posttoday

'บ้านในโคลน' กิตติศักดิ์ คเชนทร์

12 พฤศจิกายน 2560

จำลอง ฝั่งชลจิตร นักเขียนรุ่นใหญ่ชื่อดังของบรรณพิภพไทย ได้เขียนถึงนักเขียนคนนี้ในเฟซบุ๊กของเขาว่า

โดย พริบพันดาว

จำลอง ฝั่งชลจิตร นักเขียนรุ่นใหญ่ชื่อดังของบรรณพิภพไทย ได้เขียนถึงนักเขียนคนนี้ในเฟซบุ๊กของเขาว่า

 “ราวปี 2555 ผมจิบกาแฟร้านประจำ น้องนักเลงพระรู้จักกัน พาเด็กหนุ่มคนหนึ่งมาแนะนำตัว  เขาบอกว่าอ่านเรื่องสั้นและอยากเขียนมาก สองวันต่อมาเขาเอาเรื่องสั้นหัดเขียนมาให้สอง-สามเรื่อง แค่ดูต้นฉบับ ย่อหน้า การใช้เครื่องหมายคำพูด เขาก็เหมือนผมตอนปี 2519-2520 คือไม่เป็น

 น่าขำเสมอ ผมอ่านงานเขาจบ บอกว่าความอยากเขียนเป็นต้นทุนหลัก เรียนรู้พัฒนาคือสิ่งต้องทำให้หนัก ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ โดยเฉพาะการยอมรับในฐานะ ‘นักเขียน’ บอกให้เขียนเรื่องใหม่มาอีก”

 กิตติศักดิ์ คเชนทร์ คือนักเขียนหนุ่มคนนั้น นวนิยาย “บ้านในโคลน” กลายเป็นหนังสือเล่มแรกของเขาและมาไกลกว่าที่เขาคิด

'บ้านในโคลน' กิตติศักดิ์ คเชนทร์

 “ถ้าถามถึงจุดเริ่มต้นกับแรงบันดาลใจอะไรที่ทำให้คิดเขียนหนังสือก็คงต้องตอบว่ามาจากการอ่าน เริ่มแต่สมัยเด็กๆ ที่ชอบอ่านการ์ตูน จนถึงวัยหนุ่มก็หันมาอ่านเรื่องสั้น จนรู้สึกอยากจะเขียนขึ้นมาบ้าง อยากเล่าเรื่องที่ตัวเองมีอยู่ในหัว อยากเล่าเรื่องต่างๆ ผ่านความคิดผ่านมุมมองของตัวเองที่ได้ประสบพบมา” กิตติศักดิ์ เริ่มต้นพูดคุยอย่างเรียบง่าย

 นวนิยาย “บ้านในโคลน” ของเขา ได้รับรางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือนวนิยาย ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ปี 2560 ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แมวบ้าน

 “บ้านในโคลน เป็นเรื่องเล่าอิงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ในเหตุการณ์น้ำท่วมดินโคลนถล่ม พิปูน-กะทูน ปี 2531 เรื่องราวเหล่านี้ที่ยังไม่เคยถูกเล่าออกมาในรูปแบบเรื่องแต่งผ่านมุมมองของเด็กชายวัยห้าขวบ ที่เล่าถึงครอบครัวตัวเองที่กำลังสร้างบ้านใหม่ เล่าถึงวิถีชีวิตของผู้คนและชุมชนในช่วงเวลานั้น จนไปถึงช่วงเหตุการณ์น้ำมา ดินโคลนถล่ม พาท่อนซุงพุ่งเข้ามากวาดทำลายหมู่บ้านและพรากชีวิตผู้คนไปจำนวนมาก”

 นวนิยายเรื่องแรกของเขา ประสบความสำเร็จคว้ารางวัลในระดับประเทศ กิตติศักดิ์มีความคาดหวังกับหนังสือของตัวเองหรือคนอ่านมากน้อยแค่ไหน เขาบอกว่า

'บ้านในโคลน' กิตติศักดิ์ คเชนทร์

 “ก็ดีใจกับรางวัลที่ได้นะครับในฐานะตัวผมเองเป็นนักเขียนใหม่ เพราะในตอนแรกผมก็ไม่คิดว่านิยายจะได้รางวัล ผมมีความคาดหวังแค่อยากจะเล่าเรื่องออกมาให้ดีที่สุด ผมแค่อยากบันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ครั้งนั้นไว้ในรูปแบบเรื่องแต่ง ไม่อยากให้ความสูญเสียในครั้งนั้นเลือนหายไปกับกาลเวลา

 และถ้าถามว่าคาดหวังกับคนอ่านมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ก็แค่อยากให้คนอ่านได้เข้าถึง รับรู้ มองเห็นภาพวิถีชีวิตของผู้คนในช่วงเวลานั้น และอยากให้คนอ่านเข้าใจในเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นครั้งนั้น”

 ท้ายสุด เขาได้พูดถึงการเขียนหนังสือเล่มใหม่ “บ้านสังกะสี” ที่กำลังเขียนอยู่อย่างขะมักเขม้น

“มันเป็นเรื่องเล่าที่ต่อมาจากบ้านในโคลน แต่ใช้ตัวละครคนละชุดกับบ้านในโคลน เล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ประสบภัย ความยากลำบากต่างๆ ของผู้คนที่รอดชีวิต เล่าถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากเหตุการณ์นั้น 

 มันเป็นเรื่องยากในอีกระดับหนึ่ง ที่เราต้องเริ่มต้นกับงานชิ้นใหม่ การหาวิธีเล่าให้เหมาะสมกับเรื่อง และหาข้อมูลต่างๆ ประกอบมาร้อยรัดให้เป็นเรื่องแต่งสักชิ้น มันเป็นงานที่หนักและไม่ง่ายเลย”