posttoday

ลึกซึ้งถึงสกุลช่าง ในศาลาลูกขุนรอบพระเมรุ

07 พฤศจิกายน 2560

พระเมรุมาศถือเป็นการออกแบบสถาปัตยกรรมไทยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคสมัยนี้ การก่อสร้างที่พิถีพิถันโดยเหล่าช่างศิลป์จากทั่วประเทศที่ร่วมแรงร่วมใจกัน

 

พระเมรุมาศถือเป็นการออกแบบสถาปัตยกรรมไทยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคสมัยนี้ การก่อสร้างที่พิถีพิถันโดยเหล่าช่างศิลป์จากทั่วประเทศที่ร่วมแรงร่วมใจกัน และหลังจากพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร นับเป็นอีกหนึ่งวาระดีที่คนไทยจะได้เรียนรู้ถึงคุณค่าด้านศิลปะและวัฒนธรรมไทย ผ่านนิทรรศการพระเมรุมาศที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมเป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 2-30 พ.ย. 2560 ดังนั้น นอกจากข้อปฏิบัติด้านการแต่งกายและมารยาทในการเข้าชมที่พึงปฏิบัติแล้ว การศึกษาศิลปะอย่างลึกซึ้งจากงานพระเมรุนี้ จึงนับเป็นสิ่งที่ผู้สนใจด้านศิลปะไม่ควรพลาด

ภายในนิทรรศการพระเมรุมาศ นอกจากศาลาทรงธรรมที่บอกเล่าพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจนานัปการแล้วนั้น สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ เช่น ศาลาลูกขุน ทั้ง 6 หลัง ยังบอกเล่าและเป็นส่วนขยายขั้นตอน เรื่องราวการจัดสร้างพระเมรุมาศและสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศในทุกๆ ส่วน แสดงแนวคิดและขั้นตอนการทำงาน ทั้งงานสถาปัตยกรรม งานประติมากรรมและจิตรกรรมประดับพระเมรุมาศ งานประณีตศิลป์ในส่วนของพระโกศจันทน์ พระโกศทองคำ เครื่องสังเค็ด และการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ รวมทั้งการเตรียมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศในพระราชพิธี ตลอดจนการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ผ่านมา

 

 

ลึกซึ้งถึงสกุลช่าง ในศาลาลูกขุนรอบพระเมรุ

 

ศาลาลูกขุน “สมมติเทวพิมาน”

ศาลานิทรรศการสมมติเทวพิมาน จัดแสดงสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ ประกอบด้วย หุ่นจำลองพระเมรุมาศและพระจิตกาธานในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นโอกาสที่ประชาชนจะได้เห็นรายละเอียดของพระเมรุมาศอย่างใกล้ชิด รวมถึงนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระเมรุมาศในอดีตเพื่อเป็นความรู้ให้กับประชาชนอีกด้วย

 

พระจิตกาธาน คืออะไร และอยู่ส่วนไหนในพระเมรุมาศ?

ข้อมูลจากหนังสือธรรมเนียมปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดงานพระบรมศพ โดยคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กล่าวถึงพระจิตกาธาน ว่า เชิงตะกอน หรือฐานที่ทำขึ้นสำหรับเผาศพ เป็นคำที่ใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ ประกอบด้วยแท่นฐานสำหรับเผาทรงสี่เหลี่ยม ภายในใส่ดินเสมอปากฐานสำหรับวางฟืน ไม้จันทน์ พระจิตกาธาน มักประดับตกแต่งด้วยกระดาษสีและเครื่องสด เช่น ดอกไม้ ใบไม้ ใบตอง หยวกกล้วยและผลไม้บางชนิด เป็นต้น สำหรับเป็นเครื่องกันไฟในการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 นั้น พระจิตกาธานตั้งอยู่บนฐานชาลาชั้นบนสุดภายในบุษบกองค์ประธาน

 

 

ลึกซึ้งถึงสกุลช่าง ในศาลาลูกขุนรอบพระเมรุ

 

ศาลาลูกขุน “ตระการวิจิตรศิลปกรรม”

เพื่อศึกษาเรื่องราวภายในพระจิตกาธานให้มากขึ้น ศาลานิทรรศการตระการวิจิตรศิลปกรรมจึงเป็นจุดที่ห้ามพลาด ด้วยเป็นศาลาจัดแสดงหีบพระบรมศพจันทน์ พระโกศจันทน์ ท่อนฟืนไม้จันทน์ที่ใช้ในการถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง รัชกาลที่ 9 และเครื่องสดที่ใช้ประกอบพระจิตกาธาน ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้ยึดถือตามแบบของพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ รัชกาลที่ 6 โดยรวบรวมช่างหลวง ช่างฝีมือ 4 ภาค มากกว่า 300 คน ในการจัดทำเครื่องสดประกอบพระจิตกาธานครั้งนี้ โดยชิ้นงานที่จัดแสดงในนิทรรศการพระเมรุ ร้อยละ 90 เป็นของจริงที่ถอดมาจากพระเมรุมาศองค์จริง สำหรับเครื่องสดที่ใช้ประกอบพระจิตกาธานทั้งเถาปาริชาต และตาข่ายดอกรักจากฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ล้วนเป็นของจริงที่อัญเชิญลงมาจากบนพระจิตกาธาน โดยดอกไม้จะสามารถอยู่คงทนได้นานหลายปี

นอกจากนี้ นิทรรศการยังจัดแสดงเครื่องมือช่างและความรู้เทคนิคเชิงช่างในการใช้ลายซ้อนไม้ประดิษฐ์หีบพระบรมศพจันทน์และพระโกศจันทน์ โดยอธิบายความรู้อย่างเข้าใจง่ายเพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถนำไปทดลองทำเองที่บ้านได้ ซึ่งเป็นการสืบทอดเจตนารมณ์ของในหลวง รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงให้ความสำคัญกับวิชาช่างของประเทศไทย

 

 

ลึกซึ้งถึงสกุลช่าง ในศาลาลูกขุนรอบพระเมรุ

 

ศาลาลูกขุน “ณ วิธานสถาปกศาลา”

ภายในเป็นนิทรรศการขยายแบบสู่การก่อสร้าง ซึ่งข้อมูลจากกลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร เผยว่า การก่อสร้างพระเมรุมาศของในหลวง รัชกาลที่ 9 กรมศิลปากรได้ออกแบบมาถึง 8 แบบ โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ที่ปรึกษาการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ มีพระราชกระแสรับสั่งให้การออกแบบพระเมรุมาศในครั้งนี้ว่า “ไม่ให้เหมือนที่เคยมีมา” และมีพระราชวินิจฉัยเลือกพระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอด 7 ชั้นเชิงกลอน

พระเมรุมาศทรงบุษบกของในหลวง รัชกาลที่ 9 จะมีลักษณะพิเศษในหลายๆ ด้านไม่เหมือนที่เคยมีมาเป็นการสืบสาน และเกิดการพัฒนาศิลปกรรมงานช่างในหลายแขนง นอกจากนี้ การก่อสร้างพระเมรุมาศยังใช้วัสดุบางอย่างทั้งในการก่อสร้าง และการประดับตกแต่งที่เปลี่ยนตามยุคสมัย เช่น การใช้ไฟเบอร์กลาสมาแทนงานซ้อมไม้ ซึ่งเป็นการสร้างชิ้นงานแทนลายแกะสลักนอกจากจะช่วยย่นระยะเวลาแล้ว ก็ยังรักษารูปแบบของศิลปะการออกแบบดั้งเดิมไว้ได้ โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นเหล็กรูปพรรณนำมาประกอบและยึดกันด้วยนอต มีจำนวนมากกว่า 4 หมื่นชิ้น น้ำหนักรวม 800 ตัน ไม่มีการตอกเสาเข็มเป็นรากฐาน

 

ลึกซึ้งถึงสกุลช่าง ในศาลาลูกขุนรอบพระเมรุ

 

ศาลาลูกขุน “ประติมาสร้างสรรค์”

การจัดสร้างประติมากรรมประกอบพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีการใช้หลักแนวคิดตามคติความเชื่อไตรภูมิ และมีหลักการจัดวางที่สอดคล้องกันกับงานสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ และยังเป็นประติมากรรมที่มีรูปแบบตามแบบสมัยรัชกาลที่ 9 ศาลานิทรรศการประติมาสร้างสรรค์ จึงจัดแสดงชิ้นงานประติมากรรมประกอบพระเมรุมาศ โดยมีใจความสำคัญหลัก คือ การจัดแสดงขั้นตอนและวิธีการทำประติมากรรม ซึ่งมีความแตกต่างกันตามเทคนิคของช่าง ทั้งจากสำนักงานช่างสิบหมู่ เพาะช่าง ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพ และช่างปั้นปูนสด จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นปูนตำสูตรเพชรบุรี สัตว์หิมพานต์ที่ใช้ตกแต่งบริเวณสระอโนดาตบริเวณฐานสี่มุมของพระเมรุมาศ ประกอบด้วย สัตว์หิมพานต์ตระกูลสิงห์ ม้า และวัว รวมถึงสัตว์ผสม ประมาณ 120 ชิ้นงาน

ทั้งหมดนี้นอกจากจะทำให้เห็นถึงความแตกต่างกันของประติมากรรมแล้ว ยังทำให้เห็นถึงความหลากหลายของงานศิลปหัตถกรรมไทยโบราณที่ไม่อาจพบเห็นได้ทั่วไป โดยงานประติมากรรมทั้งหมดในศาลานิทรรศการเป็นชิ้นงานจำลองเสมือนจริงเพื่อให้ประชาชนเห็นรายละเอียดได้อย่างใกล้ชิด และเห็นความล้ำค่าของงานศิลปะไทย

 

 

ลึกซึ้งถึงสกุลช่าง ในศาลาลูกขุนรอบพระเมรุ

 

ศาลาลูกขุน “ยาตรากฤษฎาธาร”

ศาลานิทรรศการยาตรากฤษฎาธารว่าด้วยการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ โดยได้จัดแสดงต้นแบบของพระที่นั่งราเชนทรยานน้อยในอัตราส่วน 1 ต่อ 2 ซึ่งเป็นต้นแบบก่อนลงมือสร้างจริง ล้อของพระมหาพิชัยราชรถ (วงใหญ่) และล้อของราชรถน้อย (วงเล็ก) ซึ่งทั้งสองล้อเป็นล้อจริง ทว่า ไม่ได้ใช้ในวันงานพระราชพิธี เชือกของพลฉุดชัก โดยกรมอู่ทหารเรือได้นำเชือกที่ใช้ฉุดชักมาจัดแสดง ส่วนประกอบพระมหาพิชัยราชรถ เช่น ปีกแมลงทับ ธงงอ และผ้า และแสดงให้เห็นถึงขั้นการบูรณปฏิสังขรณ์ การลงรักและติดกระจกประดับ รวมถึงการจัดแสดงข้อมูลถึงลักษณะของพระที่นั่งราเชนทรยานและพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย และการสร้างพระที่นั่งราเชนทรยานน้อยและราชรถปืนใหญ่ด้วย

อย่างไรก็ตาม สำหรับประชาชนที่ต้องการชมพระราชรถองค์จริง สามารถเข้าชมได้ที่ โรงราชรถ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ซึ่งเปิดให้ชมในบริเวณใกล้เคียงกัน

 

ลึกซึ้งถึงสกุลช่าง ในศาลาลูกขุนรอบพระเมรุ

 

ศาลาลูกขุน “สวรรค์บรรจงวาด”

ศาลานี้จะเล่าถึงแนวคิด ตลอดจนขั้นตอนการวาดจิตรกรรมในฉากบังเพลิง โดยนำเรื่องราวพระราชกรณียกิจในหลวง รัชกาลที่ 9 มาวาดเป็นภาพประกอบเป็นส่วนหนึ่ง ทางคณะทำงานได้นำเรื่องราวของพระนารายณ์อวตาร พระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 ที่มีทั้งหมด 10 ปาง แต่น้อมนำมาเพียง 8 ปาง วาด 4 ทิศ 4 ด้าน แต่ละด้านมี 4 ชิ้น แต่ละชิ้นมี 2 ส่วน คือด้านบนกับด้านล่าง ด้านบนเป็นเนื้อหาเทวดาที่อวตารลงมาทำความดี และเป็นการรับเทวดากลับคืนสู่สรวงสวรรค์ ส่วนด้านล่างเป็นโครงการพระราชดำริแต่ละด้าน หมวด ดิน น้ำ ลม ไฟ ฉากบังเพลิงและจิตรกรรมฝาผนังโครงการพระราชดำรินำสัมผัสพระสุเมรุ

ความพิเศษของนิทรรศการพระเมรุมาศ มีศาลานิทรรศการนำสัมผัสพระสุเมรุที่ตั้งอยู่ในทับเกษตร ด้านหน้าทางเข้าก่อนถึงศาลาลูกขุนเพื่อให้ผู้พิการทางสายตาได้มีโอกาสสัมผัสความสวยงามของพระเมรุมาศ รวมถึงงานศิลปะและประติมากรรมประดับตกแต่ง

ผู้พิการทางสายตาจะมีอาสาสมัครพานำชม โดยเริ่มต้นจากแผนผังพระเมรุมาศในรูปแบบภาพนูนต่ำเพื่อให้ผู้พิการทางสายตาได้สัมผัสไปพร้อมกับจินตนาการได้ถึงอาณาเขตและลักษณะของอาคารก่อสร้างในบริเวณพระเมรุมาศ จากนั้นจะได้สัมผัสพระเมรุมาศสามมิติ งานสถาปัตยกรรมพื้นฐาน เช่น การซ้อนชั้นไม้ และการทำศิลปะผ้าทองย่น สาบสีสอดแวว และงานประติมากรรมที่จำลองมาทุกขนาด เช่น พญาครุฑ เป็นงานประติมากรรมขนาดใหญ่ที่อยู่บริเวณชั้นชานชาลาของพระเมรุมาศ ราวบันไดพญานาค สัตว์หิมพานต์ เทวดานั่งส้นหรือเทวดาอัญเชิญโคมไฟประดับรอบพระเมรุมาศในเวลากลางคืน

ทั้งหมดผู้พิการทางสายตาสามารถสัมผัสแทนการมองด้วยตา รวมถึงสามารถรับทราบข้อมูลเบื้องต้นของประติมากรรมแต่ละชิ้นโดยสังเขปผ่านอักษรเบรลล์ และซีดีเสียงบรรยายนิทรรศการ ส่วนผู้พิการทางการได้ยินจะมีจิตอาสานำชมด้วยภาษามือ

อาจกล่าวได้ว่า ศาลานิทรรศการนำสัมผัสพระสุเมรุได้รวบรวมใจความสำคัญของพระเมรุมาศไว้ถึงร้อยละ 70 เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาและทางการได้รับชมส่วนประกอบต่างๆ ของพระเมรุมาศไม่ต่างจากคนทั่วไป

สำหรับการเตรียมตัวเพื่อศึกษาและซึมซับความรู้ด้านศิลปกรรมไทยในงานพระเมรุมาศนั้น ควรศึกษาข้อมูลเบื้องต้นจากแผ่นพับที่นิทรรศการแจกให้และสามารถสอบถามขอความรู้จากเจ้าหน้าที่ที่คอยบรรยายได้ด้วยเช่นกัน