posttoday

อาชีพเท่ๆ ยุค 4.0

16 พฤศจิกายน 2560

ในยุคที่ประเทศไทยกำลังเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล อาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาประเทศในหลายๆ ด้าน


ในยุคที่ประเทศไทยกำลังเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล อาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาประเทศในหลายๆ ด้าน โครงการ “Enjoy Science Careers : สนุกกับอาชีพวิทย์” ปีที่ 2 จึงเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้ 10 อาชีพที่น่าสนใจ โดยให้น้องๆ ได้พบปะพูดคุยกับบุคคลต้นแบบในแต่ละอาชีพ อาทิ วิศวกรระบบดาวเทียม นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล วิศวกรระบบราง ฯลฯ เอาเป็นว่าเราขอหยิบ 3 อาชีพเท่ๆ มาให้ผู้อ่านได้ทำความรู้จักกันก่อนเลย

 

สิริวิมล ชื่นบาล ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต ผู้มีประสบการณ์มากว่า 10 ปี เล่าถึงที่มาของอาชีพนี้ให้ฟัง

“เดิมทีดิฉันเรียนจบปริญญาตรีสาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พอจบก็เริ่มทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมผลิตแป้งมันสำปะหลัง และพบว่า ถ้าจะแก้ปัญหาในเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยในโรงงานก็ต้องมีความรู้เรื่องวิศวกรรมร่วมด้วย ดิฉันจึงตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทสาขาวิศวกรรมความปลอดภัย ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จนจบ ทำให้รู้วิธีแก้ปัญหาในโรงงาน เช่น ฝุ่นละอองจากการผลิตแป้ง การออกแบบระบบดับเพลิงในโรงงาน และรู้ว่าสารเคมีในโรงงานตัวไหนมีอันตรายต่อร่างกายคนบ้าง เป็นต้น”

 

อาชีพเท่ๆ ยุค 4.0

  

สิริวิมล บอกว่า หลังจากทำงานที่แรกได้ 3 ปีกว่า ก็มีรุ่นพี่ชวนมาทำงานที่เชฟรอน... “งานที่ดิฉันทำจะมีสองส่วนหลักๆ คือ ดูแลสุขภาพอนามัยของพนักงานที่แท่นผลิต และอีกส่วนหนึ่งคือดูแลสุขภาพสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย โดยต้องไปอยู่ที่แท่นผลิตกลางทะเลเพื่อเรียนรู้การทำงานและสภาพแวดล้อมของที่นั่น ซึ่งช่วงแรกดิฉันมีหน้าที่สืบสวนสอบสวนถึงอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์เล็กน้อยเพียงใด คนงานก็จำเป็นต้องมาแจ้งให้ทราบทุกเรื่อง

จากนั้นดิฉันจะนำรายงานนั้นมาคิดหาวิธีแก้ปัญหาให้อีกที โดยอาจจะให้ความรู้กับพนักงานเพิ่มเติมไปด้วย สมมติว่ามีเหตุการณ์ที่เกือบจะเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงขึ้น ดิฉันก็จะให้ทุกคนนำข้อมูลมาเล่าให้ฟังก่อน แล้วค่อยหาวิธีป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้น พูดง่ายๆ ว่ากระตุ้นให้คนงานมีจิตสำนึกร่วมกัน และให้คิดเสมอว่าการมาแจ้งให้เราทราบมันคือสิ่งที่ดี เพราะจะเป็นการเตรียมการป้องกันเรื่องต่างๆ หรือเรื่องร้ายแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้แต่เนิ่นๆ”

งานอีกส่วนหนึ่งที่เธอทำก็คือ การดูแลผู้รับเหมา เนื่องจากเชฟรอนมีพนักงานรับเหมาที่มาทำงานด้วยเยอะมาก แต่ละคนก็จะมีบริษัทต้นสังกัดอีกที แต่เพื่อให้มั่นใจว่าการบริหารจัดการของบริษัทเหล่านี้ดีเทียบเท่ามาตรฐานที่เชฟรอนทำ เธอจึงมีหน้าที่ในการให้ความรู้กับบริษัทรับเหมาว่า เรื่องไหนทำได้ เรื่องไหนทำไม่ได้ แล้วจะมีวิธีป้องกันอันตรายหรืออุบัติเหตุแบบไหนได้บ้าง จากนั้นบริษัทรับเหมาก็จะนำไปขยายผลต่อให้คนงานของตัวเองทราบอีกที

“ดิฉันคิดว่าอาชีพนี้มีความสำคัญมากทีเดียว เพราะไทยเป็นประเทศที่กำลังขยายตัวในอุตสาหกรรมไบโอดีเซลและน้ำมัน ซึ่งในกระบวนการผลิตมีทั้งการใช้เครื่องจักรและสารเคมี เราจึงไม่อยากให้เหตุการณ์ไม่ดีเกิดขึ้นกับผู้คน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้างมาตรการที่ปลอดภัยไว้ให้ ในอนาคตอาชีพนี้ยังเป็นที่ต้องการอยู่มาก สามารถทำได้ในระยะยาว แถมเป็นอาชีพที่สนุก เพราะมีกิจกรรมที่แตกต่างกันไปในแต่ละสถานที่ บางครั้งก็ต้องเป็นครู เป็นนักจิตวิทยา และเป็นนักโฆษณาไปด้วย แล้วการไปทำงานที่แท่นผลิตเดี๋ยวนี้ก็สะดวกสบาย สามารถติดต่อสื่อสารกับครอบครัวผ่านไว-ไฟได้ง่ายมากค่ะ”

 

ด้าน ดร.ณัฏฐพร พิมพะ นักวิจัยนาโนเทค ตำแหน่งผู้อำนวยการหน่วยวิจัยเกษตรนาโนและสิ่งแวดล้อม ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งทำงานวิจัยมากว่า 12 ปี เผยว่า

“ตั้งแต่เรียนจบปริญญาเอกภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เข้าทำงานที่ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติเลยค่ะ หน้าที่หลักๆ ที่รับผิดชอบก็คือ การเป็นนักวิจัยหรือผู้คิดค้นที่ไขความลับธรรมชาติ แล้วนำองค์ความรู้ต่างๆ ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ต่อ งานอีกส่วนหนึ่งคือการประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ แล้วนำไปใช้ประโยชน์

ที่ผ่านมาได้ทำงานวิจัยและคิดค้นวัสดุทางการแพทย์และวัสดุที่นำมาใช้งานด้านสิ่งแวดล้อม เช่น วัสดุกรองน้ำที่ใช้ในการบำบัดน้ำเมื่อเกิดอุทกภัยในปี 2554 ซึ่งสิ่งที่คิดค้นขึ้นจะเป็นวัสดุสำหรับกรองน้ำที่ทำจากเซรามิกเคลือบอนุภาคเงินนาโน โดยนำไปใช้งานร่วมกับเครื่องกรองน้ำอีกที ในช่วงนั้นสภากาชาดไทยได้นำเครื่องกรองน้ำที่พัฒนานี้ไปใช้งานในพื้นที่น้ำท่วมแถบที่ลุ่มภาคกลาง ซึ่งวัสดุกรองนี้จะนำไปใช้ในส่วนของไส้กรอง ช่วยให้เครื่องกรองน้ำมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถยับยั้งเชื้อโรคบางชนิดที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ท้องร่วง ที่ปนมากับน้ำได้ โดยใช้ไส้กรองนี้ในระบบประปาในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมอีกที”

 

อาชีพเท่ๆ ยุค 4.0

  

ดร.ณัฏฐพร กล่าวว่า การนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้ในเครื่องกรองน้ำ ได้มีการออกแบบให้ตัวเครื่องกรองน้ำมีขนาดที่กะทัดรัดขึ้น สามารถขนลงเรือได้ เนื่องจากในช่วงน้ำท่วมถนนจะถูกตัดขาด ไส้กรองนาโนนี้สามารถใช้กรองน้ำดิบ โดยผ่านตัวเครื่องที่ใช้แหล่งพลังงานจากโซลาร์เซลล์ ซึ่งน้ำที่ผ่านเครื่องกรองนี้แล้วสามารถนำมาใช้บริโภคได้เลย

“ในอนาคตศูนย์นาโนฯ มีแนวทางวิจัยต่อยอดการนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้ทางด้านการเกษตรและปศุสัตว์ด้วย เนื่องจากนาโนเป็นเทคโนโลยีระดับอนุภาค หากนำไปใช้ในการให้อาหารพืชก็จะดูดซึมได้รวดเร็วกว่าการให้ธาตุอาหารแบบเดิมๆ ไม่จำเป็นต้องให้ปุ๋ยมาก แต่ก็ได้ผลดี เพราะจะซึมได้ถึงภายใน จึงสามารถนำมาใช้ในมนุษย์ได้ เช่น กินวิตามินแค่เม็ดเดียว แต่สามารถครอบคลุมได้ครบถ้วน หรือกินไปแค่โดสเดียว แต่สามารถค่อยๆ ปล่อยวิตามินได้เรื่อยๆ ตามความต้องการของร่างกาย

ในยุคนี้นักวิจัยวัสดุนาโนเป็นอาชีพที่จำเป็นมากต่อการพัฒนาประเทศ เพราะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เช่น สภาพอากาศ ปัญหาโลกร้อน โรคติดต่ออุบัติใหม่ โรคในอดีตที่อาจกลับมา เช่น กาฬโรค หรือพัฒนาเทคโนโลยีด้านอาหารเพื่อผู้สูงอายุที่นับวันจะมีมากขึ้น ฉะนั้นนักวิจัยจึงมีความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ค่ะ”

ดร.ณัฏฐพร ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับอาชีพนักวิทยาศาสตร์ว่า เป็นอาชีพที่ยังไม่แพร่หลายมากนัก แต่มีความสำคัญและท้าทายอย่างมาก เรียกว่าเป็นอาชีพที่ต้องการขององค์กรในอนาคต เยาวชนรุ่นใหม่ที่สนใจต้องเรียนมาทางสายวิทย์-คณิต แล้วมาแยกเรียนเฉพาะทางอีกที วิทยาศาสตร์ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องเรียนด้วยความชอบ ความเข้าใจ และสนุกกับการหาความรู้เพิ่มเติม เพราะเมื่อเรียนจบจะมีทั้งหน่วยงานภาครัฐ สถาบันวิจัย และภาคเอกชนรองรับแน่นอน ซึ่งค่าตอบแทนก็ถือว่าอยู่ในระดับกลางค่อนไปสูงเลยทีเดียว

 

ปิดท้ายที่ ธนทร ศิริรักษ์ วิศวกรเสียงจากบริษัท ซาวด์เวฟ ที่เรียนจบปริญญาตรีด้านมิวสิค บิซิเนส จากมหาวิทยาลัยมหิดล และเริ่มทำงานด้วยการเป็นนักแต่งเพลงประกอบหนังและโฆษณามาก่อน เมื่อพบว่าสามารถต่อยอดอาชีพเป็นซาวด์เอนจิเนียร์ได้ เขาจึงไปเรียนต่อปริญญาโทด้าน Music Production & Sound Design for Visual Media ที่อะคาเดมี ออฟ อาร์ต ยูนิเวอร์ซิตี้ ที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐ ต่อเลย

“พอเรียนจบปริญญาโท ผมก็กลับมาทำงานเป็นซาวด์ เอนจิเนียร์ ต้องบอกว่าอาชีพนี้ในเมืองไทยคนอาจจะให้ความ สำคัญไม่เท่ากับที่ต่างประเทศ เช่น สหรัฐ เกาหลี ซึ่งซาวด์เพลงหรือดนตรีของเขาจะยอดเยี่ยมมาก เพราะเขาให้ความสำคัญกับอาชีพเบื้องหลังในการผลิตซาวด์หรือทำเพลง

ในเมืองไทยผมคิดว่าอาชีพนี้ก็คงจะยังมีอยู่และมีงานต่อไปเรื่อยๆ แต่คนอาจจะหลงลืมไป จึงไม่เป็นที่พูดถึงมากนัก ตราบใดที่เมืองไทยยังมีการทำโฆษณาทั้งในทีวี ยูทูบ เฟซบุ๊ก หรือไวรัลคลิปบนโลกออนไลน์อยู่ ผมคิดว่าอาชีพนี้ก็ยังสามารถทำไปได้อีกนานเลยละ”

 

อาชีพเท่ๆ ยุค 4.0

  

ธนทร เสริมว่า ยุคนี้คนอาจจะกลัวว่าจะมีหุ่นยนต์หรือเครื่องจักรกลมาทำงานแทนคนมากขึ้น แต่เขาคิดว่าอาชีพซาวด์เอนจิเนียร์ เป็นอาชีพที่ต้องใช้ทักษะหรือใช้หูในการวิเคราะห์หรือฟังเสียง ซึ่งมีทั้งเสียงเพลงและเสียงประกอบในด้านอื่นๆ ซึ่งเครื่องจักรกลอาจทำไม่ได้ 100% แบบที่มนุษย์ทำได้

“ถ้าให้พูดตรงๆ ผมคิดว่าอาชีพนี้ยังมีอนาคตอยู่ โดยรายได้จะขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน ถ้าคุณเป็นคนเก่งที่หาตัวจับยากในเรื่องการวิเคราะห์เสียง มิกซ์เสียง หรือสร้างเสียงเอฟเฟกต์ที่ไม่เหมือนใคร เงินเดือนก็อาจจะเฉียดหลักแสนได้เช่นกัน บางคนเป็นซาวด์เอนจิเนียร์ที่มีซิกเนเจอร์ให้คนจดจำได้ หรือเป็นผู้อยู่เบื้องหลังศิลปินดังๆ ระดับโลก แน่นอนว่าอาชีพนี้ก็มีอนาคตแน่นอน ถ้าใครชอบก็ต้องพยายามฝึกฝนให้เต็มที่ เพราะในยุคนี้ยังมีงานอีเวนต์ คอนเสิร์ต และโฆษณาออนไลน์รองรับอยู่”