posttoday

วาเลนไทน์ 2018 วัยรุ่นยุคใหม่ (จง)ไร้เอชไอวี!

31 มกราคม 2561

เทศกาลวาเลนไทน์ที่ใกล้มาถึงนี้ หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเอดส์ ได้ออกมาเคลื่อนไหวเตือนสติวัยรุ่นให้ตระหนักถึงการมีเพศสัมพันธ์ที่ต้องป้องกันอย่างระมัดระวัง

เทศกาลวาเลนไทน์ที่ใกล้มาถึงนี้ หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเอดส์ ได้ออกมาเคลื่อนไหวเตือนสติวัยรุ่นให้ตระหนักถึงการมีเพศสัมพันธ์ที่ต้องป้องกันอย่างระมัดระวัง

มูลนิธิเอดส์แห่งประเทศไทย จึงดึงพลังวัยรุ่นกลุ่มรักษ์ไทย เพาเวอร์ทีน และผู้หญิงที่อยู่ร่วมกับเอชไอวี ลงพื้นที่ชุมชน จ.เชียงใหม่ เพื่อร่วมกันทำโครงการ “อีกนิดพิชิตเอดส์” คือ การรณรงค์ให้ความรู้ เตือนวัยรุ่นรู้จักรักให้ปลอดเอดส์ หลังพบสถิติน่าเป็นห่วง วัยรุ่นกว่าครึ่งมีรักครั้งแรกแบบไม่ป้องกัน และวัยรุ่นน้อยกว่าครึ่งมีความรู้ที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการแพร่เชื้อเอชไอวี และร้อยละ 70 ของการติดต่อทางเพศสัมพันธ์เกิดขึ้นในหมู่เยาวชนอายุ 15-24 ปี (จากรายงานสถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 องค์การยูนิเซฟประเทศไทย)

ประเทศไทยมีความพยายามมานานหลายปี เพื่อยุติการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวี และการทำความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี อาการป่วยโรคเอดส์ และสังคมที่ตีตราผู้ติดเชื้อ ซึ่งเป็นปัญหาระดับนานาชาติ มูลนิธิเอดส์แห่งประเทศไทยลงพื้นที่ทำงานในระดับชุมชนภาคเหนือ โดยร่วมกับภาคี เครือข่ายต่างๆ ทั้งที่ทำงานอยู่กับกลุ่มวัยรุ่นอย่าง กลุ่มรักษ์ไทย เพาเวอร์ทีน และกลุ่มผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากเอชไอวี โดย มูลนิธิผู้หญิงอยู่ร่วมกับเอดส์ ซึ่งปัญหาหลักๆ ที่พบก็คือการขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องทั้งในเรื่อง การติดเชื้อ การรักษา สิทธิในการเข้าถึงการรักษา การถูกตีตราและเลือกปฏิบัติจากสังคม

 

สถานการณ์เอดส์ในปัจจุบัน

เย็นจิต สมเพาะ ผู้อำนวยการมูลนิธิเอดส์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์ในประเทศว่า หากมองสถิติภาพใหญ่นานาชาติ ในปี 2558 องค์การสหประชาชาติได้ประมาณว่าทั่วโลกมีผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวีจำนวน 36.7 ล้านคน รวมทั้งเด็กจำนวน 1.8 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้จำนวน 35 ล้านคน

แม้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลสำเร็จดังกล่าวมาจากการเข้าถึงการตรวจรักษา การได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวีเร็ว แต่ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่มารับบริการฝากครรภ์ และกลุ่มทหารเกณฑ์คัดเลือกใหม่เข้าประจำการ อายุ 20-24 ปี กลับมีแนวโน้มสูงขึ้น สอดคล้องกับพฤติกรรมเสี่ยงของกลุ่มเยาวชน ที่มีคู่เพศสัมพันธ์หลายคนและไม่ป้องกัน เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เยาวชนติดเชื้อเอชไอวีและไม่ทราบสถานการณ์ติดเชื้อฯ ของตนเอง นอกจากนี้พบว่าเยาวชนมีอัตราการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ถึงร้อยละ 50 รวมถึงการตั้งครรภ์ไม่พร้อม

“ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมและสนับสนุนให้ประเทศไทย ประการแรก ลดการเสียชีวิตจากเอดส์ ถัดมาลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ และสุดท้ายลดการรังเกียจ และเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ โดยบูรณาการทุกภาคส่วนทำงานตอบโจทย์เป้าหมายดังกล่าวนี้ไปพร้อมกัน เพื่อยุติเอดส์ภายในปี 2573 หรืออีก 12 ปีตามเป้าหมายใหญ่ของนานาชาติ” เย็นจิต ผู้อำนวยการมูลนิธิเอดส์แห่งประเทศไทย กล่าว

 

สถานการณ์เอดส์ภาคเหนือ    

จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่สำคัญของภาคเหนือ ที่มีอัตราการแพร่ระบาดเอชไอวีและพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในระดับต้นๆ ตั้งแต่ปี 2550-2558 รวมทั้งสิ้น 19,326 ราย เสียชีวิตแล้ว 1,887 ราย เด็กและผู้สูงอายุที่ได้รับผลกระทบมากกว่า 3 หมื่นราย

นิภา ชมพูป่า เจ้าหน้าที่มูลนิธิรักษ์ไทย บอกว่า เนื่องจากเชียงใหม่เป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่มีคนมาท่องเที่ยวเยอะ มีสถาบันการศึกษามากมาย มีผู้คนไหลมาทำงานที่เชียงใหม่ มีสถานบันเทิงเป็นจำนวนมาก จึงมีความเสี่ยงในการติดต่อโรคทางเพศสัมพันธ์ เรื่องความเป็นอยู่ด้านประเพณีวัฒนธรรมเป็นเงื่อนไขที่สำคัญ การให้ความรู้เรื่องเพศและการป้องกันเป็นเรื่องที่พูดยาก การเข้าถึงข้อมูลการรักษาน้อย เยาวชนผู้หญิงไม่สามารถต่อรองกับคู่ได้

“ระยะแรก พะเยามีการแพร่เชื้อเอชไอวีเป็นจำนวนมากเป็นอันดับ 1 เชียงรายอันดับ 2 และเชียงใหม่เป็นอันดับ 3 แต่ 10 ปีที่ผ่านมาผู้ติดเชื้อลดจำนวนลง เพราะคนทั่วไปมีความรู้เรื่องการป้องกันการติดต่อโรคด้านเพศสัมพันธ์มากขึ้น แต่ภาคเหนือมีการอพยพแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงาน เช่น ไทยใหญ่ พม่า ลาว เขมร ประกอบกับเป็นจังหวัดการท่องเที่ยว แม้จะมีเครื่องมือ ยาป้องกัน วิธีป้องกันโรคทางเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย แต่บางกลุ่ม เช่น แรงงานข้ามชาติยังเข้าไม่ถึงข้อมูลและวิธีป้องกัน บางคนไม่ได้เข้ามาโดยถูกต้องทางกฎหมาย ทำให้มีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีสูงเช่นกัน” นิภา เล่า

 

วาเลนไทน์ 2018 วัยรุ่นยุคใหม่ (จง)ไร้เอชไอวี!

 

วัยรุ่นขาดความรู้เรื่องการติดเชื้อ

ปัจจุบันประเทศไทยมีวัยรุ่น (10-19 ปี) ประมาณ 8.7 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 13 ของประชากรทั้งหมด จากการศึกษาและรายงานหลายฉบับ ระบุปัญหาเอดส์ในวัยรุ่นน่าวิตก มีเด็กอายุ 0-14 ปี 1.2 แสนคน เสียชีวิตด้วยสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับเอดส์ ในขณะที่ทั่วโลกมีคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีเชื้อเอชไอวี 1.4 ล้านคน มีเด็กผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ทั่วโลก 1.6 แสนคน (ข้อมูลจาก 2017 UNICEF Statistical Update on Children and AIDS)

นพรุจ หมื่นแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์ไทย เพาเวอร์ทีน กล่าวว่า จากการลงพื้นที่รณรงค์ให้ความรู้ด้านเพศศึกษาในวัยเจริญพันธุ์ และเอชไอวีมาตลอด 12 ปี พบปัญหาวัยรุ่นติดเชื้อเอชไอวี ส่วนใหญ่มาจากไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศที่ถูกต้อง ไม่คิดถึงการป้องกันตัวเอง แม้ว่าจะมีการรณรงค์โดยหน่วยงานและมูลนิธิต่างๆ มากมาย ในเรื่องสาเหตุของการติดเชื้อที่มาจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกัน แต่ด้วยวัยและวุฒิภาวะ และบางทีก็คิดไปเองว่า คู่ของเรารักเราคนเดียวไม่มีคนอื่น คงไม่มีโรคใดๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าคู่ของเรานั้นผ่านประสบการณ์ใดมาบ้าง เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีอยู่หรือไม่

“ปัญหาอีกส่วนหนึ่ง คือมีวัยรุ่นตั้งครรภ์ และเด็กทารกเกิดใหม่ติดเชื้อเอชไอวี สาเหตุมาจากการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน รวมถึงการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ปัญหาต่อมาคือ วัยรุ่นตั้งครรภ์ขาดความรู้และเข้าใจเมื่อเป็นผู้ติดเชื้อไม่เข้ารับการรักษา ทำให้เด็กที่เกิดมาได้รับการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี ซึ่งเป็นปัญหาทั้งทางด้านความเป็นอยู่ การใช้ชีวิต และปัญหาด้านจิตใจของแม่และเด็ก”

 

หลายภาคส่วนร่วมรณรงค์ยุติปัญหา

เพื่อให้การทำงานโครงการ “อีกนิดพิชิตเอดส์” ประสบผลสำเร็จ หลายภาคส่วนต้องช่วยกันทั้งรัฐบาลและเอกชนต่างๆ อาทิ บริษัท แสนสิริ ก็ยื่นมือเข้ามาช่วยประชาสัมพันธ์โครงการอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังมีภาคี เช่น กลุ่มรักษ์ไทย เพาเวอร์ทีน มาช่วยรณรงค์ช่วยเหลือในเบื้องต้น ด้านการให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคการดูแลตัวเอง และการเข้ารับการรักษา พยายามหาองค์กรเข้ามาช่วยเหลือ หลังจากนั้นเป็นเรื่องของการเยียวยาจิตใจ โดยให้เข้าร่วมกลุ่มเพื่อพูดคุยปรึกษา สร้างกำลังใจให้กันและกัน ไม่ให้ผู้ติดเชื้อรู้สึกแปลกแยก สร้างแรงบันดาลใจให้เขาอยากดำเนินชีวิตและพึ่งตัวเองได้

“ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ อยู่ที่ว่าเขาจะเข้ารับหรือไม่ ซึ่งคนที่เลือกไม่เข้ารับการรักษา มักจะเป็นคนที่ถูกตีตราจากสังคมส่งผลให้เขาตีตราตัวเอง เขาจึงไม่มีกำลังใจที่จะดำเนินชีวิตต่อ กลุ่มของเราอยากให้ความรู้กับสังคมในเรื่องนี้ เราเชื่อว่าถ้าสังคมเข้าใจก็จะไม่ตีตราและไม่เลือกปฏิบัติกับผู้ติดเชื้อ ซึ่งต้องใช้ความร่วมมือกับทั้งภาครัฐและประชาชน” นพรุจ อธิบายเพิ่มเติม

หล้า (นามสมมติ) สมาชิกกลุ่มรักษ์ไทย เพาเวอร์ทีน เล่าว่า ในกลุ่มที่ทำงานรณรงค์อยู่ตอนนี้ เกือบครึ่งหนึ่งมีสาเหตุการติดเชื้อเอชไอวีโดยรับมาจากคู่รัก และบางส่วนถูกล่วงละเมิดทางเพศ การรู้สถานการณ์ทันเวลา การเข้าถึงสิทธิการรักษา จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้รักษาทั้งชีวิตและจิตใจกลุ่มคนเหล่านี้ได้

“เยาวชนหญิงตั้งครรภ์ที่กลุ่มรักษ์ไทย เพาเวอร์ทีน เข้าถึงได้ส่วนใหญ่ ทันทีที่ทราบว่ามีโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อและตั้งครรภ์แล้ว แนะนำให้รีบไปพบแพทย์ หมอจะตรวจดูว่าสามารถให้ยาคุมได้หรือไม่ เยาวชนตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวี จะต้องไปพบคุณหมอทุกเดือนเพื่อรับยาต้านไวรัส ซึ่งไม่ต่างจากผู้ติดเชื้อทั่วไป แต่คุณหมอจะดูแลเป็นพิเศษมากกว่า ต้องคอยมาตรวจครรภ์ คอยดูแลเรื่องการปรับยาเพื่อไม่ให้ส่งผลกับทารก”

หล้า เป็นหนึ่งในเคสนี้ เริ่มเข้ารับการดูแลตั้งแต่เมื่อ 2-3 ปีก่อน “ยิ่งรู้สถานการณ์เร็ว ก็ยิ่งปลอดภัยมากขึ้นทั้งแม่และเด็ก นอกจากนั้นกลุ่มจะมีกิจกรรมพบปะพูดคุยและให้คำปรึกษาและเสริมกำลังใจต่อกัน ติดตามเยี่ยมเยียนกันอย่างสม่ำเสมอ ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ติดเชื้อในช่วงแรกจะมีสภาพจิตใจที่ไม่ดีนัก การทำให้ไม่รู้สึกแปลกแยก เผชิญปัญหาลำพังจะช่วยให้สภาพจิตใจดีขึ้น ใครที่สภาพจิตใจแย่มาก คุณหมอก็จะให้เข้าไปคุยกับจิตแพทย์”

 

วาเลนไทน์ 2018 วัยรุ่นยุคใหม่ (จง)ไร้เอชไอวี!

 

ด้าน ศรัญญา บุญเพ็ง ประธานมูลนิธิผู้หญิงที่อยู่ร่วมกับเอชไอวี กล่าวถึงสถานการณ์ผู้หญิงที่อยู่กับเชื้อเอชไอวีว่า จำนวนไม่ได้เพิ่มมากนัก ล้วนเป็นกลุ่มเก่าที่กินยาต้านมานานแล้ว เพราะการเข้าถึงการรักษา จึงทำให้กลุ่มผู้ติดเชื้อมีอายุยืนยาวขึ้น

“กลุ่มใหม่ที่เพิ่งติดเชื้อ ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 20 ปี โดยสาเหตุหลักมาจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน เรามองว่าถ้าเราทำงานกับแค่ผู้หญิงที่ติดเชื้อเอชไอวี ไม่สามารถครอบคลุมปัญหาได้ เราจึงทำกับผู้หญิงตั้งครรภ์ เป็นเป้าหมายใหม่ที่เราทำเป็นปีที่ 2 โดยเข้าไปทำงานกับกลุ่มผู้หญิงที่เข้ามาฝากครรภ์ทั้ง 4 ภาค ได้แก่ เหนือ อีสาน กลาง ตะวันออก ทีมอาสาสมัครของเราจะเข้าไปคุยกับผู้หญิงตั้งครรภ์และคู่ ในเรื่อง เอดส์ เรื่องเพศ อนามัยเจริญพันธุ์ในผู้หญิงตั้งครรภ์ ชวนวิเคราะห์ความเสี่ยง ถ้าคิดว่าเสี่ยงต้องทำยังไง ต้องตรวจเลือดที่ไหน ทำไมต้องตรวจ และการวางแผนครอบครัวการคุมกำเนิด ตลอดจนวางแผนการดูแลที่ครอบคลุมไปถึงการดูแลเด็กติดเชื้อหลังคลอด

นอกจากนี้ เราก็ยังมีการออกไปให้ความรู้กับชุมชนและโรงเรียน โดยถ้าเป็นชุมชนเราก็จะไปชวนให้วิเคราะห์ความเสี่ยง ทุกคนมีพฤติกรรมเสี่ยง ให้ความรู้ว่าจะตรวจสอบการติดเชื้อเอชไอวีได้ที่ไหน ถ้าเป็นเยาวชนในโรงเรียนเราจะเน้นเรื่องปัญหาท้องไม่พร้อม การป้องกันและการคุมกำเนิด เราพยายามทำ แต่ทัศนคติคนเปลี่ยนกันยาก คนส่วนใหญ่รู้ว่าอยู่ร่วมกันได้ ไม่ติดต่อทางการสัมผัส แต่ก็ไม่อยากอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อ”

ปัญหาที่พบด้านการทำงาน มีตั้งแต่การที่แม่หยุดการรักษา การเข้าถึงได้แค่คนที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้เข้าถึง ขาดงบประมาณและกำลังคน ส่วนปัญหาของผู้ติดเชื้อเอชไอวี กลุ่มผู้ติดเชื้อเก่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับการสื่อสารกับคู่กับครอบครัว การโดนเลือกปฏิบัติ ไม่สามารถเข้ารับสิทธิสวัสดิการสังคมได้

“พอเขาดูใบรับรองแพทย์เห็นว่าเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี ก็จะโดนเลือกปฏิบัติ กีดกันการเข้ารับสวัสดิการ รวมทั้งเวลาผู้ติดเชื้อไปประกอบอาชีพ พอเขารู้ว่าเป็นผู้ติดเชื้อก็มักจะไม่รับ เราก็มักจะต้องเปลี่ยนงานบ่อย แม้แต่ในโรงพยาบาล เรามักได้รับบริการทีหลัง หรือเป็นระดับรองลงมา เช่น จะไปทำฟันก็จะโดนไปไว้คิวสุดท้าย บอกว่าต้องเตรียมห้องและอุปกรณ์เฉพาะ เวลานอนโรงพยาบาลห้องรวม ก็มักจะถูกไปไว้ในโซนสุดท้าย หรือหน้าห้องน้ำ

ผู้ติดเชื้อที่ตั้งครรภ์โดนบังคับทำหมันหลังคลอดโดยไม่ได้ยินยอม ทั้งที่ไม่ได้มีนโยบายหรือกฎหมายบังคับว่า ผู้ที่ติดเชื้อต้องทำหมันทุกคน แต่เป็นทัศนคติของคนปฏิบัติ ที่ต้องให้ผู้ติดเชื้อทำหมันจึงจะปลอดภัย เป็นต้น” ศรัญญา เล่า