posttoday

ขอออกแบบชีวิตตัวเอง อนุชิต ใจสุทธิ

10 ธันวาคม 2560

จะดีแค่ไหน หากเราสามารถออกแบบชีวิตตนเองได้ว่า อยากละทิ้งชีวิตต้องเผชิญกับรถติดในกรุงเทพมหา

โดย วราภรณ์

จะดีแค่ไหน หากเราสามารถออกแบบชีวิตตนเองได้ว่า อยากละทิ้งชีวิตต้องเผชิญกับรถติดในกรุงเทพมหานคร และกลับไปพลิกฟื้นที่ดินของครอบครัวให้กลายเป็นอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว แล้วยังสร้างรายได้ให้ชาวบ้านในพื้นถิ่นด้วยการนำความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมากลับไปพัฒนาทำเป็นโฮมสเตย์เล็กๆ ฝีมือ อนุชิต ใจสุทธิ ชายหนุ่มวัย 31 ปี เจ้าของปากคลอง โฮมสเตย์ จ.จันทบุรี ที่อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครราว 300 กิโลเมตร ในช่วงวันธรรมดาวันจันทร์ถึงวันพฤหัสบดี อนุชิตเลือกใช้ชีวิตเป็นคุณครูจิตอาสาสอนรักบี้ให้รุ่นน้องที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ควบคู่กับการบริหารรับจองบ้านพักของตัวเอง ส่วนสุดสัปดาห์เขาจะกลับมาบริหารโฮมสเตย์ของตนเอง เป็นการใช้ชีวิตแบบพอเพียงตามหลักทฤษฎีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่นำความสุขมาสู่ครอบครัวอย่างยั่งยืน

ทำตามความฝันกลับมาดูแลแม่

ขอออกแบบชีวิตตัวเอง อนุชิต ใจสุทธิ

อนุชิตเล่าว่า โฮมสเตย์จำนวน 10 ห้องปลูกรอบๆ บ่อน้ำกร่อยที่อดีตเคยใช้เลี้ยงกุ้ง แต่ปัจจุบันนำมาเลี้ยงปลา บนพื้นที่ 6 ไร่เศษของคุณแม่ (กิ่งดาว ใจสุทธิ) ซึ่งเป็นโครงการที่เขาคิดฝันไว้ว่าอยากกลับมาพัฒนาที่ดินของตัวเอง ทำมาได้เกือบ 2 ปีแล้ว โดยอนุชิตเป็นทั้งเจ้าของและบริหารจัดการเองทั้งหมด

“โฮมสเตย์ของผมอยู่ในหมู่บ้าน ผมพยายามสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน เสาร์อาทิตย์ผมจะมีนั่งร้านให้ชาวบ้านเอาพืชผักของตัวเองมาขายให้กับนักท่องเที่ยวหรือหากมีนักท่องเที่ยวมาพักผมจะจ้างชาวบ้านที่เป็นเจ้าของเรือให้พานักท่องเที่ยวล่องเรือชมป่าชายเลน ชาวบ้านก็จะมีรายเพิ่มด้วยการขยันและลงมือทำ โดยแนวคิดเริ่มแรกทั้งหมดผมได้มาจากในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง”

ขณะที่เขาคิดก่อร่างสร้างโฮมสเตย์อยู่นั้น เขายังทำเป็นครูสอนวิชาคณิตศาสตร์และกีฬาให้เด็กๆ ที่โรงเรียนวชิราวุธฯ แต่เขามองเห็นว่าพื้นที่นี้ที่เป็นของคุณแม่ที่มีอยู่ 6 ไร่ ไม่ได้ใช้ทำประโยชน์

“ตอนผมเด็กๆ แม่เคยทำบ่อกุ้งซึ่งดีมาก แม่จึงสามารถส่งผมเรียนโรงเรียนวชิราวุธฯ ได้ตั้งแต่ประถม 3 โดยอยู่ประจำ แต่ระยะหลังๆ ธุรกิจไม่ดีแม่จึงปล่อยเป็นพื้นที่ว่างเปล่ามา 20 ปีแล้วเพราะบ่อกุ้งไม่ทำกำไรให้เหมือนเดิม โดยผมไปเรียนกรุงเทพฯ อยู่แบบประจำและได้กลับบ้านช่วงหยุดยาวๆ ตอนนั้นก็คิดถึงบ้าน แต่ร้องไห้ไม่ได้ เพราะเดี๋ยวคนกรุงเทพฯ จะมองว่าเราอ่อนแอต่อหน้าเพื่อนผมก็ไม่ร้องไห้ พอเริ่มสนิทกับเพื่อนๆ ก็เริ่มมีความสุขไม่ได้กลับบ้านก็ไม่เป็นไร”

หลังจากบ่อกุ้งไม่เวิร์ก คุณแม่ของเขาก็ไม่ได้ทำอะไร แม่ออกไปรับจ้างคัดไซส์มังคุดที่สวนในอำเภอใกล้ๆ บ้าน ซึ่งเป็นงานที่หนักและเหนื่อยเกินไป อนุชิตจึงหันกลับมามองว่า พื้นที่ของแม่สามารถทำประโยชน์อะไรได้บ้าง เขาเริ่มมองไปที่ทฤษฎีเศษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 ให้เริ่มทำจากสิ่งเล็กๆ แล้วค่อยๆ ขยาย เขาจึงเริ่มพัฒนาที่ดินรกร้างของตนเองปรับพื้นที่บ่อ ปล่อยสัตว์น้ำในบ่อก่อน แล้วค่อยๆ ปรับดินเค็มที่ใช้เลี้ยงกุ้ง รอให้ดินจืดราว 1 ปี พร้อมๆ กับปลูกผักสวนครัวควบคู่ไป ปลูกเสร็จหากได้ผลผลิตมากกินไม่หมดภายในครัวเรือน ได้ผลผลิตพอกินแล้วให้แบ่งแจกจ่ายให้เพื่อนบ้านบ้าง ในขณะที่ปรับปรุงสภาพดินเขาลงทุนเปิดร้านอาหารเล็กๆ ในตัวเมืองจันทบุรีเพื่อเก็บเงินก้อนและให้รู้ระบบของการมีธุรกิจของตัวเอง พอบริหารร้านอาหารถึงจุดที่เจ้าของที่ไม่ให้เช่าร้าน เขาจึงนำเงินทุนที่ได้กลับมาค่อยๆ สร้างโฮมสเตย์เริ่มแรกจำนวน 6 หลัง โดยให้บริการอาหารครบ 3 มื้อ ซึ่งตรงตามจุดประสงค์หลักของการพัฒนาที่ดินตัวเองให้เกิดเป็นรายได้ เพราะเขาอยากให้แม่อยู่ในหมู่บ้านไม่ต้องออกไปทำงานนอกหมู่บ้านไกลๆ อีกแล้ว

สร้างโฮมสเตย์ด้วยเงินสด 3 ล้านบาท

ขอออกแบบชีวิตตัวเอง อนุชิต ใจสุทธิ

อนุชิต กล่าวว่า การจะพัฒนาคนพัฒนางานให้ชุมชนท้องถิ่น ต้องคิดให้ถ้วนถี่ รอบคอบและมีการวางแผนที่ดี ไม่กู้ ไม่ลงทุนเกินตัวเพื่อความไม่เครียด ค่อยๆ คิด ค่อยๆ ทำ เก็บออมและเพื่อให้เกิดความสุข ซึ่งเป็นหลักคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทั้งหมด

“เริ่มแรกผมเริ่มสร้างบ้านหลังเล็กๆ จำนวน 6 หลัง ด้วยเงินทุนประมาณ 3 ล้านที่เป็นเงินเย็นของผมกับแม่รวมกัน ค่อยๆ ลงทุนกับแฟนด้วย เราเริ่มลงทุนเมื่อปี พ.ศ. 2558 พอเริ่มได้กำไรเราก็สร้างต่อไปเรื่อยๆ จนมี 10 หลัง โดยการดีไซน์บ้านพักผมออกแบบเองให้มีกลิ่นอายโมเดิร์นแต่เรียบง่าย เห็นที่อื่นออกแบบให้มีเปลเอาไว้หน้าห้อง ประกอบกับเราเป็นหมู่บ้านชาวประมง ผมจึงนำตาข่ายดักปลามาทำเป็นเปลนอนนอกชาน ซึ่งลูกค้าชอบ”

เมื่อค่อยๆ คิด ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ สร้างจากเงินออม ทำอะไรแต่พอดีตัว จึงไม่ต้องกู้เงิน เกิดอิสระทางการเงินซึ่งส่งผลดีคือ อนุชิตเกิดความสุข ไม่ต้องเครียดเรื่องการส่งดอกเบี้ยให้ธนาคาร กินอยู่โดยยึดหลักพอมีพอกิน ก็สุขได้

แบ่งภาคทำงานอื่นๆ เพื่อ “ให้”

ขอออกแบบชีวิตตัวเอง อนุชิต ใจสุทธิ

นอกจากบริหารโฮมสเตย์จำนวน 10 หลังควบคู่กับการเลี้ยงปลาพันธุ์ต่างๆ ในบ่อและปลูกผักแล้ว เขายังแบ่งเวลาไปช่วยสอนที่วชิราวุธฯ เพื่อสำนึกตอบแทนในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 6 ที่ทรงก่อตั้งโรงเรียนมาให้เด็กๆ ได้เรียนหนังสือด้วยค่าเทอมที่ไม่แพงนัก

“ผมรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 6 มาโดยตลอด เพราะผมเริ่มเรียนที่นี่ตั้งแต่ประถม 3 จนจบมัธยม 6 แล้วค่อยศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ เมื่อเรียนจบผมจึงกลับไปเป็นครูที่วชิราวุธฯ สอนวิชาคณิตศาสตร์ให้เด็กชั้นประถม 4 ถึงประถม 6 ตอนเย็นสอนกีฬารักบี้ควบคู่ไปด้วย แล้วผมยังเคยเป็นนักกีฬารักบี้ทีมชาติไทยตั้งแต่อายุ 20-29 ปี แต่ผมเป็นคุณครูได้ 2 ปีก็กลับมาพัฒนาที่ดินของแม่ แต่ว่างๆ จากการทำโฮมสเตย์ปัจจุบันผมก็กลับไปเป็นครูอาสาสอนน้องๆ เล่นรักบี้ช่วงเลิกเรียนวันจันทร์ถึงพฤหัสครับ”

ด้วยค่าที่อยู่กรุงเทพฯ มาตั้งแต่เด็กๆ พอได้กลับมาพัฒนาบ้านเกิด ได้อยู่ในวิถีชนบททำให้เขาค้นพบความสุขขึ้นเรื่อยๆ ทั้งสุขกายและสุขใจ อยากได้อะไรก็ไม่ต้องใช้เงินอยากกินปลาก็ไปจับในบ่อของเขา เพราะในบ่อเขาเลี้ยงทั้งปลากะพงและปลาเก๋า อีกทั้งยังเลี้ยงปูทะเลอีกด้วย เพียงพอกับการกินในครัวเรือนและใช้กับธุรกิจของเขาได้อีกด้วย

ความต่างของการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ คือต้องรีบทุกอย่าง เพราะผมได้รับการปลูกฝังว่า ทำอะไรต้องเป็นเวลาเป๊ะๆ ระเบียบต้องตรงต่อเวลา แต่อยู่ที่บ้านเราอยากทำอะไรก็ทำ ตอนเช้าศุกร์เสาร์อาทิตย์ตื่นมาอยากปลูกผัก เราก็ปลูก อยากให้อาหารปลาเราก็ให้เวลาไหนก็ได้ จากนั้นถ้าอยากพักผ่อนเราก็ทำได้ ชีวิตอิสระ หรืออยากดูวิวัฒนาการของปลาต้นไม้ ก็ได้เดินดูได้ชื่นชมได้ศึกษาการพัฒนาการปลูกผักวิธีใหม่ๆ จากอินเทอร์เน็ต อยากปลูกมะละกอก็ปลูก เราไม่ได้เป็นชาวไร่แต่ผมชอบเรียนรู้ซึ่งวิถีชีวิตที่บ้านมันสนุก ซึ่งรวมผมอยู่กรุงเทพฯ 20 กว่าปีเบื่อปัญหารถติดมาก จนถึงจุดหนึ่งที่รู้สึกอิ่มตัวจึงกลับมาพัฒนาบ้านตัวเองดีกว่า

แต่ตอนนี้ผมสามารถออกแบบชีวิตตัวผมเองได้ว่าวันธรรมดาจันทร์ถึงศุกร์ผมอยู่กรุงเทพฯ เพราะแขกที่มาพักที่โฮมสเตย์มีน้อย และผมจะกลับบ้านที่จันทบุรีวันศุกร์ช่วงเย็นเพราะลูกค้าเริ่มเข้ามาพัก เสาร์อาทิตย์ผมตื่นเช้าทำสวนปลูกขิง ข่า ตะไคร้ ถั่วพู ฟักยาว ดอกแค มะพร้าว มะม่วง มะละกอ มะเขือเปราะ มะเขือยาว มะเขือพวง ชะอม มะนาว มะกรูด ส้มจี๊ด โดยพื้นที่ 6 ไร่ผมแบ่งบ่อน้ำในพื้นที่ส่วนใหญ่ และแบ่ง 2 ไร่มาปลูกพืชหากเหลือกินก็แบ่งชาวบ้านได้กินบ้าง

ความสุขของการใช้ชีวิตแบบช้าๆ

ขอออกแบบชีวิตตัวเอง อนุชิต ใจสุทธิ

อนุชิต บอกว่า ความสุขของการใช้ชีวิตในแบบพอมีพอกิน ไม่ต้องแข่งขันกับคนอื่น ซึ่งแตกต่างจากการใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ ที่ต้องแข่งขันกับคนอื่นตลอดเวลา

“ถึงแม้โฮมสเตย์ในจังหวัดจะมีเยอะ แต่ผมเลือกค่อยๆ สร้างจากเล็กๆ ไปใหญ่ และผมคิดว่ามี 10 หลังรับลูกค้าได้ครั้งละ 40-50 คนพอแล้ว เพราะผมคิดว่าวัตถุดิบที่เรามีเพียงพอกับการบริหารคนได้ไม่วุ่นวาย ผมคิดว่าเท่านี้ก็เพียงพอในการเลี้ยงครอบครัว พ่อแม่ตัวผมและคุณยาย ถ้าแต่งงานแล้วก็น่าจะเลี้ยงครอบครัวได้ให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ อีกทัั้งผมชอบใช้ชีวิตที่เรียบง่ายไม่ใช้ของแบรนด์เนม ผมคิดว่าเสื้อผ้าอะไรก็ใช้ได้เหมือนกัน การเปิดโฮมสเตย์ทำให้ผมได้เจอกับลูกค้าได้แลกเปลี่ยนความคิดหลายอย่าง เช่น ลูกค้าเป็นชาวฉะเชิงเทราก็ชวนผมไปกินกุ้งแม่น้ำ ได้พบกับคนที่ทำโฮมสเตย์ที่เขาค้อ เขาก็ชวนผมไปพัก เหมือนเราได้แลกเปลี่ยนการทำธุรกิจกัน เพียงแค่นี้ก็เกิดความสุขแล้วนะครับ”