posttoday

ประเสริฐ สัสดีวงศ์ กับชีวิตรสเด็ดที่ปรุงด้วยสองมือ

18 กุมภาพันธ์ 2561

อาหารแต่ละเมนูที่ถูกปรุงแต่งรสชาติและหน้าตาด้วยวัตถุดิบต่างๆ ก็คล้ายกับเรื่องจริงของชีวิตคนเรา

โดย  พุสดี สิริวัชระเมตตา และ จุฑามาศ นิจประพันธ์ ภาพ วิศิษฐ์ แถมเงิน

อาหารแต่ละเมนูที่ถูกปรุงแต่งรสชาติและหน้าตาด้วยวัตถุดิบต่างๆ ก็คล้ายกับเรื่องจริงของชีวิตคนเรา ที่ถูกแต่งแต้มสีสันด้วยประสบการณ์ชีวิตที่หลากหลายและไม่คาดคิด เช่นเดียวกับเชฟเปี๊ยก-ประเสริฐ สัสดีวงศ์ หัวหน้าเชฟห้องอาหารไทยต้นตำรับ ศาลาริมน้ำ แห่งโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ เชฟหนุ่มที่ทลายขีดจำกัดของตัวเอง ด้วยการก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซนไปเรียนรู้ในโลกกว้างที่น้อยคนนักจะมีโอกาสได้สัมผัส เขาเปรียบเทียบเส้นทางชีวิตที่เต็มไปด้วยรสชาติทั้งหวาน ทั้งขม ว่าเป็นอาหารรสชาติเยี่ยม ที่เขาตั้งใจปรุงขึ้นด้วยสองมือ

“หน้าตาอาหารจานนี้อาจจะใม่ดูน่ากิน แต่พอได้ชิมแล้วจะรู้ว่าเป็นอาหารที่ครบรสและอร่อยที่สุด” เชฟเปี๊ยกเกริ่นเรียกน้ำย่อยก่อนชวนชิมเรื่องราวชีวิตที่ครบรสของเขาอย่างออกรส

ยินดีที่ได้รู้จักฟิจิ ดินแดนแห่งฝัน

“ผมเชื่อว่าโอกาสไม่ได้มีมากมายสำหรับทุกคน ดังนั้นเมื่อโอกาสมาถึงอยู่ที่ว่าใครจะไขว้คว้าไว้ เราไม่มีทางรู้ว่าโอกาสที่คว้ามาจะพาเราไปเจอกับอะไร แต่อย่างน้อยเราต้องทำโอกาสที่ได้มาให้ดีที่สุด” เชฟเปี๊ยกบอกเล่าด้วยแววตามุ่งมั่นก่อนจะพาไปเพลิดเพลินกับเรื่องราวที่สุดของชีวิต

“ผมเริ่มทำงานในครัวตอนอายุ 24-25 ปีแล้ว ซึ่งถือว่าค่อนข้างช้า เพราะอาชีพนี้บางคนเริ่มตั้งแต่ 18-19ปี แต่ผมไม่ท้อ พยายามเรียนรู้ตลอดเวลา ทำงานได้ 5 ปี ผมก็ได้รับการทาบทามให้ไปทำงานเป็นสเปเชียลเชฟที่โรงแรมในเกาะส่วนตัวแห่งหนึ่งในฟิจิ บอกตามตรง ตอนนั้นผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าประเทศฟิจิอยู่ตรงไหนของโลก ใช่อันเดียวกับภูเขาไฟฟูจิที่ญี่ปุ่นหรือเปล่า“ เชฟเปี๊ยกบอกเล่าอย่างติดตลก “แต่ผมก็ตัดสินใจไปนะ ผมเริ่มทำการบ้านหาข้อมูลจนรู้ว่า ฟิจิ เป็นประเทศที่อยู่ระหว่างออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ ผมยังจำได้ว่า ผมเปิดกูเกิ้ลแมพดู ยังแปลกใจทำไมเห็นแต่หลังคาบ้านที่มุงด้วยใบไม้ มารู้ทีหลังว่าเป็นธรรมเนียมของคนฟิจิที่จะนำใบไม้มาคลุมหลังคาอีกชั้นเพื่อรักษาความเป็นธรรมชาติไว้ให้มากที่สุด”

ประเสริฐ สัสดีวงศ์ กับชีวิตรสเด็ดที่ปรุงด้วยสองมือ

หลังจากเตรียมใจและเตรียมพร้อมเพื่อเผชิญกับประสบการณ์ใหม่ที่แสนแปลกใหม่ การเดินทางที่ไม่รู้ว่ามีอะไรรออยู่เบื้องหน้าก็เริ่มต้นขึ้น

เชฟเปี๊ยกค่อยๆฉายภาพความทรงจำที่ไม่ลืมด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม เจือด้วยเสียงหัวเราะแทรกเป็นระยะว่า เป้าหมายในการเดินทางของเขา คือ Laucala Island Hotel รีสอร์ตหรูระดับ 5 ดาว ติด 1 ใน 10 ของรีสอร์ตที่ดีที่สุดในโลก เป็นหนึ่งในเดรสทิเนชั่นยอดฮิตของเหล่าคนดังและดาราฮอลลีวู้ด ที่มองหาความเป็นส่วนตัว ด้วยจำนวนบ้านพักเพียง 25 หลัง เจ้าของคือ ดีทริช เมเทสซิทซ์ นักธุรกิจและมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของออสเตรีย ซึ่งคนไทยหลายคนอาจคุ้นหู เพราะเขาคือ ผู้ที่ร่วมกับเฉลียว อยู่วิทยา ก่อตั้งอาณาจักรเรดบูล ฟังดูตื่นเต้นสวยหรู แต่หนทางที่จะไปกลับไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

อย่างไรก็ตาม เชฟเปี๊ยกบอกว่า ถึงจะเป็นเกาะส่วนตัว แต่การเดินทางไม่ได้ยากอย่างที่คิด สำหรับแขกของโรงแรมสามารถนั่งเครื่องบินตรงมาที่ฟิจิได้เลย แต่สำหรับพนักงานตัวเล็กๆอย่างเขา ด้วยความที่กำหนดเดินทางไป เป็นช่วงที่มีแขกเข้าพักเต็ม และเครื่องบินไปยังเกาะยังมีเพียงลำเดียว แผนการเดินทางของเขาเลยต้องเปลี่ยนไป

“ผมใช้เวลาในการเดินทาง 2 วัน ขึ้นเครื่อง นั่งรถ นั่งเรือ สารพัดจะนั่งครับ ผมนั่งเครื่องบินไปลงที่ออสเตรเลีย จากนั้นนั่งเครื่องไปลงที่เกาะที่ใกล้สุด เครื่องบินที่นั่งไปเป็นเครื่องบินแบบโอเพ่นแอร์ คล้ายๆเฮลิคอปเตอร์ นั่งได้ประมาณ 4-  5 คน ใช้เวลาชั่วโมงครึ่ง พอถึงเกาะทางโรงแรมก็จะมารับให้นั่งรถต่อไปอีกเกือบชั่วโมงเพื่อไปลงท่าเรือในเกาะ เชื่อมั้ยว่ารถที่เอามารับ ผมดูสภาพรถแล้วยังแอบคิดว่าไม่น่าจะวิ่งได้ (หัวเราะ) แต่สุดท้ายรถคันนี้ก็พาผมมาถึงท่าเรือ เพื่อไปขึ้นสปีดโบ๊ดต่อ นั่งอีก 45 นาที มาถึงเกาะ ก็นั่งรถจากท่าเรือมาบ้านพักของเรา ตอนมาถึงบ้านพัก ผมนึกถึงบ้านเรือนที่ดูในกูเกิ้ลแมพมาเลย เป็นแบบเดียวกับหลังคามุงใบไม้  ที่ผมดูมาจริงๆ”

ประเสริฐ สัสดีวงศ์ กับชีวิตรสเด็ดที่ปรุงด้วยสองมือ

ชีวิตความเป็นอยู่ที่บ้านหลังใหม่แห่งนี้สำหรับเชฟเปี๊ยกไม่ใช่เรื่องที่น่าหนักใจ แถมเขายังหลงรักในชีวิตที่เรียบง่าย ได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติไม่น้อย ยิ่งกว่านั้นการทำงานที่นี่ ยังทำให้เชฟเปี๊ยกไม่เพียงมอบประสบการณ์ล้ำค่าในชีวิตให้เขามากมาย แต่ยังมอบโอกาสที่หาได้ไม่ง่ายในชีวิตการเป็นเชฟ เพราะ ณ  รีสอร์ทแห่งนี้ เขาได้มีโอกาสโชว์ฝีมือทำอาหารให้กับคนดังระดับโลก อย่าง ดีทริช เมเทสซิทซ์ อภิมหาเศรษฐีรวยที่สุดอันดับหนึ่งของประเทศออสเตรีย, โอปราห์ วินฟรีย์ เจ้าแม่ทอล์คโชว์และผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดคนหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเขาได้มีโอกาสทำอาหารแบบไพรเวทให้ถึงสองครั้ง อีกคนคือ คริสโตเฟอร์ ไบรอัน บริจส์ หรือ ลูดาคริส แร็ปเปอร์และนักแสดงชาวอเมริกัน นอกจากนั้นยังมีเชื้อพระวงศ์จากตะวันออกกลาง และ มหาเศรษฐี

“จำได้ว่าครั้งแรกที่ผมไปทำอาหารให้โอปราห์ เขามากับเพื่อนแล้วก็มีบอดี้การ์ด วันนั้นเขาเลือกเป็นอาหารสไตล์เทปันยากิ ระหว่างที่ทำ ก็มีโอกาสได้พูดคุยกันบ้าง คือ เขาถามเราก็ตอบ (ยิ้ม) ถามว่ากดดันมั้ยที่ต้องทำอาหารให้แขกระดับวีวีไอพี ผมเฉยๆนะครับ เพราะเราหน้าที่เราให้ดีที่สุด”

ชีวิตการทำงานที่ไม่เคยคิดมาก่อนว่าได้มาเจอกับสภาพแวดล้อมใหม่ที่ไม่คุ้นเคย ได้ทำอาหารเสิร์ฟบุคคลสำคัญที่ไม่เคยคิดว่าจะได้พบก็ถือเป็นความทรงจำไม่ลืมแล้ว แต่เรื่องราว ณ ฟิจิ ของเชฟเปี๊ยกจะขาดรสชาติไปโดยพลัน ถ้าเชฟเปี๊ยกไม่ได้สัมผัสกับภัยธรรมชาติที่คนท้องถิ่นเจอจนชินอย่าง “ไซโคลน" ที่เขาเคยเห็นแต่ในหนังเท่านั้น

“ช่วงเม.ย. ถึงต.ค.ถือเป็นช่วงมรสุม คนไทยอย่างเรารู้จักไซโคลน แต่ไม่เคยสัมผัส ผมเองก็สงสัยมาตลอดว่าไซโคลนเป็นยังไง จนได้เจอกันตัว วันนั้นผมจำได้ว่าเงียบมากๆ ไม่ได้มีลางบอกเหตุใดๆ กระทั่งจู่ๆเริ่มมีลมพัดมา ผมเห็นคนบนเกาะเริ่มทยอยเก็บข้าวเก็บของ จนพอตกกลางคืน ลมเริ่มแรง คนในเกาะบางส่วนเลือกหลบอยู่ในบ้านพัก อีกส่วนรวมทั้งผมตัดสินใจมารวมตัวที่ศาลากลางซึ่งผมว่าแข็งแรงกว่าบ้านพัก จำได้ว่าตอนนั้นลมด้านนอกพัดแรงขึ้นเรื่อยๆ ตอนนั้นเขาไม่ให้ใครออกมานอกศาลาเลย เพราะกลัวว่าต้นไม้จะโค่นทับวินาทีนั้นผมยังนึกภาพอานุภาพของไซโคลนไม่ออก จนกระทั่งออกมาเห็นสภาพเกาะ ถึงได้เข้าใจ ภาพที่เห็น คือ ทุกอย่างพังราบเป็นหน้ากลอง ท่าเรือเละ ตัววิลล่าก็พัง ผมมารู้ทีหลังว่า ที่เราเจอแค่ไซโคลนลูกเดียวนะ ถือว่าเบาะๆเพราะตามพยากรณ์อากาศเราต้องเจอไซโคลน 2 ลูก”

ประเสริฐ สัสดีวงศ์ กับชีวิตรสเด็ดที่ปรุงด้วยสองมือ

หลังจากเหตุการณ์ภัยธรรมชาติครั้งนั้น เชฟเปี๊ยกถ่ายทอดความรู้สึกในตอนนั้นว่า รู้สึกสงสารทุกคนที่ทำงานบนเกาะจับใจ ถึงจะโชคดีรอดตายมาได้ แต่ในฐานะลูกจ้าง ทุกคนต่างกังวลจะตกงานหรือไม่ เพราะทุกอย่างบนเกาะพังพินาศหมด โชคดีที่เจ้าของรีสอร์ตน่ารัก นอกจากจะถามไถ่ถึงสวัสดิภาพของพนักงานเป็นอันดับแรก ยังไม่ไล่พนักงานออก แถมปีนั้นยังให้โบนัสพนักงานด้วย

“ตอนนั้นกำลังใจทุกคนดีมาก เราช่วยกันพลิกฟื้นเกาะแห่งนี้ขึ้นมาอีกครั้งจนคืนสภาพเดิมทุกอย่าง ผมมีความสุขมากที่ได้ทำงานที่นี่ ช่วงที่เกิดเรื่องไม่มีความคิดที่จะกลับประเทศเลย แค่คิดว่าจะทำอย่างไรให้เกาะกลับมาสวยเหมือนเดิม หลังจากผ่านไป 6 เดือนเกาะแห่งก็กลับมาสวยเหมือนเดิม”

สถานีต่อไป...กาตาร์

อย่างไรก็ตาม ขึ้นชื่อว่างานเลี้ยงยังมีวันเลิกรา แม้จะหลงรักชีวิตที่แสนเรียบง่ายที่ฟิจิ แต่เมื่อโอกาสเข้ามาทักทายอีกครั้ง เชฟเปี๊ยกก็พร้อมสำหรับการเดินทางครั้งใหม่ หลังจากเชฟใหญ่ของรีสอร์ตที่เคยทำงานที่ฟิจิที่ลาออกไปทำงานที่กาตาร์ เขาก็ติดต่อมาทาบทามให้ผมไปทำงานด้วยกัน นอกจากเงินเดือนจะมากขึ้น ได้ทำงานใกล้บ้านมากขึ้น เพราะใช้เวลานั่งเครื่องบินแค่ 6 ชั่วโมงก็ถึงกรุงเทพฯ เขายังได้เติบโตในสายงาน ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นโฮเตล เชฟ เป็นเชฟใหญ่ดูแลทั้งโรงแรม

“ผมยังจำวันแรกที่เดินทางไปถึงกาตาร์ได้ว่า ไปถึงตอนเที่ยงคืน ก็มีเจ้าหน้าที่จากโรงแรมมารับพามาที่อพาร์ตเม้นต์ที่พัก กาตาร์เป็นประเทศที่ร้อนมาก อุณหภูมิ 40 – 50 องศาเซลเซียส เขามีกฎระเบียบข้อบังคับหลายอย่างต่างกับบ้านเรา ตอนไปใหม่ๆ ต้องปรับตัวเยอะมาก ยกตัวอย่าง ผู้หญิงกาตาร์เวลาไปไหนต้องใส่ฮิญาบคลุมทั้งศีรษะ เห็นแค่ดวงตา ถ้าเราเดินผ่านแล้วไปสบตา เขาสามารถเรียกตำรวจจับเราได้เลย พวกกฎหมาย กฎระเบียบเขาก็ค่อนข้างโหด อย่างวัตถุดิบตามร้านอาหาร ถ้าเขาตรวจเจอว่าหมดอายุ คือ สั่งปิดร้านทันที พืชผักอย่างหอมหัวใหญ่ กระเทียม ถ้าเก็บไว้ในครัวจนมีต้นงอกออกมานี่คือผิดเลย”

เชฟเปี๊ยกยอมรับว่า การมาทำงานที่กาตาร์ ทำให้เขาได้เติบโตในสายงาน ได้ค่าตอบแทนที่สูงขึ้น แต่ถ้าถามถึงความชอบและความสุขในการทำงาน เขาเทใจให้ฟิจิ   

“ตอนมาอยู่กาตาร์ ผมต้องเรียนรู้เรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรมเยอะ อย่างที่ผมบอกว่า ผู้หญิงที่นี่ต้องใส่ผ้าคลุมหน้า ผมเคยไปดูแลห้องอาหารเช้า ปรากฏว่ามีผู้หญิงใส่ผ้าปิดหน้ามาสั่งอาหารผม ปรรากฏทำเสร็จผมเงยหน้าขึ้นมา เจอผู้หญิงใส่ผ้าคลุมหน้าหมดเลย งานเข้าเลย คนไหนสั่งหล่ะ (หัวเราะ) สุดท้ายผมต้องรอให้เขาเดินมาเอง”

วีรกรรมโหดมันฮา ณ กาตาร์ยังไม่จบ เชฟเปี๊ยกเล่าอย่างออกรสว่า หลังจากทำงานได้ปีครึ่ง เขาตัดสินใจลาออก แต่การจากลาครั้งนี้ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะหลังจากตัดสินใจจะเดินทางกลับประเทศไทย เขาตั้งใจไปกดเอทีเอ็มเพื่อถอนเงินจากบัญชี ปรากฏว่าถอนเงินได้แค่ส่วนเดียวบัญชีก็ถูกล็อก ทำเอาเชฟเปี๊ยกตกใจไม่น้อย

ประเสริฐ สัสดีวงศ์ กับชีวิตรสเด็ดที่ปรุงด้วยสองมือ

“ผมรีบไปธนาคารเลย หลังจากเจ้าหน้าที่เช็คแล้ว เขาถามผมว่า เคยทำบัตรเครดิตไว้ใช่ไหม ผมก็ตอบว่าใช่ เขาก็ถามว่าแล้วคุณยังต้องการบัตรเครดิตอยู่ไหม ผมก็งง เพราะผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าบัตรเครดิตที่ผมได้รับการอนุมัติ เพราะที่กาตาร์ไม่เหมือนบ้านเราที่มีเจ้าหน้าที่โทรแจ้งผลว่าสมัครบัตรเครดิตแล้วผ่านหรือไม่ผ่าน เพราะ ของเขาคือ ถ้าผ่านก็เราต้องไปรับบัตรที่ไปรษณีย์เอง ตอนนั้นผมเลยตอบเจ้าหน้าที่ไปว่า ผมจะกลับบ้านแล้ว ไม่ต้องการบัตรเครดิตแล้ว เขาก็แนะนำให้ไปเคลียร์ให้เรียบร้อย ไม่เช่นนั้นจะเดินทางออกนอกประเทศไม่ได้ ผมก้ต้องรีบไปไปรษณีย์ ไปเดินเรื่องเพื่อให้ปลดล็อกบัญชีให้ผม”

ร่วมลุ้นระทึกมาถึงตรงนี้ เหมือนทุกอย่างจะจบลงอย่างแฮปปี้ เอ็นดิ้ง แต่เชฟเปี๊ยกส่งสัญญาณว่าช้าก่อน เพราะเรื่องราวชวนใจเต้นแรงยังไม่จบ หลังจากจัดการภารกิจทุกอย่างเรียบร้อย เชฟกลับไปที่บ้านพักเพื่อเตรียมตัวย้ายออก ก็มีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ระหว่างที่คนขับรถที่จะพาผมไปสนามบินรออยู่ด้านหน้าประตูเพื่อเตรียมช่วยขนของ จังหวะที่จะไขกุญแจเพื่อเปิดประตูลูกบิดออกมา กุญแจห้องดันหักคาประตูที่เปิดปิดมานับครั้งไม่ถ้วนที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่

“เรื่องนี้ เล่าทีไรผมก็ยังขำไม่หาย เรื่องแบบนี้ดันมาเกิดในวันที่ผมกำลังจะขึ้นเครื่องบินกลับบ้านในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า วินาทีนั้นผมไม่มีทางเลือกอื่น จะเรียกช่างก็ไม่มี เพราะวันนั้นเป็นวันอาทิตย์ จะมัวรีรอก็ไม่ได้ เพราะกลัวตกเครื่อง สุดท้ายผมกับคนขับรถใช้เวลาอยู่ครึ่งชั่วโมงเพื่อพังประตูออกมา ในที่สุดก็สำเร็จ มาถึงสนามบิน จนสามารถเดินทางกลับประเทศไทยโดยสวัสดิภาพ”

เต็มอิ่มกับอาหารจานพิเศษ

มาถึงวันนี้ เชฟเปี๊ยกอดนึกขอบคุณตัวเองในวัยหนุ่มไม่ได้ ที่คว้าโอกาสแล้วออกไปเผชิฐโลกกว้าง

“ถ้าวันนั้นผมเลือกทิ้งโอกาส ผมก็เป็นแค่พนักงานธรรมดาคนหนึ่งซึ่งทำอาหารมีเงินเดือนใช้ไปวันๆ คงไม่ได้รู้จักผู้คนมากมายเช่นวันนี้”

จากนี้ เชฟเปี๊ยกตั้งใจนำประสบการณ์และความรู้ที่ได้รับจากการไปทำงานในต่างประเทศที่หลายคนไม่คุ้นเคยมาถ่ายทอดให้เชฟรุ่นหลัง พร้อมกันนี้นอกจากเขาจะเดินหน้าปลุกปั้นห้องอาหารไทย ศาลาริมน้ำ ณ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ ซึ่งเปรียบเหมือนบ้านหลังแรกของเขาให้เข้าไปนั่งในใจลูกค้า ควบคู่ไปกับการปลุกปั้นธุรกิจร้านอาหารของตัวเอง