posttoday

สมาธิสั้น โรคจากกรรมพันธ์ุ ที่ยังไม่รู้สาเหตุ

25 มกราคม 2561

ทําไมเด็กไทยถึงได้ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้น หรือเด็กไฮเปอร์แอ็กทีฟกว่า 3 แสนคน ขณะที่ทั่วโลกพบเด็กป่วยเพียง 5%

 

ทําไมเด็กไทยถึงได้ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้น หรือเด็กไฮเปอร์แอ็กทีฟกว่า 3 แสนคน ขณะที่ทั่วโลกพบเด็กป่วยเพียง 5% หากไม่รักษาจะทำให้เด็ก 70% หรือ 2 ใน 3 มีอาการจนโตเป็นผู้ใหญ่ 1 ใน 4 มีบุคลิกก้าวร้าว

องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญมาก เนื่องจากหากไม่รักษาตั้งแต่เด็ก จะมีผลต่อการเรียน ต่ออนาคตของเด็กเอง และอาจถูกทำร้ายจากผู้ปกครองหรือญาติได้ จากความไม่เข้าใจ ผลสำรวจในกลุ่มเด็กไทยที่กำลังเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ที่มีจำนวนประมาณ 5 ล้านคน พบว่าเป็นโรคสมาธิสั้น 8% คาดว่าจะมีเด็กไทยป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นประมาณ 3.1 แสนราย ขณะที่ทั่วโลกพบเด็กเป็นแค่ 5% เท่านั้น แต่ยังโชคดีที่มีการเข้าถึงการรักษาได้ดีขึ้น

พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวถึงปัญหาไม่เล็ก ที่พ่อแม่หลายคู่ต้องนั่งกุมขมับ ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร ปัญหาหนึ่งคือเรื่องสมาธิสั้นของลูก หรือพฤติกรรมที่ไม่ชอบอยู่นิ่งนั่นเอง

พญ.วิมลรัตน์ บอกเล่าถึงสถานการณ์ปัจจุบันของอาการเด็กสมาธิสั้นว่า ส่วนใหญ่จะพบว่าเด็กชายมีสมาธิสั้นมากกว่าเด็กหญิง เฉลี่ย 4 ต่อ 1 และจำนวนประชากรเด็ก 5% ในโลก ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเด็กสมาธิสั้น ซึ่งพบได้มากกว่ากลุ่มออทิสติก ที่พบเพียง 5 ในหมื่นคนเท่านั้น

โรคสมาธิสั้นเกิดจากความผิดปกติบางอย่างของสมองส่วนหน้า จนทำให้พัฒนาการในครรภ์ผิดปกติ แต่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แม้การตรวจครรภ์หรืออัลตราซาวด์เบื้องต้นก็ยังไม่สามารถพบได้ ซึ่งโรคนี้ถือเป็นโรคทางกรรมพันธุ์ โดย 1 ใน 3 ของเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นสามารถรักษาให้หายได้ แต่เด็กที่เหลือ 2 ใน 3 จะรักษาไม่หาย จะเป็นไปจนกระทั่งโตตลอดชีวิต

“รูปแบบของโรคจะเปลี่ยนไป ตอนเป็นเด็กจะซนผิดปกติกว่าเด็กทั่วไป ซนมากวุ่นวาย ปีนป่าย อยู่นิ่งๆ ไม่เป็น ทำอะไรปุ๊บปั๊บไม่ทันจบก็เปลี่ยนเรื่อง ทำอะไรครึ่งๆ กลางๆ ขี้ลืม ทำของหายบ่อยๆ ชอบนั่งโยกเก้าอี้ ชอบนั่งสั่นขา ชอบวิ่ง พูดมาก พูดไม่หยุด ตื่นตัวตลอดเวลา หรือดูตื่นเต้นง่าย ชอบโพล่งคำตอบเวลาครูหรือพ่อแม่ถาม โดยที่ยังฟังคำถามไม่จบ ถ้าโตเป็นผู้ใหญ่จะดูเป็นคนใจร้อน หุนหันพลันแล่น หงุดหงิดง่าย ทำอะไรตกๆ หล่นๆ”

การรักษาก็คือให้กินยาเพื่อปรับทำให้สมองส่วนหน้าทำงานได้ดีขึ้น เป็นปกติมากขึ้น เพื่อปรับให้สมาธิดีขึ้น นอกจากนั้นก็คือการปรับพฤติรรม ฝึกวินัย ให้เด็กมีความอดทน ทำอะไรได้นานๆ มากขึ้น เช่น ลองฝึกให้ทำการบ้านให้นานขึ้น จากที่เคยอ่านได้ทีละบท ก็ลองเพิ่มเป็นสองบท  เมื่อทำได้ดีก็ชมบ่อยๆ หรือให้รางวัล การตีเด็ก ดุด่าเสียงดังจะไม่ได้ผลดี ที่สำคัญเด็กสมาธิสั้นจะมีพลังเยอะ ต้องชวนไปปลดปล่อยพลังด้วยการออกกำลังกาย จะได้ผลดียิ่งขึ้น

หากพ่อแม่ผู้ปกครองสังเกตเห็นว่าลูกหลานมีอาการเข้าข่ายเด็กสมาธิสั้น ให้รีบพาไปพบแพทย์เพื่อทำการวิจัยอย่างละเอียด และสามารถรักษาได้ โดยการปรับสภาพแวดล้อมการเลี้ยงดู พยายามให้เด็กอยู่ในบรรยากาศที่สงบและมีระเบียบวินัย

 

 

สมาธิสั้น โรคจากกรรมพันธ์ุ ที่ยังไม่รู้สาเหตุ

 

 

โรงเรียนก็มีส่วนสำคัญในการช่วยแก้ปัญหา ครูต้องแสดงการยอมรับในความบกพร่องของเด็ก เอาใจใส่ดูแลเด็กมากขึ้น แยกจากกลุ่มเด็กซน รวมถึงให้เด็กได้มีการเคลื่อนไหวร่างกายในโรงเรียนบ้าง เช่น ช่วยครูลบกระดาน ทำความสะอาดห้องเรียน ชวนให้เล่นกีฬาหรือออกกำลังกายเยอะๆ เพื่อจะได้เป็นการปลดปล่อยพลังออกไปบ้าง และดูแลเรื่องการเรียนเป็นพิเศษ จึงจะทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดียิ่งขึ้นได้อีกทางหนึ่ง

คุณหมอยังบอกอีกว่า ยารักษาที่ดีที่สุดคือความรักความใกล้ชิดจากครอบครัว เพราะจะช่วยทำให้เด็กสมาธิสั้นมีโอกาสคืนสู่สภาวะปกติได้เร็วขึ้น พร้อมทั้งให้ข้อแนะนำ 8 ประการ เกี่ยวกับวิธีการดูแลเด็กสมาธิสั้นให้อยู่ร่วมในสังคมอย่างมีความสุขด้วย และมีพัฒนาการของโรคที่ดีขึ้น

1.อย่าเปิดทีวีเสียงดังจนเกินไป หรือสภาพแวดล้อมในบ้านต้องไม่วุ่นวายหรือมีการทะเลาะกันบ่อยครั้ง

2.หามุมสงบสำหรับเด็ก เพื่อให้เกิดสมาธิในการทำการบ้าน

3.ฝึกฝนวินัยให้เด็ก สร้างกรอบกฎเกณฑ์ มีตารางเวลาชัดเจน ไม่ปล่อยปละละเลย หรือตามใจจนทำให้เด็กติดเกม

4.มีการสื่อสารที่สั้น กระชับ ชัดเจน หากไม่แน่ใจให้เด็กทบทวนว่าสิ่งที่สั่งสอนไปคืออะไรบ้าง เพราะเด็กสมาธิสั้นมักไม่ค่อยมีความอดทนในการฟัง

5.มีความเข้าใจในพฤติกรรมของเด็กสมาธิสั้นอย่างจริงจังและเข้าใจ

6.จัดสภาพแวดล้อมให้เกิดความเป็นระเบียบ ไม่ปล่อยให้บ้านรกรุงรัง

7.อย่าทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองมีปมด้อย

8.ไม่ควรจับกลุ่มให้เด็กสมาธิสั้นอยู่ใกล้ชิดกับเด็กที่มีปัญหาแบบเดียวกัน เพราะจะทำให้กลายเป็นเด็กเกเร ก้าวร้าวได้

ด้าน นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อดีตอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โรคสมาธิสั้นเป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก ตั้งแต่ก่อนอายุ 7 ขวบ ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แท้จริง แต่มักจะพบในผู้หญิงที่สูบบุหรี่ หรือดื่มเหล้าระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อพฤติกรรม อารมณ์ การเรียน และการเข้าสังคมกับผู้อื่นของเด็ก เด็กกลุ่มนี้จะมีระดับไอคิวปกติ อาการที่เป็นสัญญาณโรคจะปรากฏเห็นชัดเจน 3 อาการ ได้แก่ ขาดสมาธิ ขาดความสามารถในการควบคุมตัวเอง และซุกซน

เด็กสมาธิสั้นส่วนใหญ่จะมีปัญหาการเรียน หรือเรียนได้แต่ไม่เต็มศักยภาพ จึงแนะนำให้ผู้ปกครองและครูที่ดูแลเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น เรียนรู้เทคนิคที่ถูกต้อง เพื่อช่วยในการจัดการกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมบางอย่างของเด็ก การตีหรือการลงโทษทางร่างกาย เป็นวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ได้ผล และจะมีส่วนทำให้เด็กมีอารมณ์โกรธหรือแสดงพฤติกรรมต่อต้านและก้าวร้าวมากขึ้น

วิธีการที่ได้ผลดีกว่า คือ การให้คำชมหรือรางวัลเมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่ถูกต้องและเหมาะสม หรือควบคุมพฤติกรรมตนเองได้ โดยแนะนำให้งดกิจกรรมที่เด็กชอบ หรือตัดสิทธิอื่นๆ

หากพบว่าลูกหลานมีอาการเหล่านี้ ขอให้ปรึกษาจิตแพทย์ สามารถโทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือ 1667 หรือสอบถามที่สายด่วนวัยรุ่นของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ 02-248-9999 หรือดูในเว็บไซต์ www.smartteen.net หรือที่แฟนเพจของสถาบัน Facebook.com/smartteen ตลอด 24 ชั่วโมง