posttoday

‘เงาะป่า’ วรรณคดีสัญลักษณ์ แห่งรัชสมัยรัชกาลที่ 5

26 พฤศจิกายน 2560

นึกย้อนกลับไปเมื่องานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

โดย พริบพันดาว

นึกย้อนกลับไปเมื่องานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้ชมภาพข่าวที่นำเสนอข่าวที่วัดนิคมพัฒนาราม ต.นิคมพัฒนา อ.มะนัง จ.สตูล มีเงาะป่าซาไกที่อาศัยบริเวณป่าเทือกเขาบรรทัดใน ต.น้ำผุด อ.ละงู จ.สตูล ประมาณ 20 คน ได้ร่วมถวายดอกไม้จันทน์

โดยมี ไข่ ศรีมะนัง เป็นหัวหน้ากลุ่มเงาะป่า ซึ่งกล่าวว่าเงาะป่าในกลุ่มของตนมีความจงรักภักดีและรักพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เนื่องจากพระองค์ท่านทรงทำเพื่อประชาชน เพื่อประเทศชาติ มามาก เมื่อท่านเสด็จสวรรคตจึงได้มาถวายดอกไม้จันทน์เพื่อแสดงถึงความจงรักภักดี

ทำให้ประหวัดย้อนคิดถึงวรรณคดีไทย “เงาะป่า” ซึ่งจัดเป็นประเภทบทละครร้อยกรองจำนวน 899 บทกลอน เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชนิพนธ์ในขณะที่ทรงพักรักษาพระอาการประชวรจากพระโรคมาลาเรีย ณ พระที่นั่งวิมานเมฆ เป็นเวลา 8 วัน

‘เงาะป่า’ วรรณคดีสัญลักษณ์ แห่งรัชสมัยรัชกาลที่ 5

แม้มิได้มีพระราชประสงค์เพื่อใช้เล่นละครแต่อย่างใด หากแต่ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเพื่อเป็นที่ผ่อนคลายและสำราญพระราชหฤทัย ทรงพระราชนิพนธ์แล้วเสร็จเมื่อวันศุกร์ที่ 2 ก.พ. ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448) (หากนับตามปัจจุบัน เป็น พ.ศ. 2449 แล้ว) แล้วได้แก้ไขอีกบ้างเล็กน้อยเมื่อทรงมีเวลา และได้ทรงพระราชนิพนธ์คำนำเมื่อวันที่ 14 มี.ค. ในปีเดียวกัน แล้วโปรดฯ ให้ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2456

เรื่องราวรักสามเส้าของหนึ่งหญิงสองชายชาวป่า บทละครเรื่องนี้นอกจากจะใช้เป็นบทสำหรับเล่นละครได้ดีแล้ว ยังมีคุณค่าทางวรรณคดีและวัฒนธรรมของพวกเงาะ ในทางวรรณคดีประกอบด้วย บทชมธรรมชาติ บทรัก บทแค้น บทโศก บทขบขัน และคติธรรม การใช้ถ้อยคำสำนวนง่ายๆ สละสลวย มีรสสัมผัส เป็นภาพพจน์และมีอุปมาอุปไมยแยบคายมากมาย

ในทางวัฒนธรรมนับเป็นวรรณคดีเรื่องแรกของไทยที่กล่าวถึงวัฒนธรรมของพวกเงาะ เช่น ภาษา การแต่งกาย ความเป็นอยู่ ประเพณี ความเชื่อ การทำมาหากิน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังให้แง่คิดในเรื่องต่างๆ เช่น ความไม่แน่นอนของสิ่งธรรมดาในโลก ความรักพิสูจน์ได้ด้วยการเสียสละ อาฆาตพยาบาทเป็นสิ่งไม่ควรประพฤติ เป็นต้น

‘เงาะป่า’ วรรณคดีสัญลักษณ์ แห่งรัชสมัยรัชกาลที่ 5

บทละครเรื่องเงาะป่าในบางตอน กระทรวงศึกษาธิการเคยคัดมาไว้ในแบบเรียนภาษาไทยให้นักเรียนได้เรียนด้วย นอกจากนี้ เหม เวชกร ยังได้นำพระราชนิพนธ์เรื่องเงาะป่ามาเขียนเป็นนิทานภาพ ความยาว 140 ภาพเอาไว้ และในชั้นหลังยังมีภาพยนตร์ไทยเรื่อง “เงาะป่า” ที่เขียนบทขึ้นตามพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ด้วย ออกฉายครั้งแรกเมื่อปี 2523 กำกับการแสดงโดย เปี๊ยก โปสเตอร์ และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ุยุคล นำแสดงโดย จตุพล ภูอภิรมย์ ศศิธร ปิยะกาญจน์ ภิญโญ ปานนุ้ย และ ปู จินดานุช ซึ่งจตุพลได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง สาขานักแสดงนำยอดเยี่ยม

เมื่อหยิบเอกสารชื่อ “เงาะป่า : วรรณคดีสัญลักษณ์แห่งรัชสมัย (Ngoa Paa : A representative work of the reign) ที่ตีพิมพ์ในปี 2547 โดย ยุพร แสงทักษิณ ภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งนำเสนอในการประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 42

งานวิจัยเรื่องนี้มีจุดประสงค์จะศึกษาวิเคราะห์บทละครเรื่องเงาะป่า ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นวรรณคดีสัญลักษณ์แห่งรัชสมัย

ในเอกสารชุดนี้ชี้ว่าแนวพระราชดำริเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพหรือความเท่าเทียมกันของมนุษย์นั้น แม้จะดูเสมือนเป็นเพียงอุดมคติ ซึ่งยากจะเป็นจริงได้...พระราชนิพนธ์บทละครเรื่อง “เงาะป่า” เป็นพยานอันสำคัญที่สะท้อนแนวพระราชดำริว่า “ฝูงชนกำเนิดคล้ายคลึงกัน”

เพราะเป็นวรรณคดีเรื่องแรกของไทยที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อย ซึ่งต่ำต้อยด้อยค่าและแทบไม่มีผู้ใดรู้จัก แต่คนกลุ่มนี้ก็ไม่พ้นจากความสนพระราชหฤทัยและเอาพระราชหฤทัยใส่ของพระองค์ ทรงศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตของชนกลุ่มนี้อย่างจริงจัง ถึงขั้นทรงเลี้ยงเด็กเงาะไว้ในราชสำนัก และในเวลาต่อมาก็ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องเงาะป่าขึ้นมา

‘เงาะป่า’ วรรณคดีสัญลักษณ์ แห่งรัชสมัยรัชกาลที่ 5

เงาะป่าเป็นบทละครที่มีลักษณะผสมผสานระหว่างรูปแบบของวรรณคดีแบบเก่าของไทย และเนื้อหาของวรรณคดีแบบใหม่ที่ได้รับอิทธิพลมาจากวรรณกรรมตะวันตก จึงมีความสอดคล้องกับลักษณะสังคมในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นรัชสมัยแห่งการอนุรักษ์และพัฒนา

ผลของการวิจัยสรุปได้ว่า บทละครเรื่องเงาะป่าเป็นวรรณคดีสัญลักษณ์แห่งรัชสมัย เพราะมีลักษณะดังต่อไปนี้ คือ ประการแรก บทละครเรื่องนี้เกิดขึ้นในรัชสมัยที่ความเหลื่อมล้ำแห่งความเป็นมนุษย์ได้ถูกขจัดไปจากสังคมไทยด้วยพระราชบัญญัติเลิกไพร่ทาส ทุกคนในแผ่นดินไทยมีความเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นชาวเมืองหรือชาวป่า

ประการที่ 2 บทละครเรื่องนี้มีลักษณะผสมผสานระหว่างลักษณะรูปแบบของวรรณคดีแบบเก่าของไทยและเนื้อหาของวรรณคดีแบบใหม่ที่ได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตก ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะสังคมในรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นรัชสมัยแห่งการอนุรักษ์และพัฒนา

ประการที่ 3 บทละครเรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของเงาะซาไก จึงนับว่าเป็นวรรณคดีเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยเรื่องแรกที่แต่งขึ้นโดยพระมหากษัตริย์ไทยผู้ทรงเป็นผู้บุกเบิกและผู้นําทางด้านมานุษยวิทยาและชาติพันธุ์วิทยา

และประการสุดท้าย บทละครเรื่องนี้มีแก่นเรื่องหรือแนวคิดสําคัญเกี่ยวกับ “ความรัก” ซึ่งสอดคล้องกับพระราชสมัญญา “สมเด็จพระปิยมหาราช” ในพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระราชนิพนธ์