posttoday

"ยา" ที่คุณอาจไม่จำเป็นต้องใช้

11 กุมภาพันธ์ 2561

การใช้ยาอย่างสมเหตุผล คือ “การใช้ยาเมื่อจำเป็น” ซึ่งหมายความว่าผู้ป่วยต้องได้รับประโยชน์จากยาเหนือกว่าความเสี่ยงจากอันตรายของยา

โดย...ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คุณจะรู้สึกอย่างไรเมื่อรู้ว่าครึ่งหนึ่งของยาที่คุณใช้อาจไม่จำเป็น สิ่งที่คุณควรรู้คือ ใช้ยาอย่างไรจึงจะสมเหตุผล เพราะองค์การอนามัยโลก (2002) ได้ระบุว่า “มากกว่าครึ่งหนึ่งของการใช้ยาเป็นไปอย่างไม่เหมาะสม ทั้งจากการจ่ายยาโดยแพทย์ เภสัชกร และจากการซื้อยาจากร้านขายยา ในขณะที่ครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยกินยาที่ได้ไปอย่างไม่ถูกต้อง”

การใช้ยาอย่างสมเหตุผล คือ “การใช้ยาเมื่อจำเป็น” ซึ่งหมายความว่าผู้ป่วยต้องได้รับประโยชน์จากยาเหนือกว่าความเสี่ยงจากอันตรายของยาอย่างชัดเจน เช่น ผู้ป่วยที่มีกรดยูริกหรือไขมันในเลือดสูง รวมทั้งความดันเลือดที่เพิ่งสูงเพียงเล็กน้อย หากได้รับ

คำแนะนำที่เหมาะสม ปัญหาเหล่านี้ก็จะได้รับการแก้ไขโดยไม่ต้องใช้ยา ซึ่งหากอาการมาถึงจุดที่จำเป็นต้องใช้ยาแล้ว แพทย์ก็จะพยายามติดตามและป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นให้กับผู้ป่วยเพื่อลดความเสี่ยงจากการใช้ยา เช่น อาการผิวหนังหลุดลอกทั่วร่างกายคล้ายถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ที่เกิดจากการแพ้ยาลดกรดยูริกอย่างรุนแรง หรือภาวะกล้ามเนื้ออักเสบจนเซลล์กล้ามเนื้อตายและอาจทำให้ไตวายจากการแพ้ยาลดไขมันในเลือดอย่างรุนแรง ตลอดจนผลข้างเคียงอีกนานาชนิดจากยาลดความดันเลือดขึ้นกับชนิดของยา ดังนั้นก่อนใช้ยาเหล่านี้ผู้ป่วยจึงควรได้รับการประเมินอย่างรอบคอบว่าจำเป็นต้องใช้ยาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากเมื่อเริ่มใช้แล้วมักต้องกินยาไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีกำหนดอีกด้วย

การใช้ยาอย่างสมเหตุผล คือ “การใช้ยาอย่างเหมาะสมกับโรคที่เป็น” เช่น กรณีปวดศีรษะเรื้อรังแบบไมเกรนที่มีอาการบ่อยครั้ง การรักษาที่เหมาะสมคือการใช้ยาที่ออกฤทธิ์ “ป้องกัน” การปวดศีรษะอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่การกินยา “แก้ปวด” บ่อยๆ เพราะยิ่งกินยาแก้ปวดบ่อยครั้ง อาการปวดศีรษะเรื้อรังจะยิ่งกำเริบ ทำให้ต้องกินยาบ่อยขึ้นและกินในขนาดยาที่สูงขึ้นด้วย เพิ่มความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากยา เช่น ตับอักเสบ กระเพาะทะลุ หรือไตวาย เป็นต้น การไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาการใช้ยา “ป้องกัน” การปวดศีรษะเรื้อรังจึงเป็นการก้าวเข้าสู่เส้นทางการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ไม่ใช่การไปหาซื้อยาแก้ปวดกินเองอย่างต่อเนื่อง

การใช้ยาอย่างสมเหตุผล คือ “การใช้ยาให้ถูกขนาด” เช่น การกินพาราเซตามอล (500 มิลลิกรัม) 2 เม็ด ทุก 4 ชั่วโมง อาจได้ยาเกินขนาด เพราะหากเป็นคนที่มีน้ำหนักตัวน้อย เช่น 50 กิโลกรัม ควรใช้ยาเพียงครั้งละ 1 เม็ด หรือ 1 เม็ดครึ่งเท่านั้น แม้คนที่มีน้ำหนักตัวมากก็ไม่ควรกินพาราเซตามอลเกินกว่า 4,000 มิลลิกรัม/วัน (หรือ 8 เม็ด/วัน) ดังนั้นการกินยานี้ทุก 4 ชั่วโมง จึงอาจได้ยามากถึง 6,000 มิลลิกรัม/วัน ซึ่งในระยะยาวอาจมีผลเสียต่อตับ เป็นต้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น เราสามารถช่วยเหลือและป้องกันตัวเองจากกรณีเหล่านี้ได้ไม่ยาก

1.เราเป็นโรคอะไร ถ้าเป็นโรคติดเชื้อ โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย

2.เราสามารถชะลอการใช้ยาไว้ก่อนได้หรือไม่ เพราะเราไม่อยากใช้ยาโดยไม่จำเป็น

3.ยาแต่ละชนิดที่ได้รับคือยาอะไร ใช้เพื่ออะไร เป็นยาที่เราแพ้หรือไม่ หรือใช้ร่วมกับยาเดิมที่ใช้อยู่ได้หรือไม่ เพราะยาอาจจะทำปฏิกิริยาต่อกันทำให้ยาไม่ออกฤทธิ์หรืออาจออกฤทธิ์เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า

4.ผลข้างเคียงของยาที่สำคัญและควรสังเกตคืออะไร หากเกิดผลข้างเคียงดังกล่าวควรทำอย่างไร

5.วิธีใช้ยาอย่างถูกต้องคืออย่างไร เช่น จะต้องกินก่อนหรือหลังอาหาร ครั้งละกี่เม็ด กินให้หมดหรือไม่ หรือหยุดกินได้เมื่ออาการดีขึ้น

6.เราควรปฏิบัติตัวระหว่างการใช้ยาอย่างไร เช่น ขับรถได้หรือไม่ (เพราะยาบางชนิดอาจทำให้ง่วง) ดื่มสุราได้หรือไม่ (เพราะยาบางชนิดมีปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์) ดื่มนมได้หรือไม่ (เพราะอาจทำให้การดูดซึมยาลดลง)

7.วิธีเก็บรักษายาที่ถูกต้องคืออย่างไร เนื่องจากยาบางชนิดไม่ควรโดนแสง ยาบางชนิดควรเก็บในที่เย็น เป็นต้น ซึ่งหากเก็บรักษาไม่ถูกต้องจะทำให้ยาเสื่อมสภาพเร็วกว่าที่ระบุไว้ในวันหมดอายุของยา

โชคดีที่ทุกวันนี้หลายภาคส่วนต่างร่วมมือกันทำงานเพื่อยกระดับความรู้ความเข้าใจด้านยาและสุขภาพให้กับประชาชน มุ่งลดความเสี่ยงและความเสียหายจากการใช้ยาที่ไม่สมเหตุผล อีกทั้งเรายังได้เห็นความร่วมมือระหว่างองค์กรต่างๆ กับกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้นโยบายการใช้ยาอย่างสมเหตุผลและการแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยา หรือภายใต้คณะทำงานสร้างเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลภาคประชาชน (สยส.) ยิ่งวันนี้ที่เราเข้าสู่ยุคดิจิทัล ไทยแลนด์ 4.0 แล้ว ทุกคนสามารถใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียค้นหาข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือได้อย่างง่ายดาย เช่น เกร็ดความรู้สุขภาพจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย http://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/category/health-knowledge/health/ หรือเฟซบุ๊กเพจ www.facebook.com/RDUThai  ที่นอกจากมีข้อมูลเกี่ยวกับโรคภัยและการใช้ยาแล้ว ยังมีการบรรยายสดผ่าน Facebook Live ในประเด็นสุขภาพที่กำลังเป็นที่สนใจและเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ถามคำถามสดๆ กับแพทย์ได้อีกด้วย

อีกหนึ่งช่องทางที่เป็นประโยชน์มาก คือ แอพพลิเคชั่น “RDU รู้เรื่องยา” ที่กระทรวงสาธารณสุขได้มอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2561 ให้กับคนไทยทุกคน เพื่อให้ประชาชนค้นหาข้อมูลที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับยาได้อย่างรวดเร็ว อย่าลืมติดตามกันต่อไปนะครับ แล้วคุณจะพบว่ายาที่คุณใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ อาจเป็นยาที่ไม่จำเป็น และอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างคาดไม่ถึง