posttoday

‘วิ่ง’ เปลี่ยนฉันคนเดิม เป็นคนใหม่แสนสตรอง

18 มกราคม 2561

กระแส Running Boom ในบ้านเรา ถูกปลุกขึ้นอีกครั้งโดยร็อกเกอร์หนุ่มขวัญใจมหาชนอย่าง “ตูน บอดี้สแลม” ที่ลุกขึ้นมาวิ่งจากใต้สุดสู่เหนือสุด

เรื่อง: พุสดี สิริวัชระเมตตา ภาพ: เสกสรร โรจนเมธากุล

กระแส Running Boom ในบ้านเรา ถูกปลุกขึ้นอีกครั้งโดยร็อกเกอร์หนุ่มขวัญใจมหาชนอย่าง “อาทิวราห์ คงมาลัย” หรือ “ตูน บอดี้สแลม” ที่ลุกขึ้นมาวิ่งจากใต้สุดสู่เหนือสุด ระยะทาง 2,190 กิโลเมตร เพื่อรับบริจาคสมทบทุนในโครงการ “ก้าวคนละก้าว” เพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศจนเกิดกระแส “พี่ตูนฟีเวอร์ข้ามปี” จุดประกายให้หลายคนอยากลุกขึ้นมารักตัวเองด้วยการวิ่งเพื่อสุขภาพที่ดีกว่า

ในโอกาสก้าวสู่ศักราชใหม่ทั้งที ใครที่เคยผิดหวังซ้ำๆ กับเป้าหมายที่อยากจะหันมาเริ่มต้นดูแลตัวเอง อย่าปล่อยให้โอกาสผ่านไปอีกปี แค่เริ่มลุกขึ้นจากเตียง สวมรองเท้าวิ่ง แล้วพาหัวใจที่มุ่งมั่นออกมาโลดแล่นนอกคอมฟอร์ตโซนที่คุ้นเคย แล้วคุณจะรู้ว่าเป้าหมายไม่ไกลเกินเอื้อม เช่นเดียวกับ 3 เจ้าของเรื่องราวบันดาลใจที่มาร่วมถ่ายทอดที่สุดของประสบการณ์ก้าวข้ามขีดจำกัดในงานเปิดตัว “บัตรเครดิต KTC-REV” บัตรเครดิตสำหรับคนรักกีฬาและการออกกำลังกายใบแรกของประเทศไทย

สมชายให้สมชื่อ

หลายคนคุ้นภาพ เต๋า-สมชาย เข็มกลัด นักร้องและนักแสดงมากความสามารถที่โลดแล่นในวงการบันเทิงมานานถึง 30 ปี ในมาดนักฟุตบอล แต่น้อยคนที่จะรู้ว่า ในเวลานี้นอกจากกีฬาฟุตบอลที่เขารักปักใจไม่เสื่อมคลาย อีกหนึ่งการออกกำลังกายที่เขาตกหลุมรักมานานกว่า 2 ปี คือ การวิ่ง แถมเขายังตั้งเป้าหมายว่าชีวิตนี้จะต้องพิชิตมาราธอนให้ได้

‘วิ่ง’ เปลี่ยนฉันคนเดิม เป็นคนใหม่แสนสตรอง

 

“ก่อนมาเป็นศิลปิน ผมเป็นนักฟุตบอลของโรงเรียนเทพศิรินทร์ ตั้งแต่ ม.1-ม.6 เป็นนักกีฬา เขตสิบ กรุงเทพฯ และยังเป็นนักฟุตบอลมืออาชีพให้กับสโมสรกองทัพบกอยู่พักหนึ่ง แต่เพราะอาการบาดเจ็บหนักจากเอ็นเข่าข้างซ้ายขาด คุณหมอเลยสั่งให้หยุดเล่นและเข้ารับการผ่าตัด แต่ผมเลือกไม่ผ่าและหันมาดูแลตัวเอง พยายามสร้างกล้ามเนื้อแทน

นั่นยังไม่ใช่จุดพลิกผันในชีวิตของผม เพราะจุดเปลี่ยนที่สำคัญในชีวิตของผมที่ทำให้ลุกขึ้นมาดูแลสุขภาพอย่างจริงจัง คือ ตอนมีลูก ผมมีลูกตอนอายุ 35 ปี เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ตอนนี้ลูกเริ่มโต ผมดีใจที่เขาชอบเล่นฟุตบอล ชอบทำงานในวงการเหมือนผม ผมคิดเสมอว่า ถ้าอีก 10 ปีข้างหน้า ผมอยากเป็นคุณพ่อที่เล่นกีฬากับลูกได้ โดยไม่ต้องให้เขามาประคอง ถือไม้เท้า ผมต้องดูแลตัวเองให้ดี ผมกลับมารวมกลุ่มกับเพื่อนที่เทพศิรินทร์ และเริ่มต้นซ้อมวิ่งเมื่อ 2 ปีก่อน”

นักแสดงหนุ่มยังบอกเล่าถึงแรงบันดาลใจที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้ลุกขึ้นมาวิ่ง แม้จะมีอาการบาดเจ็บที่เข่าเป็นขีดจำกัดว่า “ผมเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่า ผมชื่อสมชาย ทำไมสมชายไม่จริง แถมยังแก่ก่อนกำหนด จนต้องกลับมานั่งคิดทบทวน

ผมคิดว่าผู้ชายอายุ 44 ย่าง 45 มีสองอย่าง คือ แก่แล้วแก่เลย กับแก่อย่างมีคุณภาพ ผมอยากเป็นอย่างหลัง ถึงเริ่มมาดูแลตัวเอง หลังๆ มานี้หลายคนเจอผมทักว่าทำไมดูหน้าเด็กลง เพราะผมเริ่มกลับมาวิ่ง ตอนนี้น้ำหนักหายไป 10 โล แต่ผมยังรู้สึกสดชื่น ผมมีความฝันว่าอยากพิชิตมาราธอน โดยมีลูกและภรรยารออยู่ที่เส้นชัย สิ่งที่ผมอยากได้ยินก่อนตาย คือ เวลามีคนมาถามลูกผม อยากเป็นอะไร คือ เขาอยากเป็นเหมือนพ่อ

เต๋า ยังทิ้งท้ายถึงคนที่อยากลุกขึ้นมาก้าวข้ามขีดจำกัดไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าว่า ขอเพียงมีความมุ่งมั่นและตั้งใจ อย่าให้คำว่าเป็นไปไม่ได้มาปิดทางฝัน

“การวิ่งถ้าเรามีความตั้งใจ ผมว่าไม่ยาก แต่สิ่งที่ยาก คือ เวลาที่ต้องตื่นมาวิ่ง แต่ทำเถอะ แล้วสิ่งดีๆ จะเกิดขึ้นในชีวิต ลดปัญหาสุขภาพ และความเครียด กฎสำคัญคือเราต้องวิ่งอย่างมีความสุข เพราะเวลาที่เราตั้งใจอะไรสักอย่าง แล้วต้องทำให้ได้ เราไม่ได้ต้องการเอาชนะคนอื่นเพื่อคุยโว แต่เรากำลังเอาชนะใจตัวเอง การที่จะทำอะไรให้สำเร็จ ต้องเริ่มจากศรัทธาในตัวเองก่อน

หญิงเหล็กวงการนักวิ่ง

ใครว่าผู้หญิงคือเพศที่อ่อนแอ อย่างน้อยสาวร่างบาง นุ่น-อาจารี เกียรติเฟื่องฟู ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ถ้าพยายามและตั้งใจ ไม่มีคำว่าเป็นไปไม่ได้ เร็วๆ นี้นุ่นเพิ่งพิชิตตำแหน่ง ฟูลไอร์เอินแมน (Full Ironman) จากรายการ Ironman Asia-Pacific Championship Cairns ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองแคนส์ ประเทศออสเตรเลีย มาหมาดๆ

‘วิ่ง’ เปลี่ยนฉันคนเดิม เป็นคนใหม่แสนสตรอง

 

ใครที่สงสัยว่าไอร์เอินแมนคืออะไร นุ่นนิยามสั้นๆ พอให้เข้าใจว่า ไอร์เอินแมนเป็นการแข่งขันหฤโหดเพื่อหาผู้ที่แข็งแกร่ง โดยนักกีฬาที่เข้าร่วมพิสูจน์ความแข็งแกร่งด้วยการว่ายน้ำในทะเล 3.8 กิโลเมตร จากนั้นขึ้นมาปั่นจักรยานอีก 180 กิโลเมตร และลงมาวิ่งต่ออีก 42.195 กิโลเมตร ทั้งหมดต้องทำให้จบในวันเดียว

 

หลายคนฟังแล้วส่ายหัว นุ่นเองก็เคยเป็นคนหนึ่งในนั้น แต่การวิ่งแบบมีเป้าหมายเพื่อท้าทายตัวเองไปเรื่อยๆ กลับจุดประกายให้ในที่สุดแล้วเธอตัดสินใจพาตัวเองออกจากกรอบ และก้าวข้ามขีดจำกัดทั้งปวงทำสิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะทำจนสำเร็จ

“นุ่นก็เหมือนผู้หญิงทั่วไป ชอบกินและทำอาหาร พานให้น้ำหนักขึ้นเอาๆ จนเพื่อนเริ่มแซวว่ามีน้ำมีนวล เลยลุกออกมาวิ่ง เริ่มที่สวนลุมฯ ครั้งแรกแค่วิ่ง 1 รอบสวนลุมฯ (ประมาณ 2.5 กม.) ยังไม่ไหว ต้องวิ่งผสมเดิน จนเราเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่านี่เราอ่อนแอขนาดนี้เลยเหรอ เลยพยายามซ้อมมาเรื่อยๆ จนเริ่มวิ่งได้ครบรอบ สองรอบ สามรอบ ก็เริ่มตั้งเป้าหมายสูงขึ้นเรื่อยๆ จนผ่านมาราธอนมาได้หลายรายการ

สำหรับไอร์เอินแมนไม่เคยอยู่ในหัวเลย ไม่เคยคิดว่าจะทำได้ แต่เพราะเรามีโค้ชที่ช่วยฝึกซ้อม บวกกับความตั้งใจ เราซ้อมหนักมากถึง 6 เดือนเต็มก่อนไปแข่ง วินาทีที่ได้รับการประกาศขณะเข้าเส้นชัยว่า You’re an Ironman คือที่สุด”

นุ่น ยอมรับว่าความสำเร็จที่ได้มาไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่เป็นผลของความทุ่มเท ด้วยความที่รับราชการ เวลาสำหรับการฟิตซ้อมร่างกายในแต่ละวันค่อนข้างจำกัด ต้องซ้อมทุกเย็นและวันหยุด ทุกสุดสัปดาห์จะซ้อมเสมือนจริง ยอมรับว่าหนักและเหนื่อย แต่พอผ่านมาได้ ทำให้รู้สึกว่า จากนี้ไม่มีอะไรที่จะผ่านไปไม่ได้อีกแล้ว ขอแค่มีความตั้งใจและมีการเตรียมพร้อม

“สำหรับนุ่น การวิ่งเหมือนเป็นตัวแทนของความเพียรพยายามทำในสิ่งซ้ำเพื่อให้ประสบความสำเร็จ ในเดือน ส.ค.นี้นุ่นตั้งใจว่าจะไปแข่งไอร์เอินแมนอีกครั้ง แต่ตั้งเป้าว่าจะทำเวลาให้ดีกว่าเดิม จากสนามแรก นุ่นตั้งใจจบการแข่งขันในเวลา 15 ชั่วโมง ซึ่งเวลาจริงคือ 15 ชั่วโมง 30 นาที ซึ่งถือว่าไม่ไกลกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้มาก

บทเรียนชีวิตนอกห้องเรียน

หนึ่ง-สรัญ ลิ้มสวัสดิ์วงศ์ นักธุรกิจผู้พลิกชีวิตจากผู้ป่วยโรคมะเร็งสู่นักวิ่งมาราธอนระดับโลก 5 ปีมาแล้ว ที่เขาหันมาทุ่มเทให้กับการวิ่งอย่างจริงจัง โดยตั้งเป้าจะวิ่งให้ได้เดือนละ 250-300 กิโลเมตรต่อเดือน

‘วิ่ง’ เปลี่ยนฉันคนเดิม เป็นคนใหม่แสนสตรอง

“ผมวิ่งประมาณสัปดาห์ละ 4 ครั้ง ผมมีเป้าหมายในใจว่าจะวิ่งให้ได้เดือนละกี่โล แต่ก็ไม่ได้กดดันตัวเอง ถ้าเดือนไหนทำไม่ได้ตามเป้า ก็ทบไปเดือนหน้า” หนึ่งกล่าวอย่างอารมณ์ดี ก่อนย้อนถึงวันแรกที่ตัดสินใจลุกขึ้นมาวิ่งอย่างออกรส

 

“8 ปีที่แล้วผมป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง รักษาอยู่ 6 เดือนด้วยการให้คีโม เจอผลข้างเคียงทั้งผมร่วง เล็บดำ น้ำหนักร่วง กินข้าวไม่ลง ถามว่าท้อมั้ย ผมไม่ท้อนะ แต่สิ่งที่แปลกใจคือ ไม่คิดว่าเราในวันนี้จะเปลี่ยนไปจากเราเมื่อ 8 ปีที่แล้วอย่างคาดไม่ถึง

ผมเปลี่ยนจากคนที่อ่อนแอที่สุด กลายเป็นคนที่แข็งแรงที่สุดในชีวิต จากวันแรกที่ผมลุกขึ้นมาวิ่ง ผมซ้อมมาเรื่อยๆ จนเข้าสู่การวิ่งมาราธอน แรกๆ ผมวิ่งแบบไม่ได้ตั้งเป้า เอาแค่จบรายการ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในความเป็นเรา แต่พอวิ่งๆ ไป ผมเริ่มมีความคิดว่าอยากจะทำสถิติการวิ่งให้ดีๆ เพื่อเอาไว้เป็นสถิติเพื่อให้ลูกดูว่า อีกหน่อยถ้าลูกจะทำอะไร ต้องตั้งใจทำ แล้วทำให้ได้แบบพ่อ สำหรับผมการวิ่งเป็นกิจกรรมที่ต้องอาศัยเวลาในการฝึกฝน รู้จักบริหารเวลา จะซ้อมยังไงให้ได้ตามแผน

ผู้บริหารคนเก่งยอมรับว่า การวิ่งเปรียบเหมือนวิชาที่สอนอะไรหลายๆ อย่างในชีวิต ทำให้เขารู้จักตัวเองดีขึ้น ได้อยู่กับตัวเอง รู้รสชาติของความสำเร็จ และความผิดหวัง ได้เรียนรู้ด้วยตัวเองว่า สุดท้ายแล้วหลักการง่ายๆ ของคนที่อยากจะประสบความสำเร็จ ต้องอาศัยการฝึกซ้อม การวางแผนและการเตรียมตัวที่ดี ต่อให้บางครั้งเตรียมตัวดีแล้ว ก็อาจจะมีอีกหลายปัจจัยเข้ามาทำให้ต้องล้มเหลวได้ ซึ่งเราต้องรู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อให้ผ่านพ้นไปได้

หนึ่งกล่าวทิ้งท้าย พร้อมให้กำลังใจคนที่อยากลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยประโยคสั้นๆ แต่แสนกินใจ... “ถ้าผมทำได้ คุณก็ทำได้