัย ล้ำเลิศพงศ์พนา ชีวิตกับธุรกิจไม่ต่างกัน

เติบโตทีละก้าว

“เราค่อยๆ เติบโตทีละก้าวเหมือนบันได ผมไม่เคยคิดว่าธุรกิจใดจะสามารถกระโดดขึ้นไปได้ ผมคิดว่าทุกธุรกิจทุกชีวิตคนมันจะต้องเรียนรู้ผ่านขั้นบันไดทีละขั้นๆ สะสมประสบการณ์ เป็นไปไม่ได้ที่จะเดินจากขั้นที่หนึ่งกระโดดไปขั้นที่ห้าหรือสิบ ผมเชื่อว่าคนพวกนั้นจะขาหัก ธุรกิจหรือชีวิตคนต้องหัดจากการคลาน แล้วค่อยหัดเดิน จากแบเบาะ พลิกตัว เอาอกเดิน แล้วค่อยๆ คลาน ลุกเดิน ชีวิตกับธุรกิจไม่ได้ต่างกันเลย

เพียงแต่ว่าปัจจุบันนี้เรามักจะเห็นว่าคนที่เดินในสายธุรกิจ เขาอยากจะคิดว่ามันจะต้องกระโดดเร็ว เพราะทุกตำราในร้านหนังสือจะบอกอยู่สองอย่างคือ ทำอย่างไรให้รวยเร็ว หรือเล่นหุ้นให้รวยเร็ว บอกวิธีรวย บอกทางลัดหมดเลย แต่ผมไม่คิดว่าธุรกิจจะมีทางลัดนะ แม้แต่ขับรถยนต์ที่บอกว่าไปทางลัดบางทีก็ต้องไปเจอปัญหาใหม่ มันทั้งแคบและไม่คุ้น ผมมองว่าทางลัดมีไว้สำหรับคนที่ได้วัคซีนชีวิตมาจนกระทั่งล้มมาไม่รู้กี่ครั้ง”

จากปัญหาที่ผ่านมาทุกยุค เมื่อเจอกับคำถามว่า เคยท้อแท้ไหม อภิชัย ตอบว่า

“เคยนะ ไม่มีใครหรอกที่เจออุปสรรคแล้วไม่ท้อแท้ ในช่วงชีวิตหนึ่งก็คือปี 2535 มีแวบหนึ่งผมคิดอยากฆ่าตัวตาย เพราะเงินสักบาทก็ไม่มีจ่ายลูกน้อง ปีนั้นเป็นปีที่ผมหาหมอดูเยอะที่สุดต้องการที่พึ่งทางใจ เราคิดว่าเราไม่มีทางออก แต่จริงๆ แล้วทางออกมีเสมอสำหรับคนที่ดิ้นรน

แม้แต่เชือกที่ผูกไว้ถ้าคุณไม่ดิ้นก็ไม่มีทางหลวมได้ และปมที่ติดอยู่ก็เพราะเราผูกมันเอง เมื่อผูกแล้วต้องแก้แต่ต้องใช้เวลานิดหนึ่ง ทุกปัญหาผมมั่นใจว่ามันมีประตูทางออก และผมเชื่อในความดี เอาความดีเป็นที่ตั้ง เอาความดีเป็นตัวนำ ชีวิตมนุษย์เกิดมามีข้อดีอยู่ข้อเดียวก็คือ รู้ว่าอะไรชั่วอะไรดี จริงๆ เราก็เหมือนทุกคนเพียงแต่พอกลับมานั่งคิดแล้วมันคิดได้เท่านั้นเอง”

อภิชัย ล้ำเลิศพงศ์พนา ชีวิตกับธุรกิจไม่ต่างกัน

เป้าหมายและท้าทาย

กรรมการบริหาร ไอ.ซี.ที. บอกว่า ปัจจัยที่ทำให้องค์กรแห่งนี้ประสบความสำเร็จและกวาดรางวัลมาแล้วทุกด้าน มีประกอบของแนวคิดการบริหาร ที่เรียกว่า Talent and Target (ทาเลนต์ แอนด์ ทาร์เก็ต) คือเป้าหมายและท้าทาย มีทั้งหมด 5 เป้าหมาย 3 ความท้าทาย

“เป้าหมายอย่างแรกคืองานต้องมีคุณภาพ ลูกค้าชอบและบริษัทได้ สองคือต้องมีคุณภาพ สามคือเวลา ถ้าเราทำเวลาให้เร็วขึ้นลูกค้าก็ชอบ การส่งมอบก็ตรงตามเป้า เราทำเวลาให้พอเหมาะกับเรา เราประหยัดเงิน

สิ่งต่อมาเรามองเรื่องต้นทุน ถ้าเราสามารถทำงานที่มีคุณภาพในปริมาณมาก และภายในเวลาที่กำหนดหรือก่อนกำหนดต้นทุนก็ต่ำลง แต่สุดท้ายที่กล่าวมาทั้งหมดจะไม่เกิดขึ้นเลย หากเราไม่มีองค์ความรู้ เป็น 5 ปัจจัยที่เรามองว่าสำคัญ

3 ความท้าทาย คือประสิทธิผล ผมทำงานจำนวนมาก ได้คุณภาพ และในเวลาที่กำหนด ประสิทธิภาพ ผลผลิต สิ่งที่แถมมาคือสองการกระทำ เราเรียกว่าความรับผิดชอบในหน้าที่กับรับผิดชอบโดยจิตสำนึก ถ้าเรารับผิดชอบโดยจิตสำนึกก็จะทำให้เราท้าทาย มากกว่าสิ่งที่ทำตามหน้าที่ (5 เป้าหมาย 3 ท้าทาย 2 การกระทำ) สิ่งที่เราปฏิบัติมาตลอด”

ในวันที่ผ่านพ้นอุปสรรคมาจนวันนี้ อภิชัย ชี้ว่ามีอยู่ 2 อย่างที่ท้าทายเมื่อองค์กรเติบโต อย่างแรกคือระบบ สองคือคน ระบบดีถ้าคนไม่ดีก็ทำงานไม่ได้ ระบบดีต้องอยู่ที่คนปฏิบัติที่ดีด้วย

“เราเกิดขึ้นจากไม่มีระบบ ไม่มีวิสัยทัศน์ตอนตั้งบริษัทใหม่ๆ เรามีเป้าหมายเมื่อดำเนินงานมา 10 ปีแล้ว ตอนแรกเราต้องการแค่อิ่มท้องต้องหาเงินก่อน เมื่อเรามีคนหมู่มากก็มีระบบ อะไรที่ยากที่สุดก็คือคนกับระบบที่ต้องสอดคล้องไปด้วยกัน

ดังนั้น เป้าหมายของ ไอ.ที.ซี. ต้องเติบโตด้วยการพัฒนาภายในองค์กร เติบโตอย่างพอดี ยึดมั่นในแนวทางของตัวเอง คือเติบโตด้วยเงินทุนและกำไรของเราทีละขั้นทีละตอน"