posttoday

มีทไต้หวัน การท่องเที่ยวเชิงสัมมนาแห่งเอเชีย

09 พฤศจิกายน 2560

ไต้หวันเป็นหนึ่งในประเทศของภูมิภาคที่มีความปลอดภัยสูง ระบบการเดินทางคมนาคมสะดวก มีแหล่งท่องเที่ยวและผู้คนที่เป็นมิตรทำให้ไต้หวันได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ดึงดูดผู้คนได้เดินทางมาที่นี่

 

 

ราวกลางเดือน ส.ค. ดลระวีย์ ทรัพย์พาณิชย์ พนักงาน บริษัท คิวรอน คอร์เปอร์เรชั่น ใช้เวลาว่างนั่งมองหาสถานที่ท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นการส่วนตัว แต่แล้วชั่วขณะหนึ่งที่ข้อมูลในเว็บไซต์ท่องเที่ยวผ่านสายตา เธอก็เห็นประกาศรับสมัครผู้เข้าร่วมการแข่งขันเอเชียซูเปอร์ทีม ของโครงการมีทไต้หวัน การแข่งขันสุดยอดทีมแห่งเอเชีย ที่กรุงไทเป ไต้หวัน ในการแข่งขันส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวแบบไมซ์ MICE (Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions) หรือการท่องเที่ยวเชิงสัมมนา เธอจึงลองส่งโปรไฟล์บริษัทเข้าร่วมการแข่งขันแบบไม่ได้คาดหวังอะไรมากนัก

 

ไม่นานนัก ดลระวีย์ ก็ได้รับการติดต่อกลับมาว่า ทีมบริษัทคิวรอนได้รับเลือกให้เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ หน้าที่เธอจึงต้องหาเพื่อนร่วมทีมอีก 3 คนในบริษัทที่มีความสามารถมากพอที่จะเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้จึงชักชวน จันทิมา กอบรรญสิริ พี่ใหญ่ของทีมซึ่งเคยเป็นเทรนเนอร์อบรมพนักงานและทำหน้าที่สนับสนุนโครงการต่างๆ ในบริษัทมารับหน้าที่วางแผนและกระตุ้นน้องๆ ในทีม

ได้ลูกทีมอีก 2 คน คือ อมรรัตน์ บำรุงพล ทำหน้าที่จัดหาสินค้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย เธอมีทักษะการเป็นนักวิ่งมาราธอนซึ่งช่วยได้มากในการแข่งแบบแรลลี่ สุดท้าย กุสุมา เล้นสิ้น ทำหน้าที่เป็นฝ่ายกฎหมายของบริษัทติดต่อประสานงานกับภาครัฐ ความใจเย็น มองโลกในแง่ดีและบุคลิกร่าเริงจะช่วยสร้างสีสันให้กับทีมได้

มีทไต้หวัน การท่องเที่ยวเชิงสัมมนาแห่งเอเชีย

 

 

เมื่อรวมทีมได้ครบแล้ว จันทิมา จึงติดต่อกับทีมปทุมธานี บริวเวอรี่ ที่ได้เป็นแชมป์การแข่งขันเอเชียซูเปอร์ทีม 2016 เพื่อสอบถามถึงรูปแบบการแข่งเพื่อเตรียมตัวพร้อมรับกับการแข่งขันแบบไมซ์ ที่คาดเดาได้ยากว่าจะต้องเจอกับอะไรบ้าง

วอลเตอร์ เย ประธานสภาพัฒนาการค้าต่างประเทศแห่งไต้หวัน ระบุว่า ธุรกิจไมซ์หรือการท่องเที่ยวเชิงสัมมนา มีส่วนช่วยในการสร้างรายได้การท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก “จากการวิจัยกลุ่มนักท่องเที่ยว ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อไม่นานมานี้พบว่า บริษัทต่างๆ ในภูมิภาคนี้มีแนวโน้มที่จะพาพนักงานมาสัมมนาท่องเที่ยวในต่างประเทศมากขึ้น

สำหรับไต้หวันเป็นหนึ่งในประเทศของภูมิภาคที่มีความปลอดภัยสูง ระบบการเดินทางคมนาคมสะดวก มีแหล่งท่องเที่ยวและผู้คนที่เป็นมิตรทำให้ไต้หวันได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ดึงดูดผู้คนได้เดินทางมาที่นี่”

ไม่เพียงแค่นี้ สภาพัฒนาการค้าต่างประเทศแห่งไต้หวัน ได้เปิดเผยตัวเลขที่น่าสนใจเกี่ยวกับธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสัมมนาในหลายๆ ด้านออกมาว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทต่างๆ มีแนวโน้มจะจัดทัวร์ต่างประเทศเล็กๆ ให้กับพนักงานภายในบริษัทจำนวนกลุ่มละประมาณ 10-50 คน

ในกลุ่มนี้เกือบครึ่งเป็นพนักงานระดับสูงที่มีอำนาจการตัดสินใจในเรื่องสำคัญของบริษัท รองลงมาเป็นฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ และสุดท้ายคือพนักงานที่ได้รับเลือกเป็นกรณีพิเศษและส่วนมาก บริษัทต่างๆ จะใช้เวลาในการวางแผนก่อนเดินทางสัมมนาในต่างประเทศประมาณ 1-3 เดือน สูงถึง 37 เปอร์เซ็นต์ และ 4-6 เดือนที่ประมาณ 31 เปอร์เซ็นต์ โดยพวกเขามักจะวางแผนในระยะสั้นๆ มากกว่าระยะยาว

มีทไต้หวัน การท่องเที่ยวเชิงสัมมนาแห่งเอเชีย

 

จากการสำรวจถามถึงแรงจูงใจของบริษัทต่างๆ ในการเลือก พบว่า ส่วนใหญ่อยากจะเลือกแหล่งท่องเที่ยวที่มาแล้วรู้สึกประทับใจไม่รู้ลืมและอยากจะกลับมาอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นความสวยงามของสถานที่ ความทรงจำทางด้านวัฒนธรรมท้องถิ่น อาหารอร่อย และความสะดวกสบายต่างๆ ที่มอบให้กับนักท่องเที่ยว และในจำนวนทั้งหมดนี้พบกว่ามีอยู่ราว 13 เปอร์เซ็นต์ ที่บอกว่าบริษัทมีแผนการจะกลับมาเที่ยวในที่เดิมอีกครั้ง

ธุรกิจไมซ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดประชุมบริษัทข้ามชาติ การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลแก่พนักงาน การประชุมนานาชาติ และการจัดนิทรรศการ นักท่องเที่ยวในกลุ่มนี้จะมีความแตกต่างจากนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ ก็คือพวกเขาจะมีวัตถุประสงค์หลักในการเดินทางที่ชัดเจนในการจัดคุณภาพของนักท่องเที่ยว นักธุรกิจกลุ่มนี้จัดเป็นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพสูงและมีกำลังซื้อมากกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปถึง 4 เท่า

ข้อมูลที่ได้จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ระบุว่า การท่องเที่ยวเชิงสัมมนานี้มีมูลค่ารวมทั้งโลกประมาณ 2.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในปี 2554 คาดว่า มีจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์ ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาประเทศไทย ประมาณ 7.2 แสนคน สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 57.6 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 11 เปอร์เซ็นต์ จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งหมด และคิดเป็น 6.5 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ

นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดการเจรจาการค้า การลงทุน การจัดงานแสดงสินค้า แลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดรายได้เข้าประเทศเพิ่มเติมอีกจำนวนมหาศาล และยกระดับภาพลักษณ์และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศได้อีกด้วย เรียกได้ว่าแม้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่อปีไม่สูงมากนักแต่สัดส่วนการสร้างรายได้การท่องเที่ยวนั้นไม่แพ้กลุ่มอื่นๆ เลย

มีทไต้หวัน การท่องเที่ยวเชิงสัมมนาแห่งเอเชีย

 

ย้อนกลับไปที่การแข่งขันเอเชียซูเปอร์ทีม รูปแบบการแข่งขันของปีนี้จะแบ่งการแข่งขันเป็น 3 วัน วันแรกทุกทีมก็เจอโจทย์ที่ยากและท้าทายที่สุด คือ โจทย์การทำอาหารอย่าง เสี่ยวหลงเปา และการทำขนมปังของคนในท้องถิ่น แทบทุกคนที่เข้าแข่งขันไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำอาหารแบบนี้มาก่อน ยกเว้นเพียงทีมบัน จากประเทศญี่ปุ่น ผู้ผลิตขนมที่พาเชฟเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ จึงพอมีทักษะทำให้ได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่ง แต่ทีมบริษัทคิวรอนของไทยก็ไม่ได้ย่อท้อ อาศัยทีมเวิร์กและสโลแกนประจำใจของบริษัท ก็คือ ไม่มีคำว่าไม่ หรือทำไม่ได้หากยังไม่ได้ลงมือทำ แม้จะไม่ได้อันดับที่ดีนักในวันแรก แต่ด้วยความร่าเริงของทุกคนในทีมก็สามารถดึงดูดความสนใจจากตากล้องและนักข่าวต่างประเทศได้ดีทีเดียว

วันที่สอง ทุกทีมจะต้องเรียนการแสดงและเริ่มกิจกรรมวอล์กแรลลี่ในย่านไชน่าทาวน์ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของไต้หวัน อย่าง ต้าเต้าเฉิง ที่ซึ่งทุกคนจะได้เห็นวิถีชีวิตดั้งเดิมและประวัติศาสตร์ย่านการค้าอันยาวนาน ซึ่งโจทย์ที่ได้มาไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด แม้จะทำผลงานได้ไม่ดีนักมีจุดผิดพลาดหลายจุด แต่ทุกคนดูออกว่าพยายามอย่างเต็มที่ และที่น่าประทับใจกว่านั้นก็คือทุกคนให้กำลังใจกันและกัน ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่งเป็นทีมเวิร์กที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน

มีทไต้หวัน การท่องเที่ยวเชิงสัมมนาแห่งเอเชีย

 

จันทิมา ตัวแทนทีมบริษัท คิวรอน กล่าวว่า การแข่งขันครั้งนี้ได้ทำดีที่สุดแล้ว “เราเชื่อมั่นในกันและกัน สิ่งที่เป็นความผิดพลาดถือเป็นบทเรียน ที่ทำให้เราได้เรียนรู้การทำงาน และประสบการณ์ใหม่ๆ ด้านการแข่งขันมีการทดสอบความกล้า ความอดทน ความคิดสร้างสรรค์ และการทำงานเป็นทีมเวิร์ก จากประสบการณ์ในการทำงานร่วมกันมาในบริษัทมาใช้ภายใต้แรงกดดัน เพื่อสร้างประสบการณ์ในการทำงานใหม่ๆ จากสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนและเงื่อนไขเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อผ่านด่านทดสอบต่างๆ ตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของไต้หวัน แม้โจทย์การแข่งจะยากแต่ทีมบริษัทคิวรอนของเรามีวัฒนธรรมองค์กรของเราอย่างหนึ่งก็คือ ห้ามพูดคำว่าไม่ โดยที่ยังไม่ได้เริ่มลองทำ จนกว่าเราจะได้พยายามลองทำด้วยตัวเองดูก่อน

ที่ผ่านมา แม้เราจะไม่เคยทำมาก่อน แต่พวกเราก็ทำได้ดี อย่างทำเสี่ยวหลงเปาเราก็ได้คะแนนรองจากญี่ปุ่น ที่มีเชฟมาด้วย หรืออย่างแรลลี่เราพลาดที่การตีความของภาษาที่คลุมเครือทำให้เราเสียเวลาหลงอยู่เป็นชั่วโมง แต่เราก็ได้อันดับ 4 ส่วนตัวแล้วรู้สึกพอใจและภูมิใจในทีมของเราทุกคน และหากมีโอกาสปีหน้าจะขอกลับมาแก้มืออีกครั้ง”

การแข่งขันครั้งนี้หากดูเพียงผิวเผินเป็นการจัดการแข่งขันเพื่อโปรโมทการท่องเที่ยวแบบไมซ์ของไต้หวัน แต่สิ่งที่พวกเขาได้กลับไปมากกว่านั้นก็คือ ชื่อเสียงและการเจรจาต่อยอดทางธุรกิจข้ามชาติ ที่จะนำรายได้เข้าประเทศได้อีกมหาศาล ของทีมจากบริษัทต่างประเทศอีก 7 ประเทศ ซึ่งมีทั้งบริษัทที่ทำธุรกิจการเงิน อาหาร ความสวยความงาม สุขภาพ และเทคโนโลยี หากบริษัทเหล่านี้สนใจธุรกิจอื่นๆ ในไต้หวันก็ไม่ใช่เรื่องยากที่พวกเขาจะติดต่อเจรจาทางธุรกิจในอนาคต