posttoday

วรรณ์วรี สรรพกุลโรจน์ ให้ ‘แพสชั่น’ นำ จนสุดทางเรื่องสุขภาพ

17 กุมภาพันธ์ 2561

การที่ได้ทำในสิ่งที่รักที่ชอบได้ทุกวันและมีรายได้เลี้ยงตัวเองไปด้วย สุดแสนจะเป็นความฝันของใครหลายคน

โดย ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์

 การที่ได้ทำในสิ่งที่รักที่ชอบได้ทุกวันและมีรายได้เลี้ยงตัวเองไปด้วย สุดแสนจะเป็นความฝันของใครหลายคน จึงไม่แปลกที่ “บุศ” วรรณ์วรี สรรพกุลโรจน์ จึงดูมีความสุขอย่างมากกับการเป็นเฮลท์โค้ช (Health Coach) แม้จะทำให้เธอต้องพักผ่อนน้อยไปบ้างก็ตาม

 กว่าจะเป็นไอคอนด้านสุขภาพที่มีชื่อเสียงอย่างทุกวันนี้ บุศเริ่มต้นจากลูกคนจีนคนหนึ่งที่ชอบกิน ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง ไม่มีเพื่อน โตขึ้นก็เป็นมนุษย์เงินเดือนธรรมดา

 9 ปีในตำแหน่งวิศวะด้านซอฟต์แวร์ (Software Engineer) 3 ปีในไทย และอีก 6 ปีที่สิงคโปร์ แน่นอนว่าสิ่งที่ชาวออฟฟิศเจอ บุศก็ประสบเหมือนกัน

 ทั้งเครียด อาหารไม่ย่อย ท้องผูก นอนน้อย ออฟฟิศซินโดรม อ้วนขึ้น เรียกว่าจัดครบจัดเต็ม ทั้งที่ออกกำลังกายอย่างหนักหน่วงทุกรูปแบบ 1-2 ชั่วโมงทุกวัน

 “ก่อนไปสิงคโปร์ คุณพ่อป่วยเป็นมะเร็ง คุณแม่อ้วนขาเล็กปวดเข่าเดินเหินไม่สะดวก ทำให้เราเริ่มกังวลในชีวิตว่า เราไม่สวยและมีแนวโน้มขึ้นคานเพราะไม่มีคนมาจีบเลย ถ้าเราเดินเหินไม่สะดวก เราป่วยใครจะมาดูแล ดังนั้นเรื่องสุขภาพเป็นแพสชั่น (Passion) อย่างมากของบุศ”

วรรณ์วรี สรรพกุลโรจน์ ให้ ‘แพสชั่น’ นำ จนสุดทางเรื่องสุขภาพ

 

 การออกกำลังกายไม่ช่วยแก้ปัญหาออฟฟิศซินโดรมของเธอ บุศจึงไปลองโยคะธรรมดา (หัตถะโยคะ) ก็รู้สึกดีขึ้น แต่รู้สึกเป็นเพียงการยืดเหยียด ไม่ใช่การออกกำลังกาย จึงเล่นเพียงสัปดาห์ละครั้ง จนกระทั่งไปเจอพลาบู่โยคะ หรือโยคะพอยต์ เมื่อลองก็รู้สึกใช่เลย นี่แหละที่ตามหา!

 "ได้หมดเลย คาร์ดิโอ บอดี้เวท สเตรทชิ่ง บาลานซ์ ติดใจถึงขนาดไปเทรนเป็นครูโยคะ ซึ่งใช้เวลาเรียน 2-3 เดือน และสอนไปด้วยควบคู่กับการทำงานประจำ"

 จุดเปลี่ยนแรกของชีวิตก็เกิดขึ้น เมื่อคุณพ่อเสียจากโรคมะเร็งลำไส้ลามไปปอด เธอบอกว่า ทั้งที่คุณพ่อเป็นคนออกกำลังกาย เมื่อค้นคว้าข้อมูลจึงพบว่าอาหารมีส่วนอย่างมาก เป็นจุดเริ่มต้นที่มาทานอาหารสุขภาพ เป็นมังสวิรัติ และเริ่มไปสู่อาหารมังสวิรัติเพิ่มพลังชีวิตและบำบัดโรค (Raw Vegan) ในที่สุดก็พบทางสว่างของการกินให้ได้สุขภาพดี ต้องถูกหลักการรวมอาหาร (Food Combination) เลยต้องทำความเข้าใจอย่างหนัก ใช้เวลา 4 ปีในการปรับตัวเองให้เป็นฟู้ด คอมบิเนชั่น คอมพลีทลี่ (Food Combination Completely) ช่วงแรกๆ ที่เปลี่ยนการกินก็เห็นผลแล้ว อาการเหนื่อยล้าต่างๆ เริ่มหายไป

 "ความใฝ่ฝันแรงกล้าอย่างหนึ่งของบุศคือการช่วยคน อยากเป็นแรงบันดาลใจให้คนรักสุขภาพ ให้คนสุขภาพดี ไม่อยากให้ใครต้องเป็นเหมือนตัวเองที่ต้องสูญเสียคุณพ่อไป จึงเรียนเป็นครูโยคะ ใช้เวลาหลังเลิกงานมาสอนใต้ถุนบ้านที่สิงคโปร์ นักเรียนรุ่นแรกคือเพื่อนตัวเองที่ไม่ชอบโยคะเลย แต่เมื่อได้ลองก็ชอบ และเกิดการบอกปากต่อปาก จาก 1-2 คน กลายเป็นสิบกว่าคน  

 ตัวเองตอนนั้นยังนอนน้อยอยู่ แต่ก็มีพลังไปสอน ตื่นมาทำอาหารได้ ออกกำลังได้ ทำงานอย่างน้อย 8 ชั่วโมง และสอนโยคะหลังเลิกงาน ซึ่งทำได้ขนาดนี้ต้องมีเรื่องอาหารควบคู่กันไปด้วย”

 และแล้วชีวิตก็นำพามาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง เธอลาออกจากงานประจำ มาสู่การเป็นเอ็กซ์เพิร์ตด้านสุขภาพ เป็นการออกจากคอมฟอร์ตโซนครั้งแรก และเพี้ยนไปจากตัวตนที่ปกติจะเป็นคนยึดความมั่นคงแน่นอน การออกจากงานต้องมีงานใหม่รองรับ แต่ครั้งนี้ "ไม่" ขอออกมาก่อน ซึ่งไม่ได้ลำบากมากเพราะมีเงินเก็บอยู่มาก

วรรณ์วรี สรรพกุลโรจน์ ให้ ‘แพสชั่น’ นำ จนสุดทางเรื่องสุขภาพ

 

 "สาเหตุที่ตัดสินใจลาออกอีกข้อหนึ่ง คือแฟนชวนกลับเมืองไทย ใช่ค่ะ! บุศมีแฟนแล้ว จากคนที่คิดว่าต้องขึ้นคานแน่ๆ อยู่ดีๆ ก็เป็นสาวฮอตซะอย่างนั้น ที่สิงคโปร์คนจีบเยอะมาก แต่สุดท้ายก็ลงเอยกับหนุ่มไทยอยู่ดี ทั้งหมดทั้งมวลนี้ยกให้เป็นอานิสงส์นี้ จากการเปลี่ยนตัวเองมาเป็นคนสุขภาพดี"

 ก่อนไปทำงานที่สิงคโปร์ บุศได้เปิดเพจของตัวเอง “Healthy Living By BUD” ไว้ปล่อยของ หรือความรู้ด้านสุขภาพที่ศึกษามาตลอดตั้งแต่ช่วงคุณพ่อป่วยอยู่ แต่พอไปเตือนคนรอบข้างก็ถูกหาว่าบ้า พออึดอัดมากๆ ก็เปิดเพจเสียเลย

 "ตอนแรกไม่มีคนตาม แต่ก็ปันข้อมูลไป เหมือนเป็นที่ระบายความรู้  คนตามเพจค่อยๆ เพิ่มทีละนิด ถือว่าตัดสินใจถูกที่กลับมา เพราะบุญกุศลสิ่งที่เราสร้างเพจมา 6 ปี พอแฟนเพจรู้ว่าเราย้ายกลับมา ก็ตามมาเรียนเต็มเลย เดือนแรกทำรายได้เกิน 2 แสนบาท แต่ก็สอนหนักไป ประกอบกับกินเป็นวีแกนด้วย จนประจำเดือนหาย ต้องกลับมาปรับใหม่ สุขภาพต้องมาก่อนเพื่อจะได้ช่วยคนได้มากๆ”

 เมื่อเป้าหมายคือ “อยากช่วยคน” ชัดขนาดนี้ บุศจึงตัดสินใจลงเรียนเฮลท์โค้ช (Health Coach) จากมหาวิทยาลัยโฮลิสติก (Holistic University) แบบออนไลน์เป็นประกาศนียบัตรใบที่ 3 จากที่มีอยู่แล้ว 2 ใบ จากสิงคโปร์ และบินไปเรียนที่สมาพันธ์โยคะนานาชาติ (International Yoga Alliance) ที่อินเดีย 

 "เพราะการช่วยคนได้ ต้องมีเครดิต และยังทำให้รู้ลึกขึ้น ยังไม่พอตอนนี้ ยังเรียนแอดวานซ์ขึ้นไปอีกเป็นคอร์สเฮลท์กัต (Health Gut) ซึ่งเป็นทุกอย่างเรื่องระบบย่อย เป็นสเปเชียลลิสต์เรื่องกัตไปเลย

 นอกจากเรื่องสุขภาพ บุศยังศึกษาการพัฒนาการพูดของตัวเอง เมื่อก่อนพูดไม่ได้เลย จับไมค์ก็สั่น แต่เราเห็นแล้วว่าการพูดไม่ได้นั้นเป็นอุปสรรคกับชีวิต ทำงานไม่ได้เลื่อนตำแหน่ง เป็นคนอิมพลิเมนต์แต่คะแนนน้อยกว่าคนพรีเซนต์ ซึ่งไม่แฟร์ และหากเราพูดไม่ได้ ก็ไม่สามารถช่วยคนได้มาก ถ้าพูดได้ก็จะช่วยคนได้มากขึ้น จึงไปลงเรียน และฝึกด้วยการไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊ก"

 หลังมีชื่อเสียง ชีวิตของเธอก็เปลี่ยนไปมากในทางที่ดี จากที่ไม่มีคนคบ ไม่มั่นใจในตัวเอง กลายเป็นคนของสังคม เป็นคนมีคุณค่า ช่วยแม่ให้สุขภาพดีขึ้น ช่วยพี่ชายได้ ซึ่งคนรอบข้างเปลี่ยนไป จากที่เคยรำคาญ กลายเป็นมีอะไรต้องมาถาม และเธอยิ่งชอบมากกว่าที่ได้ช่วยคน ได้เห็นคนส่งเมสเซจมาขอบคุณ

วรรณ์วรี สรรพกุลโรจน์ ให้ ‘แพสชั่น’ นำ จนสุดทางเรื่องสุขภาพ

 

 "ก็ชอบความรู้สึกนี้ ที่ได้เปลี่ยนคนธรรมดาให้เป็นคนพิเศษ ถ้าบุศมีเวลาว่าง จะชอบทำอาหารเป็นงานอดิเรก เป็นความท้าทายที่จะทำอาหารสุขภาพให้อร่อย ซึ่งแม้ไม่ได้เป็นเชฟ แต่กลับได้รับเชิญไปสอนทำอาหารบ่อยมาก เป็นผลจากส่วนตัวเป็นคนชอบทำอาหารอยู่แล้ว และเป็นความเชื่อของเราเองจากคำของคุณพ่อ

 ป๊าเชื่อว่าถ้าบุศทำอาหาร บุศจะเป็นคนทำอาหารที่อร่อย (น้ำตาคลอ) บุศเชื่อสิ่งที่พ่อพูด พออยู่สิงคโปร์ก็เลยทำอาหารเอง ก็ทำตั้งแต่เมนูธรรมดาไม่เฮลตี้ พอเปิดเพจสุขภาพก็เปลี่ยนแนวไปเป็นอาหารสุขภาพ อยากกินขนมก็ทำขนมแบบอร่อยด้วยสุขภาพดีด้วย”

 เมื่อก่อนอาทิตย์หนึ่งต้องมีอย่างน้อยครั้งหนึ่ง ที่เธอต้องทดลองเมนูใหม่ๆ จนย้ายกลับมาเมืองไทย มีงานติดต่อเต็มเลย จึงไม่ค่อยมีเวลาทำเมนูใหม่สักเท่าไหร่ แต่ช่วงหลังมานี้ความสุขเริ่มกลับมา เพราะคนติดต่อให้สอนทำอาหาร

 "เลยเป็นภาคบังคับให้เราหาเมนูใหม่อีกแล้ว คือชอบมากในเรื่องทำอาหาร จะให้เหลือแต่โยคะก็ไม่เอา หรือจะอาหารอย่างเดียวก็ไม่เอา ต้องมี 2 อย่างนี้"

 สิ่งที่ไปด้วยกันกับอาหารและโยคะ บุศยังชอบทางธรรมด้วย เธอรู้สึกว่าเรื่องจิตใจและความคิด (Spiritual) เป็นสิ่งที่ตัวเองต้องปรับปรุง เพราะส่วนตัวเธอเป็นคนคิดมาก ทุกวันนี้นอนหลับได้จากการฝึกสปิริตชวล

 "บุศต้องนั่งสมาธิทุกวัน นั่งสมาธิตอนเช้าและก่อนนอน สิ่งนี้ช่วยให้เราโฟกัสได้มากขึ้น และยังช่วยเรื่องการกำหนดลมหายใจ คนเราทุกวันนี้การใช้ชีวิตต้องมีสมดุลทุกเรื่อง ทั้งเรื่องร่างกายและจิตใจด้วย เพราะจิตใจหรือประสาทจะเชื่อมโยงไปหาสุขภาพ

 ถ้าเราเครียดระบบย่อยก็จะทำงานไม่ดี ทุกอย่างต้องสมดุลกันหมด แม้แต่ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง หน้าที่การงาน การเงิน หากทำงานจนไม่มีเวลาใช้ชีวิตหรือดูแลตัวเอง ก็ไม่สมดุล สุขภาพก็เสีย"  

 บุศ ทิ้งท้ายว่า ทำอะไรอยากให้ทำอย่างมีความสุข หากทำตามหลักฟู้ด คอมบิเนชั่น แล้วรู้สึกเครียดก็อย่าทำ

 "เอาแบบที่สบายใจ เอาความสุขเป็นหลัก ฟังเสียงร่างกายตัวเอง แต่อย่ารอให้ป่วยก่อนแล้วค่อยมาสนใจสุขภาพ เพราะบางทีอาจจะสายไปแล้ว"