posttoday

จดจำแววตาของพวกเขาไว้

17 ธันวาคม 2560

ผลงานจิตรกรรม วาดเส้น เซรามิก และจัดวาง ในชื่อนิทรรศการ “แรงงานเพื่อชาติใคร” ศิลปิน

โดย มัลลิกา นามสง่า

ผลงานจิตรกรรม วาดเส้น เซรามิก และจัดวาง ในชื่อนิทรรศการ “แรงงานเพื่อชาติใคร” ศิลปินผู้สร้างสรรค์ คือ “ผศ.ดร.ศุภชัย อารีรุ่งเรือง” ได้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับ “แรงงานต่างชาติ” และลึกลงไปถึงความเป็น “มนุษย์”

เหตุเกิดจากเช้าตรู่วันหนึ่งบนถนนรัชดามุ่งหน้าสู่อโศก ระหว่างที่การจราจรติดขัด สายตาเขาเหลือบไปสบกับแววตาคนงานก่อสร้าง ซึ่งมองปราดเดียวก็สามารถแยกสัญชาติออกได้ว่าเป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน

สิ่งที่สะท้อนกลับมาในห้วงความคิด คือ พวกเขาเป็นมนุษย์เช่นกัน หากแต่ในบางขณะ และในทัศนคติของอีกหลายคนมองพวกเขาอย่างดูหมิ่น ขีดเส้นวรรณะ แบ่งแยกคุณค่า

จดจำแววตาของพวกเขาไว้

ก่อนหน้านี้ศิลปินสร้างงานแนวจิตรกรรมไทยมานานหลายสิบปี นำเสนอเรื่องราวความเชื่อ ศาสนา เทวดา พระพุทธเจ้า เทวดาอารักษ์ ซึ่งเขาไม่เคยพบ

“ที่สนใจเรื่องนี้ เริ่มจากผมเห็นทุกๆ เช้า พวกเขาอยู่ในภาพประจำวัน กรุงเทพฯ มีไซต์ก่อสร้างคอนโดเยอะ เห็นคนงานมาแต่เช้านั่งบนรถสองแถวใหญ่ๆ บางคนเป็นวัยรุ่น ก็คิดไปว่าเขาคิดอะไรอยู่นะ อีกอย่างผมจบด้านศิลปะไทย ผมมีคำถามในใจสิ่งเหล่านั้นที่ผมวาดมาไม่เคยเห็นเลย แต่ผมเห็นมนุษย์ด้วยกันในชีวิตประจำวัน ก็เลยอยากทำงานที่สะท้อนชีวิตมนุษย์ โดยให้คุณค่าเท่าเทียมกัน เห็นคุณค่าของกัน

เรามีแรงงานต่างชาติเข้ามา ในขณะเดียวกันเราก็ไปเป็นแรงงานที่ประเทศอื่น แต่สังคมไทยยังคงมองแรงงานข้ามชาติด้านลบ ผมจึงอยากจะสะท้อนที่คนไม่ได้มองเขามีตัวตน แต่เขามีคุณค่า เขามีทักษะในงานที่ทำ มีความรับผิดชอบ”

ผศ.ดร.ศุภชัย สร้างงานด้วยแนวคิดแรงงานข้ามชาติต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และได้จัดแสดงงานทุกๆ ปี

จดจำแววตาของพวกเขาไว้

“ปีแรก 2557 ผมตีความ มองตัวผมเป็นแรงงานเช่นเดียวกัน ผมมองว่าแรงงานเข้ามาคนไทยบางคนไม่ได้มองเห็นหัวเขา เลือกใช้สัญลักษณ์แมลง แล้วแมลงอะไรที่อยู่ใกล้ตัวแต่เราไม่เห็นคุณค่า ก็นึกถึงแมลงวัน ไปศึกษาวงจรชีวิตแมลงวัน เจาะกลุ่มแรงงานกลุ่มกัมพูชา ใช้สัญลักษณ์ศิลปะกัมพูชามาร่วมด้วย อย่างเศียรพระเจ้าชัยวรมัน

พอมาชุดที่ 2 ใช้คนเป็นสื่อ ตีความในชีวิตเขามีอะไร เขามีหมวก มีกระติกน้ำ ถุงกับข้าว ที่ถือติดตัวมาทำงานทุกวัน เอา 3 สิ่งมาเล่นกับงาน ใช้วัสดุจริง

ในช่วง 2 ปีแรกเป็นงานวิจัยสร้างสรรค์ แต่ปีที่ 3 ผมลงข้อมูลเชิงลึกไปคุยกับแรงงานกัมพูชาจริง เอาสิ่งเหล่านั้นมาเป็นเนื้อหาในการอธิบายโครงการ

จดจำแววตาของพวกเขาไว้

งานในปีที่ 3 เอาหมวกจริงมาพัฒนาเป็นเซรามิก ใช้ในงานจัดวางเพื่อให้งานใกล้ชิดกระทบกับคนดูให้มากที่สุด จัดวางหมวกเป็นผังสี่เหลี่ยม วางเหมือนตารางหมากรุก และผมใช้ถุงข้าวแกงใส่น้ำวางล้อมอีกที เหมือนบ่อน้ำของเขมร ที่เป็นแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ก็แทนค่าตรงนี้ มาสู่การวางเรียงกรอบกำแพงหมวกที่ผมวางเหมือนศาสนสถานของเขา”

ส่วนงานเพนติ้งเป็นหมึกจีนบนกระดาษสา ลายเส้นลดทอนภาพคนลง และเน้นแววตาสามเหลี่ยม ที่ศิลปินสร้างเป็นคาแรกเตอร์ให้แรงงานกัมพูชา

“รายละเอียดน้อย แต่ใช้สัญลักษณ์ที่จำเป็นต่อชีวิตเขา อย่างหมวก ถุงอาหาร กระติกน้ำ และผมใช้ดวงตาสามเหลี่ยมมาเป็นคาแรกเตอร์ เพราะผมมองว่าในการจดจำ ภาพจำของคนจะจดจำที่ดวงตา แววตา ผมอยากให้คนที่มาชมงานได้จดจำแววตาของพวกเขา”

จดจำแววตาของพวกเขาไว้

งานในปีแรกยังมีกลิ่นอายจิตรกรรมไทยที่ศิลปินถนัด แต่ในที่สุดการสร้างงานที่เรียบง่ายนั้นสามารถสื่อสิ่งที่เขาต้องการจะบอกได้ชัดเจนกว่า

“ผมเริ่มเบื่อความสวย ซึ่งความสวยไม่ได้ช่วยอธิบาย อีกอย่างไม่อยากให้คนติดกับความสวยจนลืมความหมายที่ผมต้องการสื่อสาร ปีที่ 2 ใช้เทคนิค Pyrography ใช้เหล็กที่มีความร้อนจี้บนแผ่นไม้ให้เกิดลายเส้น ปีที่ 3 กระดาษสาผมต้องการคืนสู่ธรรมชาติ ความเรียบง่าย”

ผศ.ดร.ศุภชัย ยังมีความสนใจและสนุกกับการสร้างงานในแนวคิดแรงงานข้ามชาติอยู่ เป็นไปได้ว่าในปีหน้าจะได้ชมงานศิลปะหากประเด็นจะลุ่มลึกขึ้นอีกเรื่อยๆ

นิทรรศการ แรงงานเพื่อชาติใคร จัดแสดงวันที่ 20 ธ.ค. 2560-17 ม.ค. 2561 ณ ห้องนิทรรศการ 3 ชั้น 2 หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย