posttoday

‘มหาวิทยาลัย’ กับความฝันของเด็กสมัยนี้

10 มกราคม 2561

คําถามที่ว่า “จบมาอยากทำงานอะไร” อาจใช้ไม่ได้กับ “เด็กสมัยนี้”

 

คําถามที่ว่า “จบมาอยากทำงานอะไร” อาจใช้ไม่ได้กับ “เด็กสมัยนี้” เพราะพวกเขาสามารถซิ่วได้โดยไม่เป็นเรื่องแปลก อิทธิพลของครอบครัวไม่เคร่งครัดเหมือนเก่า มีทางเลือกในชีวิตมากมาย และเหตุที่ตอบไม่ได้ว่าจบมาแล้วอยากทำงานอะไร นั่นเพราะพวกเขาอยากเป็นเจ้านายตัวเอง

ทว่าไม่ใช่เพียงเด็กสมัยนี้เท่านั้นที่เปลี่ยน “มหาวิทยาลัยสมัยนี้” เองก็ต้องปรับและเปลี่ยนตาม

หลักสูตรยุคดิจิทัล

เด็กยุคใหม่ส่วนใหญ่อยากเป็นนายตัวเองมากกว่าลูกจ้าง มหาวิทยาลัยกรุงเทพจึงเล็งเห็นว่าไม่มีอาชีพใดจะยั่งยืนเท่ากับการเป็นเจ้าของกิจการ จึงได้ก่อตั้ง “คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ” หรือ Bangkok University School of Entrepreneurship (BUSEM) เป็นแห่งแรกของประเทศไทย (เดิมทีสาขาความเป็นผู้ประกอบการอยู่ภายใต้คณะบริหารธุรกิจ) ซึ่งนับเป็นการกรุยทางสอดรับกับนโยบายการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตลอดจนวิสาหกิจชุมชนให้เติบโตทันกระแสเศรษฐกิจยุคไทยแลนด์ 4.0

มหาวิทยาลัยกรุงเทพได้จับมือกับมหาวิทยาลัยแบ๊บสัน (Babson College) มหาวิทยาลัยด้านการเป็นเจ้าของธุรกิจของอเมริกา โดยผสมผสานความรู้ของทั้งสองซีกโลกเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นหลักสูตรเรียกว่า BUSEM Way ด้วยการให้นักศึกษาฝึกสร้างไอเดียทำผลิตภัณฑ์ การทำแผนธุรกิจก่อนลงมือทำธุรกิจจริง และต่อยอดธุรกิจอย่างเป็นลำดับขั้นตอนที่เหมาะสมสำหรับบริบทการทำธุรกิจในประเทศไทย

‘มหาวิทยาลัย’ กับความฝันของเด็กสมัยนี้

นอกจากนี้ ในชั้นปีที่ 3 นักศึกษาต้องรวมกลุ่มกันเพื่อทำธุรกิจจริงภายใต้การกำกับดูแลและให้คำปรึกษาของคณาจารย์ ซึ่งนักศึกษาที่ขาดทุนทรัพย์สามารถกู้ยืมเงินจากคณะได้กลุ่มละ 1 แสนบาท ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กทำธุรกิจจริง ช่วยปลูกฝังทักษะและวิสัยทัศน์ผู้ประกอบการตั้งแต่ยังอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ได้ลองผิดลองถูกเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันในการทำธุรกิจในอนาคต และหลังจากสำเร็จการศึกษาไปเด็กจึงไม่รู้สึกว่าเริ่มงานใหม่ เพราะพวกเขาเคยมีประสบการณ์มาแล้ว

ขณะเดียวกัน เด็กยุคนี้ยังมีความสนใจเรื่องเกมและสื่ออินเตอร์แอ็กทีฟ รวมทั้งเป็นอาชีพที่น่าสนใจในยุคดิจิทัล มหาวิทยาลัยกรุงเทพจึงเปิดหลักสูตร “เกมและสื่อเชิงโต้ตอบ” ภายใต้คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม ซึ่งเป็นหลักสูตรใหม่ล่าสุดที่เพิ่งเปิดในปีการศึกษา 2560 นอกเหนือจากหลักสูตรวิทยาการคอมพิวเตอร์และหลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศ

ด้าน ดร.พัฒนพล เหรียญโมรา รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า เนื่องจากเกมเป็นส่วนหนึ่งของการโฆษณาผลิตภัณฑ์ การฝึกอบรม การเรียนการสอน การรักษาผู้ป่วยในทางการแพทย์ และเป็นธุรกิจในส่วนของเอนเตอร์เทนเมนต์ที่มีมูลค่าในตลาดโลกอย่างมาก การสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบสื่ออินเตอร์แอ็กทีฟจึงเป็นรูปแบบการสื่อสารข้อมูลที่สำคัญในปัจจุบัน และยังมีตลาดแรงงานเปิดกว้างในทุกภาคอุตสาหกรรมด้วย

“เกมเป็นสิ่งที่ไม่เคยหายไปไหนเลย เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ ตามเทคโนโลยี และมันจะอยู่กับเราไปอีกนานเพราะไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้นล้วนมีเกมเข้าไปเกี่ยวข้อง โดยตอนนี้เกมเข้ามาอยู่ในมือถือทำให้ทุกคนเล่นได้ทุกที่ทุกเวลา ขณะเดียวกันเม็ดเงินในภาคอุตสาหกรรมก็จะมากขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนคนเล่น จำนวนแพลตฟอร์ม ทำให้ตลาดเกมในไทยและทั่วโลกเติบโตขึ้น” ดร.พัฒนพล กล่าวถึงเหตุผลการก่อตั้ง

หลักสูตรจะมุ่งเน้นการพัฒนาความสามารถ 3 ด้าน ได้แก่ เทคโนโลยี ศิลปะ และธุรกิจ รวมถึงความสามารถในการทำสตาร์ทอัพเชิงเทคโนโลยี (Tech Startup) ความสามารถในการแก้ปัญหาจริง และความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมจริงผ่านความร่วมมือกับภาคเอกชน

“ปีการศึกษาแรกที่เปิดหลักสูตรเกมมีนักศึกษาเรียนประมาณ 200 คน ซึ่งการสร้างความรับรู้กับเด็กไม่ใช่เรื่องยาก แต่ที่ยากคือการทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง เพื่อให้พวกท่านเข้าใจว่าเป็นสาขาวิชาที่มีอาชีพรองรับ เป็นธุรกิจที่มีอนาคต และตัวเกมเองไม่ได้มีแค่ความบันเทิง แต่สามารถพัฒนาไปสู่วงการแพทย์ เช่น สร้างเกมเสมือนจริงให้แพทย์ได้ฝึกฝน รวมถึงในต่างประเทศก็มีผู้ที่จบปริญญาเอกด้านเกมโดยเฉพาะ”

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังเป็นพันธมิตรกับ การีน่า (Garena) บริษัทเกมเบอร์หนึ่งผู้สร้างเกมอาร์โอวีที่กำลังโด่งดัง รวมทั้งสนับสนุนให้นักศึกษาออกไปแข่งขันหรือเข้าร่วมกิจกรรมนอกมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาฝีมือด้วย

“สิ่งที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพเน้นเราเรียกว่า โปรเฟสชันนัล สกิลส์ เซต (Professional Skills Set) คือ เด็กที่จบจากเราไม่สำคัญแค่ว่าจบไปด้วยคะแนนจีพีเอเท่าไร แต่สามารถบอกได้ว่าเด็กคนนี้ถนัดด้านอะไร ทำอะไรเป็นบ้างจากการบ่มเพาะในทุกๆ วิชา” รองคณบดีฯ กล่าวเพิ่มเติม

วิชาสื่อยุคเปลี่ยนผ่าน

คณะด้านสื่อสารมวลชนหรือนิเทศศาสตร์ไม่ติดโผคณะที่มีผู้สนใจสมัครมากที่สุดมาตั้งแต่ปี 2557 โดยครั้งสุดท้ายในปี 2556 คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รั้งอันดับที่ 5 มีผู้สมัครจำนวน 812 คน ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยเองก็มีการปรับเนื้อหาหลักสูตรให้เป็นไปตามยุคสมัยและสถานการณ์สื่อสารมวลชนที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างล่าสุดมหาวิทยาลัยมหาสารคามได้เปลี่ยนชื่อสาขาวิชาในภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จากสาขาวิชาภาษาเพื่อการสร้างสรรค์งานสื่อสิ่งพิมพ์ เป็น “ภาษาเพื่อการสร้างสรรค์สื่อ”

‘มหาวิทยาลัย’ กับความฝันของเด็กสมัยนี้

 

อาจารย์วิรยา ตาสว่าง ประธานหลักสูตรสาขาวิชาภาษาเพื่อการสร้างสรรค์สื่อ กล่าวว่า 3-4 ปีที่ผ่านมาวงการสื่อสิ่งพิมพ์ในประเทศไทยมีการปิดตัวหลายฉบับ ทำให้เกิดคำถามว่า อีก 4 ปีข้างหน้านักศึกษาที่จบจากหลักสูตรภาษาเพื่อการสร้างสรรค์งานสื่อสิ่งพิมพ์จะทำงานอะไร

“หลักสูตรของเราต้องอัพเดทให้ทันโลก โดยนอกจากจะตัดบางรายวิชาที่ไม่จำเป็น และเพิ่มอีกหลายวิชาที่จำเป็นเข้ามาแล้ว เราต้องเปลี่ยนชื่อหลักสูตร เพราะชื่อหลักสูตรเป็นเหมือนหน้าตาและเป็นสิ่งที่เด็กจะรับรู้เป็นอย่างแรก หลังจากการวิพากษ์หลักสูตรแล้วทำให้เราได้เปลี่ยนชื่อหลักสูตรใหม่ว่า ภาษาเพื่อการสร้างสรรค์สื่อ เพื่อเพิ่มความกว้าง ไม่จำกัดตัวเองมากเกินไป และมีจุดแข็งที่การผลิตเนื้อหา แม้ว่าสื่อหรือแพลตฟอร์มจะเปลี่ยนไปแค่ไหนก็ตาม เด็กของเราจะมีจุดแข็งของการผลิตเนื้อหาทำให้เขาสามารถไปอยู่ที่ไหนก็ได้”

อาจารย์วิรยา ยกตัวอย่าง วิชาผลิตเนื้อหาสำหรับโซเชียลมีเดียเพื่อเป็นบล็อกเกอร์หรือนักเขียนรีวิว ซึ่งเป็นหนึ่งในวิชาเลือกที่นักศึกษาสามารถเลือกตามความถนัดและความสนใจ

“3 ปีมานี้เด็กสมัยใหม่เริ่มมีความหวาดกลัวต่อการเรียนสื่อสิ่งพิมพ์” ประธานหลักสูตรฯ กล่าวต่อ “หนึ่งเพราะข่าวการปิดตัวหนังสือพิมพ์ สองเพราะการปิดตัวนิตยสาร สามเพราะมักมีเวทีเสวนาหัวข้อสื่อสิ่งพิมพ์ตายจริงหรือ ทำให้เด็กเกิดการรับรู้ว่าสื่อสิ่งพิมพ์ตายไปแล้ว และสี่เป็นเพราะอิทธิพลของครอบครัว แต่อาจารย์ในสาขาก็ยังเชื่อกันว่า สื่อสิ่งพิมพ์ยังไม่ตาย เราแค่อยู่ในยุคเปลี่ยนผ่าน เป็นหนึ่งปรากฏการณ์ในการเปลี่ยนยุคสมัยที่เราต้องปรับตัว ดังนั้นหน้าที่ของอาจารย์คือ สร้างเด็กที่ทันโลก”

ในทางตรงกันข้าม เทรนด์ของมหาวิทยาลัยมหาสารคามกำลังชี้เป้าไปที่คณะศึกษาศาสตร์ กลับไปสู่ยุคดั้งเดิมที่คนอยากรับราชการงานอันมั่นคง

วิทยาลัยใหม่ในยุคพัฒนา

อีกหนึ่งความน่าสนใจในวงการการศึกษาไทยคือ ความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยศรีปทุมกับสถาบันการศึกษาจากประเทศจีน ได้แก่ Hunan Vocational College of Railway Technology และ Hunan Railway and Aviation Education Development Group จัดตั้ง “วิทยาลัยการขนส่งระบบรางอาเชียน” (ASEAN Railway College) เพื่อพัฒนาบุคลากรที่มีความเป็นเลิศด้านการรางเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมจริงทั้งไทยและอาเซียน ตอบสนองแผนยุทธศาสตร์ชาติไทยในเรื่องระบบราง และยุทธศาสตร์ชาติจีนโครงการ 1 แถบ 1 เส้นทาง (OBOR - One Belt, One Road)

‘มหาวิทยาลัย’ กับความฝันของเด็กสมัยนี้

ดร.รัชนีพร พุคยาภรณ์ พุกกะมาน อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุม เปิดเผยว่า ความร่วมมือครั้งนี้เกิดจากแผนยุทธศาสตร์ของไทยและจีนในการที่จะพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยประเทศไทยนั้นมีหลายโครงการ เช่น แผนแม่บทการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบขนส่งทางรางของประเทศไทย ปี 2558-2565 ครอบคลุมโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานคร โครงการรถไฟทางคู่ และโครงการรถไฟความเร็วสูงสำหรับวิ่งระยะทางไกลและนวัตกรรมบริการ

ในขณะที่ประเทศจีนมียุทธศาสตร์ชาติโครงการ 1 แถบ 1 เส้นทาง เพื่อให้เกิดความร่วมมือและการเชื่อมโยงระบบสาธารณูปโภค การปรับปรุงการเชื่อมโยงระบบโครงสร้างพื้นฐาน และการก่อสร้างระเบียงการคมนาคมระหว่างประเทศเชื่อมโยงทางรถไฟจากประเทศจีนสู่ สปป.ลาว และมีแนวโน้มจะเชื่อมเข้าสู่ไทย

“จากแผนยุทธศาสตร์ของทั้งสองชาติ เรามองว่า วิทยาลัยการรางแห่งอาเซียนจะสามารถตอบสนองเรื่องการผลิตบัณฑิตที่มีความเป็นเลิศด้านระบบราง เพื่อรองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจด้านคมนาคมและการขนส่ง ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศระยะยาว ซึ่งขณะนี้มีความขาดแคลนกำลังคนด้านนี้อย่างมาก” อธิการบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย

ตัวตนในยุคโลกาภิวัตน์

ด้านมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในฐานะของสถาบันอุดมศึกษาทางด้านการเกษตรแห่งแรกของประเทศไทย ได้มีการเปิดวิชาบังคับใหม่ชื่อ “ศาสตร์แห่งแผ่นดิน” (Knowledge of the Land) ที่ผนวกศาสตร์ความเป็นไทยและศาสตร์พระราชาเข้าด้วยกัน โดยได้เปิดการเรียนการสอนอย่างเต็มรูปแบบในภาคเรียนที่ 1 ของปีการศึกษา 2559 กำหนดให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ทุกคนและทุกวิทยาเขตต้องผ่านการเรียนวิชานี้ เน้นการสอนเชิงลงพื้นที่ หวังให้นิสิตเข้าใจแก่นแท้ความเป็นไทย และสามารถต่อยอดสร้างนวัตกรรมเองได้

ดร.จงรัก วัชรินทรรัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า วิชาดังกล่าวมีการทดลองการเรียนการสอนนำร่องมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 ผ่านการวิเคราะห์และประมวลผลจากคณะกรรมการจัดตั้ง จนสร้างองค์ความรู้จากการนำศาสตร์ความเป็นไทย ศาสตร์ของพระราชา มาผนวกกับศาสตร์และเทคโนโลยีในปัจจุบัน เพื่อให้องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นสามารถใช้พัฒนาประเทศชาติอย่างยั่งยืน โดยนิสิตทั้งหมด 1.5 หมื่นคนต้องเรียน

“เราสอนเน้นถึงองค์ความรู้ของแผ่นดินไทย เพื่อให้นิสิตเกิดความภาคภูมิใจถึงแก่นแท้ของความเป็นไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเกษตร วัฒนธรรมไทย ศาสตร์ของพระราชา โครงการพระราชดำริ หรือแนวปรัญชาต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทางมหาวิทยาลัยจะนำมาวิเคราะห์เพื่อแตกออกมาเป็นองค์ความรู้ในเชิงวิชาการ จากนั้นให้อาจารย์แต่ละคณะนำไปสอนนิสิตโดยนำองค์ความรู้ของคณะนั้นๆ บูรณาการเข้าด้วยกัน”

‘มหาวิทยาลัย’ กับความฝันของเด็กสมัยนี้

นอกจากนี้ การเรียนการสอนของทุกหลักสูตรจะเน้นรูปแบบการเรียนรู้แบบลงมือทำ (Active Learning) และการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-Based Learning) เพื่อให้นิสิตได้ปฏิบัติจริงและมีการรวมกลุ่มเพื่อสร้างสรรค์โครงงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีจุดเด่นเรื่องการปฏิบัติจริงทั้งในเชิงสร้างสรรค์นวัตกรรมและเชิงสังคมอยู่แล้ว

“โครงการพระราชดำริของพระองค์ท่านมีการบูรณาการอย่างหลากหลาย เช่น โครงการกังหันน้ำชัยพัฒนา ซึ่งอาจจะมีพื้นฐานมาจากเรื่องการเกษตร แต่การสร้างกังหันก็เกี่ยวข้องกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ด้วย โครงการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ชนบท เกี่ยวข้องกับคณะสังคมศาสตร์ เป็นต้น นอกจากวิชาศาสตร์แห่งแผ่นดินแล้ว ผมยังมอบนโยบายให้ชมรมต่างๆ ในมหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับศาสตร์เหล่านี้ด้วย เพื่อที่จะปลูกฝังให้นิสิตเข้าใจอย่างลึกซึ้ง”

สำหรับสิ่งที่คาดหวังจากวิชานี้คือ นิสิตจะได้เรียนรู้ถึงแก่นแท้ของความเป็นไทย องค์ความรู้ต่างๆ ของไทย เข้าถึงชุมชน น้อมนำแนวพระราชดำริมาใช้ในทางวิชาการ และต่อยอดสร้างนวัตกรรมที่สามารถนำมาดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมได้ อีกทั้งยังทำให้นิสิตของมหาวิทยาลัยติดดินและรักในความเป็นไทย

รักษาการอธิการบดี มก. ยังเปิดเผยด้วยว่า หลังจากเปิดวิชาศาสตร์แห่งแผ่นดินเป็นระยะเวลา 2 ปี ทางมหาวิทยาลัยได้มีการพัฒนาและต่อยอดไปสู่ “หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาศาสตร์แห่งแผ่นดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยคาดว่าจะเปิดการเรียนการสอนได้ในเดือน ส.ค. 2561