posttoday

โกศล ทรัพย์ประเสริฐ สร้างฟินสตรีท หวังแก้ปัญหาหนี้

28 ธันวาคม 2560

โดย...จารุพันธ์ จิรรัชนิรมย์สังคมเรามีปัญหาอยู่มากมายที่รอการแก้ไข หนึ่งในปัญหาจุกอกที่คนไทยเผชิญ ก็คือ การเป็นหนี้สารพัดรูปแบบแล้วไม่สามารถบริหารจัดการเงินในมือให้เพียงพอกับการจ่ายหนี้ได้ สร้างปัญหาให้กับประเทศ ซ้ำยังทำให้เครดิตของตัวเองเสียจากการสร้างหนี้เสีย

โดย...จารุพันธ์ จิรรัชนิรมย์

สังคมเรามีปัญหาอยู่มากมายที่รอการแก้ไข หนึ่งในปัญหาจุกอกที่คนไทยเผชิญ ก็คือ การเป็นหนี้สารพัดรูปแบบแล้วไม่สามารถบริหารจัดการเงินในมือให้เพียงพอกับการจ่ายหนี้ได้ สร้างปัญหาให้กับประเทศ ซ้ำยังทำให้เครดิตของตัวเองเสียจากการสร้างหนี้เสีย

ปัญหานี้เองจึงกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ โกศล ทรัพย์ประเสริฐ ลุกขึ้นมาทำบริษัทเกิดใหม่บนพื้นฐานเทคโนโลยี (สตาร์ทอัพ) ช่วยผู้คนบริหารจัดการหนี้ ในชื่อฟินสตรีท

โกศล ทรัพย์ประเสริฐ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ยูนิคอร์น ออน เซ็น ผู้ทำฟินสตรีท แชตบอตบริหารจัดการหนี้ เล่าย้อนให้ฟังว่า แต่ก่อนเขาทำงานกับดิจิทัล เวนเจอร์ หน่วยงานหนึ่งของธนาคารไทยพาณิชย์ที่ดูเรื่องนวัตกรรมการเงิน (ฟินเทค) ก็มีโอกาสได้ไปร่วมมือ ได้พูดคุยกับสตาร์ทอัพหลายราย

สิ่งที่เห็น คือ สตาร์ทอัพส่วนมากที่พูดคุยด้วย จะทำเกี่ยวกับเรื่องการแก้ปัญหาระบบการชำระเงิน (เพย์เมนต์) และปัญหาด้านการบริหารความมั่งคั่ง (เวลท์) ขณะที่สตาร์ทอัพที่เข้ามาแก้ปัญหาด้านการกู้ยืม (เลนดิ้ง) มีน้อยมาก ซึ่งโกศล มองว่า เรื่องการเป็นหนี้เป็นปัญหาสำคัญที่สตาร์ทอัพยังไม่ได้เข้ามาช่วยแก้ไข ปัญหานี้เป็นปัญหาสำคัญของประเทศชาติ ทำให้โกศล เกิดความ มุ่งมั่นอยากทำสตาร์ทอัพเกี่ยวกับการแก้ปัญหาหนี้

"พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริสร้างโครงการขึ้นมามากมายเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง ในมุมมองคนรุ่นใหม่อย่างเรา มองว่ามีอีกหลายอย่างที่คนไทยช่วยกันได้อีกมากเพื่อสานต่อและต่อยอดแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงนี้ อย่างเช่นเรื่องการเป็นหนี้ ที่คนไทยเป็นหนี้มาก แต่หนี้มีทั้งหนี้ที่ดีและ ไม่ดี ดังนั้นจึงอยากทำนวัตกรรมเพื่อช่วยให้คนไทยมีวินัยทางการเงิน บริหารหนี้ที่เป็นอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด"

เมื่อมีแรงผลักดันเช่นนี้ โกศล จึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำที่ทำอยู่ แล้วก่อตั้งบริษัททำฟินสตรีท สร้างปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ขึ้นมา เพื่อใช้เป็นสมองกลในการให้คำปรึกษาแบบถามตอบอัตโนมัติ หรือแชตบอต

โกศล มองว่า แม้ในโลกนี้จะเคยมีแชตบอตที่ เกี่ยวกับการเงินเกิดขึ้นแล้ว ฟินสตรีทไม่ใช่แชตบอตแก้ปัญหาด้านการเงินตัวแรกในโลก แต่ก็เป็นแชตบอตทางฝั่งภูมิภาคเอเชียตัวแรกๆ ที่ทำขึ้นมาเพื่อติดตามแก้ปัญหาการบริหารจัดการหนี้

การเป็นหนี้นั้น ก็เหมือนเป็นปัญหาทางบัญชี เป็นปัญหาของคนที่ไม่มีเงินในบัญชี ดังนั้นจึงมองว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะทำให้คนรู้ว่าควรจะใช้จ่ายกับเงินที่ตัวเองไม่ได้มีอยู่อย่างไร เพราะพฤติกรรมการใช้จ่ายนี้จะนำไปสู่การให้เครดิตในอนาคต

โกศล ขยายความเพิ่มเติมว่า โดยปกติแล้วเวลาประเมินเครดิตของคน ก็จะมองจากเงินที่มีในบัญชี แต่สำหรับคนที่เป็นหนี้ สิ่งสำคัญมากที่จะสะท้อนเครดิตของคนคนนั้น ก็คือการบริหารจัดการหนี้ การมีวินัยทางการเงิน ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อคนเป็นหนี้เองในภายหลัง

กลุ่มหลักๆ ที่โกศลมองว่ามีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการหนี้ให้ฟินสตรีทเข้าไปช่วยแก้ไขได้ ก็คือ มนุษย์เงินเดือน กลุ่มคนที่เพิ่งเริ่มเข้าสู่การทำงาน เพราะคนเหล่านี้มักจะเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ธนาคารพาณิชย์ดึงดูดให้เป็นหนี้ เนื่องจากมองว่าเป็นกลุ่มที่มีรายได้มั่นคง มีเงินได้ทุกเดือน ดังนั้นก็จะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ถูกนำเสนอให้ทำบัตรเครดิต และเมื่อกลุ่มคนเหล่านี้เข้าสู่วงจรเป็นหนี้บัตรเครดิต ก็จะมีปัญหาเกิดขึ้น

สิ่งที่โกศลสัมผัสได้จากการเข้ามาทำฟินสตรีท ก็คือ คนอายุ 25-35 ปี เป็นหนี้จริงจัง และมีแนวโน้มที่คนรุ่นใหม่จะเป็นหนี้ไวขึ้น เป็นผลจากไลฟ์สไตล์ที่เอื้อต่อการเป็นหนี้เร็วขึ้น โกศล มองว่า คนที่อายุ 30-35 ปี ไม่ควรจะเป็นหนี้ที่ไม่สร้างมูลค่าแล้ว ยกเว้นการเป็นหนี้บ้านที่มีมูลค่าเพิ่ม ที่ไม่นับว่าเป็นปัญหา หากจะมีหนี้ที่ไม่สร้างมูลค่า เช่น หนี้บัตรเครดิต เหล่านี้ก็ควรเป็นแค่ช่วงแรกๆ ที่ทำงาน เพราะความจำเป็น

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เป็นหนี้ไม่ดี ไม่สร้างมูลค่านั้น โกศล มองว่า ปัจจัยสำคัญมาจากการจัดการเงินที่ไม่ค่อยดีนัก เช่น บางคนได้เงินมาแล้วแทนที่จะนำไปโปะหนี้บ้านก่อน กลับนำเงินไปซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) ซึ่งการซื้อนั้นไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดี เพียงแต่ถ้านำเงินก้อนที่ได้ไปใช้หนี้บ้าน อาจจะได้ประโยชน์มากกว่าการนำไปซื้อแอลทีเอฟเพียงเพื่อหวังผลลดหย่อนภาษี เพราะคนที่ได้ลดหย่อนภาษีจากแอลทีเอฟมากๆ ก็คือคนรวย แต่คนส่วนใหญ่มีฐานภาษีแค่ 5% เท่านั้น จึงไม่ได้ประโยชน์มากเท่าที่คิด

อีกสิ่งที่คนมักไม่รู้ ก็คือ เราสามารถลดภาระดอกเบี้ยบ้านได้ด้วยการรีไฟแนนซ์ เพราะโดยปกติธนาคารพาณิชย์มักจะมีโปรโมชั่นนำเสนอดอกเบี้ยราคาถูก 2-3% ในช่วง 3 ปีแรกของการกู้ จากนั้นก็จะให้ดอกเบี้ยลอยตัวตามอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (เอ็มแอลอาร์) หรืออัตราดอกเบี้ยลูกค้า รายย่อยชั้นดี (เอ็มอาร์อาร์) ปัจจุบันก็ประมาณ 6-7% ดังนั้น ในฝั่งผู้บริโภคอย่างเราสามารถลดภาระดอกเบี้ยบ้านได้ หากเลือกใช้วิธีรีไฟแนนซ์ ย้ายจากการเป็นหนี้ธนาคารเดิม ไปเป็นหนี้ธนาคารแห่งใหม่แทน

โกศล กล่าวให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า สมมติกู้เงินซื้อบ้านราคา 3 ล้านบาท ถ้าเลือกใช้วิธีรีไฟแนนซ์ อาจจะลดภาระหนี้ได้ถึง 1 ล้านบาทก็ได้ จากภาระดอกเบี้ยที่ลดลง

เมื่อถามโกศลกลับว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นได้อะไร โกศล ตอบอย่างสบายใจว่า ฟินสตรีมอาจจะได้ค่าตอบแทนเล็กๆ น้อยๆ จากการที่มีลูกค้าตัดสินใจรีไฟแนนซ์จากธนาคารหนึ่งไปอยู่กับอีกธนาคารหลังจากมาพูดคุยกับแชตบอตของฟินสตรีท แต่สิ่งที่ฟินสตรีทจะได้หลักๆ ที่จริงแล้วมาจากฐานข้อมูลมหาศาลจากการพูดคุย เมื่อมีลูกค้าเข้ามาพูดคุยด้วยมากขึ้น ฐานข้อมูลก็จะยิ่งมีขนาดใหญ่ ข้อมูลเหล่านี้นำไปใช้สร้างเอไอเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องหนี้ได้

"ทุกครั้งที่มีคนเข้ามาพูดคุยกับเอไอ ก็จะเหมือนสมองที่เรียนรู้มากขึ้น ฉลาดขึ้น ซึ่งเอไอเป็นสมองที่สร้างซ้ำขึ้นมาได้หลายตัว โดยการสร้างเอไอตัวใหม่อาจไม่ได้ต้องการความรู้ในสมองที่มีอยู่ 100% ก็ได้ แต่อาจต้องการแค่สมองบางส่วนไปประยุกต์ใช้ได้ ไม่เพียงเท่านี้เอไอ คือสมองที่ไม่ได้มีข้อจำกัดเรื่องภาษา เพราะภาษาก็เป็นเหมือนเรื่องใหม่อย่างหนึ่งให้สมองเรียนรู้ แปลว่าเราสามารถพัฒนาสมองนี้ให้ใช้ภาษาอื่น เพื่อไปเจาะตลาดประเทศอื่นก็ได้"

โกศล ระบุว่า จากการทำฟินสตรีท ก็มีนักลงทุนสนใจเข้ามาร่วมทุนด้วยบ้างแล้ว เช่นที่ผ่านมาก็มีบริษัท โมเดอร์นฟอร์ม กรุ๊ป ที่มาลงทุนด้วย และมีนักลงทุนที่ไม่ขอเปิดเผยชื่ออีก 2-3 ราย

สิ่งที่โกศลคาดหวังว่าทำได้หลังจากนี้ ก็คือ อยากช่วยให้คนที่ไม่เคยกู้เงิน ไม่มีสิ่งที่ประเมินเครดิตของคนคนนั้นได้ แต่หากคนเหล่านั้นอยากซื้อบ้าน จะได้มีโอกาสในการเข้าถึงบริการการเงินได้ จากการใช้ข้อมูลในสังคมออนไลน์เป็นตัววัดเครดิต (โซเชียล เครดิต เรตติ้ง) เพราะหลายคนอาจจะไม่เคยมีข้อมูลอยู่ในบริษัท ข้อมูลเครดิต (เครดิตบูโร)

จะเห็นได้ว่า การจุดประกายเล็กๆ ให้ตัวเองแค่เพียงอยากแก้ปัญหาให้สังคม ก็ทำให้คนเราสามารถสร้างนวัตกรรมได้ และการเป็นฟันเฟืองหนึ่งเพื่อช่วยสังคม ก็อาจไม่จำเป็นต้องรอให้มีเงินมากมายมหาศาลจึงจะเริ่มลงมือทำ

เพียงแค่มีความคิด มีความตั้งใจจริง และลงมือทำ คุณก็เป็นฟันเฟืองเล็กๆ ที่จะช่วยให้สังคมดีขึ้นได้แล้ว และการสร้างธุรกิจก็ทำไปพร้อมกับการสร้างประโยชน์ให้สังคมได้ในเวลาเดียวกัน n