posttoday

ชงชา เพื่อชีวิตช้าๆ ดีๆ

26 พฤศจิกายน 2560

บางคนบอกว่าชีวิตเป็นเรื่องของการจัดวาง จริงหรือเปล่าไม่รู้ รู้แต่ว่าบางทีก็ไม่ได้จงใจที่จะวางจะจัด หากชีวิตก็เป็นไปเอง

โดย วันพรรษา อภิรัฐนานนท์  ภาพ ภูพิงค์ มะโน

บางคนบอกว่าชีวิตเป็นเรื่องของการจัดวาง จริงหรือเปล่าไม่รู้ รู้แต่ว่าบางทีก็ไม่ได้จงใจที่จะวางจะจัด หากชีวิตก็เป็นไปเอง ความหมายนี้คงใช้ไม่ได้กับภูพิงค์ มะโน อาจารย์ประจำวิชา Human Resource Management และ Motivation สาขาบริหารธุรกิจ สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย วัย 33 ปี ชีวิตของเขาบรรจงจัดวางความเป็นไป เหมือนพิธีชงชาที่เขาได้ร่ำเรียน

จบมัธยมต้นที่ลำปาง ก่อนจะตัดสินใจไปเรียนหนังสือที่ประเทศญี่ปุ่น เรียนภาษาญี่ปุ่นที่ โรงเรียนสอนภาษา ABK โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และเข้าเรียนชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยโตเกียวกักกุเง จากนั้นศึกษาต่อปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยไซตามะ จังหวัด
ไซตามะ คณะเศรษฐศาสตร์ และปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ

ชงชา เพื่อชีวิตช้าๆ ดีๆ

เนื่องจากใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่นถึง 9 ปี จึงได้ซึมซับวัฒนธรรมประเพณีของญี่ปุ่นมาด้วย หนึ่งในนั้นคือพิธีชงชา ครั้งหนึ่งยังได้มีโอกาสเข้าเรียนอย่างจริงจังด้วย พิธีชงชาที่สัมผัส ภูพิงค์เล่าว่า คือความเรียบง่าย ทว่าซับซ้อนและลึกซึ้ง ไม่อาจพรรณนาออกมาได้โดยง่าย เป็นสิ่งที่ต้องปล่อยให้ตกผลึกในจิต จนในอีกหลายปีต่อมา มัทฉะหรือชาเขียนของญี่ปุ่น ก็ยังมีอิทธิพลต่อชีวิตของเขา

ไปอยู่ญี่ปุ่นตั้งแต่อายุ 15-16 ปี แม้ช่วงแรกจะมีปัญหาเรื่องภาษา และความแตกต่างทางวัฒนธรรมอยู่บ้าง สำหรับภูพิงค์แล้วภาษาญี่ปุ่นยากทีเดียว ทว่าไม่ได้ยากเกินไป สิ่งที่คนไทยไปอยู่ญี่ปุ่นต้องเตรียมไม่ใช่ภาษาเพียงอย่างเดียว หากต้องเตรียมปรับตัวและปรับใจในเรื่องวัฒนธรรมที่เคร่งครัด การตรงต่อเวลา และจิตสาธารณะ

“ผมไม่ชอบช่วงเรียนมัธยม แต่ชอบช่วงเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งแตกต่างกันลิบลับ เหมือนคำกล่าวของญี่ปุ่นที่ว่า ม.ปลายคือนรก มหาวิทยาลัยคือสวรรค์” ภูพิงค์เล่า

ทำไมจึงแตกต่างกันมาก ภูพิงค์เล่าว่า สวรรค์มหาวิทยาลัยมิใช่เพียงแค่ได้เลือกเรียนสิ่งที่สนใจจริงๆ หากยังมีนัยของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ได้รับการยอมรับจากสังคม

ทั้งนี้ เป็นไปตามคติและกฎหมายในสังคมญี่ปุ่นด้วย ที่เด็กนักเรียนยังไม่บรรลุนิติภาวะ การตัดสินใจทุกอย่างจึงต้องมอบให้อาจารย์เป็นผู้ดูแล นั่นหมายถึงอาจารย์เป็นคนตัดสินใจให้หมด ขีดเส้นให้ วางกรอบให้ แต่มหาวิทยาลัยเป็นระบบเปิด ขึ้นชื่อว่าการเรียนการสอนในรั้วมหาวิทยาลัย นักศึกษาเป็นผู้เลือกด้วยตัวเอง

สำหรับการชงชา ภูพิงค์เล่าว่า ในช่วงก่อนเรียนจบมหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 3 มีความคิดอยากกลับมาเปิดร้านชาที่เมืองไทย แม้จะยังไม่กำหนดว่าจะเปิดเมื่อไร แต่เพราะชอบศึกษาจึงตั้งใจจะเก็บเกี่ยวองค์ความรู้เรื่องชาญี่ปุ่นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ก่อนเดินทางกลับเมืองไทย ขณะนั้นอายุ 23 ปี

ชงชา เพื่อชีวิตช้าๆ ดีๆ

“ผมมีความฝันว่า เมื่อกลับเมืองไทย อยากมีร้านชาเล็กๆ เป็นของตัวเอง แต่ถ้าเปิดแบบทั่วๆ ไป ก็จะไร้จุดเด่น จึงไปสมัครเรียนพิธีชงชา แต่พอไปเรียนจริงๆ ทั้งที่อยู่ญี่ปุ่นมา 8 ปีเต็ม คิดว่ารู้เรื่องญี่ปุ่นพอสมควร เมื่อไปเรียนจึงรู้ว่าเราไม่รู้” ภูพิงค์เล่า

ชาในญี่ปุ่น เริ่มถูกนำเข้าจากจีน ผ่านพระญี่ปุ่นที่ไปเรียนพระพุทธศาสนาที่เมืองจีน เมื่อกลับเกาะญี่ปุ่น ก็เอาชากลับมาด้วย ทั้งนี้ ดูจะสอดคล้องกับพระพุทธศาสนาในเอเชียตะวันออกที่จะใช้ชาเป็นตัวกำหนดจิตใจหรือสมาธิ

เมื่อใบชาเข้ามาในญี่ปุ่นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ก็แพร่หลายไปในหมู่ขุนนางและบุคคลชั้นสูง ต่อมาพระญี่ปุ่นได้ปรับใหม่ให้เรียบง่าย จนพิธีชงชากลายเป็นแบบแผนกึ่งจารีตมาจนถึงปัจจุบัน มีการกำหนดรูปแบบ การชง การเสิร์ฟ การดื่ม ทั้งหมดเชื่อมโยงผูกพัน

“แขกและเจ้าบ้าน ถูกเชื่อมโยงและพันผูกเข้าด้วยกันด้วยพิธีชงชาอันเรียบง่าย”

พุทธศาสนานิกายเซนมีความเชื่อว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตเรา มีเพียงครั้งเดียว ที่เราเจอแขกคนนี้ นี่คือโอกาสครั้งเดียวที่เราได้เจอกับเขา เพราะเช่นนั้นเราก็ควรที่จะต้อนรับเขาให้ดีที่สุด ขณะเดียวกันก็แฝงนัยแห่งการชำระล้างจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์

“นั่นอธิบายว่า เพราะเหตุใดในพิธีชงชา เราจึงต้องชำระล้างตัวเองให้สะอาดทั้งภายในภายนอก ชำระทั้งสถานที่ อุปกรณ์เครื่องชง ทุกอย่างสะอาดหมดจด รวมทั้งความจริงใจ ความบริสุทธิ์ใจ”

ชงชา เพื่อชีวิตช้าๆ ดีๆ

การชงชาในพิธีดั้งเดิมจะใช้เวลานานถึง 5 ชั่วโมง ไม่นับก่อนหน้านั้นที่เจ้าบ้าน รวมทั้งแขกผู้มาเยือนต่างก็ต้องตระเตรียมเป็นเวลาหลายวัน แต่ปัจจุบันพิธีชงชาถูกกำหนดให้สั้นกระชับขึ้นมาก เหลือ 10-20 นาทีเท่านั้น

อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เล่าว่า ที่ญี่ปุ่นเป็นในแบบที่เห็นและเป็นอยู่ ก็เพราะความเชื่อที่คนญี่ปุ่นเชื่อ ไม่แปลกเลยที่จะกล่าวว่าคนญี่ปุ่นตรงต่อเวลามาก ให้ความใส่ใจกับความสะอาด ให้ความใส่ใจกับแขกหรือผู้มาเยือน ทั้งหมดนำมาซึ่งขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรม ที่เน้นแบบแผนมารยาท สะท้อนถึงความเข้มข้นของจิตใจภายใน

“เขาเป็นแบบนี้ ก็เพราะเขาเชื่อแบบนี้ ไทยเป็นแบบที่ไทยเป็น ก็เพราะเรามีชุดความเชื่ออีกแบบ” ภูพิงค์เล่า

คงดีมากถ้าผสมผสานวัฒนธรรมของทั้งสองชาติไว้ด้วยกันได้ ภูพิงค์เล่าว่า สิ่งที่เขาได้รับจากการเรียนพิธีชงชารวมทั้งการได้ซึมซับอยู่กับวัฒนธรรมญี่ปุ่นก็คือ การวางแผน โดยการจะกะเกณฑ์ให้เป็นไปตามจารีตแบบแผนญี่ปุ่นนั้น จะไม่สำเร็จลงได้เลยถ้าไม่มีการวางแผนที่ดี

คนญี่ปุ่นเมื่อจะจัดพิธีชงชาเพื่อต้อนรับแขกสักครั้ง ต้องตระเตรียมค่อนข้างมากถึงขั้นโกลาหล ต้องจัดการและวางแผนการล่วงหน้า ทั้งรายละเอียดในเรื่องการรับแขก การอำนวยความสะดวกแขก ถ้วยชาที่ใช้เสิร์ฟให้แขก เป็นต้น

“เรื่องของพิธีชงชา เป็นเรื่องของวินาที เหมือนกับทุกชั่วขณะที่เกิดขึ้นในชีวิตเรา มันเกิดขึ้นครั้งเดียวเท่านั้น เราจะต้องใจทำอย่างดีที่สุด เพราะว่ามันอาจไม่มีโอกาสครั้งที่สอง” ภูพิงค์เล่า

ชงชา เพื่อชีวิตช้าๆ ดีๆ

เปรียบเทียบกับคนไทยที่วิถีชีวิตง่ายๆ ไร้ข้อกังวล ไม่มีระเบียบ ไม่คิดล่วงหน้า ไม่วางแผน คนไทยวางใจกับทุกสิ่งมากเกินไป รู้สึกปลอดภัยตลอดเวลา ไม่ต้องเผชิญหน้าศึกสงครามหรือภัยธรรมชาติ ญี่ปุ่นเคร่งเครียด ไทยสบาย(เกินไป) น่าจะแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกัน เพื่อสมดุลความพอดีของชีวิต นี่คือสิ่งที่ภูพิงค์ได้และนำมาปรับใช้กับชีวิต

ชงชาทำให้ช้าลงได้ ที่สำคัญทำให้ได้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าแห่งความช้า ความพอดี และความสมบูรณ์แบบ เรื่องชากับการชงชาทุกวันนี้ ชงกินเองบ้าง แต่มัทฉะที่เชียงรายหาดื่มยาก ก็เลยดื่มชาฝรั่งหรืออู่หลงเป็นหลัก ได้ใช้ชีวิตช้าๆ ที่นี่ซึ่งดีไม่น้อย เชียงรายรถไม่ติด อากาศบนดอยดี ช่วงฝนตกจะเหมือนอาคารเรียนอยู่ท่ามกลางเมฆหมอก

นอกจากชงชาดื่มเองบ้าง ก็ชอบการเขียนด้วย ล่าสุดคืองานเขียน “มากกว่าชา” สำนักพิมพ์นานมี ที่เล่าเรื่องชาน่ารู้และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เวลาว่างชอบไปขับรถเล่นตามภูเขาแถบเชียงราย พะเยา เชียงใหม่ ดั้นด้นขึ้นเขาไปหาร้านชาร้านชาร้านกาแฟที่อาร์ตๆ กลางทุ่งนา

ถ้าใครสนใจเรื่องชาญี่ปุ่น ก็ยินดีแลกเปลี่ยน ทักมาได้ที่เพจเฟซบุ๊ก “รู้เฟื่องเรื่องชา”