posttoday

'ล้ง 1919' ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมเจ้าพระยา

11 พฤศจิกายน 2560

ลงบีทีเอสตากสินประตู 2 แล้วรอลงเรือที่มีสัญลักษณ์โคมจีนสีแดง

โดย ปอย

 ลงบีทีเอสตากสินประตู 2 แล้วรอลงเรือที่มีสัญลักษณ์โคมจีนสีแดง ล่องเรือข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยาชมความสวยงามสองฝั่งน้ำ

 จุดหมายคือบ้านเก่าแก่ตระกูล “หวั่งหลี” ที่หลับใหลยาวนาน วันนี้มรดกของบรรพบุรุษถูกปลุกตื่นคืนชีวิตชีวา ในนาม “ล้ง 1919” (LHONG 1919) ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

'ล้ง 1919' ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมเจ้าพระยา

 โดยมีทายาท รุจิราภรณ์ หวั่งหลี ผู้ก่อตั้งโครงการ รับหน้าที่ในการสร้างสรรค์พื้นที่สำคัญต่อประวัติศาสตร์ ท่าเรือ “ฮวย จุ่ง ล้ง” สถานที่จุดเชื่อมความสัมพันธ์อันรุ่งเรือง ช่วงยุคทองของการค้าระหว่างไทย-จีน ตั้งแต่รัชกาลที่ 4

 เมื่อกาลเวลาผ่านไป การคมนาคมอื่นๆ ที่ทันสมัยขึ้น เข้ามาแทนที่การค้าทางเรือ ท่าเรือ ฮวย จุ่ง ล้ง ถูกลดบทบาทลง กระทั่งวันนี้ “ตระกูลหวั่งหลี” ในฐานะเจ้าของ ต้องการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม

 หัวเรือใหญ่ รุจิราภรณ์ กล่าวว่า บ้านหวั่งหลีต่างเห็นพ้องกันว่า การปลุก ฮวย จุ่ง ล้ง ให้ตื่นมารับวันลอยกระทงวันเพ็ญเดือน 12 ปีนี้ ต้องรักษารูปร่างหน้าตาแบบดั้งเดิมตั้งแต่ครั้งสร้างครั้งแรก

 เมื่อได้บูรณะขึ้นมาแล้ว จะเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะให้ประชาชน นักเรียนนักศึกษา รวมถึงนักท่องเที่ยว เข้ามาเยี่ยมชมสถานที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ ชาวจีนโพ้นทะเล ที่คงการบูรณะวัสดุแบบโบราณ เช่น ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังรอบวงกบประตู หน้าต่าง บูรณะใช้สีตรงกับของเดิม ค่อยๆ บรรจงแต้มเติมรอยจางให้ชัดขึ้น โดยไม่ได้เอาสีสมัยใหม่เข้าไประบายทับ

'ล้ง 1919' ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมเจ้าพระยา

 การบูรณะผนังอิฐส่วนแตกล่อน ก็คงสภาพไว้ตามนั้น บูรณะโดยการใช้ปูนจากธรรมชาติแบบเก่าแก่ บูรณะช่วงรอยต่อที่แตก เพื่อไม่ให้ปูนหลุดล่อนไปมากกว่าเก่า ส่วนโครงสร้างไม้สัก ส่วนไหนชำรุดก็นำไม้จากส่วนอื่นๆ ของอาคารมาต่อเติม โดยไม่ทิ้งไม้เก่า                 

 รุจิราภรณ์ ฉายภาพย้อนไปยุคทองของการค้าไทย-จีน คือหลังจากมีการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง ซึ่งมีสาระสำคัญในการเปิดฉากการค้าเสรีกับต่างประเทศในสยามประเทศ ตั้งแต่นั้นมาพ่อค้าต่างประเทศก็เข้ามาติดต่อค้าขายอย่างอิสระ เมื่อมีการเปิดเมืองท่า พระยาพิศาลศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร) ริเริ่มลงทุนสร้างเรือกลไฟ บรรทุกสินค้าที่ใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงแล่นในมหาสมุทร

 การสร้างสถานที่แห่งนี้ ราวปี 2393 เป็นท่าเรือชื่อ ฮวย จุ่ง ล้ง หมายถึงท่าเรือกลไฟ

 “ถือเป็นแหล่งการค้าธุรกิจ ตัวอาคารท่าเรือเป็นร้านค้า และโกดังเก็บสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ เช่น จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง โดยจอดเรือที่ท่าเรือด้านหน้า และนำสินค้ามาโชว์ในร้านในอาคาร เหมือนเป็นโชว์รูม ซึ่งนับเป็นท่าเรือกลไฟที่ใหญ่ที่สุดของไทยในสมัยนั้นเลยค่ะ

'ล้ง 1919' ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมเจ้าพระยา

 จนในปี 2462 ตระกูล 'หวั่งหลี' โดย ตัน ลิบ บ๊วย ได้เข้ามาเป็นเจ้าของอาคารท่าเรือ ฮวย จุ่ง ล้ง คนใหม่ต่อจากพระยาพิศาลศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร) และได้ปรับท่าเรือดังกล่าวให้กลายเป็นอาคารสำนักงานและโกดังเก็บสินค้า สำหรับกิจการการค้าของตระกูลหวั่งหลี

 ต่อมาได้ปรับโกดังเก็บสินค้าการเกษตรที่ขนส่งมาทางแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นที่อยู่อาศัยให้เช่าราคากันเองสำหรับพนักงานในพื้นที่เรื่อยมา” รุจิราภรณ์ เล่าประวัติบรรพบุรุษ

 ที่นี่ยังเป็นศูนย์รวมใจของชุมชนจีน ที่ศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว คลองสาน ประดิษฐานอยู่คู่ ฮวย จุ่ง ล้ง มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนปัจจุบัน เจ้าแม่หม่าโจ้วทำจากไม้ มี 3 ปาง ปางแรก คือปางเด็กสาว ให้พรด้านการขอบุตร ปางที่สอง คือปางผู้ใหญ่ ให้พรในด้านการค้าขายเงินทอง และปางที่สาม คือปางผู้สูงอายุ เชื่อว่าท่านประทับอยู่บนสวรรค์ และมีเมตตาจิตสูง  

 ทั้ง 3 ปางนี้ เป็นองค์ที่ชาวจีนนำขึ้นเรือเดินทางมาจากเมืองจีน เมื่อมาถึงเมืองไทยจึงอัญเชิญประดิษฐานที่ศาลแห่งนี้ อายุเก่าแก่มากกว่า 167 ปี

 คนจีนเดินทางโพ้นทะเลมาถึงฝั่งประเทศไทยก็จะมากราบสักการะท่านที่คุ้มครองให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ และเมื่อจะเดินทางกลับจีนก็จะมากราบลาเจ้าแม่หม่าโจ้วศูนย์รวมจิตใจของคนจีนในแผ่นดินไทย คนจีนทำการค้าในไทยจนเจริญร่ำรวยเป็นเศรษฐีก็ล้วนก่อร่างสร้างตัวมาจากที่นี่

 คุณค่าเชิงสุนทรียะด้านสถาปัตยกรรม ฮวย จุ่ง ล้ง ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมจีน นิยมมากในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน พื้นและเครื่องหลังคาสร้างจากไม้ เสาสร้างลักษณะป่องกลาง ลักษณะเป็นหมู่อาคารแบบ ซาน เหอ หยวน ผังอาคารโบราณ ลักษณะอาคาร 3 หลังเชื่อมต่อกัน 3 ด้าน เป็นผังรูปทรงตัว U มีพื้นที่ว่างตรงกลางระหว่างอาคารทั้ง 3 หลัง เป็นลานอเนกประสงค์

'ล้ง 1919' ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมเจ้าพระยา

 อาคารประธาน ด้านในเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว ส่วนอาคารอีก 2 หลังด้านข้าง ใช้เป็นอาคารสำนักงานและโกดังสินค้า

 อีกเสน่ห์ที่พลาดไม่ได้คือ การค้นพบจิตรกรรมฝาผนังโบราณ ซ่อนตัวอยู่ภายใต้สีที่ฉาบทับไว้ซ้ำไปมาหลายต่อหลายชั้นมายาวนาน เป็นการเขียนสีด้วยพู่กันลงบนผนังปูน จึงทำให้จิตรกรรมเหล่านั้นยังคงผนึกไว้ และไม่ถูกลบหายไป กอปรกับลักษณะการออกแบบและขนาดของแต่ละห้องที่แตกต่างกัน สะท้อนความเป็นศูนย์รวมช่างฝีมือชาวจีนในอดีต

 โครงการบูรณะเชิงอนุรักษ์ปรับโฉมสู่บทบาทใหม่ให้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ สำหรับการจัดกิจกรรม นิทรรศการ งานเลี้ยงสังสรรค์ ร้านอาหาร-คาเฟ่ ร้านจำหน่ายสินค้าศิลปะและงานฝีมือของเหล่าศิลปินรุ่นใหม่ สถานที่พักผ่อนชมวิวริมแม่น้ำ และพิพิธภัณฑ์ศึกษาประวัติศาสตร์ไทยจีนในอดีต

 โครงการ ล้ง 1919 ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่บนถนนเชียงใหม่ เขตคลองสาน เปิดให้บริการแล้วในเดือนนี้ คลิกดูรายละเอียดเฟซบุ๊ก LHONG1919 สอบถามข้อมูลโทร. 09-1187-1919