posttoday

โครงงานคนตัวจิ๋ว การเรียนรู้ของเด็กน้อยยุคดิจิทัล

15 มกราคม 2561

ไล่หลังวันเด็กแห่งชาติมาติดๆ ขอนิยาม "เด็กสุดเด็ด" ให้เยาวชนสมัยนี้ได้เลย

เรื่อง ปอย

     ไล่หลังวันเด็กแห่งชาติมาติดๆ ขอนิยาม "เด็กสุดเด็ด" ให้เยาวชนสมัยนี้ได้เลย เมื่อได้มีโอกาสได้ชมงานแสดงผลงานการเรียนรู้ผ่านโครงงาน หรือ Project Approach ของเหล่าลูกเจี๊ยบตัวน้อย ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1 ถึงอนุบาล 3 โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ ถนนพระรามที่ 4 ซึ่งมีการจัดงานใหญ่ประจำปีอย่างต่อเนื่องร่วม 10 ปีแล้ว และเปิดให้บุคคลทั่วไปได้เข้ามาชมผลงานของนักสืบตัวจิ๋ว ตามล่าหาคำตอบเรียนรู้ในสิ่งที่ตัวเองสนใจ

     ปีนี้เด็กๆ ห้องอนุบาลปีที่ 1/3 เลือกศึกษาโครงงาน Project Approach เรื่อง "ไข่" การร่วมกันกะเทาะเปลือกไข่ เด็กๆ เริ่มช่วยกันสืบค้นข้อมูลเรื่องไข่จากอินเทอร์เน็ต ในแบบเด็กๆ เกิดในยุคสมัยโลกออนไลน์ มีการเรียนรู้ต่อยอดสนุกสนาน ไม่ใช่แค่เริ่มหัดเขียน ก ไก่ ข ไข่ แบบผู้ใหญ่รุ่นเราๆ แค่นั้นอีกต่อไปแล้ว

โครงงานคนตัวจิ๋ว การเรียนรู้ของเด็กน้อยยุคดิจิทัล

ไก่ กับ ไข่ เรียนลึกซึ้งกว่าใคร... เกิดก่อน?

     "หนูอยากเรียนเรื่องไข่ เพราะหนูชอบกินไข่มาก" ด.ญ.จิณณ์จิฎา หอมกลิ่นแก้ว เสนอหัวข้อขึ้น "จีน อยากเรียนเรื่อง แครอต เพราะแครอตมีประโยชน์" ด.ญ.ภิรญา อภิธนาคุณ เสนออีกหัวข้อที่อยากเรียนรู้

     "ปราชญ์อยากเรียนเรื่องข้าว ปราชญ์อยากเห็นคนปลูกข้าว" ด.ช.ปราชญ์ รัตตกุล กล่าวเสริมบ้าง เสียงแสดงความคิดเห็นอย่างมั่นใจของนักเรียนห้องอนุบาล 1/3 คงดังอย่าง ต่อเนื่องถึงเรื่องที่ตัวเองสนใจ และอยากเรียนรู้ ซึ่งบรรยากาศของการแสดงความคิดเห็นและการถกเถียง เพื่อให้เกิดการต่อยอดเรียนรู้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติในห้องแห่งการเรียนรู้ของอนุบาลเก่าแก่แห่งนี้

     กระบวนการซักถามและแสดงความคิดเห็นเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้แบบ Project Approach แนวหลักสูตรอบรมบ่มเพาะต้นกล้าน้อยๆ เหล่านี้ให้เติบใหญ่เป็นไม้ใหญ่ที่สมบูรณ์ในอนาคต

     "เด็กๆ จะนำเสนอเรื่องที่เด็กๆ อยากเรียนรู้ และคุณครูก็สามารถร่วมนำเสนอได้ด้วย จากนั้นเด็กๆ จะลงคะแนน 1 คนต่อ 1 เสียง เพื่อเลือกเรื่องที่ต้องการเรียนรู้ เรื่องที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด ก็จะได้รับเลือกที่จะเรียนรู้เรื่องนั้น เป็นการเรียนเรื่องการเลือกแบบประชาธิปไตยไปด้วยในตัวค่ะ" วิวรรณ สารกิจปรีชา คุณครูใหญ่ที่เด็กๆ เรียกขานกันว่า "ครูไก่" อธิบายสรุปว่าในที่สุด "ไข่" โกยคะแนนเสียงมากที่สุด เด็กๆ ไม่ว่ายุคไหนสมัยไหนก็ล้วนหลงรักไข่กันทั้งนั้น และมีความกระหายใคร่รู้ว่ามีอะไรซ่อนอยู่ในเปลือกสีขาวฟองนั้น

     ครูไก่เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนและเขียนหลักสูตร การเรียนแบบ Project Approach อธิบายเพิ่มเติมว่า การเรียนรู้แบ่งออกเป็น 6 สัปดาห์ แต่ละสัปดาห์เด็กๆ จะได้เรียนรู้ตามกระบวนการเป็นขั้นตอนโดยบูรณาการทุกศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคม เทคโนโลยี ฯลฯ เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ลึกและรู้จริงกันเลยทีเดียว

     ช่วงแรกของการเรียนรู้จะเป็นระยะของการรวบรวมความรู้จากประสบการณ์เดิมและสืบค้นข้อมูล โดยหลังจากการแสดงความเห็นว่าเด็กๆ สนใจที่จะเรียนเรื่องใดแล้ว เด็กๆ ได้ทำกราฟเพื่อนับจำนวนผู้ต้องการเรียนในแต่ละเรื่อง ผลปรากฏว่าเรื่องที่เด็กๆ อยากเรียนมากที่สุดคือ ไข่ โดยมีจำนวน 11 คน ช่วงเวลานี้เด็กๆ ก็จะได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรม ได้แก่ การฟัง สัมภาษณ์ ซักถาม เหล่าลูกเจี๊ยบในห้องนี้จะสวมร่างของนักสืบจิ๋ว เรียนรู้เรื่องไข่อย่างเจาะลึก

โครงงานคนตัวจิ๋ว การเรียนรู้ของเด็กน้อยยุคดิจิทัล

 

     ครูไก่ วิวรรณ อธิบายจุดประสงค์ในการทำ Project Approach เป็นการให้เด็กๆ ได้ฝึกใช้ทักษะต่างๆ อย่างครบถ้วนตามที่ได้ฝึกมาตั้งแต่ต้นปีการศึกษา ได้แก่ ฝึกการสำรวจ การสืบค้น การหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ การพิจารณาความเป็นไปได้ ความถูกต้องของข้อมูล (สำหรับ อ2+3 เป็นหลัก) โดยการเปรียบเทียบข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เช่น การได้ความรู้จากพจนานุกรม สารานุกรม หนังสือต่างๆ และอินเทอร์เน็ต จากวิทยากรผู้รู้ด้านนี้จริงๆ จากการไปทัศนศึกษาเจาะลึกเรื่องที่เรียนรู้

     "อย่างเช่นถ้าเรียนเรื่องเสื้อ เด็กจะได้ไปหรือพบปะผู้ที่อยู่ในอาชีพหรือเชี่ยวชาญจริงๆ ในเรื่องนั้นค่ะ เช่น พาเด็กไปเยี่ยมร้านตัดเสื้อ ร้านขายเสื้อผ้าที่หลากหลาย เด็กจะได้ใช้ทักษะการคิด เปรียบเทียบ คาดคะเน แก้ปัญหากันด้วยค่ะ รวมทั้งดำเนินการบันทึกโดยการวาดภาพและจำลองสิ่งต่างๆ ที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตามความสามารถและความสนใจของเด็กแต่ละคน

     มีการสรุปการเรียนรู้โดยการจัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่เมื่อเรียนจบด้วยค่ะ เด็กฝึกการเล่าเรื่องประสบการณ์การ เรียนรู้ และที่สำคัญคือตั้งและถามคำถามได้ เป็นการเรียนรู้ที่ บูรณาการเข้ามาได้ด้วยอย่างแยบยลค่ะ" ครูไก่ วิวรรณ อธิบาย

     คำถามต่างๆ ที่เด็กๆ อยากรู้ก็พรั่งพรูออกมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น ไข่คืออะไร? ทำไมเราต้องกินไข่? กินแล้วทำไมแข็งแรง? ทำไมต้องเอาไข่ใส่ตู้เย็น? ไข่ทำอะไรได้บ้าง? ฯลฯ อีกหลายคำถามที่เด็กๆ อยากรู้

     "แบ่งปันจะให้คุณแม่พาไปฟาร์มไข่ ไปดูว่ามีไข่อะไรบ้าง" น้องแบ่งปัน-ด.ญ.ภัทรดิฐ เลิศรัตนปรีชา ตอบคำถามเมื่อครูเริ่มตั้งคำถามว่าเราจะสืบค้นหาคำตอบเพิ่มเติมเกี่ยวกับไข่ได้อย่างไร

     "แพนจะให้คุณแม่พิมพ์ช่วยคลิกยูทูบ ค้นหาสารคดีดูเรื่องไข่ค่ะ" ด.ญ.ชานิกานต์ วงศ์นภาจันทร์ เสนอความคิดเห็น เด็กๆ ได้ร่วมกันหาความรู้เกี่ยวกับไข่ ทั้งสำรวจ ดมกลิ่น เปรียบเทียบลักษณะของไข่ชนิดต่างๆ เช่น ไข่เป็ด ไข่ไก่ ไข่นกกระทา ไข่กุ้ง ไข่ปลา ไข่ปู ไข่จิ้งจก ไข่นกกระจอกเทศ ที่เด็กๆ หากันมาแบ่งปันในห้องเรียน

     "ไข่เป็ดมันรูปทรงวงรี สีขาว ไข่ไก่ก็เป็นวงรี สีน้ำตาล ไข่นกกระจอกเทศใหญ่มากกว่าไข่ไก่กับไข่เป็ด ไข่จิ้งจกเป็นวงกลม เล็กกว่าไข่นกกระทา ไข่ปลาหมึกสีขาวจับแล้วนิ่ม ไข่กุ้งก็นิ่มๆ สีส้ม" น้องจิณณ์-ด.ช.จิณณ์ ยศสุนทร สรุปอย่างฉะฉาน

โครงงานคนตัวจิ๋ว การเรียนรู้ของเด็กน้อยยุคดิจิทัล


เรียนรู้เรื่องน่ารักให้ลุ่มลึก

     นอกเหนือจากการซักถามและการสืบค้น การลงมือทำก็เป็นหนึ่งในกระบวนการการเรียนรู้เช่นกัน เมื่อเด็กๆ เกิดคำถามว่า จะทำยังไงให้ไข่สุก "เราลองเอาไข่ไปตากแดดให้ไข่สุก เพราะแดดร้อน แต่พอเอาไปตากแดดแล้วกลับมาดู ไข่ขาวมันแห้ง พอใช้ส้อมจิ้มไข่แดงมันยังเหลว เรายังกินไข่ไม่ได้ พวกเราจึงต้องไปถามพี่ดอน แม่ครัวที่ทำกับข้าวให้เรากิน ว่าจะทำให้ไข่สุกอย่างไร"

     น้องวิล- ด.ช.ธนัช สุทธิบุตร เล่าให้ฟังถึงการทดลองนี้ด้วยน้ำเสียงกระตือรือร้น เมื่อได้คำตอบแล้วว่าการทำไข่ให้สุกมีวิธีการต้ม การทอด การเจียว เด็กๆ จึงได้แบ่งกลุ่มกันทั้ง 3 กลุ่มในการลงมือทำไข่ให้สุกด้วยความสนุกสนาน

     นอกจากวิธีการทำไข่ให้สุกแล้ว เด็กๆ ได้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำไข่เค็มและไข่เยี่ยวม้า ซึ่งเป็นอีกวิธีในการถนอมอาหาร เพื่อเก็บรักษาไข่ให้มีอายุยาวนานขึ้น

     วิวรรณ กล่าวถึงการเรียนการสอนระดับอนุบาลว่า บางคำถามอาจจะยังหาคำตอบไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร หรือบางคำถามไม่ได้ถาม หรือหาคำตอบเพราะสนใจอย่างอื่นมากกว่าก็ไม่เป็นไร และความรู้ไม่ได้มีเฉพาะในห้องเรียนเท่านั้น การออกไปทัศนศึกษาจึงเป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่จะทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง

     ในครั้งนี้เหล่าลูกเจี๊ยบยกขบวนไปทัศนศึกษาที่ฟาร์มไก่หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน เพื่อได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับไข่ ทุกๆ ขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การฟักไปจนถึงการจัดจำหน่าย

     น้องแบมแบม-ด.ญ.กฤตินี ทรัพย์เพิ่ม เล่าให้ฟังว่า "ไปเที่ยวฟาร์มไก่ ไก่ออกไข่ มีไข่เยอะ ได้เก็บไข่ใส่รัง เข้าไปดูห้องมืด เอาไข่มาส่องไฟ เห็นลูกเจี๊ยบอยู่ข้างใน มีตู้ฟักไข่ด้วย ไข่ต้องฟัก 21 วันถึงจะมีลูกเจี๊ยบออกมา ลูกเจี๊ยบคือไก่ที่ยังไม่โต มีไก่ออกไข่สีขาวด้วย เป็นแม่ไก่จากต่างประเทศ แต่คนไทยไม่ชอบกินไข่ไก่สีขาว"

โครงงานคนตัวจิ๋ว การเรียนรู้ของเด็กน้อยยุคดิจิทัล

 

     นอกจากคุณครูที่เป็นผู้แนะนำให้ความรู้ในการสืบค้นเรื่องไข่แล้ว ทางโรงเรียนยังเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้เข้ามามีส่วนร่วมอีกด้วย ซึ่งในการเรียนรู้ครั้งนี้ วรมน สารกิจปรีชา ผู้ปกครอง น้องวิล-ด.ช.ธนัช ร่วมกิจกรรมให้ความรู้สอนเด็กๆ ในเรื่องของไข่นกชนิดต่างๆ พาไปชมรังนกเขา ซึ่งทำรังอยู่บนต้นไผ่ภายในโรงเรียน

     ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ ผู้ปกครองของน้องแพน-ด.ญ. ชานิกานต์ อาสามาสอนให้เด็กๆ ได้เรียนรู้การทำไข่ตุ๋น ซึ่งเป็นวิธีการทำให้ไข่สุกอีกวิธีการหนึ่ง มเนศร์-แพรทิพย์ รัตตกุล ผู้ปกครอง ด.ช.ปราชญ์ มาสอนเด็กๆ ทำวาฟเฟิล เพื่อเรียนรู้ประโยชน์ของไข่ในการทำอาหารทั้งคาวหวาน

     เด็กๆ ได้ร่วมกิจกรรมมากมายที่ทำให้ความรู้เรื่องไข่ ยิ่งเจาะลึกและกว้างมากขึ้น ความรู้สึกสนุกสนาน กระตือรือร้นที่จะออกไปเสาะหาคำตอบที่ตนเองตั้งคำถามขึ้นมา และ ตื่นเต้นที่ได้ค้นคว้าหาคำตอบนั้น ทำให้เด็กๆ ไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังเรียนอยู่

     สร้างความรู้สึกประหลาดใจเล็กๆ เกศินี บัวแพ ผู้ปกครองของน้องแบมแบม-ด.ญ.กฤตินี ทรัพย์เพิ่ม กล่าวว่า ลูกจะกลับมาเล่าให้ฟังว่าในแต่ละวันได้เรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง โดยบางครั้งสิ่งที่น้องแบมแบมเล่าให้คุณแม่ฟัง บางอย่างคุณแม่เองก็เพิ่งรู้เช่นกัน โดยไม่คิดเลยว่าเด็กอนุบาลอายุเพียง 3 ขวบ จะมีความรู้ ความเข้าใจและเล่าเป็นเรื่องราวได้ขนาดนี้

     ทุกความรู้ตกผลึกเมื่อถึงช่วงสุดท้ายของการเรียนรู้ เด็กๆ ช่วยกันลงมือตกแต่งห้องเรียนเพื่อแสดงผลงานที่ได้เรียนมาทั้งหมดตลอดระยะเวลากว่า 6 สัปดาห์ เด็กๆ นำเสนอผลงานตามมุมต่างๆ เพื่อรอต้อนรับให้ผู้ที่สนใจได้เข้ามาเยี่ยมชมถึงความน่ารักและช่างเรียนรู้ของน้องๆ หนูๆ ยุคโลกออนไลน์ ที่ไม่ได้ท่องกันแค่ ก ไก่ ข ไข่ อีกต่อไปแล้ว n