posttoday

เตาเชื่อมสุญญากาศ อีกก้าวที่ไม่พึ่งต่างชาติ

09 ธันวาคม 2560

ปัญหาอย่างหนึ่งภายในสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน หากระบบขัดข้องและต้องมีการซ่อมแซม

โดย กั๊ตจัง 

 ปัญหาอย่างหนึ่งภายในสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน หากระบบขัดข้องและต้องมีการซ่อมแซม ด้วยการเชื่อมชิ้นส่วนโลหะต่างชนิดด้วยระบบสุญญากาศด้วยเตาเบรสซิ่ง เพื่อเชื่อมรอยต่อโลหะต่างชนิดอย่างแนบสนิท ซึ่งไม่สามารถใช้วิธีการเชื่อมโดยทั่วไปได้ ก็จะทำให้เสียงบประมาณในการซ่อมแซมค่อนข้างมาก

 หากจะซื้อเตาเบรสซิ่งที่มีความสามารถระดับนี้ต้องใช้งบประมาณมากกว่า 25 ล้านบาท ทีมวิศวกรของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จึงได้ทุ่มเทพัฒนาเตาเบรสซิ่งนี้ขึ้นมาเอง เพื่อช่วยในกระบวนการเชื่อมต่อโลหะต่างชนิดแบบไร้ตะเข็บในภาวะสุญญากาศ

 หรือเตาเบรสซิ่งฝีมือคนไทยสามารถเชื่อมโลหะทั้งชนิดเดียวกันและต่างชนิดได้เหมือนกับของต่างชาติในงบประมาณที่ถูกกว่ามาก

เตาเชื่อมสุญญากาศ อีกก้าวที่ไม่พึ่งต่างชาติ

 การเชื่อมเหล็กต่างชนิดนั้น หากไม่ทำภายใต้เทคโนโลยีที่เหมาะสม จะเกิดการบิดตัวและรั่วได้ แต่กระบวนการเชื่อมต่อชิ้นงานอุปกรณ์สุญญากาศ ทำให้โลหะที่เชื่อมเกิดการบิดตัวน้อย ควบคุมความแม่นยำในการเชื่อมได้

 สำเริง ด้วงนิล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน อธิบายว่ากระบวนการเชื่อมแล่นประสานโลหะในสภาวะสุญญากาศ เป็นกรรมวิธีการเชื่อมต่อโลหะตั้งแต่สองชิ้นหรือมากกว่าเข้าด้วยกัน ด้วยการให้ความร้อนแก่รอยต่อที่อุณหภูมิสูงกว่า 450 องศาเซลเซียส แต่ไม่ถึงกับอุณหภูมิหลอมละลายของโลหะหลัก  

 "ลักษณะงานที่ใช้การเชื่อมต่อโลหะด้วยการเบรสซิ่ง ได้แก่ งานต่อท่อทองแดงกับแผ่นอะลูมิเนียมของคอมเพรสเซอร์ในเครื่องทำความเย็น หรืองานเชื่อมต่อชิ้นส่วนของเครื่องฟอกไอเสียเชิงเร่งปฏิกิริยา เป็นต้น สำหรับขั้นตอนของการผลิตชิ้นงานและประกอบเพื่อนำไปติดตั้งระบบลำเลียงแสงต่างๆ"

เตาเชื่อมสุญญากาศ อีกก้าวที่ไม่พึ่งต่างชาติ

 ข้อดีของการเชื่อมด้วยเทคนิคนี้ สำเริง บอกว่าสามารถประยุกต์ใช้กับการเชื่อมโลหะที่เป็นชนิดเดียวกันและต่างชนิดกันได้ ชิ้นงานที่เชื่อมประสานกันเกิดการบิดตัวน้อย ช่วยให้การวางตำแหน่งอุปกรณ์ที่ต้องการความแม่นยำสูงได้ดียิ่งขึ้น เพื่อรองรับการออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์ที่สำคัญของเครื่องเร่งอนุภาคและอุปกรณ์ระบบลำเลียงแสงของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน

 "นอกจากนี้ ความรู้ความชำนาญที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาเตาเบรสซิ่ง สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาเป็นนวัตกรรมสำหรับภาคอุตสาหกรรมด้านต่างๆ เช่น การเชื่อมประสานวัสดุคมให้ติดกับด้ามจับ การเชื่อมประสานท่อน้ำยาคอมเพรสเซอร์ในระบบปรับอากาศ หรือการอบชิ้นงานเพื่อปรับปรุงคุณสมบัติเชิงกลได้”

เตาเชื่อมสุญญากาศ อีกก้าวที่ไม่พึ่งต่างชาติ

 เตาเบรสซิ่งเครื่องนี้ใช้งบประมาณเพียง 7 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเครื่องนำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาสูงถึง 25 ล้านบาท/เครื่องแล้ว เรียกได้ว่าช่วยลดงบประมาณแผ่นดิน ด้วยความรู้และความสามารถของวิศวกรชาวไทยที่ไม่แพ้ชาติใดจริงๆ