posttoday

‘พระที่นั่งทรงธรรม’ นิทรรศการส่วนประกอบพระเมรุมาศที่คนไทยต้องชม

06 พฤศจิกายน 2560

นิทรรศการเนื่องในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

 

นิทรรศการเนื่องในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่เปิดให้ประชาชนได้เข้าชมความงดงามของพระเมรุมาศ เต็มไปด้วยสิ่งอันทรงคุณค่ามากมาย นอกเหนือพระเมรุมาศอันเป็นส่วนประกอบหลัก ยังมีสิ่งก่อสร้างรอบพระเมรุมาศเต็มไปด้วยสิ่งที่ประชาชนไทยควรรู้เกี่ยวกับพระมหากรุณาธิคุณที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 มีต่อปวงชนชาวไทย เช่น โครงการตามแนวพระราชดำริ พระที่นั่งทรงธรรมที่อัดแน่นไปด้วยพระราชประวัติอย่างละเอียดของพระองค์ ตลอดจนการทรงงาน การจำลองโต๊ะทรงงานส่วนพระองค์ให้ประชาชนได้ชม นอกจากนี้ ในพระที่นั่งทรงธรรมยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังโครงการตามแนวพระราชดำริครบทุกภาคทั่วประเทศ ล้วนเป็นภาพที่งดงามยิ่ง

 

‘พระที่นั่งทรงธรรม’ นิทรรศการส่วนประกอบพระเมรุมาศที่คนไทยต้องชม

 

‘กังหันชัยพัฒนา’ โครงการตามแนวพระราชดำริ

ด่านหน้าของพระเมรุมาศที่ประชาชนควรศึกษาก็คือ โครงการตามแนวพระราชดำริ ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าของพระเมรุมาศ รวมเรียกว่า ภูมิทัศน์ด้านหน้าพระเมรุมาศ สะท้อนให้เห็นพระราชกรณียกิจในหลวง รัชกาลที่ 9 อันเนื่องมาจากโครงการพระราชดำริ อาทิ จัดแสดงพันธุ์ข้าวพระราชทาน หญ้าแฝก ต้นยางนา มะม่วงมหาชนก กังหันชัยพัฒนา เป็นต้น   

นอกจากนี้ ด้านในยังมีนิทรรศการส่วนต่างๆ ตั้งแต่

1.พระเมรุมาศ : ไม่อนุญาตให้เดินชมด้านบน

2.พระที่นั่งทรงธรรม

3.ศาลาลูกขุน 6 หลัง : จัดแสดงนิทรรศการพระเมรุมาศและสิ่งปลูกสร้างประกอบ งานบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ ได้แก่ ศาลาลูกขุนหลังที่ 1 “สมมติเทวพิมาน” จัดแสดงนิทรรศการสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ ศาลาลูกขุนหลังที่ 2 “ณ วิธานสถาปกศาลา” จากแบบขยายสู่การก่อสร้าง ศาลาลูกขุนหลังที่ 3 “ประติมาสร้างสรรค์” งานประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ ศาลาลูกขุนหลังที่ 4 “สวรรค์บรรจงวาด” ฉากบังเพลิงและจิตรกรรมฝาผนังโครงการพระราชดำริ ศาลาลูกขุนหลังที่ 5 “ยาตรากฤษฎาธาร” การบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ นอกจากมีราชรถและพระยานมาศแล้ว ยังมีรายละเอียดของราเชนทรยานน้อยหลังใหม่ และราชรถปืนใหญ่ที่บูรณะขึ้นมาเพื่อพระราชพิธีครั้งนี้ เมื่อก้าวขึ้นมาบนศาลาจะพบกับร่างตัวต้นแบบของพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย มีบอร์ดอธิบายรูปแบบราเชนทรยานน้อยกับพระที่นั่งราเชนทรยานมีความแตกต่างกันอย่างไร อุปกรณ์สีและส่วนประกอบอื่นๆ กว่าจะมาเป็นพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย เช่น ธงมอญ ปีกแมลงทับอันเป็นของตกแต่งให้สวยงาม มีล้อพระมหาพิชัยราชรถที่ไม่ได้ใช้จริง มีเชือกฉุดชักของกรมอู่ทหารเรือจัดแสดงด้วย ศาลาลูกขุนหลังที่ 6 “ตระการวิจิตรศิลปกรรม” งานประณีตศิลป์ในพระราชพิธี อาทิ งานดอกไม้สดและดอกไม้ประดิษฐ์ การจัดสร้างพระโกศพระบรมอัฐิ มีการอัญเชิญกรองดอกไม้ฝีพระหัตถ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เคยประดับยังชั้นยอดบนสุดของพระจิตกาธานมาให้ชมด้วย 

4.ทับเกษตร : “นำสัมผัสพระสุเมรุ” นิทรรศการเพื่อผู้พิการทางสายตา จัดแสดงแผนผังพระเมรุมาศพร้อมอักษรเบรลล์ และสัตว์หิมพานต์ให้ใช้มือสัมผัสได้ แต่ละส่วนมีวิทยากรผู้บรรยายจากกระทรวงวัฒนธรรมคอยให้ความรู้ทุกจุดและสามารถพูดได้ 2 ภาษา 

 

‘พระที่นั่งทรงธรรม’ นิทรรศการส่วนประกอบพระเมรุมาศที่คนไทยต้องชม

 

‘พระที่นั่งทรงธรรม’ อัดแน่นด้วยพระราชประวัติ 

ก่อนเข้าไปชมเนื้อหาสาระด้านในของพระที่นั่งทรงธรรม อย่าลืมชมความงดงามของคุณโจโฉและคุณทองแดงสุนัขทรงเลี้ยง ผลงานประติมากรรมของอาจารย์ชิน ประสงค์ ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ พระที่นั่งทรงธรรม ที่มีความสำคัญ รองลงมาจากพระเมรุมาศ เป็นอาคารสำหรับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ประทับทรงธรรมและประกอบพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุ และมีที่สำหรับต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองด้วย ขนาดของพระที่นั่งทรงธรรมในพระราชพิธีครั้งนี้ จะมีการขยายให้ใหญ่ เป็นอาคารชั้นเดียวยกฐานสูง ขนาดสูง 22 เมตร ยาว 155 เมตร ตั้งอยู่กึ่งกลางด้านทิศตะวันตกของพระเมรุมาศ หลักในการออกแบบที่สำคัญนอกจากจะต้องสวย สง่า ตรงตามโบราณราชประเพณีแล้ว ยังต้องสอดคล้องกับพระเมรุมาศ และไม่ให้โดดเด่นเกินกว่าพระเมรุมาศ

นิทรรศการ ณ พระที่นั่งทรงธรรม “พระผู้ทรงเป็นนิรันดร์” ตั้งอยู่ทางฝั่งทิศใต้ ด้านในประมวลภาพพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระมหากรุณาธิคุณซาบซึ้งแล้วในหมู่ปวงชนชาวไทยและประชาคมโลก มีนิทรรศการรถไถ “ควายเหล็ก” เกษตรคือชีวิต รถไฟพระที่นั่ง ราชพาหนะแรกเสด็จฯ เยี่ยมราษฎร ตลอดจนรถยนต์พระที่นั่ง บุกป่าฝ่าดงทรงมุ่งไป

สำหรับนิทรรศการแบ่งเป็น 5 โซน เริ่มต้องขึ้นจากด้านฝั่งทิศใต้หรือทางซ้ายมือสุดไปสิ้นสุดที่ฝั่งทิศเหนือของพระที่นั่ง แบ่งเป็น โซนที่ 1 เมื่อเสด็จอวตาร แสดงพระราชประวัติ พระราชจริยวัตรของพระองค์ตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ในส่วนที่เกี่ยวเนื่องด้วยวังสระปทุมซึ่งเป็นที่ประทับแห่งแรกในประเทศไทย หลังจากโดยเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชินีนาถจากสหรัฐ นิวัตประเทศไทยตั้งแต่พระชนมพรรษา 1 พรรษา ทรงได้รับการอภิบาลจากสมเด็จพระบรมราชชนนี และสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทั้งด้านการศึกษาและอบรมให้มีพระอุปนิสัยและพระราชจริยวัตรอันงดงามและทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ประเสริฐ

โซนที่ 2 รัชกาลที่ร่มเย็น เล่าเรื่องอุปกรณ์ทรงงานที่พระองค์ใช้ในการพัฒนาประเทศ ได้แก่ กล้องถ่ายรูป อุปกรณ์ยุคแรกที่ทรงงาน แผนที่ซึ่งเป็นภาพแทนแผ่นดินไทย ดินสอที่ทรงใช้ระบุพิกัดโครงการในพระราชดำริ วิทยุสื่อสารเพื่อช่วยเหลือราษฎรยามฉุกเฉิน มุมที่ซึ้งกินใจสุดๆ คือโต๊ะทรงงานของพระองค์อันแสนเรียบง่าย ด้านบนมีแผนที่ ดินสอ และวิทยุสื่อสารวางอยู่บนนั้น

โซนที่ 3 เพ็ญพระราชธรรม นำเสนอเรื่องราวของธรรมิกราชาผู้ทรงครองแผ่นดินด้วยทศพิธราชธรรม

โซนที่ 4 นำพระราชไมตรี นำเสนอการทรงงานด้านการต่างประเทศของพระองค์และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 นับตั้งแต่ พ.ศ. 2502 เสด็จเยือนเวียดนามและประเทศแถบเอเชีย ต่อด้วยการเสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกา ทวีปยุโรป ฯลฯ ผลของการเสด็จฯ เยือนนำมาซึ่งสัมพันธไมตรีที่ดีต่อมิตรประเทศ หลักการในการพัฒนาโครงการต่างๆ อันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวไทยและเป็นที่ยอมรับในประชาคมโลก สถาบันและองค์กรต่างประเทศได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลสดุดีพระเกียรติยศมากมาย

โซนที่ 5 พระจักรีนิวัตฟ้า โซนนี้ขอให้หยุดฟังเพลงสักนิดเพราะไพเราะกินใจเหลือเกิน เป็นการประมวลภาพหลังจากประกาศของสำนักพระราชวังโดยประชาชนนับแสนหลั่งไหลจากทั่วประเทศเดินทางมากราบถวายบังคมพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มีพระราชสาส์น และแถลงการณ์แสดงความอาลัย มายังพระบรมวงศานุวงศ์และประชาชนชาวไทย

 

‘พระที่นั่งทรงธรรม’ นิทรรศการส่วนประกอบพระเมรุมาศที่คนไทยต้องชม

 

ภาพจิตรกรรมโครงการตามแนวพระราชดำริ

สิ่งที่น่าสนใจอื่นในพระที่นั่งทรงธรรมก็คือ ผนังทึบภายในพระที่นั่งทรงธรรมจะจัดเป็นพื้นที่จัดแสดงภาพวาดจิตรกรรมโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวนทั้งสิ้น 46 โครงการ ในเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 237 ตารางเมตร แบ่งเป็นภาพจิตรกรรมโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริแบ่งเป็น 3 ส่วน

ส่วนแรกผนังที่ 1 อยู่กลางห้อง เป็นภาพพื้นที่การทรงงานในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้แก่ มูลนิธิราชประชาสมาสัย อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ พ.ศ. 2496 พระราชทานทุนอานันทมหิดล เป็นทุนเริ่มแรกในการจัดสร้างอาคารในบริเวณสถานพยาบาลโรคเรื้อนพระประแดง การบริหารจัดการน้ำท่วม การก่อสร้างคันกั้นน้ำ การก่อสร้างทางผันน้ำ และการปรับปรุงตกแต่งสภาพลำน้ำ โครงการแก้มลิง พ.ศ. 2538 โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา พ.ศ. 2504 เป็นต้น

ผนังที่ 2 อยู่ด้านฝั่งทิศใต้ พื้นที่โครงการพระราชดำริภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ การอนุรักษ์ดิน พ.ศ. 2531 โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบน อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร พ.ศ.  2537 เป็นต้น

ผนังส่วนที่ 3 อยู่ฝั่งทิศเหนือ เป็นโครงการพระราชดำริพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่เนินธัมมัง อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช พ.ศ. 2536 ป้องกันน้ำเปรี้ยวจากทุ่งพรุและน้ำเค็มเข้าพื้นที่ทำกินของราษฎรและจัดการระบบน้ำจืดช่วยเหลือราษฎรให้สามารถทำเกษตรกรรมได้ตลอดปี โครงการศึกษาพัฒนาพิกุลทอง อ.เมือง จ.นราธิวาส พ.ศ. 2525 เป็นโครงการพัฒนาดินอินทรีย์และดินที่มีปัญหาอื่นๆ ในพื้นที่พรุให้ดีขึ้น

โครงการฝนหลวง (ปฏิบัติการฝนหลวงดับไฟป่าพรุโต๊ะแดง จ.นราธิวาส สภาวะแห้งแล้งและผู้ลักลอบเข้าไปแผ้วถางทำให้เกิดไฟป่า ฝนหลวงจึงเป็นภารกิจพิเศษช่วยดับไฟ โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มขนาดเล็ก สหกรณ์โคนมอ่าวลึก อ.ปลายพระยา จ.กระบี่ พ.ศ. 2527 แปรรูปผลปาล์มสดเป็นน้ำมันปาล์มดิบที่มีคุณภาพเทียบเท่าโรงงานใหญ่

โครงการพระราชดำริภาคกลาง ได้แก่ โครงการขยายผลทฤษฎีใหม่ บริเวณรอบพื้นที่วัดมงคลชัยพัฒนา จ.สระบุรี พ.ศ. 2531 โครงการชั่งหัวมัน อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี โครงการเขื่อนขุนด่านปราการชลฯ อ.เมือง จ.นครนายก พ.ศ. 2536 โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี โครงการศูนย์ศึกษาพัฒนาเขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เป็นต้น

ผู้ที่เข้าไปชม อย่าลืมแหงนมองเพดานของพระที่นั่งทรงธรรม เพราะช่างศิลป์ได้บรรจงวาดและติดประดับไว้งดงามยิ่งนัก


‘พระที่นั่งทรงธรรม’ นิทรรศการส่วนประกอบพระเมรุมาศที่คนไทยต้องชม

 

กติกามารยาทที่ควรรู้

นิทรรศการเปิดให้ประชาชนเข้าชมในเบื้องต้นตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 พ.ย. เวลา 07.00-22.00 น. รอบละ 5,500 คน แบ่งเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 700 คน ใช้เวลารอบละ 1 ชั่วโมง (15 นาทีแรกถ่ายภาพ ณ บริเวณพื้นที่ด้านหน้า 45 นาทีหลัง เดินถ่ายภาพอิสระในพื้นที่ที่กำหนด) และก่อนหมดเวลา เข้าชม 5 นาที จะมีสัญญาณแจ้งหมดเวลาเข้าชม เพื่อเปิดให้รอบต่อไปได้เข้ารองรับประชาชน ได้วันละ 1.04 แสนคน/วัน ขอความร่วมมือ คือ หากหมดเวลาแล้วควรรีบออกไปเพื่อให้คนรอบอื่นๆ ได้เข้ามาชม ไม่อย่างนั้นคนจะหนาแน่นและพลุกพล่าน ไม่มีสมาธิในการชม

ผู้เข้าชมนิทรรศการสามารถผ่านได้ 5 จุดคัดกรอง ได้แก่ บริเวณหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ บริเวณท่าช้าง บริเวณหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และบริเวณด้านหลังกระทรวงกลาโหม

การแต่งกาย - สุภาพบุรุษสวมเสื้อมีแขน (ไม่บาง ไม่รัดรูป) กางเกงขายาว ไม่สวมกางเกงยีนส์ ไม่สวมกางเกงยีนส์ฟอก-ขาดวิ่นหรือรัดรูป สวมรองเท้าแบบสุภาพ ไม่สวมรองเท้าแตะ

สุภาพสตรีสวมเสื้อมีแขน (ไม่บาง ไม่รัดรูป ไม่เอวลอย) สวมกระโปรงยาวคลุมเข่าหรือกางเกงขายาวทรงสุภาพ ไม่สวมกางเกงยีนส์ฟอก-ขาดวิ่น ไม่บาง ไม่รัดรูป สวมรองเท้าแบบสุภาพ ไม่สวมรองเท้าแตะ

- นักเรียน นิสิต นักศึกษา สวมเครื่องแบบตามราชการกำหนด

- กลุ่มชาติพันธุ์ สวมชุดพื้นถิ่น

ขอความร่วมมือผู้เข้าชม ดังนี้ ห้ามขึ้นพระเมรุมาศเด็ดขาด ไม่แตะต้อง ไม่สัมผัสพระเมรุมาศ ตลอดจนสิ่งที่นำมาจัดแสดงตลอดจนไม่ดึง ไม่เด็ด ไม่เหยียบ ไม่สร้างความเสียหายแก่ไม้ดอกและพืชพันธุ์ภายในงาน ควรถ่ายรูปในพื้นที่ที่กำหนดไว้ ถ่ายภาพด้วยกิริยาสำรวม ไม่ควรถ่ายเซลฟี่ ไม่ควรเฟซบุ๊กไลฟ์ และควรทิ้งขยะในบริเวณที่จัดให้เท่านั้น