posttoday

‘สโลว์ฟู้ด’ ต่อยอดเป็น ‘สโลว์ไลฟ์’

07 มกราคม 2561

“หนีเมืองกรุง...ตะลุยทุ่งทองอินทรีย์” โครงการตะลุยทุ่งเกษตรปลอดภัย จัดโดยเลมอนฟาร์ม

โดย  วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ เลมอนฟาร์ม/สสส.

“หนีเมืองกรุง...ตะลุยทุ่งทองอินทรีย์” โครงการตะลุยทุ่งเกษตรปลอดภัย จัดโดยเลมอนฟาร์ม ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เชิญชวนผู้บริโภคชาวกรุงลงพื้นที่ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี  สัมผัสประสบการณ์การทำเกษตรอินทรีย์ ทั้งการปลูกข้าว ปลูกผักอินทรีย์และการแปรรูปจากวัตถุดิบหัวไร่ปลายนา หนึ่งในนั้น คือ แอน-ชนิดา สุขลิ้ม วัย 32 ปี ที่เลือกสโลว์ฟู้ดเพื่อการต่อยอดเป็นสโลว์ไลฟ์ เธอทำอย่างไรไปดูกันดีกว่า!

“คนในปัจจุบันป่วยกันเยอะ หนุ่มสาวใช้ชีวิตในเมือง การกินการอยู่ก็มีข้อจำกัด ดิฉันเองก็เป็นคนหนึ่งที่เคยใช้ชีวิตแบบใช้ๆ ไปอย่างไม่คำนึงถึงทางเลือกอื่น ความจริงเรามีทางเลือก ถ้าจะเลือกและถ้าจะทำจริงๆ” ชนิดาเล่า

เพราะชีวิตในเมืองที่ขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงและมลพิษมากมาย ชนิดาว่าตามความเห็นของเธอแล้ว ไม่แปลกใจที่เห็นผู้คนล้มป่วยด้วยโรคร้ายมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวเลขผู้ป่วยมะเร็งผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ (NCD) เพิ่มสัดส่วนอย่างน่าตกใจ และสร้างความตระหนักให้ชนิดาเมื่อคนใกล้ตัว “ป่วย”

‘สโลว์ฟู้ด’ ต่อยอดเป็น ‘สโลว์ไลฟ์’

“คุณพ่อป่วยเป็นโรคติดเชื้อในกระแสโลหิตและลามไปอักเสบที่ไต  เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน วินาทีนั้นคือเปลี่ยนทุกอย่าง” ชนิดาเล่า

ไม่เพียงบิดาที่ป่วยหนัก ปัจจุบันอยู่ระหว่างดูแลรักษาอาการที่ จ.ตรัง ยังมีบุคคลในครอบครัวของเธอที่เจ็บป่วยเสียชีวิต ได้แก่ คุณยายที่ป่วยเป็นมะเร็งตับและคุณแม่ที่ป่วยเป็นมะเร็งปอด ทั้งคู่เสียชีวิตไปเมื่อ 6 ปีก่อน ความตายของบุคคลใกล้ตัวเหมือนสัญญาณที่มาเตือนให้ชนิดาระวังเรื่องการใช้ชีวิต

“จู่ๆ คุณพ่อก็ติดเชื้อในกระแสโลหิต เริ่มจากติดเชื้อในลำไส้ ต้องเข้าโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วนและฉุกเฉินมากๆ คุณหมอให้ยาฆ่าเชื้ออยู่ 8 วัน รอดูอาการอีก 2 วัน ต่อมาการอักเสบลุกลามที่ไต ทำให้ไตมีปัญหาอีก คุณพ่อยังต้องผ่านิ่วในถุงน้ำดีด้วย” ชนิดากล่าว

ปัจจุบันชนิดาทำงานเป็นพนักงานในบริษัทไฟแนนซ์แห่งหนึ่งย่านใจกลางเมือง ทำงานตามเวลา 09.00-17.00 น. ทุกวัน เคยกิน “อะไรก็ได้” ที่ใกล้ตัวสะดวกหยิบจับ ไม่คิดมาก ไม่ดูมาก เปลี่ยนเป็นคิดมากขึ้น ดูมากขึ้น แม้จะไม่ได้ทุกมื้อ แต่ก็พยายามดูแลตัวเองในแบบที่ “เป็นไปได้”

“เลือกกินอาหารสโลว์ฟู้ด คือเลือกที่จะคิด เลือกที่จะตีให้แตกว่า สิ่งที่ตรงหน้าควรกินหรือไม่ควรกินแค่ไหนอย่างไร ความช้าในขั้นตอนที่เพิ่มขึ้น ไม่เพียงได้เลือกกินอาหารที่ดีมีคุณภาพ แต่ชีวิตก็ดีขึ้นในหลายด้าน” ชนิดาเล่า

 ไม่ได้ 100% หรอก แต่ก็ดีกว่า 0% หรือไม่คิดไม่เลือกเลย เริ่มจากการเลือกซื้อวัตถุดิบ แม้ที่อยู่อาศัยในกรุงจะมีพื้นที่จำกัด และปลูกพืชผักไม่ได้มากนัก แต่ก็ตัดสินใจลองขยับขยายดู ปัจจุบันชนิดามีพื้นที่แปลงเกษตรปลูกผักกินเองในบ้านแปลงน้อยๆ ที่ปรับประยุกต์เท่าที่พอจะทำ ความสุขเริ่มตั้งแต่ผลผลิตยังไม่ออก เพราะแค่มองหรือได้รดน้ำตอนเช้าก็มีความสุขแล้ว

‘สโลว์ฟู้ด’ ต่อยอดเป็น ‘สโลว์ไลฟ์’

“ตื่นขึ้นมาได้สูดอากาศ และชื่นชมแปลงผักเล็กๆ ในบ้านก็มีความสุขแล้ว นี่เรื่องจริง”

บางทีก็ต้องซื้อวัตถุดิบเหมือนกัน แต่เลือกซื้อที่ปลอดภัย แหล่งปลูกได้รับการรับรองเชื่อถือได้ สำหรับคนกรุงนั้นคิดว่าทำเท่าที่ทำได้ เพียงแค่นี้อย่างน้อยก็ได้เริ่มต้น มื้อต่อไปจะค่อยๆ มาเอง เพราะความถนัดชำนาญในการทำอาหารเองจะค่อยๆ แก่กล้า (ฮา) รู้จักเรียนรู้และประยุกต์ ปรับให้เหมาะกับตัวเอง

“บ้านในเมืองพื้นที่ไม่ค่อยมี อันนี้เป็นปัญหาเหมือนกัน โชคดีที่มีเพื่อนคนหนึ่งทำไร่ออร์แกนิกที่ราชบุรี ก็ได้ซื้อข้าวไรซ์เบอร์รี่จากที่นี่”

นอกจากอาหารผักพืชคุณภาพ ชนิดาเล่าว่า ยังได้ผลพลอยได้คือความรู้สึก “คลีนๆ” ที่ได้กินอาหารสะอาด จะรู้สึกไปเองหรือเปล่าไม่ทราบ แต่สัมผัสได้ว่า “ภายใน” ร่างกายดีขึ้น คลีนขึ้น สะอาดขึ้น ผิวพรรณผิดไปจนเพื่อนร่วมงานทัก ทุกคนบอกตรงกันว่าผิวพรรณดี แจ่มจ้าขึ้นเยอะ (ฮา)

ชนิดากล่าวว่า แนวทางของสโลว์ฟู้ด เธอเริ่มปรับใช้กับตัวเองมาตั้งแต่ 5 ปีก่อนหรือเมื่อคุณแม่เสีย จนถึงขณะนี้ก็ต้องบอกว่า ชีวิตเปลี่ยนไปเยอะก็เพราะอาหารที่ (เลือก) กิน ยังมีญาติที่มีความรู้เรื่องฟู้ดไซน์หรือวิทยาศาสตร์อาหาร ที่ได้ช่วย “เลกเชอร์” เกี่ยวกับความเป็นกรดด่างของอาหารประเภทต่างๆ ถ้าเผยแพร่ให้ทุกคนได้รู้ เรื่องนี้จะเป็นประโยชน์

“มันทำให้เรามองอาหารเปลี่ยนไป ทั้งเรื่องความเป็นกรดด่าง เรื่องน้ำตาลในอาหาร เรื่องไขมันในอาหาร รวมทั้งขั้นตอนในการปรุง ใครจะรู้ว่าเราเปลี่ยนชีวิตได้ถ้าเรากินอาหารสโลว์ฟู้ด พิจารณาและเลือกสิ่งที่ดีที่สุด มองและคิดมากขึ้น” ชนิดาเล่า

‘สโลว์ฟู้ด’ ต่อยอดเป็น ‘สโลว์ไลฟ์’

จากนี้ไปคือปณิธานที่จะกินหรือปรุงอาหารที่ต้องไตร่ตรองพิจารณาถึงความถูกสุขลักษณะ มีประโยชน์ หรือมีโทษพิษภัยต่อร่างกายให้น้อยที่สุด ทำกินดีที่สุด คนเมืองทำอาหารไปกินจากบ้านให้ได้ นี่คือด่านแรก เพราะอาหารรายทาง หรือสตรีทฟู้ดระหว่างทางที่เราซื้อกิน เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ปนเปื้อนหรือมีอันตรายแค่ไหนไม่รู้

นอกจากนี้คือเคล็ด (ไม่) ลับ หรือเทคนิคสำหรับสโลว์ฟู้ดคนเมือง ชนิดาเล่าว่า เธอไม่คิดว่าสูตรสำเร็จจะเป็นเรื่องของร่างกายเพียงอย่างเดียว หากจะต้องรวมถึงกลไกทางจิตใจด้วย คนเมืองใช้ชีวิตวุ่นวายเร่งรีบ เลือกกินอาหารที่เป็น “รางวัล” ของวันที่ยาก หลายคนเป็นอย่างนั้น รวมทั้งเธอเองในสมัยก่อน (ฮา)

“เดี๋ยวนี้คิดว่ารางวัลคือสโลว์ฟู้ด กินอาหารที่ให้ผลลัพธ์ที่ให้ผลลัพธ์ที่ต่างออกไป นี่แหละรางวัลของฉันในวันนี้”

ชนิดาเล่าว่า ใครที่สมควรได้รับรางวัลก็คืออาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อร่างกาย นี่แหละรางวัลที่แท้จริงของคุณ อย่าเลือกกินอาหารที่อร่อยเพียงอย่างเดียว ไปนั่งดื่มแอลกอฮอลล์ แกล้มด้วยอาหารปิ้งย่างที่มีถ่านดำปี๋จากการเผาไหม้คาร์บอน นั่นใช่รางวัลหรือไม่ อยากให้ฉุกคิดสักนิด เพราะร่างกายก็คือ “ของ” ของเรา

อนาคตคือการต่อยอดจากสโลว์ฟู้ดเป็นสโลว์ไลฟ์ ใช้ชีวิตที่ช้าลงและมีคุณภาพมากขึ้น ชนิดาเล่าว่า ดำเนินชีวิตและมีภูมิคุ้มกันที่ดี ไม่มองข้ามอาหารและเครื่องประกอบชีวิตในด้านต่างๆ ทั้งอาหาร อากาศ อารมณ์ มองภาพรวม สงบขึ้นและนิ่งขึ้น ความสงบในใจสำหรับชนิดาเริ่มจากบทเรียนโยคะ ไทเก๊ก และการฝึกจิต ซึ่งเริ่มกระเส็นกระสายเข้ามาในชีวิตบ้างแล้ว

‘สโลว์ฟู้ด’ ต่อยอดเป็น ‘สโลว์ไลฟ์’

“อาหารที่ดีให้ภูมิคุ้มกันไม่เฉพาะร่างกาย แต่ให้ภูมิพลังทางจิตที่แข็งแกร่ง เรื่องนี้เป็นประสบการณ์ส่วนตัว แต่ดิฉันก็เพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น ก็คงต้องค่อยๆ ฝึกไป แต่บอกได้เลยว่านี่ทางเรา” ชนิดาเล่า

นิยมในสโลว์ฟู้ด ซึ่งชนิดาคิดว่า มีผลทำให้เธอลดความหงุดหงิดทางอารมณ์ได้ อาหารบางอย่างช่วยให้จิตใจสงบ และเอื้อต่อการปฏิบัติภายใน ยกตัวอย่างเรื่องรถติดก็อารมณ์เสียน้อยลง จิตใจให้อภัยง่าย แจ่มใสง่าย รวมทั้งมีพลังที่จะลุกขึ้นเปลี่ยนแปลงตัวเอง

สำหรับคุณค่าของอาหารอินทรีย์ ชนิดากล่าวว่า ไม่เพียงผลดีต่อร่างกายของเธอเท่านั้น จากการไปสัมผัสทุ่งอินทรีย์ของพี่น้องเกษตรกรที่ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรีเมื่อปลายปีที่ผ่านมา นั่นยังทำให้ชนิดาได้รับรู้ถึงการไม่เอารัดเอาเปรียบ จิตใจที่ดีงามและความน่าอบอุ่นใจของเกษตรกรกลุ่มเกษตรกรทุ่งทองยั่งยืน ที่มีจิตใจทำการเกษตรเพื่อผู้อื่น ได้กินอาหารปลอดภัยแล้วยังได้ช่วยสนับสนุนคนดีๆ เกษตรกรดีๆ ด้วย