posttoday

ข้อไหล่ติดยึด อย่ายึดติด... รีบรักษา

11 พฤศจิกายน 2560

โรคเรื้อรังที่คนทำงานออฟฟิศหรือสำนักงาน ที่อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นส่วนใหญ่จะเป็นกัน

โดย โสภิตา สว่างเลิศกุล         [email protected]

 โรคเรื้อรังที่คนทำงานออฟฟิศหรือสำนักงาน ที่อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นส่วนใหญ่จะเป็นกัน เมื่อมารู้ตัวก็เรื้อรังและเป็นมากเสียแล้ว นั่นคืออาการข้อไหล่ติดยึด

 ข้อมูลจากเว็บไซต์โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้อธิบายถึงข้อไหล่ติดยึด (Frogen Shoulder) คือภาวะที่มีการขยับข้อไหล่ได้น้อย โดยมักจะเริ่มจากน้อยๆ เช่น ไม่สามารถยกไหล่ได้สุดหรือไขว่หลังได้สุด ต่อมาถ้าไม่ได้รับการรักษา จะเป็นมากขึ้นจนขยับได้น้อย หรือไม่ได้เลย

 สาเหตุหลักของข้อไหล่ยึดติด การอักเสบของเนื้อเยื่อที่อยู่รอบๆ ข้อไหล่ ซึ่งเรียกว่า เยื่อหุ้มข้อไหล่ (Capsule) ปกติเยื่อหุ้มข้อไหล่จะค่อนข้างยืดหยุ่นและสามารถขยายตัวหรือหดตัว ตามการขยับของข้อไหล่ได้ แต่เมื่อเกิดภาวะข้อไหล่ติดยึดขึ้น เยื่อหุ้มข้อไหล่ดังกล่าวจะมีการอักเสบและหดตัวจนไม่สามารถยืดหยุ่นได้เหมือนเดิม ทำให้ขยับข้อไหล่ได้ลดน้อยลง และมีอาการปวดร่วมด้วยเสมอ

 การกระแทกของข้อไหล่ การที่ขยับข้อไหล่เป็นเวลานาน การอักเสบของกล้ามเนื้อ เอ็นโดยรอบข้อไหล่ สามารถนำไปสู่การอักเสบของเยื่อหุ้มข้อไหล่ได้ทั้งสิ้นเมื่อเกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มข้อไหล่ดังกล่าว ก็ทำให้ผู้ป่วยมีภาวะข้อไหล่ติดยึดในที่สุด

ข้อไหล่ติดยึด อย่ายึดติด... รีบรักษา

 สำหรับการวินิจฉัยภาวะข้อไหล่ติดยึดต้องอาศัยการตรวจ การเคลื่อนไหวของข้อไหล่ แต่ที่สำคัญที่สุดคือการค้นหาสาเหตุของข้อไหล่ติดยึด เช่น มีการอักเสบฉีกขาดของเอ็นภายในข้อไหล่ มีหินปูนเกาะภายในข้อไหล่ ฯลฯ อีกสาเหตุหนึ่งที่มักทำให้ผู้ป่วยมีภาวะข้อไหล่ติดยึดได้มากขึ้น และรักษายากขึ้น คือโรคเบาหวานที่ขาดการควบคุมที่ดี

 เมื่อหยิบข้อมูลจากหมอชาวบ้าน ชุดหนังสือสุขภาพ Bones Care Kit กระดูก 206 ชิ้นที่ควรใส่ใจ ได้กล่าวถึง 10 สัญญาณอันตราย เสี่ยงไหล่ติด หากใครมีอาการปวดจากการกระทำดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์ทันที

 1.เอื้อมหยิบของจากที่สูงไม่ได้ 2.เอี้ยวตัวหยิบของทางด้านหลังไม่ได้ เช่น เอี้ยวหยิบของที่เบาะหลังของรถยนต์ ขณะนั่งอยู่ที่เบาะหน้า 3.เอื้อมไปรูดซิปด้านหลังเสื้อไม่ได้ 4.ยกแขนเพื่อสวมเสื้อผ่านทางศีรษะไม่ได้ 5.ทำท่าตามระเบียบพักไม่ได้

 6.ผลักบานประตูหนักๆ ไม่ได้ 7.เริ่มหมุนพวงมาลัยรถยนต์ลำบากขึ้น 8.ยกแขนขึ้นสระผมตัวเองลำบาก 9.เอื้อมไปล้วงกระเป๋ากางเกงด้านหลังลำบาก และ 10.ยกไหล่ลำบาก

 สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกายกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดข้อไหล่ติดหรือข้อไหล่ยึด มีดังนี้ “อายุ” ผู้ที่มีอายุระหว่าง 40 และ 60 ปี มีโอกาสเกิดโรคนี้สูงกว่าคนวัยอื่น “การเคลื่อนไหวข้อไหล่น้อยลง” หากเกิดอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บ จนไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อไหล่ได้ระยะเวลาหนึ่ง จะพบว่าจะเกิดข้อไหล่ติดตามมา “โรคเบาหวาน” ผู้ป่วยเบาหวานจะมีอัตราการป่วยด้วยโรคนี้สูงกว่าคนปกติ และ “โรคอื่นๆ” พบว่าโรคบางอย่างสัมพันธ์ต่อการเกิดข้อไหล่ติด เช่น โรคของต่อมไทรอยด์ และโรคหัวใจ

 อาการเจ็บไหล่ เอ็นหัวไหล่อักเสบ และอาการของข้อไหล่ติด จะก่อให้เกิดอาการปวดเจ็บตื้อๆ โดยอาการปวดจะเพิ่มขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหว อาการที่เด่นชัดคือการไม่สามารถขยับข้อไหล่ได้เลย มีอาการปวดเวลานอนทับ เจ็บไหล่ หรือเวลากลางคืนมาก อาการของโรคข้อไหล่ติดมี 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1-ระยะเจ็บปวด ผู้ป่วยจะรู้สึกว่ามีอาการเจ็บปวดค่อยๆ เป็นมากขึ้น เมื่อโรคเป็นมากขึ้นอาจมีอาการปวดแม้ไม่ได้ทำอะไร ระยะนี้มักนาน 6 สัปดาห์ ถึง 9 เดือน พิสัยการเคลื่อนไหวของข้อลดลง

 ระยะที่ 2-ระยะข้อยึด อาการปวดจากระยะแรกอาจยังคงอยู่แม้มักจะเริ่มมีอาการปวดลดลง พิสัยการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ในทุกทิศทางลดลง อาจส่งผลต่อกิจวัตรประจำวันอย่างมาก ระยะนี้ทั่วไปอาจนาน 4-9 เดือน หรืออาจนานกว่านี้ได้

 และระยะที่ 3-ระยะฟื้นตัว อาการปวดจะลดลง พิสัยการเคลื่อนไหวของข้อไหล่จะค่อยๆ ดีขึ้นในช่วง 5 เดือนถึง 2 ปี

ข้อไหล่ติดยึด อย่ายึดติด... รีบรักษา

 ข้อไหล่ติด โดยทั่วไปจะดีขึ้นได้เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ซึ่งหลักในการรักษา คือการลดความเจ็บปวดและเพิ่มพิสัยของการเคลื่อนไหว มากกว่า 70% ของผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นโดยไม่ต้องผ่าตัด โดยรับประทานยาต้านการอักเสบเพื่อลดอาการปวดและบวม การฉีดยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ โดยตรงเข้าไปในข้อไหล่ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด การออกกำลังกายที่ช่วยเพิ่มการเคลื่อนไหว และการใช้ความร้อนเพื่อช่วยคลายการยึดติดก่อนที่จะออกกำลังกายยืด

 เนื่องจากส่วนหนึ่งของผู้ป่วยที่มีข้อไหล่ติดนั้น มีสาเหตุจากภายในข้อไหล่เอง ซึ่งอาจจำเป็นต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัด ดังนั้น แพทย์เฉพาะทางจะทำการตรวจแยกสาเหตุของอาการปวดก่อนวางแผนการรักษา หากอาการไม่ดีขึ้นด้วยการรักษาวิธีอื่นๆ แล้ว แพทย์อาจแนะนำให้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด โดยวิธีการที่ใช้มากที่สุด ได้แก่ การดัดข้อไหล่เมื่อดมยาสลบ และการผ่าตัดส่องกล้องข้อไหล่

 แต่ไม่ว่าจะรักษาด้วยวิธีใดก็ตาม การทำกายภาพบำบัดนั้นจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อเพิ่มการเคลื่อนไหวและช่วยบรรเทาอาการปวด

 นพ.สุวิชาญ บำรุงเชาว์เกษม สาขาออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ ได้เขียนบทความชื่อ “ข้อไหล่ติด พิชิตได้” ไว้ว่า

 “ข้อไหล่ติดเป็นอาการที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยใช้เวลาประมาณ 18-24 เดือน ขึ้นอยู่กับตัวคนไข้เอง ว่าให้ความร่วมมือและดูแลตัวเองได้ดีแค่ไหน การทำกายภาพบำบัด คุณหมอสามารถตรวจวินิจฉัยตามระยะเวลาและอาการของโรค พร้อมกับออกแบบท่าในการบริหารหัวไหล่ให้เหมาะสมกับคนไข้เป็นรายบุคคลไป ซึ่งคนไข้สามารถกลับไปทำเองได้ที่บ้าน

 หากคนไข้มีระเบียบวินัยในการดูแลตัวเองจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติและมีความสุขได้ไม่ยาก และถ้าหากอยากห่างไกลจากอาการหัวไหล่ติด ควรดูแลปัจจัยร่วมอื่นๆ ให้ดี ใครที่เป็นเบาหวาน ไทรอยด์ ต้องคอยควบคุม หลีกเลี่ยงท่าที่มีการเหวี่ยงหรือกระตุ้นให้หัวไหล่เกิดการอักเสบได้ง่าย แต่ถ้าเมื่อไหร่อักเสบแล้วต้องรีบมารับการรักษา เพียงเท่านี้ก็สามารถพิชิตปัญหาหัวไหล่ติดได้แล้ว”