posttoday

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ในนามของคนรักธรรมชาติ

17 ธันวาคม 2560

หนึ่งพลังด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติของประเทศไทย คือ พลังแห่งเรื่องราวและภาพถ่ายของ “พี่จอบ” วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

โดย กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย  ภาพ ไม่เครดิต

หนึ่งพลังด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติของประเทศไทย คือ พลังแห่งเรื่องราวและภาพถ่ายของ “พี่จอบ” วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เจ้าของนามปากกา วันชัย ตัน นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและอดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี และเจ้าของผลงานล่าสุดเรื่อง Wild Side ในนามของธรรมชาติ กับเรื่องราวที่เป็นดังกระบอกเสียงของสัตว์ป่าและธรรมชาติอย่างการจากไปของปลากระเบนราหู การเสี่ยงสูญพันธุ์ของนกแห่งสรวงสรรค์ ผลกระทบจากไส้กรอกที่ส่งผลถึงต้นไม้ ชีวิตของนักอนุรักษ์ป่า ไปจนถึงวีรกรรมของผู้ที่ต่อสู้เพื่อธรรมชาติด้วยชีวิต

พี่จอบเริ่มหลงใหลป่าไม้และสัตว์ป่าจากการเขียนสารคดี และเข้มข้นเรื่องการอนุรักษ์เมื่อได้ทำงานร่วมกับ “พี่สืบ” นาคะเสถียร จนกระทั่งวันนี้เป็นเวลานานกว่า 30 ปี เขายังเดินทางตามวิถีและยังคงเป็นพลังที่ผลักดันให้เกิดแรงกระเพื่อมในสังคม

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ในนามของคนรักธรรมชาติ

นักสารคดี

พี่จอบเล่าว่า เนื่องมาจากการทำงานในนิตยสาร “สารคดี” ทำให้เขามีโอกาสออกเดินทางและสำรวจผืนป่าทั่วประเทศไทยตั้งแต่ปี 2528 จึงได้เห็นธรรมชาติที่ค่อยๆ หายไป ในขณะเดียวกันก็เห็นถึงความสวยงามของธรรมชาติอีกมากมายที่คนไทยยังมองไม่เห็น

“ปี 2528 ได้ไปทำสารคดีสัตว์ป่าเรื่องแรกคือ ค้างคาวกิตติทองลงยา สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก ซึ่งการเดินทางก็ยากมากเพราะนั่งเรือหางยาวลึกเข้าไปในป่าไทรโยค เดินเข้าไปในป่า และปีนภูเขาเข้าไปในถ้ำซ้อนถ้ำ เพื่อจะไปถ่ายค้างคาวตัวเล็กนิดเดียวอยู่อาทิตย์หนึ่ง ซึ่งในถ้ำไม่มีน้ำก็ต้องปีนลงมาที่ตาน้ำ กรอกน้ำใส่ไม้ไผ่แล้วแบกขึ้นไป เวลาหุงข้าวก็หุงในกระบอกไม้ไผ่นี่แหละ หอมดี พอตกกลางคืนก็ต้องเดินเข้าไปในซอกลึก และคอยจุดคบเพลิงดูว่าจุดติดไหมเพื่อเช็กออกซิเจน

ส่วนการถ่ายภาพเราก็ต้องคิดเครื่องมือขึ้นมาเพราะค้างคาวมันบินเร็วมาก สมัยนั้นกล้องยังไม่มีเทคโนโลยีดีเท่าสมัยนี้ก็ต้องติดกล้องอินฟราเรด คือเมื่อค้างคาวบินผ่านแสงอินฟราเรด ชัตเตอร์จะลั่นไกอัตโนมัติ ครั้งนั้นเราใช้ชีวิตในป่าสลับกับการทำงานอยู่แบบนี้ห้าหกคืน พอถึงวันสุดท้ายชาวบ้านที่นำทางเข้าไปเพิ่งมาบอกว่า ถ้ำนี้มีเจ้าของ เป็นถ้ำหมีควาย แต่โชคดีเจ้าของยังไม่มา (หัวเราะ)

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ในนามของคนรักธรรมชาติ

สรุปครั้งนั้นไปกันห้าคน กลับมาเป็นไข้มาลาเรียสี่คน เหลือผมคนเดียวที่ไม่เป็น ซึ่งเป็นครั้งแรกที่คนไทยได้เห็นภาพสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก ตัวเท่าผีเสื้อ เป็นการเปิดโลกธรรมชาติให้กับคนไทยในเวลานั้น และส่วนตัวผมก็ทำให้ค่อยๆ ชื่นชมและเห็นถึงปัญหาของสิ่งแวดล้อม การเดินทางครั้งนั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ได้เดินทางไปทำสารคดีธรรมชาติทั่วประเทศไทย”

จากนั้นในปี 2529 เขาได้ถูกมอบหมายให้ไปทำสารคดีอพยพสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลาน จ.สุราษฎร์ธานี เพราะขณะนั้นมีการสร้างเขื่อน ทำให้พื้นที่ป่าถูกเปลี่ยนเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดมหึมา พวกมันจึงต้องหนีขึ้นไปอยู่ตามยอดเขาซึ่งแปรเปลี่ยนเป็นเกาะกลางน้ำและตามกิ่งไม้สูง ภายใต้การทำงานของหัวหน้าพนักงานป่าไม้ กรมป่าไม้ ชื่อ สืบ นาคะเสถียร

“พี่สืบมารับผมที่สถานีรถไฟแล้วนั่งรถต่อไปด้วยกัน นับเป็นเจ็ดวันที่รู้จักกันและทำให้ผมเรียนรู้การอพยพสัตว์ป่าและการช่วยชีวิตสัตว์ป่ามากมาย อย่างเช่นมีตอนหนึ่ง ขณะนั่งเรือหางยาวขนาดใหญ่เข้าไประหว่างทางได้เจอกับค้างคาวสภาพผอมแห้งเหมือนใกล้ตายเกาะอยู่บนกิ่งไม้บนเกาะที่ล้อมรอบไปด้วยน้ำ เราต้องใช้เรือชนต้นไม้และทำเสียงดังให้มันตกใจและกระโดดลงมา แล้วค่อยว่ายน้ำไปอุ้มมันขึ้นเรือ

เราทำภารกิจแบบนี้คือมองหาสัตว์ป่าที่หนีไปไหนไม่ได้ จนกระทั่งวันหนึ่งขณะที่ผูกเรือกับต้นไม้กลางน้ำเพื่อกินข้าวกลางวัน เพื่อนเหลือบไปเห็นโพรงไม้ในต้นไม้มีเงาดำๆ เคลื่อนไหวอยู่ สักพักก็มีงูสีดำขนาดยาวกว่าเรือพุ่งลงมาจากโพรงไม้ลงสู่ผืนน้ำข้างลำเรือ มันคืองูจงอางยาว 3 เมตร ไอ้เรากำลังรู้สึกโชคดีที่งูไม่ทำอันตราย แต่พี่สืบบอกว่า เราต้องไปช่วยมันเพราะมันคงว่ายไปไม่ถึงฝั่งและคงตาย คนในเรือก็มองตากันปริบๆ เพราะถ้าถูกกัดคงตายสถานเดียว กว่าจะแล่นไปถึงฝั่งก็สามชั่วโมง และจากฝั่งนั่งรถไปโรงพยาบาลอีกก็อีกห้าชั่วโมง แต่สุดท้ายเราก็ไปเทียบเรือข้างงู แล้วเอาสวิงใหญ่ช้อนงูขึ้นมาวางไว้บนเรือ ทุกคนก็มองหน้ากันเลิ่กลั่ก ใครจะเป็นคนจับงูใส่กระสอบ ปรากฏว่าพี่สืบเดินไปจับคองูขึ้นมา แล้วเอาเขี้ยวมันกดลงกับกราบเรือเพื่อให้มันพ่นพิษสีเหลืองอ๋อยทิ้งลงไปในน้ำ เสร็จแล้วก็จับใส่กระสอบมัดปากถุง

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ในนามของคนรักธรรมชาติ

ผมเดินไปบอกพี่สืบว่า “พี่เป็นเซียนจับงู” แต่พี่สืบกลับตอบว่า “นี่ก็เพิ่งเคยจับงูเป็นครั้งแรกในชีวิต” เหตุการณ์นั้นทำให้เราเห็นว่า แกเป็นหัวหน้าที่ดีของลูกน้อง เพราะอะไรที่เป็นอันตรายแกจะทำเอง ทำก่อน ไม่เคยให้ลูกน้องทำแทน เพราะแกห่วงสวัสดิภาพของพนักงานป่าไม้มาก ผมยังได้เห็นความทุ่มเทของแกในการที่จะช่วยชีวิตสัตว์ป่า การอนุรักษ์ธรรมชาติ และได้รู้จักแกมานานสองสามปีจนกระทั่งเหตุการณ์การฆ่าตัวตาย”

หลังจากเหตุการณ์วันที่ 1 ก.ย. 2533 พี่จอบได้เขียนหนังสือเรื่อง ชีวิตและความตายของ สืบ นาคะเสถียร และมีส่วนในการก่อตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในปี 2533 พร้อมกับเป็นเลขานุการมูลนิธิมานาน 8 ปี นอกจากนี้ ทุกงานสารคดี บทความ หรือข่าวที่เขาเขียนก็ล้วนแต่เป็นเรื่องราวสะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น รวมถึงเป็นตัวตั้งตัวตีในการก่อตั้งชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมด้วย โดยพี่จอบทำงานที่นิตยสารสารคดีนาน 25 ปี เป็นบรรณาธิการนาน 20 ปี ก่อนจะเปลี่ยนมาทำงานโทรทัศน์จนถึงขณะนี้นาน 6 ปี

“ตลอดระยะเวลา 20 กว่าปีที่ทำงานสารคดีมันสร้างโอกาสให้ผมได้ไปทุกจังหวัดในประเทศไทย เพราะในฐานะคนทำสารคดี วัตถุดิบที่ดีที่สุดในการเขียนคือ การลงพื้นที่ เพราะมันเป็นของใหม่ที่เราไปเจอ ไปเห็น ไปค้นคว้าด้วยตัวเอง มันจึงเป็นวัตถุดิบที่ดีที่สุด ซึ่งในเวลานั้นยังมีคนทำสารคดีแบบลงพื้นที่จริงไม่เยอะมาก มันเลยกลายเป็นสิ่งใหม่ เป็นความแปลกใหม่ในวงการนิตยสาร และเป็นสิ่งดีต่อเราที่ได้เห็นเป็นคนแรกๆ” เขากล่าวเพิ่มเติม

“นอกจากนี้ การออกไปสำรวจธรรมชาติด้วยตัวเองทำให้รู้เลยว่าโลกเรามันกว้าง ไม่ต้องไปเมืองนอกเมืองนา แค่ประเทศไทยก็กว้างมากแล้ว พอยิ่งเดินทาง มากๆ ก็ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองรู้น้อยลง และพอยิ่งเดินทาง ตัวเราก็ยิ่งเล็กลง เพราะโลกมันกว้างขึ้น ดังนั้นการแสวงหาความรู้ การแสวงหาข้อมูลมันไม่มีที่สิ้นสุด หรือการทำงานในป่าที่คนอื่นดูแล้วมันเหนื่อยยากหรือลำบาก แต่มันกลับกลายเป็นความชอบจนทำให้ลืมความรู้สึกพวกนั้นไป”

นักอนุรักษ์

เมื่อ 2 ปีก่อนพี่จอบถ่ายภาพภูเขาหัวโล้นไกลสุดลูกหูลูกตาในพื้นที่ จ.น่าน ลงโซเชียลมีเดีย และเขียนบรรยายสรุปได้ว่า “สาเหตุของการที่ป่าต้นน้ำถูกทำลาย ไม่ได้มาจากคำพูดที่บอกว่า ชาวเขาทำลายป่า หรือจุดไฟป่าล่าสัตว์ แต่มาจากพืชเกษตรสมัยใหม่ซึ่งก็คือ ข้าวโพด ที่ทำให้เกิดการถางป่าและทำให้ป่าต้นน้ำถูกทำลาย”

ปรากฏว่าโพสต์นั้นมีคนเห็นประมาณ 6 แสนคน และกลายเป็นข่าวใหญ่โตอิงถึงบริษัทเกษตรยักษ์ใหญ่ว่ามีส่วนในการทำลายป่า จนบริษัทเกษตรนั้นประกาศออกประกาศจะไม่รับซื้อข้าวโพดจากพื้นที่ทำลาย
ป่าต้นน้ำ จนถึงปัจจุบันประเด็นป่าเมืองน่านก็ยังเป็นที่จับตามองในสังคม

“ป่าเมืองน่านเคยได้ชื่อว่าเป็นสวิตเซอร์แลนด์ของประเทศไทย เพราะพื้นที่เมืองน่านประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ เป็นภูเขาและป่าอย่างดี แต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว พื้นที่เริ่มถูกเปลี่ยนเป็นไร่ข้าวโพดเพราะมีการส่งเสริม ด้วยความยากจนของชาวบ้านและความไม่รู้ทำให้ชาวบ้านบุกรุกป่าและปลูกข้าวโพด ซึ่งสุดท้ายชาวบ้านก็ยังยากจนเหมือนเดิม” เขาแสดงทัศนะ

“แต่วันนี้สถานการณ์ป่าเมืองน่านถือว่าดีขึ้น เพราะมีหลายหน่วยงานเข้าไปดูแลอย่างจริงจัง และต้นเหตุหลายอย่างก็ได้รับการฟื้นฟู ซึ่งเป็นผลมาจากการเกาะติดของภาคประชาสังคมและสื่อมวลชนถึงปัญหาการทำลายป่าเมืองน่าน แต่หากถามถึงการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุคงต้องกลับไปที่ความยากจน เพราะถ้ายังลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและยังแก้ปัญหาความยากจนไม่ได้ ปัญหาการทำลายทรัพยากรก็ยังคงติดตามมาเพราะพวกเขาไม่มีทางเลือก”

นอกจากนี้ เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ก่อตั้งกองทุนพิทักษ์ป่าเพื่อผู้พิทักษ์ป่า ลูกจ้างไร้สวัสดิการ เงินเดือนเดินทางช้า และอยู่ไกลปืนเที่ยง การตั้งกองทุนจึงเป็นการกระตุ้นหน่วยงานราชการให้เห็นถึงความสำคัญของคนเหล่านี้ ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันชีวิตของพวกเขาจะดีขึ้น แต่ก็ไม่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ในนามของคนรักธรรมชาติ

“ปีที่แล้ว (2559) ผมไปเดินป่ากับพวกเขาก็ยังเห็นอยู่ว่า ยังมีปัญหาความขาดแคลนอยู่เยอะมาก รวมถึงแนวคิดแบบข้าราชการที่ยังมีกรอบทำให้ทำงานได้ยาก ยกตัวอย่าง หากมีการใช้กระสุนซึ่งเป็นทรัพย์สินของราชการต้องเขียนรายการว่ายิงอะไร และยิงไปแล้วได้ผลอย่างไร รวมถึงเรื่องงบประมาณ อย่างเมื่อ 20 ปีก่อน ป่าห้วยขาแข้งมีพื้นที่ประมาณหนึ่งล้านสองแสนไร่ ใหญ่กว่ากรุงเทพมหานคร ได้งบไร่ละไม่ถึงบาท และมีผู้พิทักษ์ป่าประมาณสองพันคน คนหนึ่งดูแลเป็นแสนไร่ ถามว่าทำไมพวกเขาเหล่านี้ถึงยังทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ป่า เพราะเขามีใจรัก อยากปกป้องผืนป่าไทย แต่ถามว่าพอกินพอใช้ไหม ไม่มีทาง ถามว่าเสี่ยงไหม เสี่ยงมาก เพราะชีวิตในป่าคือไม่มีอะไรแน่นอน”

พี่จอบยังกล่าวต่อว่า ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในตอนนี้คือ ปัญหาโลกร้อน ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่มนุษย์ได้ทำลายธรรมชาติมาตลอดร้อยกว่าปี สะสมมาตั้งแต่วันแรกที่มนุษย์ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่อากาศ เผาป่า ตัดไม้ทำลายป่า วันนี้มันสะท้อนกลับมาเป็น “กรรม” ที่มนุษย์ทำกับธรรมชาติ ซึ่งถามว่า “จะแก้ได้ไหม” คงต้องตอบว่า “ยาก”

“ถ้าคุณหยุดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์วันนี้ มันอาจจะบรรเทาได้ แต่คงยากจะเยียวยาแล้ว ดังนั้นมันก็คงขึ้นอยู่กับว่า มนุษย์จะปรับตัวอย่างไร” 

นักเดินทาง

อีกหนึ่งบทบาทที่ติดตัวนักสารคดีและนักอนุรักษ์คนนี้ไปพร้อมกัน คือ นักเดินทาง ผู้กินง่าย อยู่ง่าย และสังเกตธรรมชาติระหว่างทางมิใช่แค่จุดหมายปลายทาง

“ธรรมชาติทำให้เป็นคนละเอียดอ่อน ถ้าเรารู้สึกกับมันจริงๆ ธรรมชาติสอนเราให้ช่างสังเกต ทำให้เราตั้งคำถามได้ตลอดเวลา และสนุกกับการหาคำตอบ ธรรมชาติทำให้เราเป็นคนอดทน ซึ่งมันดีสำหรับเด็กสมัยนี้ สมมติอยากดูกระทิง ก็ต้องไปนั่งซุ้มบังไพรเงียบๆ โดยไม่รู้หรอกว่ากระทิงจะมาเมื่อไร แต่เมื่อมันมา การรอคอยมันช่างคุ้มค่า และสอนให้เรารู้ว่าการรอคอยและความอดทนในการรอคอยมันคุ้มกับสิ่งที่ได้เห็น พอเห็นแล้วก็ซึมซับ และความปีติก็จะเกิดขึ้นในขณะนั้น” พี่จอบกล่าวต่อ

“การดูธรรมชาติทำให้เราเข้าใจอะไรบางอย่างในชีวิต มันไม่ใช่แค่ดูความสวยงาม แต่ถ้าเราครุ่นคิดกับมัน ธรรมชาติจะทำให้เราเข้าใจชีวิตมากขึ้น”

ถามทิ้งท้ายว่า แล้วคนในเมืองจะมีส่วนร่วมกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้อย่างไร พี่จอบตอบอย่างน่าสนใจว่า หากทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ก็จะเกิดความรับผิดชอบต่อการกระทำที่ทำให้เกิดปัญหานั้น ดังนั้นทุกคนจึงสามารถบรรเทาปัญหาของโลกใบนี้ได้ และไม่ใช่เรื่องไกลตัวเกินไป เพราะคุณคือมนุษย์ที่ใช้ทรัพยากรและเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ