posttoday

เอมิล โนลเด สีคือชีวิต

18 กุมภาพันธ์ 2561

ระหว่างวันนี้-10 มิ.ย. นิทรรศการศิลปะ Emil Nolde\ Colour is Life

โดย อฐิณป ลภณวุษ

ระหว่างวันนี้-10 มิ.ย. นิทรรศการศิลปะ Emil Nolde\ Colour is Life ผลงานจิตรกรชาวเยอรมันจากยุคเอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ เอมิล โนลเด กำลังจัดแสดงให้ชมที่หอศิลป์แห่งชาติไอร์แลนด์ ณ กรุงดับลิน

เอมิล โนลเด เป็นศิลปินที่มีผลงานมากมาย ทั้งงานจิตรกรรมและภาพพิมพ์ สำหรับนิทรรศการ Emil Nolde\ Colour is Life เป็นความร่วมมือระหว่างหอศิลปะสมัยใหม่แห่งชาติสกอตแลนด์และหอศิลป์แห่งชาติไอร์แลนด์ ซึ่งนิทรรศการของ เอมิล โนลเด ครั้งนี้ นับว่าเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปีทีเดียว ที่มีผลงานของศิลปิน “บิ๊กเนม” มาจัดแสดงในไอร์แลนด์ โดยภาพทั้งหมดยืมมาจากมูลนิธิโนลเด ซีบูล ที่เมืองนอยเคอร์เชน เยอรมนี

Emil Nolde\ Colour is Life เป็นผลงานของภัณฑารักษ์ อย่าง คีท ฮาร์ตลีย์ จากหอศิลปะสมัยใหม่แห่งชาติสกอตแลนด์ และเจเน็ต แมคลีน กับ ฌอน เรนเบิร์ด แห่งหอศิลป์แห่งชาติไอร์แลนด์ ที่รวบรวมผลงานจิตรกรรมสีน้ำและสีน้ำมัน, ภาพดรออิ้ง, ภาพพิมพ์โลหะ และภาพพิมพ์ไม้กว่า 120 ภาพ มาจากซีบูล บ้านเก่าของเอมิลในเยอรมนี ซึ่งบัดนี้เป็นที่ตั้งของมูลนิธิโนลเด

เอมิล โนลเด สีคือชีวิต

120 กว่าภาพกระจัดกระจายอยู่ในหลายยุคสมัย หลายรูปแบบในการทำงานของจิตรกรเยอรมันจากยุคนาซี ทั้งภาพที่แสดงบรรยากาศบ้านเมืองในกรุงเบอร์ลิน ไปจนถึงภาพเขียนสีสด ที่เขาเรียกว่าภาพ “ไม่ได้วาด” เพราะโดนแบนจากรัฐบาลนาซี รวมทั้งภาพในช่วงที่เขาต้องลดสเกลลงมาวาดลงกระดาษแผ่นเล็กๆ เนื่องจากศิลปะแบบเอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์เป็นสิ่งต้องห้ามในยุคนั้น อย่างที่รู้ดีกันว่าท่านผู้นำ “ไม่ปลื้ม” ศิลปะยุคใหม่

ผลงานของเอมิล โนลเด ที่นำมาจัดแสดงใน Emil Nolde\ Colour is Life ยังมีภาพดอกไม้และสวนที่โด่งดัง รวมไปถึงภาพเขียนอิงศาสนาแบบไม่ธรรมดา เพราะบรรจุไว้ด้วยจิตวิญญาณและเนื้อหาแนวอีโรติก

สำหรับ เอมิล โนลเด ได้รับการยอมรับว่าเป็นศิลปินที่โดดเด่นและมีพรสวรรค์สูง โดยเฉพาะอัจฉริยภาพในการใช้สีและเทคนิคการพิมพ์ภาพของเขา การนำผลงานของจิตรกรชื่อดังของโลกครั้งนี้ นับเป็นการสานต่อจากความสำเร็จของนิทรรศการของ เอ็ดวาร์ด มุงค์ ในปี 2009 ที่นับเป็น “บิ๊กเนม” จากยุคเอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์อีกคนจากยุโรปเหนือ

เอมิล โนลเด สีคือชีวิต

การจัดแสดง ณ หอศิลป์แห่งชาติไอร์แลนด์ ภัณฑารักษ์ทั้งสามจัดสรรเรียงร้อยรูปภาพให้ชมตามธีม ซึ่งมีทั้งธีมบ้าน เมืองหลวง ความขัดแย้งและยา ทะเลใต้และความแปลกใหม่ ทะเลและสวน ฯลฯ ในแต่ละส่วนของการแสดงงานจึงมีทั้งภาพสีน้ำ สีน้ำมัน ภาพพิมพ์ ภาพชุด “ไม่ได้วาด” และภาพดรออิ้งอยู่เคียงข้างกัน

ไม่ว่าจะเป็นภาพสีน้ำมันอย่าง Exotic Figures II (1911) Candle Dancers (1912) Two Women in a Garden (1915) Paradise Lost (1921) และ Large Poppies (Red, Red, Red) (1942) จัดแสดงปะปนกับภาพเขียน “ไม่ได้วาด” ได้แก่ Singer (in a green dress) (1910-11) และ Aboriginal Man Swimming (1914) รวมถึงภาพพิมพ์ต่างๆ เช่น Prophet (1912) และ Young Couple (1913) โดยบริเวณ ดับลิน เวอนู ที่เป็นฮอลล์โปร่งใสกลางหอศิลป์ จัดให้เป็นส่วนแสดงเอกสารต่างๆ เพื่อที่จะปกป้องผลงานอันละเอียดอ่อนของจิตรกรเยอรมันจากแสงแดด

เอมิล โนลเด หรือ เอมิล ฮันเซน จิตรกรเยอรมัน จากช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เขาเคยเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มดี บรุคเค (Die Brucke - สะพาน) 1 ใน 2 กลุ่มศิลปินยุคเอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ชื่อดังของเยอรมนี เขาใช้ชีวิตสร้างสรรค์ศิลปะส่วนใหญ่ที่บ้านในซีบูล ซึ่งอยู่แถวๆ ชายแดนระหว่างเยอรมนีกับเดนมาร์ก

เอมิล โนลเด สีคือชีวิต

ในปี 1902 เขาแต่งงานกับนักแสดงชาวเดนิช เอดา ฟิลสทรูป พร้อมๆ กับเปลี่ยนสกุลเดิมจากฮันเซนเป็น โนลเด ตามสถานที่เกิดของเขา ภาพแลนด์สเคปสีสันจัดจ้าน ทั้งทะเลและสวน ส่วนมากที่ปรากฏในผลงาน ล้วนเป็นทิวทัศน์แถวๆ บ้านของเอมิลเอง ขณะที่เขาจะต้องเดินทางมาปักหลักที่กรุงเบอร์ลินทุกๆ ปี จึงมีภาพวาดบรรยากาศของเมืองหลวง อย่างเช่น โรงละคร นักเต้นคาบาเรต์ และบรรดาคาเฟ่ต่างๆ ฯลฯ อยู่ด้วยเช่นกัน

เช่นเดียวกับความชื่นชอบในการวาดภาพชาวนาแถวๆ บ้านเกิด เมื่อเขามีโอกาสได้ไปที่เยอรมัน นิวกินี (เมืองขึ้นของเยอรมนีขณะนั้น ปัจจุบันคือปาปัวนิวกินี) ในปี 1913-1914 เขาก็วาดภาพชนพื้นเมืองไว้เป็นจำนวนมาก ทว่าไม่มีโอกาสได้แสดงงาน เนื่องเพราะกระทรวงวัฒนธรรมในยุคนาซีเยอรมันจัดว่าภาพเขียนของเขาเป็นภาพชั้นเลว ไม่คู่ควรต่อการเป็นงานศิลปะ

เอมิล โนลเด สีคือชีวิต

หลัง เอดา เสียชีวิตในปี 1946 เขาแต่งงานใหม่กับ โจลันเท เอดมันน์ ก่อนจะเสียชีวิตในอีก 10 ปีต่อมา บ้านซีบูลได้รับการแปลงโฉมเป็นมูลนิธิโนลเด เพื่อที่จะรักษาภาพเขียนจำนวนมากของ เอมิล โนลเด เอาไว้