posttoday

เซลล์นักฆ่า เพชฌฆาตของมะเร็งร้าย

03 ธันวาคม 2560

Natural Killer Cells หรือที่รู้จักกันในชื่อ "เซลล์นักฆ่า" นั้นเป็นเซลล์ภูมิคุ้มกันที่เป็นเม็ดเลือดขาวแบบหนึ่งที่อยู่ในร่างกายของเรา

โดย...นพ.กรมิษฐ์ ศุภพิพัฒน์ & ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งและศูนย์วิจัยเซลล์ต้นกำเนิดและเซลล์บำบัด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Natural Killer Cells หรือที่รู้จักกันในชื่อ "เซลล์นักฆ่า" นั้นเป็นเซลล์ภูมิคุ้มกันที่เป็นเม็ดเลือดขาวแบบหนึ่งที่อยู่ในร่างกายของเรา

ปกติเซลล์นักฆ่านั้นมีสัดส่วนประมาณ 5-10% ของเม็ดเลือดขาวที่อยู่ในร่างกายและจะไหลเวียนอยู่ภายในเส้นโลหิตร่วมกับเม็ดเลือดขาวชนิดอื่นๆ ไปทั่วร่างกาย เพื่อสอดส่องและตรวจจับสิ่งผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกาย

หากเซลล์นักฆ่าพบเซลล์แปลกปลอม เซลล์เสื่อมสภาพ เซลล์ที่มีความเปลี่ยนแปลงจากการติดเชื้อ หรือเซลล์ที่มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนสภาพเป็นเซลล์มะเร็ง เซลล์นักฆ่าจะทำการทำลายเซลล์ผิดปกติดังกล่าวผ่านกระบวนการพิเศษของเซลล์นักฆ่า เพื่อยับยั้งไม่ให้เซลล์ผิดปกติดังกล่าวมีการเพิ่มจำนวนหรือลุกลามจนเกิดปัญหากับร่างกาย

ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวของเซลล์นักฆ่า จึงทำให้ตลอดระยะเวลา 30-40 ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกจึงให้ความสนใจและได้ทำการวิจัยพัฒนาการรักษามะเร็งโดยนำความสามารถพิเศษของเซลล์นักฆ่ามาใช้ประโยชน์

การปลูกถ่ายเซลล์นักฆ่าเพื่อรักษาโรคมะเร็ง (Adoptive Natural Killer Cell Therapy) เป็นหนึ่งในวิธีการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดแบบการใช้เซลล์บำบัด ที่มีการศึกษาวิจัยอย่างมากและเริ่มได้รับการยอมรับทางวิชาการเพื่อเป็นทางเลือกในการรักษามะเร็งบางชนิดแล้ว

โดยขั้นตอนของการปลูกถ่ายเซลล์นักฆ่าเพื่อการบำบัดโรคมะเร็งนั้น จะเริ่มจากการเก็บตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยหรือผู้บริจาคเพื่อทำการแยกเซลล์นักฆ่าออกมาจากเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดอื่นๆ ที่มีอยู่ในเลือด

หลังจากนั้นจึงนำเซลล์นักฆ่าที่ได้มาทำการเพาะเลี้ยงร่วมกับเซลล์พี่เลี้ยง (Feeder Cells) เพื่อเพิ่มจำนวนเซลล์ให้มากเพียงพอสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย และเพื่อกระตุ้นเซลล์นักฆ่าให้มีประสิทธิภาพในการทำลายเซลล์มะเร็งเพิ่มมากขึ้น

โดยกระบวนการเพาะเลี้ยงเซลล์นักฆ่านั้น จำเป็นต้องทำในห้องปฏิบัติการปลอดเชื้อพิเศษที่มีมาตรฐานความปลอดภัยในระดับเดียวกับการผลิตยา เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเซลล์ที่จะให้กลับเข้าไปในผู้ป่วย

เซลล์นักฆ่าจะถูกเพาะเลี้ยงอยู่นอกร่างกายเป็นเวลาประมาณ 2-3 อาทิตย์ จนได้จำนวนเซลล์นักฆ่าที่มีปริมาณเพียงพอต่อผู้ป่วยแล้ว จึงนำเซลล์นักฆ่าดังกล่าวไปปลูกถ่ายกลับไปในตัวผู้ป่วยผ่านทางการฉีดเข้าเส้นโลหิตดำ เพื่อให้เซลล์นักฆ่าที่ได้รับการกระตุ้นและเพิ่มจำนวนแล้วนั้น กลับไปทำลายเซลล์มะเร็งในตัวผู้ป่วย

ปัจจุบันมีการพูดถึงการใช้เซลล์นักฆ่าในการรักษามะเร็งอย่างกว้างขวาง และมีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของเซลล์นักฆ่าในการรักษามะเร็งหลายชนิดอย่างเกินจริงจากหลายช่องทาง

แต่จากการวิจัยพบว่าเซลล์นักฆ่าที่ถูกเพิ่มจำนวนและกระตุ้นภายนอกร่างกายแล้วนั้น มีความสามารถในการทำลายเซลล์มะเร็งหลายชนิดได้ดีมาก ทั้งในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลอง

ได้แก่ มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งเซลล์ประสาท มะเร็งรังไข่ มะเร็งไต มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ดี การวิจัยการรักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วยการปลูกถ่ายเซลล์นักฆ่านั้น กลับพบว่าประสิทธิภาพในการทำลายเซลล์มะเร็งของเซลล์นักฆ่านั้นลดลงอย่างมากต่อมะเร็งหลายชนิด โดยเฉพาะมะเร็งที่เป็นก้อน (Solid Tumors) เมื่อเซลล์นักฆ่าถูกปลูกถ่ายกลับไปในตัวผู้ป่วย

ในปัจจุบันนั้นมีเพียงการปลูกถ่ายเซลล์นักฆ่าจากผู้บริจาคแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดไมอิลอยส์ที่กลับเป็นซ้ำ หลังจากการปลูกถ่ายไขกระดูกเท่านั้นที่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์รองรับว่าเป็นการรักษามะเร็งด้วยเซลล์นักฆ่าที่มีประสิทธิภาพสูงเพียงพอ และมีการเริ่มใช้เป็นการรักษาทางเลือกในผู้ป่วยแล้วในต่างประเทศ

ส่วนการใช้เซลล์นักฆ่าในการรักษาโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ นั้น ทั้งหมดยังอยู่ในขั้นตอนของการวิจัยในผู้ป่วย ซึ่งพบว่ามีแนวโน้มที่ดีในมะเร็งบางชนิดเท่านั้น

ขณะนี้ศูนย์วิจัยเซลล์ต้นกำเนิดและเซลล์บำบัด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ริเริ่มการวิจัยและพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัดชนิดต่างๆ

รวมถึงการพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งด้วยเซลล์นักฆ่าแก่ผู้ป่วยชาวไทย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดแก่ผู้ป่วย ญาติ และประชาชนทั่วไป และมุ่งหวังให้ผู้ป่วยมะเร็งชาวไทยได้สามารถเข้าถึงการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด รวมถึงเซลล์บำบัดที่ถูกต้อง มีประสิทธิภาพสูง มีมาตรฐานและความปลอดภัยที่ยอมรับในระดับโลก n