posttoday

ครูพี่เลี้ยง (Mentor) บทบาทนี้มีคุณค่า

19 กุมภาพันธ์ 2561

หากเด็กๆ ได้ครูผู้สอนที่ดีซึ่งมีวิธีการสอนที่สามารถทำให้พวกเขาเรียนด้วยความสนุกและความเข้าใจแล้ว วิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ก็จะไม่ใช่ยาขมสำหรับเด็กๆ อีกต่อไป

เรื่อง ภาดนุ

การเรียนสายวิทย์-คณิต ถือเป็นเรื่องยากสำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมมาทุกยุคสมัย แต่หากเด็กๆ ได้ครูผู้สอนที่ดีซึ่งมีวิธีการสอนที่สามารถทำให้พวกเขาเรียนด้วยความสนุกและความเข้าใจแล้ว วิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ก็จะไม่ใช่ยาขมสำหรับเด็กๆ อีกต่อไป

ยิ่งถ้าได้ครูพี่เลี้ยง (Mentor) จากโครงการ Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ซึ่งเป็นโครงการที่บริษัท เชฟรอน ประเทศไทยฯ ผนึกกำลังกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กระทรวง ศึกษาธิการ และสถาบันคีนันแห่งเอเชีย ส่งมาเป็นกำลังเสริมคอยให้คำแนะนำครูผู้สอนในโรงเรียนต่างๆ ด้วยแล้ว เชื่อว่า เด็กสายวิทย์-คณิต ต้องเรียนดีมีอนาคตแน่นอน

วงเดือน โปธิปัน วัย 72 ปี ข้าราชการครูเกษียณอายุ นับเป็นแม่พิมพ์ของชาติที่ใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่สั่งสมมาในสาขาวิชาคณิตศาสตร์ พร้อมทั้งจิตวิญญาณความเป็นครู มาทำหน้าที่เป็นครูพี่เลี้ยงให้กับครูจากโรงเรียนต่างๆ ในระดับภูมิภาคที่เข้าร่วมโครงการ

“ก่อนเกษียณอายุราชการครู ตำแหน่งสุดท้ายของดิฉันก็คือ ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ สำนักงานการประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 2 โดยก่อนที่จะมาเป็นศึกษานิเทศก์ ดิฉันสอนวิชาคณิตศาสตร์อยู่ที่โรงเรียนบ้านเชียงดาว จ.เชียงใหม่ มา 18 ปี แล้วจึงสอบเข้ามาเป็นศึกษานิเทศก์อีก 21 ปีค่อยเกษียณอายุ

ครูพี่เลี้ยง (Mentor) บทบาทนี้มีคุณค่า ครูวงเดือน โปธิปัน

ตอนเป็นครูดิฉันสอนคณิตศาสตร์หรือวิชาเลขในระดับชั้นประถม-มัธยม ซึ่งวิชาเลขนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นยาขมสำหรับเด็กไทยเลยละ ฉะนั้นการสอนที่จะทำให้เด็กเรียนแล้วเข้าใจง่ายก็คือ ตอนที่เราสอนเด็กๆ จะต้องเรียนด้วยความสนุก วิธีการของดิฉันก็คือ การสอนโดยแทรกกิจกรรมที่ทำให้เด็กๆ มีส่วนร่วมเข้าไปด้วย เพราะหากเราให้เด็กทำแต่แบบฝึกหัด แล้วอธิบายแต่ทฤษฎีกรอกหู นอกจากเด็กจะรู้สึกว่าเลขเรียนยากและไม่เข้าใจแล้ว พวกเขายังเรียนแบบไม่สนุกด้วย

ฉะนั้นดิฉันจะใช้วิธีหาเกมมาให้เด็กๆ เล่นในชั่วโมงเรียน พาพวกเขาออกไปนอกห้องเรียน เช่น หากช่วงนั้นสอนเกี่ยวกับการวัดหรือคำนวณหาพื้นที่ ก็จะพาเด็กๆ ไปวัดกระเบื้องปูพื้นหรือสิ่งอื่นๆ แล้วให้เขาคำนวณออกมาเป็นตารางเมตร พูดง่ายๆ ว่าให้เด็กๆ ใช้สภาพแวดล้อมในโรงเรียนเป็นเคสในการเรียนรู้ ก็จะทำให้เรียนแล้วสนุกขึ้น และรู้สึกว่าวิชาเลขไม่ได้ยากอย่างที่คิด ซึ่งที่ผ่านมาก็สามารถวัดผลได้ว่าเด็กเรียนเลขได้ดีขึ้น”

ครูวงเดือนบอกว่า ได้นำประสบการณ์จากการเป็นครูในช่วงหลายสิบปี มาปรับใช้กับการเป็นครูพี่เลี้ยง ซึ่งคอยดูแลครูจากสถาบันการศึกษาอื่นๆ อีกที โดยหน้าที่หลักของครูพี่เลี้ยงก็คือ คอยแนะนำการเรียนการสอนให้กับบรรดาครูอาจารย์ในโรงเรียนต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เขต 2 โดยนำเทคนิคการสอนของตัวเองมาขยายผลไปสู่ครูอาจารย์ที่เข้าอบรมอีกที

“บทบาทของครูพี่เลี้ยงก็คือ ไปสังเกตดูการเรียนการสอนในโรงเรียนแม่ข่ายที่เข้าร่วมโครงการ ดิฉันเริ่มทำหน้าที่นี้ตั้งแต่ปี 2557-2558 ที่โรงเรียนใน จ.ขอนแก่น จากนั้นในปี 2559 ก็มายังโรงเรียนใน จ.เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแพร่ ตามลำดับจนถึงปัจจุบัน

การมาเป็นครูพี่เลี้ยงด้านวิชาการในโครงการนี้ ดิฉันได้นำแนวทางบางส่วนจากการเป็นศึกษานิเทศก์มาใช้กับงานนี้ซึ่งเป็นงานที่อยู่นอกระบบ ดังนั้นเมื่อต้องไปทำหน้าที่ครูผู้สังเกตการเรียนการสอน ก็จะใช้ความเป็นกัลยาณมิตรในการเข้าถึงครูในโรงเรียนต่างๆ โดยใช้วิธีพูดคุยกันเพื่อให้ครูทุกท่านได้สะท้อนความคิดออกมาว่า ช่วงนี้แต่ละท่านทำอะไรได้ดีบ้าง รวมทั้งให้กำลังใจ และรับฟังปัญหาในการสอน ด้วยการใช้คำถามช่วยกระตุ้นให้บรรดาครูได้เผยสิ่งเหล่านี้ออกมา พร้อมทั้งให้คำปรึกษาและแนะนำวิธีการสอนให้ทุกท่านนำไปปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

นอกจากนี้ สิ่งที่ครูจากโรงเรียนในโครงการจะได้รับก็คือ การได้เข้าอบรมการเป็นครูผู้สอนคณิตศาสตร์ภาคเรียนละ 1 ครั้ง สนับสนุนโดยบริษัทเชฟรอนฯ และสถาบันคีนันแห่งเอเชีย ซึ่งได้ร่วมกับ Teacher College แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐ และมหาวิทยาลัยท้องถิ่นในเมืองไทยอย่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดขึ้น โดยมีครูวิทยากรเป็นผู้สาธิตการเรียนการสอนให้กับบรรดาครูที่เข้าร่วมโครงการอีกที”

ครูวงเดือนทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันหลายคนมองว่ามีเด็กนักเรียนที่เลือกเรียนสายวิทย์-คณิตน้อยลง ส่งผลให้ตอนนี้อาชีพทางด้านสายวิทย์-คณิต ยังขาดบุคลากรในด้านต่างๆ อยู่มาก เรื่องนี้ครูเห็นด้วยอย่างยิ่ง

“เมื่อมีโครงการดีๆ มาช่วยกระตุ้นให้เด็กๆ สนใจเรียนด้านวิทย์-คณิตมากขึ้น ดิฉันมองว่ามันสามารถช่วยได้ในระดับนึง แต่กว่าจะพัฒนาได้ทั่วทั้งประเทศก็อาจจะต้องใช้เวลายาวนานสักหน่อย แต่โดยส่วนตัวแล้วยังเชื่อมั่นว่า การเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ลงมือทำ ได้พัฒนาตนเอง โดยมีครูผู้สอนคอยกระตุ้นหรือเป็นที่ปรึกษาให้นั้น จะช่วยปลูกฝังบ่มเพาะให้เด็กไทยรักการเรียนคณิตศาสตร์กันมากขึ้น”

ปัจจุบันชีวิตหลังเกษียณของครูวงเดือนก็คือ ติดตามโครงการการศึกษาอื่นๆ อาทิ โครงการคุณธรรมของมูลนิธิยุวสถิรคุณ และโครงการพัฒนาเด็กเล็กของ สสส. เป็นต้น

ครูพี่เลี้ยง (Mentor) บทบาทนี้มีคุณค่า ครูวรรณา เฟื่องฟู

ด้าน วรรณา เฟื่องฟู วัย 65 ปี อดีตข้าราชการครูชำนาญการระดับ 8 ซึ่งสอนวิชาวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมต้น-มัธยมปลาย และสอนวิชาฟิสิกส์ชั้น ม.ปลาย ที่โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย จ.ภูเก็ต ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่เข้าร่วมโครงการครูพี่เลี้ยง

“ดิฉันเป็นครูมาตั้งแต่ปี 2519 โดยสอนในโรงเรียนประถมก่อน ต่อมาในปี 2520 ก็ได้สอบบรรจุเป็นครูมัธยมประจำโรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย กระทั่งขอเกษียณอายุก่อนในปี 2551 ปัจจุบันดิฉันเป็นหนึ่งในครูพี่เลี้ยงในโครงการของเชฟรอน โดยได้เข้าร่วมมาตั้งแต่โครงการ Chevron Increase ซึ่งเป็นโครงการแรกเลยก็ว่าได้ โดยไปเป็นครูพี่เลี้ยงวิชาการช่วยดูแลการสอนให้ครูโรงเรียนต่างๆ ใน จ.สงขลา และนครศรีธรรมราช

กระทั่งได้ร่วมงานต่อเนื่องในโครงการ Enjoy Science ในปี 2555 การเป็นครูพี่เลี้ยงในโครงการซึ่งเป็นการพัฒนานักเรียนในระดับมัธยมต้นนี้ ดิฉันมีหน้าที่ให้คำแนะนำช่วยเหลือครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ในระดับ ม.ต้น เป็นหลัก ซึ่งเป็นการปูพื้นฐานทั้งวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีวะ โดยส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ ตั้งสมมติฐาน ทดลอง ปฏิบัติ และสรุปผลการทดลองเพื่อเป็นองค์ความรู้ด้วยตัวเอง โดยครูผู้สอนไม่ต้องอธิบายถึงผลสำเร็จให้เด็กฟัง แต่จะเป็นการให้แนวทางเด็กได้คิดเองทำเองซะมากกว่า”

ครูวรรณา ยกตัวอย่างการให้เด็กนักเรียนทดลองหาคำตอบในเรื่องการเปลี่ยนสถานะของมวลสสาร ซึ่งวิธีการก็คือ ให้นักเรียนนำน้ำแข็งมาใส่กล่องที่มีฝาปิดและชั่งน้ำหนักดูว่า น้ำแข็งมีมวลเท่าไร จากนั้นให้เขย่าจนน้ำแข็งละลายเป็นน้ำ นั่นคือการเปลี่ยนสถานะของสสารจากของแข็งเป็นของเหลว แล้วให้นักเรียนหาคำตอบว่า มวล (น้ำหนัก) ของสสารที่เปลี่ยนสถานะนั้นจะเปลี่ยนแปลงด้วยหรือไม่

ครูพี่เลี้ยง (Mentor) บทบาทนี้มีคุณค่า ครูวรรณา เฟื่องฟู

สิ่งสำคัญคือให้นักเรียนทำนายผลไว้ก่อนล่วงหน้า ถ้าอยากรู้คำตอบ พวกเขาก็จะต้องทดลองด้วยตัวเอง จนได้คำตอบที่ว่า แม้สสารจะเปลี่ยนสถานะจากของแข็งกลายเป็นของเหลว แต่มวลของมันก็จะไม่เปลี่ยนแปลง เป็นต้น

“วิธีการให้เด็กๆ ทำนายผลหรือตั้งสมมติฐานไว้ล่วงหน้า จะทำให้พวกเขาอยากรู้และสนุกกับการหาคำตอบ ซึ่งจะนำไปสู่การลงมือปฏิบัติหรือทดลองทำจริง หากทำเสร็จแล้วได้คำตอบแบบที่คิดไว้ก็จะถือว่าทำสำเร็จ แต่หากผลที่ออกมาไม่เป็นไปอย่างที่คาดไว้ เด็กก็จะได้กลับมาคิดทบทวนดูว่า มันไม่เป็นอย่างที่ตั้งสมมติฐานไว้เพราะอะไร ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้พวกเขาคิดและหาคำตอบอย่างมีเหตุมีผลและมีหลักการ โดยมีครูผู้สอนคอยแนะนำให้

จากการเป็นครูสอนวิทยาศาสตร์มา 40 ปี ดิฉันพบว่า เด็กส่วนใหญ่เข้าใจว่าการเรียนวิทยาศาสตร์ยาก เพราะที่ผ่านมาครูส่วนใหญ่จะสอนแต่ทฤษฎี หรือนำความรู้มาอัดใส่หัวเด็กมากเกินไป เมื่อพวกเขาไม่สามารถจำได้หมด ก็จะรู้สึกว่าวิทยาศาสตร์เป็นวิชาที่ยากเกินไป ทำให้ไม่ค่อยอยากเรียนกัน แต่เมื่อเราเปลี่ยนมาใช้วิธีที่โครงการเน้นถึงความสำคัญ นั่นคือการให้เด็กได้ลงมือทดลอง และหาคำตอบด้วยตัวเอง พวกเขาก็จะรู้สึกสนุกกับการเรียน แถมยังสามารถไปต่อยอดหาความรู้เพิ่มเติมจากแหล่งอื่นๆ ที่มีสารประโยชน์ด้วยความขวนขวายอีกด้วย”

ครูวรรณาเสริมว่า สำหรับการเป็นครูพี่เลี้ยงด้านวิทยาศาสตร์ โครงการจะมีการเตรียมวิทยากรหลักมาช่วยคิดและออกแบบการเรียนการสอนให้ พร้อมกับถ่ายทอดให้กับบรรดาครูที่เข้าร่วมโครงการ โดยตัวเธอเองมีส่วนร่วมในขั้นตอนนี้ด้วย และเมื่ออบรมเสร็จก็จะแนะนำเทคนิคการสอนและมอบอุปกรณ์ให้ครูจากโรงเรียนต่างๆ นำไปใช้อีกที

ครูพี่เลี้ยง (Mentor) บทบาทนี้มีคุณค่า

“จากนั้นดิฉันจะมีหน้าที่คอยติดตามดูการเรียนการสอนของครูจากโรงเรียนต่างๆ ว่าเมื่อใช้วิธีของโครงการแล้วมีปัญหาอะไรมั้ย ใช้แล้วประสบผลสำเร็จแค่ไหน เด็กนักเรียนสนุกกับการสอนนั้นมั้ย โดยอาจนำเสนอวิธีการสอนของเราสอดแทรกเข้าไปด้วย จากนั้นจะแนะนำให้ครูผู้สอนได้ลองใช้คำถามที่ช่วยกระตุ้นให้นักเรียนคิด อภิปราย หรือลงมือหาคำตอบด้วยตัวเอง ซึ่งก็จะทำให้เด็กๆ สนุกสนานกับการเรียนมากยิ่งขึ้น

โดยส่วนตัวแล้วดิฉันสังเกตว่า เด็กที่ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวทางของโครงการ ส่วนใหญ่จะรู้สึกสนใจและรักการเรียนมากขึ้น ยิ่งเราเน้นวิชาวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องหรือสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้มากเท่าไร เด็กๆ ก็จะยิ่งสนุกกับการเรียนและให้ความสนใจวิชาวิทยาศาสตร์กันมากขึ้นตามไปด้วย”

ปัจจุบัน ครูวรรณายังช่วยงานในโครงการ Enjoy Science รวมทั้งช่วยงานของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สสวท. อีกด้วย