posttoday

เหมือนและต่างอย่างเหลือเชื่อ

31 ธันวาคม 2560

359 ปีก่อน ค.ศ.แคว้นฉินโปรโมทซางยางขึ้นบริหารบ้านเมือง ส่วนไกลออกไปอีกซีกโลกที่แคว้นมาซิโดเนียมีกษัตริย์ฟิลิปที่ 2 ขึ้นครองบัลลังก์

โดย...นิธิพันธ์ วิประวิทย์

359 ปีก่อน ค.ศ.แคว้นฉินโปรโมทซางยางขึ้นบริหารบ้านเมือง ส่วนไกลออกไปอีกซีกโลกที่แคว้นมาซิโดเนียมีกษัตริย์ฟิลิปที่ 2 ขึ้นครองบัลลังก์

ทั้งคู่เป็นนักปฏิรูปแคว้นคนสำคัญ คนหนึ่งสร้างรากฐานให้กับจิ๋นซีฮ่องเต้ อีกคนให้กับอเล็กซานเดอร์มหาราช

ทั้งซางยางและกษัตริย์ฟิลิปที่ 2 มีวิถีชีวิตคล้ายคลึงกันในช่วงขวบปีนั้นอย่างน่าประหลาดใจ

เวลานั้นดินแดนในอารยธรรมจีนและกรีกต่างแบ่งเป็นแว่นแคว้นย่อยๆ แต่ละแคว้นใช้วัฒนธรรมหลักร่วมกัน แต่ต่างก็มีความเป็นเอกเทศทางการปกครอง ขอเพียงแคว้นใดยังคงใช้วัฒนธรรมใหญ่เดียวกันก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมหลัก ขณะเดียวกันแต่ละแคว้นก็ยังคงต้องกระทบกระทั่งกัน ทุกแคว้นจึงต้องสร้างความเข้มแข็งของตนเอง มิเช่นนั้นอาจโดนรุกรานจนล่มสลาย

สถานการณ์แบบนี้ในทุกอารยธรรม ดูเหมือนจะรอก็แต่วันรวมเป็นหนึ่ง

ก่อนหน้าการปฏิรูปของซางยางกว่า 200 ปี แคว้นฉินเป็นเพียงแคว้นชายขอบ เป็นดินแดนบ้านป่าเมืองเถื่อน ไม่ได้มีอำนาจน่าเกรงขามแต่อย่างใด

ส่วนดินแดนของมาซิโดเนียซึ่งตั้งอยู่ริมขอบอารยธรรมกรีกก็ไม่ต่างกัน มาซิโดเนียเป็นดินแดนกันชนระหว่างใจกลางความศิวิไลซ์กับชนเผ่าอนารยะ

การปฏิรูปของซางยางเน้นกฎหมายเคร่งครัด โฟกัสที่การทหารและการเกษตรกรรม (ที่จริงแล้วคือเน้นที่การทหารอย่างเดียวก็ว่าได้ เพราะเกษตรกรรมที่ซางยางส่งเสริม ก็เป็นไปเพื่อมีเสบียงไว้ทำศึก ไม่ใช่เพื่อประชาชนอยู่ดีกินดี) นโยบายของซางยางปฏิเสธการค้าขายเห็นเป็นธุรกรรมไร้สาระ และปฏิเสธยศถาบรรดาศักดิ์ของคนไม่มีผลงาน รวมถึงสำนักคิดที่พูดถึงแต่โลกอุดมคติก็เช่นกัน ซางยางต้องการให้กำจัดให้สิ้น ซางยางรีดทรัพยากรทุกด้านเพื่อการทหาร

กษัตริย์ฟิลิปที่ 2 ก็เป็นกษัตริย์นักรบ พระองค์รู้ว่าในยุคที่บ้านเมืองแตกแยกกระทบกระทั่ง จะยิ่งใหญ่ได้ก็ด้วยการพัฒนาด้านการทหาร พระองค์เน้นกองกำลังเข้มแข็ง อาวุธทันสมัย นวัตกรรมสมัยพระองค์มีทั้งทวนยาวพิเศษ หน้าไม้ซึ่งยิงได้ในระยะไกลขึ้น และรูปแบบกองกำลังที่นำทหารราบมาร่วมกับทหารม้าทำให้กองทัพของพระองค์เกรียงไกร ฟังดูแล้วก็ไม่ต่างกับกองทัพฉิน

ใครเคยเห็นอาวุธที่ค้นพบจากสุสานทหารดินเผาราชวงศ์ฉินย่อมรู้ว่ามีส่วนคล้ายกัน

พระองค์ใช้เวลากว่า 20 ปีในการปฏิรูปบ้านเมืองให้เข้มแข็ง เช่นเดียวกับซางยาง

จะว่าไปในยุคนั้นหากไม่ทำให้แคว้นมีการทหารเข้มแข็ง ก็มีแต่จะรอแคว้นอื่นมาล้มล้างรังแก นโยบายของซางยางตอนนั้นจึงสุดกู่ ซางยางเห็นว่าประชาชนไม่ต้องเรียนรู้ปรัชญา ธรรมเนียม พิธีกรรมอะไรทั้งสิ้น ขอแค่ทำนากับเป็นทหารให้กับแคว้นเป็นอันใช้ได้ ในแง่ดีคือซางยางล้างบางความฟอนเฟะ ไร้ประสิทธิภาพเก่าๆ ในแง่ร้ายคือซางยางสนับสนุนการรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ ไม่ให้ค่าขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมโบร่ำโบราณ ไม่เห็นหัวชาวบ้าน ไม่เห็นหัวขุนนาง ไม่เห็นหัวใครทั้งสิ้น ซางยางยกให้ผลประโยชน์ทางการทหารของแคว้นสำคัญที่สุด

ผลสัมฤทธิ์ของการปฏิรูปมีให้เห็นในช่วงชีวิตของซางยาง 338 ปีก่อน ค.ศ. คือปีที่ซางยางโดนสังหาร ปีนั้นแคว้นฉินรบชนะแคว้นเว่ยในศึกใหญ่ นับจากนั้นแคว้นฉินก็รุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ

เราสามารถนับได้ว่าการตายของซางยางคือจุดเริ่มพุ่งทะยานของแคว้นฉิน เมื่อแคว้นฉินไม่มีอะไรต้องลังเล เสี้ยนหนามและความไม่ลงรอยกันในมุ้งแคว้นฉินหมดไป ก็เหลือเพียงมุ่งไปสู่นโยบายที่ซางยางวางรากฐานไว้โดยไม่วอกแวก

338 ปีก่อน ค.ศ. ปีเดียวกันนั้นเอง ฟิลิปที่ 2 แห่งมาเซโดเนีย สามารถรบชนะกองทัพพันธมิตรของกรีก กลายเป็นจุดปักหมุดที่บ่งบอกว่าแคว้นมาซิโดเนียคือแคว้นที่จะขึ้นมามีอำนาจสูงสุดแห่งคาบสมุทรบอลข่าน

คือปีเริ่มต้นของความยิ่งใหญ่เช่นกัน ที่ปูทางไปสู่ภารกิจการยึดเปอร์เซียที่กษัตริย์ฟิลิปที่ 2 ฝันใฝ่เอาไว้

น่าเสียดายกษัตริย์ฟิลิปถูกองครักษ์ลอบสังหารกลางงานแต่งงานของลูกสาวพระองค์ ปมสังหารของ กษัตริย์ฟิลิปยังคงเป็นปริศนา เนื่องจากผู้ลอบฆ่าก็ถูกสังหารทันทีในที่เกิดเหตุ ข้อสรุปของนักประวัติศาสตร์จำนวนหนึ่งพุ่งเป้าไปที่เรื่องส่วนตัว กษัตริย์ฟิลิป จึงมีชีวิตอยู่ยืนยาวกว่าซางยางเพียง 2 ปีเท่านั้น และทั้งคู่ล้วนต้องตายเพราะความโกรธแค้นของคนใกล้ตัว

แม้อยู่คนละซีกโลก แต่ขึ้นบริหารบ้านเมืองปีเดียวกัน ใช้ระยะเวลาปฏิรูปบ้านเมืองให้สำเร็จพอๆ กัน ด้วยนโยบายคล้ายกัน อีกทั้งตายด้วยการล้างแค้นในระยะเวลาต่างกันแค่สองปี

ที่สำคัญ ทั้งคู่คือผู้วางรากฐานแห่งการรวมแผ่นดินเป็นหนึ่ง ที่ซางยางวางไว้บรรลุได้โดยจิ๋นซีฮ่องเต้ ฮ่องเต้องค์แรกแห่งประวัติศาสตร์จีน ส่วนรากฐานที่กษัตริย์ฟิลิปที่ 2 สร้างไว้ถูกสานต่อโดยลูกชายของพระองค์ - พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ผู้สร้างอาณาจักรอันยิ่งใหญ่และกว้างใหญ่ที่สุดแห่งโลกยุคโบราณที่เรารู้จักกันดี

ทั้งแคว้นฉินและแคว้นมาซิโดเนีย คือตัวอย่างของยุคที่แคว้นมหาอำนาจทางการทหารยึดครองแคว้นที่มีวัฒนธรรมนำหน้า แคว้นชายขอบเอาชนะศูนย์กลางอารยธรรม เพื่อรวมแผ่นดินให้เป็นหนึ่งเดียว

เรื่องราวที่เกิดคู่ขนาน เหมือนจะทำให้เรารู้ว่าสถานการณ์เช่นนี้คือประวัติศาสตร์ภาคบังคับที่หลายอารยธรรมต้องก้าวผ่าน แต่น่าสนใจที่ว่าทั้งสองก้าวผ่านในเวลาขวบปีเดียวกัน โดยคนประเภทเดียวกัน อย่างกับสองคนนี้นัดกันมาสร้างรากฐานให้กับความ ยิ่งใหญ่ในคนละซีกโลก

จะว่าไปการเฝ้าสังเกตขวบปีของประวัติศาสตร์ก็สนุกและประหลาดที่ตรงนี้

และยังมีสิ่งที่น่าสนุกแกมรันทดอยู่อีกแบบ เช่น สถานการณ์ที่เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์สองเหตุการณ์ในปีเดียวกัน ดูมีความต่างกันราวฟ้ากับเหวอย่างน่าขนลุก

อีกสองพันกว่าปีต่อมา ในปี ค.ศ. 1905 เมื่อนำสถานการณ์ของสองซีกโลกมาเปรียบเทียบกันอีกครั้ง ในยุคที่การแข่งขันของบ้านเมือง ต้องมีทั้งด้านการทหาร เทคโนโลยีและการศึกษา ไม่น่าเชื่อว่าขณะที่ด้านหนึ่งเพิ่งยกเลิกระบบสอบจิ้นซื่อ (ไทยติดปากว่าสอบจอหงวน) - การสอบที่ได้ชื่อว่าทำให้จีนล้าหลัง ด้อยพัฒนา เป็นปีเดียวกันกับที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กำลังเสนอทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคพิเศษแก่วงการวิทยาศาสตร์โลก

การดูขวบปีโดยดูหลายอารยธรรมขนานกันไป ด้วยกัน มันน่าสนุกและสะท้อนใจตรงนี้นี่เอง

สุขสันต์วันส่งท้ายปีเก่า วันนี้เราหันดูอารยธรรมข้างเคียงกันหรือยังครับ n