posttoday

6 วิธีง่ายๆ ช่วยให้สมองเป็นวัยรุ่นเสมอ

22 กุมภาพันธ์ 2561

อย่างที่สุภาษิตไทยกล่าวไว้ "ไม่มีใครแก่เกินเรียน" แต่ถ้าจะให้คนสูงวัยเรียนรู้ได้เร็วไวเหมือนวัยรุ่นก็คงไม่ได้

เรื่อง : กาญจนา

อย่างที่สุภาษิตไทยกล่าวไว้ "ไม่มีใครแก่เกินเรียน" แต่ถ้าจะให้คนสูงวัยเรียนรู้ได้เร็วไวเหมือนวัยรุ่นก็คงไม่ได้ ทว่า ดร.ราเชล วู ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียริเวอร์ไซด์ ได้เขียนรายงานและตีพิมพ์ในวารสารเกี่ยวกับพัฒนาการของมนุษย์ว่า มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้สมองของผู้สูงวัยกลับไปมีความสดใหม่เหมือนวัยรุ่น โดยใช้วิธีกับที่เด็กเรียนรู้ จะช่วยให้ผู้ใหญ่พัฒนาความสามารถใหม่ๆ สามารถทำงานอดิเรกใหม่ที่ยังไม่เคยทำ และช่วยชะลอความเสื่อมในการจำด้วย

ดร.ราเชล แนะนำ 6 วิธีพื้นฐานที่เด็กใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการจำ การควบคุมตัวเอง และการสนใจใคร่รู้ ซึ่งเธอเชื่อว่าวิธีเดียวกันนี้จะช่วยให้ผู้ใหญ่มีสมองที่ดีอยู่เสมอด้วยเช่นกัน

1.ออกไปนอกคอมฟอร์ตโซน

ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักใช้ทักษะเดิมๆ ในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่าง การใช้ทักษะในการทำงานเดิมทุกวัน ขับรถไปทำงานเส้นทางเดิมทุกวัน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่จะทำให้คุณรู้สึกปลอดภัยและรู้ว่าทำได้ดี แต่ขณะเดียวกัน การใช้ทักษะเดิมซ้ำๆ กลับเป็นการปิดกั้นการทำงานและการสร้างสรรค์ของสมอง

ดร.ราเชลกล่าวต่อว่า "ถ้าคุณพยายามเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ และคุณค้นพบว่ามันง่ายสำหรับคุณมาก นั่นเป็นสัญญาณเดียวกับที่เด็กเป็น ฉะนั้นลองเปลี่ยนพฤติกรรม พัฒนาทักษะ สู่สิ่งใหม่ สถานการณ์ใหม่ เพื่อท้าทายประสบการณ์เดิมของตัวเอง ซึ่งจะช่วยพัฒนาประสิทธิภาพของความจำของสมองต่อไปด้วย"

2.เรียนรู้อยู่เสมอ

อาจจะยากเกินไปที่จะให้ผู้ใหญ่กล้าที่จะลองทักษะใหม่ด้วยตัวเอง ดร.ราเชลจึงแนะนำว่า ดังนั้นให้จ้างคุณครูหรือซื้อคอร์สเรียน อันจะเป็นวิธีที่ช่วยให้คุณมีวินัยและมีพัฒนาการเร็วขึ้น แล้วทุกคนจะทราบว่า ไม่มีใครแก่เกินเรียน และไม่ว่าอายุไหนทุกคนก็ยังเป็นผู้เรียนที่ดีอยู่เสมอ

3.เชื่อในตัวเอง

"ข้อนี้น่าจะเป็นข้อที่ยากที่สุด เพราะมันเกี่ยวโยงกับวัฒนธรรมและแบบแผนในการดำเนินชีวิต"

ดร.ราเชลอธิบายว่า คนส่วนใหญ่มีความเชื่อว่าผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุจำเป็นต้องมีพรสวรรค์มากกว่าความขยันเพื่อที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต จึงเป็นการยากที่จะทำให้ผู้สูงวัยลุกขึ้นมาเชื่อมั่นในตัวเอง และยากที่จะทำให้ตัวเองรู้สึกว่าสามารถทำอะไรก็ได้หากมีความมั่นใจในตัวเอง

4.พาตัวเองไปอยู่ในสังคมที่เกื้อหนุน

สาเหตุหลักที่ทำให้ผู้สูงวัยไม่กล้าเรียนรู้สิ่งใหม่ คือ ความกลัวที่จะผิดพลาด เพราะหากพวกเขาลองแล้วแต่ล้มเหลว จะรู้สึกว่าตัวเองใช้ไม่ได้ สิ้นเปลืองเงินทอง และอยากละเลิกเสียตอนนั้น แต่ในทางตรงกันข้าม สำหรับเด็กแล้ว หากเขาทำอะไรไม่ได้หรือยังไม่สำเร็จ เด็กจะลองทำต่อไปอย่างไม่ยอมแพ้จนกว่าจะสำเร็จเข้าสักวัน

ดังนั้นจึงมีความสำคัญในการสร้างสังคมที่จะคอยสนับสนุนและเกื้อหนุนกันและกัน สังคมที่จะให้กำลังใจคนที่กล้าลองอะไรใหม่ๆ และไม่ตอกย้ำถ้าล้มเหลว "พาตัวเองไปอยู่กับความคิดแง่บวก" ดร.ราเชลกล่าว "โดยพื้นฐานแล้วคงไม่มีใครอยากอยู่ในสังคมที่มีแต่พลังงานลบ แต่กลับเป็นเรื่องยากที่จะหาสังคมที่ดี ที่เข้าใจ และเต็มไปด้วยพลังงานบวกให้แก่กัน"

5.วางเป้าหมายให้ชัดและอย่ายอมแพ้

แต่ละคนล้วนมีแรงผลักดันให้ไปถึงเป้าหมายต่างกัน ดร.ราเชลกล่าวต่อว่า บางงานวิจัยระบุ การบอกเล่าเป้าหมายให้เพื่อนหรือครอบครัวฟังก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้คุณมุ่งมั่นไปสู่เป้าหมาย นอกจากนี้การมีเป้าหมายในชีวิตยังทำให้คุณรู้สึกมีคุณค่า มีอนาคต และมีแรงที่จะเดินไปข้างหน้าทุกวัน

6.เรียนรู้มากกว่าหนึ่งอย่างในครั้งเดียว

"สำหรับผู้สูงอายุเวลาเป็นสิ่งมีค่า จึงควรทำหลายอย่างพร้อมกันในเวลาเดียวกัน" ดร.ราเชลแนะนำเป็นข้อสุดท้าย กล่าวคือ หากตอนนี้คุณมีงานอดิเรกเพียง 1 อย่าง เธอแนะนำให้หาสิ่งอื่นทำอีกสัก 3 อย่าง เพื่อบังคับให้สมองทำงานหลากหลายมากขึ้น

"ปีนี้คุณเริ่มเรียนรู้ภาษาที่สาม จากนั้นในปีหน้าคุณไปเรียนร้องเพลง และต่อไปอีกปีคุณก็หาอะไรใหม่ๆ ทำอีกสักอย่าง การเรียนรู้ทักษะใหม่แบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ จะทำให้สมองของคุณไม่หยุดพัฒนาและทำให้คุณมีทักษะหลายด้านด้วย"

ข้อแนะนำทั้ง 6 ข้อเป็นการสังเคราะห์งานวิจัยมานานกว่า 5 ทศวรรษ ซึ่งเธอเชื่อว่า วิธีเหล่านี้จะช่วยให้การทำงานของสมองผู้สูงวัยมีประสิทธิภาพ และยังเป็นหนุ่มสาวอยู่เสมอ ติดตามเรื่องราวด้านสุขภาพอื่นๆ ของ ดร.ราเชลได้ทางเว็บไซต์ Health.com n