posttoday

มอนเทสซอริ เรียนให้เก่งและเด่นเรื่องความสุข

20 พฤศจิกายน 2560

รูปแบบการศึกษา มอนเทสซอริ (Montessori) และในเวลานี้ก็กำลังได้รับ ความนิยมจากกลุ่มผู้ปกครองมากขึ้นเรื่อยๆ


ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา มีรูปแบบการศึกษาจากต่างประเทศเข้ามามากมาย แต่หนึ่งในรูปแบบการศึกษาที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถพัฒนาศักยภาพของเด็กได้ดี มีการเรียนการสอนในระดับอนุบาลกันอย่างยาวนานมากกว่า 100 ปี ก็คือ รูปแบบการศึกษามอนเทสซอริ (Montessori) และในเวลานี้ก็กำลังได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้ปกครองมากขึ้นเรื่อยๆ

 

พัฒนาเด็กตามธรรมชาติการเรียนรู้สมอง

“แนวความคิดของมอสเทสซอริ เราเชื่อว่าเด็กสามารถเรียนรู้และทำได้ทุกอย่าง ขอแค่ผู้ใหญ่ให้โอกาสและเชื่อใจพวกเขาว่าสามารถทำได้” ดร.กรรณิการ์ บัต นักการศึกษาจากสมาคมมอนเทสซอริแห่งประเทศไทย เผยแนวคิดหลักของมอนเทสซอริ

ย้อนกลับไปในปี 2439 ในยุคสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ประเทศอิตาลี ดร.มาเรีย มอนเทสซอริ จบการศึกษาจากโรงเรียนการแพทย์ กลายผู้หญิงคนแรกของอิตาลีที่ได้เป็นแพทย์ และได้รับการยอมรับในระดับประเทศให้เป็นตัวแทนผู้หญิงในการร่วมประชุมทางวิชาการและงานสำคัญต่างๆ

จนกระทั่งในปี 2449 ดร.มาเรีย ได้รับการติดต่อขอความช่วยเหลือในการดูแลเด็กๆ จำนวนกว่า 60 คน ที่พ่อแม่ต้องออกไปทำงานและไม่มีใครมาคอยดูแลอบรมสั่งสอน

 

มอนเทสซอริ เรียนให้เก่งและเด่นเรื่องความสุข

 

ด้วยความสนใจทางด้านจิตวิทยามนุษย์เป็นทุนเดิม ประกอบการสังเกตเห็นว่าเด็กๆ มักจะมองผู้ใหญ่เวลาทำงาน และอยากทำตาม เธอจึงทดลองดูว่าเด็กๆ จะสามารถทำได้ไหม สิ่งแรกที่เธอพบว่าเป็นอุปสรรคในเรื่องการเรียนรู้ของเด็ก ก็คือ เรื่องของขนาดเครื่องมือที่ใหญ่เกินไป และตัวผู้ใหญ่เองก็ทำเร็วจนเด็กๆ มองตามไม่ทัน

เธอจึงเริ่มทดลองปรับลดขนาดเครื่องมือให้เหมาะกับเด็ก มีของเล่นเสริมพัฒนาการเข้ามาทดลองให้เด็กได้เล่นและจดบันทึกการเปลี่ยนแปลง จนได้เป็นแนวทางปฏิบัติการเรียนรู้ของเด็กตามธรรมชาติการเรียนรู้ของสมอง ซึ่งในยุคสมัยนั้นยังมีองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องรูปแบบการเรียนรู้ของเด็กและมนุษย์อยู่น้อยมาก

สิ่งที่ได้รับจากการทดลอง คือ เด็กทั้ง 60 คน จากที่เคยเล่นซน สอนยาก ก็กลายเป็นเด็กที่สุภาพเรียบร้อย รู้จักการเข้าสังคม มีไหวพริบ เรียนเก่ง จนเป็นที่สนใจสังคมและสื่อมวลชนอย่างมาก และกลายเป็นที่มาของกระบวนการเรียนรู้แบบมอนเทสซอริที่ศึกษาและพัฒนาต่อยอดมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน ดร.กรรณิการ์ เล่าต่อว่า

 “มอนเทสซอริ เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อประมาณ 14 ปีก่อน โดย ดร.กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นผู้นำมอนเทสซอริเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนมากถึง 2 ใน 3 ของประเทศ ซึ่งไม่สามารถใช้ระบบการศึกษาแบบปกติได้ เนื่องจากจำนวนครูไม่เพียงพอกับจำนวนนักเรียน

เริ่มจากการทดลองในโรงเรียนนำร่อง 6 แห่งที่ จ.นครปฐม ในรูปแบบห้องเรียนพิเศษ ผลปรากฏว่าเด็กสอบได้คะแนนดีกว่าเด็กที่เรียนอยู่ในชั้นเรียนปกติอย่างชัดเจน จึงเริ่มขยายผลนำร่องสู่โรงเรียนอื่นๆ ด้วยการอบรมครูให้เข้าใจในการเรียนการสอนมอนเทสซอริ จากสมาคมมอนเทสซอริสากล (Association of Montessori Internationale) หรือเอเอ็มไอ โดยเป็นคุณครูจากโรงเรียนรัฐบาลมากกว่า 500 โรงเรียน รวมทั้งสมาชิกของมอนเทสซอริแบบบุคคล ซึ่งอยู่ในโรงเรียนเอกชนอีกมากกว่า 100 คน โดยหวังว่าคุณครูเหล่านั้นจะนำมาความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่และบอกต่อ”  

 

มอนเทสซอริ เรียนให้เก่งและเด่นเรื่องความสุข

 

 

ดร.กรรณิการ์ บอกว่า สิ่งหนึ่งที่มักจะมีคนถามเสมอ ก็คือ ความรู้ที่มีเมื่อ 100 ปี ก่อนจะใช้ในยุคปัจจุบันได้หรือไม่? ล้าสมัยหรือเปล่า?

“ต้องขอตอบว่าไม่มีคำว่าล้าสมัยสำหรับมอนเทสซอริ เพราะเรามีการค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติมมาโดยตลอด ซึ่งทำให้เรามีองค์ความรู้ใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา ระบบการเรียนการสอนมอนเทสซอริเป็นการเรียนรู้ตามธรรมชาติความสนใจของเด็ก พวกเขาจะเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในระหว่างการปฏิบัติ ลงมือซ้ำและพัฒนาต่อยอดการแก้ไขด้วยตัวเด็กเอง

ในขณะที่รูปแบบการศึกษาเดิมของไทยจะเป็นการเรียนรู้แบบขั้นบันไดที่กำหนดไว้ว่าช่วงอายุเท่าไรเด็กจะต้องเรียนรู้อะไรบ้าง แต่ของมอนเทสซอรินั้นอายุ 5 ขวบ ก็สามารถเรียนรู้วิชาในระดับประถมได้อย่างมีความเข้าใจลึกซึ้ง”

 

ต้องเชื่อว่าเด็กทำได้ 

ดร.ปรียานุช สถาวรมณี ผู้รับใบอนุญาต และผู้จัดการโรงเรียนอนุบาลสีชมพูมอนเทสซอริ เป็นผู้หนึ่งที่คุ้นเคยกับระบบการศึกษาแบบเดิมที่ใช้รูปแบบให้ผู้ใหญ่ชี้นำ บอกและให้เด็กๆ ทำตาม จนกระทั่งเปลี่ยนมาใช้การสอนแบบมอนเทสซอริอย่างเต็มรูปแบบ เล่าถึงประสบการณ์ในการสอนเด็กที่ผ่านมาทั้งสองระบบว่า

“สมัยก่อนไม่เคยเชื่อว่าระบบมอนเทสซอริจะสามารถพัฒนาเด็กได้จริง ทุกอย่างที่ทำดูขัดหูขัดตาเราไปหมด คิดอยู่ในใจเสมอว่า เด็กจะทำได้เหรอ และเขาจะรู้เรื่องไหม? ประกอบกับโรงเรียนอนุบาลสีชมพู เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วเป็นโรงเรียนที่เน้นด้านวิชาการเป็นที่หนึ่ง ยิ่งทำให้เรากังวลกับระบบการเรียนของมอนเทสซอริ

แต่เราก็มีความเชื่อในเรื่องการพัฒนาศักยภาพของเด็กอยู่เหมือนกัน ก็เลยทดลองเปิดห้องเรียนพิเศษเป็นการสอนแบบมอนเทสซอริโดยเฉพาะ แต่การจะนำเด็กเข้าเรียนแบบมอนเทสซอริก็ต้องให้เป็นไปตามความสมัครใจของผู้ปกครองด้วยเช่นกัน เพราะเหมือนกับการเอาสิ่งที่เขาไม่รู้จักมาสอนลูกของเขา

ผลปรากฏว่าเด็กที่เรียนในระบบมอนเทสซอริมีผลการเรียนที่ดีกว่า มีความรู้ความเข้าใจในวิชาดีกว่าเด็กที่เรียนในระบบปกติ ที่สำคัญ คือ เด็กๆ เรียนอย่างมีความสุขมากกว่าที่จะนั่งฟังคุณครูสอนและทำตามคำสั่งเพียงอย่างเดียว จนเมื่อเราทดลองสอนจนมั่นใจแล้วว่าดีจริง จึงตัดสินใจเปลี่ยนระบบการเรียนการสอนทั้งโรงเรียนเป็นแบบมอนเทสซอริทั้งหมด”

ดร.ปรียานุช เล่าถึงรูปแบบการเรียนเพิ่มเติมว่า โดยปกติแล้วเราเชื่อว่าสมองของเด็กเป็นเหมือนฟองน้ำ ที่พร้อมจะดูดซึมความรู้ทุกอย่างรอบตัวอย่างเต็มที่ สิ่งแวดล้อมแนวมอนเทสซอริจึงมีการออกแบบให้มีพื้นที่โล่ง และอุปกรณ์หรือของเล่นที่ใช้ในการเรียน จะเป็นเครื่องมือที่ผ่านการวิจัยมาทั้งหมดแล้วว่าได้ผลดีต่อพัฒนาการและการเรียนรู้

 

 

มอนเทสซอริ เรียนให้เก่งและเด่นเรื่องความสุข


“ในหนึ่งวัน เด็กๆ จะเรียนอย่างเต็มที่ 3 ชั่วโมง ถามว่าทำไมต้อง 3 ชั่วโมง ก็เพราะเขาศึกษามาแล้วว่าชั่วเวลา 3 ชั่วโมง เป็นช่วงเวลาที่เด็กเรียนรู้ได้ต่อเนื่องอย่างดีที่สุด ไม่มากหรือน้อยเกินไป มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ระบุว่าเด็กที่เรียนอย่างหนักมาตลอด พอถึงช่วงประมาณ ป.4 เด็กจะค่อยหยุดความสนใจในเรื่องการเรียน เพราะสมองล้าต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน เมื่อเทียบกับเด็กที่เรียนผ่านการเล่น ไม่เข้มข้นจนเกินไปจะมีประสิทธิภาพการเรียนที่ดีกว่า

เมื่อเริ่มคาบเรียนคุณครูจะให้เด็กเลือกว่าเขาอยากทำกิจกรรมอะไร จากนั้นก็จะสอนและปล่อยให้เด็กๆ ลงมือทำและเรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีผู้ใหญ่เข้ามาขัดจังหวะการเรียนรู้ผ่านการเล่นของเขา ถ้าเมื่อไหร่ที่ผู้ใหญ่เข้ามาขัดจังหวะเพราะกลัวเด็กทำพลาด เด็กจะหยุดคิดจินตนาการแนวทางพัฒนาของเขาและหันมาพึ่งผู้ใหญ่ โดยเฉพาะคุณครูในระบบเก่าจะรู้สึกขัดใจอยากเข้าไปช่วยไปสอนเด็กอย่างมาก”

สิ่งที่สังเกตได้ ดร.ปรียานุช ชี้ว่าแรกๆ เด็กจะทำพลาดบ่อย แต่พอทำเสร็จแล้วเขาก็รื้อทำซ้ำอีกครั้ง และจะดีขึ้นเรื่อยๆ จากที่แค่ทำได้ ก็จะเริ่มเรียนรู้ปัญหาและทำให้ดีขึ้นโดยไม่เกิดปัญหานั้นซ้ำ จนสุดท้ายไม่ใช่แค่ทำได้ แต่จะทำได้ดีจนมีผลงานที่ประณีตในที่สุด

“อีกอย่างหนึ่งที่ครูผู้สอนไม่จำเป็นต้องเข้าไปช่วยเหลือ เพราะอุปกรณ์การเรียนการสอนแบบมอนเทสซอริออกแบบมาให้เด็กรู้ได้ด้วยตัวเองว่าผิด หากมีชิ้นส่วนใดส่วนหนึ่งไม่เข้าที่หรือเป็นส่วนเกิน นอกจากนี้อุปกรณ์ทุกชิ้นไม่ใช่ของเล่น แต่เป็นของจริงที่อยู่ในขนาดเหมาะมือเด็ก เช่น แจกัน ก็ใช้แจกันที่สามารถแตกได้

หากมีเด็กคนใดคนหนึ่งทำแตก สิ่งที่คุณครูจะทำต่อไป ก็คือ ไม่ดุเด็กแต่สอนให้เขารู้จักเก็บ และเลือกที่จะเรียนวิชาอื่นแทนวิชาการจัดแจกันไปอีก 2-3 วัน เพื่อให้เด็กรู้สึกผิดด้วยตัวเองว่าเป็นคนทำให้เพื่อนๆ อดเรียนวิชาจัดดอกไม้ เป็นทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างหนึ่ง ที่จะไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนอีกด้วย”

ด้าน ดร.กรรณิการ์ กล่าวถึงสถานการณ์ด้านการสอนระบบมอนเทสซอริอีกว่าเวลานี้ไทยเรายังเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้แบบมอนเทสซอริในภูมิภาค ซึ่งได้รับเกียรติจากสมาคมมอนเทสซอริสากล ให้เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมการศึกษามอนเทสซอริในปี 2564 เป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“สำหรับประเทศไทยเองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ามีโรงเรียนที่ใช้แนวทางการเรียนรู้แบบมอเทสซอริเพิ่มขึ้นเรื่อย เพราะรูปแบบการเรียนการสอนตามแบบธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กนั้น ได้ผลเป็นที่ประจักษ์ทั่วโลกแล้วว่าได้ผลการเรียนที่ดีขึ้น ไม่ต้องห่วงว่าเด็กจะอ่านเขียนได้ช้า

เพราะที่ผ่านมา เด็กสามารถอ่านเขียน เข้าใจความหมายของคำและนำไปใช้ได้ดีกว่าเด็กทั่วไป สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ไม่เพียงแต่เด็กจะได้ความรู้ไปพร้อมๆ กับทักษะการคิดแก้ปัญหาความคิดสร้างสรรค์ สร้างความเชื่อมั่นในตัวเอง สิ่งสำคัญคือสมาธิ และความสุขจากการเรียนที่เด็กๆ เลือกที่จะเรียนและลงมือปฏิบัติจนชำนาญ”