posttoday

หรือกาแฟจะขาดแคลนในอนาคต

23 กุมภาพันธ์ 2561

ช่วงเวลาเดียวกันนี้ของปีที่แล้วผมกำลังยืนต่อแถวอยู่ที่ร้านกาแฟแถวไทม์สแควร์

เรื่อง เอกศาสตร์ สรรพช่างภาพ รอยเตอร์ส

ช่วงเวลาเดียวกันนี้ของปีที่แล้วผมกำลังยืนต่อแถวอยู่ที่ร้านกาแฟแถวไทม์สแควร์ อากาศที่ยังหนาวมากดึงดูดคนให้เข้าร้าน คนก็ยืนต่อแถวกันจนแน่น ใช้เวลารอคิวอยู่นานกว่าจะได้กาแฟร้อนสักแก้วหนึ่ง ผมพบว่าร้านสตาร์บัคส์และร้านกาแฟสาขาส่วนมากในนิวยอร์กมีคนต่อคิวซื้อกาแฟกันแน่นแบบนี้ทุกเช้า สาย บ่ายจนถึงเย็นก็ยังมี

วูบหนึ่งตอนต่อแถวก็คิดขึ้นได้ว่าตั้งแต่เข้าร้านกาแฟมาผมไม่เคยเจอพนักงานบอกว่ากาแฟหมดแล้วมาก่อนเลย คนอื่นไม่รู้เคยเจอไหม แต่ตั้งแต่ดื่มกาแฟมาก็ไม่เคยได้ยินคำปฏิเสธแบบนี้ให้ได้ระคายหู

แต่ถ้าหากวันหนึ่งเราตื่นขึ้นมาพร้อมกับพบว่ากาแฟเป็นของหายากขาดแคลนเหมือนทุเรียนลับแล คุณกับผมผู้เสพกาแฟราวกับน้ำเปล่า จะมีชีวิตอยู่อย่างไร แถมคนก็ยังดื่มกาแฟกันมากขึ้นทุกวัน

ปัจจุบันธุรกิจกาแฟเป็นธุรกิจขนาดใหญ่มากนะครับ มีคนเข้ามาเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่ธุรกิจนี้นับตั้งแต่คนปลูกไปจนถึงคนดื่มน่าจะเกือบหนึ่งในสามของประชากรของโลกได้ เราดื่มกาแฟกันทั่วโลกมากกว่า 2.5 หมื่นล้านแก้ว/ปี เฉพาะในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวธุรกิจกาแฟมีเงินหมุนเวียนกว่า 1.5 ล้านล้านบาท/ปี นั่นก็เกือบจะเทียบเท่างบประมาณทั้งปีของประเทศบางประเทศ

ธุรกิจที่ใหญ่โตขนาดนี้ย่อมต้องการจำนวนวัตถุดิบมากมายมหาศาลในการหล่อเลี้ยงให้ร้านกาแฟทั้งหลายมีกาแฟเสิร์ฟคุณและผมทุกเช้า แน่นอนครับปัญหาที่เกิดขึ้นกับวงการอุตสาหกรรมกาแฟก็เป็นกับเขาเหมือนกัน

ผมเคยไปสังเกตการซื้อขายเมล็ดกาแฟบนดอยที่เชียงใหม่และเชียงรายต่างกรรมต่างวาระกันอยู่หลายปี ก็พบว่าทุกวันนี้การซื้อขายนั้นพัฒนาไปมากและหลายอย่างเกี่ยวเนื่องกันไปหมดอย่างไม่น่าเชื่อ ส่งผลต่อกันกับเป็นทอดๆ เป็นห่วงโซ่ เช่น การเก็บเมล็ดกาแฟในที่ๆ แสงน้อยหากขาดผู้เชี่ยวชาญก็อาจทำให้เก็บเมล็ดที่ยังไม่สุกดี (ยังไม่แดงก่ำเป็นผลเชอร์รี่มาขาย) ก็อาจทำให้เสียราคา การแปรปรวนของสภาพอากาศก็ทำให้ชาวไร่ต้องวางแผนการเก็บกาแฟให้ดี เพราะหากเกิดฝนหลงฤดูขึ้น (ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ) การเก็บกาแฟก็อาจต้องเก็บทั้งๆ ที่ยังไม่พร้อม เมล็ดกาแฟทั้งหมดอาจเกิดความเสียหาย เช่น หล่นร่วง หรือเน่าคาต้น ขึ้นรา ฯลฯ เรื่องเหล่านี้ก็เป็นปัจจัยทำให้เกิดความผันผวนของราคาเมล็ดกาแฟขึ้น ราคาเมล็ดก็แพงขึ้น เราผู้ดื่มก็ต้องเสียเงินซื้อกาแฟในราคาที่แพงขึ้น เจ้าของโรงคั่วก็อาจต้องหาเมล็ดกาแฟจากที่อื่นมาผสม เพื่อลดต้นทุน แต่ยังคงมาตรฐานของแบรนด์ของตัวเองไว้ให้ได้ ฯลฯ

การซื้อขายเมล็ดกาแฟทุกวันนี้ก็ไม่ แตกต่างราคาพืชผลอย่างอื่น มีการเก็งราคาผลผลิต มีการซื้อขายล่วงหน้า อย่าลืมว่าทุกวันนี้กาแฟเป็นของเหลวอันดับสอง ที่มีการซื้อขายกันมากที่สุดในโลกรองจากน้ำมัน (แซงหน้าชาไปแล้วที่เคยอยู่ในอันดับนี้เมื่อสักสิบปีก่อน) ฉะนั้นมันเป็นทรัพย์สินที่มีค่า มันจึงเต็มไปด้วยมาตรการควบคุมมากมาย ทั้งในแง่ของมาตรการทางสังคม เช่น เรื่อง Fair Trade (การค้าขายโดยได้รับการรับรองว่ามีการค้าขายกันอย่างเป็นธรรมและไม่มีการกดขี่แรงงานในไร่) หรือเรื่องของมาตรการทางสุขภาพอย่างเรื่องของการรับรองการปลอดสารพิษ หรือการเพิ่มมูลค่าในแบบอื่นๆ (เช่น กาแฟขี้ชะมด ขี้ควาย ขี้ช้าง) แม้แต่กาแฟโรบัสต้าก็ยังอยู่ในกระบวนการของห่วงโซ่นี้เช่นกัน

สิ่งที่ท้าทายของผู้ปลูกกาแฟทุกคนก็คงไม่แตกต่างจากการเกษตรแบบอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็คือ เมื่อพัฒนาถึงจุดๆ หนึ่งจะเริ่มมีปัญหาเข้ามาท้าทายมากขึ้น ทั้งเรื่องคุณภาพของสินค้าที่อาจไม่คงที่ ปัญหาเรื่องการใช้สารเคมีมากไป ปัญหาแรงงานที่ไม่เคยพอเพียงกับการทำการเกษตร ฯลฯ เรื่องเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นอยู่ ในหลายประเทศ

ในแอฟริกาปัญหาใหญ่ที่สุดคือเรื่องสภาพอากาศและการขาดกำลังขาดแคลนแรงงาน แม้แต่ในบราซิลเองก็เคยได้ยินข่าวว่าแรงงานในไร่กาแฟของบราซิลเริ่มมีไม่พอ เพราะคนรุ่นใหม่หันไปทำอย่างอื่นกันมากขึ้น ต้องนำเข้าแรงงานต่างด้าวมาทำ แต่แรงงานเหล่านี้หมุนเวียนเร็วและความชำนาญเรื่องการเก็บเกี่ยวก็ไม่มี ก็มีการพูดถึงการเติม "นวัตกรรม" ลงไปในอุตสาหกรรมที่ดูขายความเก่าแก่ดั้งเดิม เช่น การทำไร่แบบ Minimize หรือ Lean Business หรือ ไคเซ็น คือใช้เงินให้น้อยที่สุดในการปลูก ลดแรงงาน แต่ยังให้ผลผลิตที่ดีและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม การพัฒนากาแฟให้เป็นเหมือนสินค้าที่มีเอกลักษณ์ตามแหล่งปลูกให้มากกว่านี้และชัดเจนกว่านี้ เพื่อเพิ่มมูลค่าและความจำเพาะให้มากกว่านี้

สิ่งสำคัญอีกอย่างที่จะช่วยให้เกษตรกรทำงานได้ง่ายมากขึ้นก็คือเรื่องเทคโนโลยี ทุกวันนี้เกษตรกรของเราก็ก้าวหน้าไปมากนะครับ เกษตรกรรู้จักเช็กสภาพอากาศทางมือถือเพื่อดูแนวโน้มว่าเขาควรต้องกะระยะเวลาในการเก็บเมล็ดาแฟตอนไหน วันนี้พระอาทิตย์ตกเร็วไหม ฝนจะตกหรือเปล่า เรื่องพวกนี้หากสามารถส่งเสริมความรู้เหล่านี้ แน่นอนผลที่ตามมาก็คือเราจะลดความเสียหายระหว่างการปลูกได้มากขึ้น ผลผลิตก็น่าจะดีตามไปด้วย

ในบรรดาอาชีพที่ผมเคยเห็นมาตลอดอายุ 40 กว่าปีทั้งรายได้และวิถีชีวิต อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่เปลี่ยนแปลงช้าที่สุด แต่ผมมีความเชื่อลึกๆ ว่าหากเราเริ่มต้นด้วยกาแฟ เหมือนที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมองเห็นความสามารถในการใช้พืชชนิดนี้ดูแลคนได้

กาแฟไม่น่าจะหายไปจากโลกและหวังว่าเกษตรกรรุ่นใหม่น่าจะมีชีวิตดีขึ้นกว่าคนรุ่นพ่อแม่เราแน่นอน