posttoday

ลึกถึงแหล่ง... เส้นทางผักผลไม้ปลอดภัย

02 พฤศจิกายน 2560

ขานรับปีแห่งการบริโภคผักผลไม้ปลอดภัย และจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใส่ใจเรื่องโภชนาการ


คนไทยยังบริโภคผักผลไม้ต่ำกว่าข้อแนะนำที่องค์การอนามัยโลกที่กำหนดไว้ 400 กรัม/วัน และการเข้าถึงผักผลไม้ปลอดภัยยังมีน้อย ปัจจัยดังกล่าวทำให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผลักดันให้เพิ่มอัตราการบริโภคผักและผลไม้อย่างเพียงพอตามคำแนะนำ เพื่อขานรับปีแห่งการบริโภคผักผลไม้ปลอดภัย และจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใส่ใจเรื่องโภชนาการ

สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่าย จึงร่วมจัดการประชุมวิชาการเรื่อง “กินผักผลไม้ปลอดภัย 400 กรัม เพื่อสุขภาพ” เพื่อนำความรู้มานำเสนอต่อสาธารณะ ตลอดจนเป็นเวทีพบปะแลกเปลี่ยนระหว่างนักวิชาการ ผู้ผลิต และผู้บริโภค เน้นการมีส่วนร่วมตลอดห่วงโซ่อุปทานและเข้าใจให้ลึกถึงแหล่งผลิตอาหารปลอดภัย

ข้อมูลจากกรมการส่งเสริมการเกษตร ระบุว่า พื้นที่ส่วนของภาคการเกษตรทั้งหมดของไทย ส่วนใหญ่ยังเป็นข้าว รองลงมาคือพื้นที่ปลูกผลไม้และสวนผักรวมไปถึงไม้ดอกและไม้ ประดับเพียง 1% ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งแหล่งขายผักผลไม้หลักๆ หากเป็นเกษตรกรรายย่อยจะเป็นตลาดสด ตลาดขายส่งขนาดใหญ่ ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดไท รวมถึงซูเปอร์มาร์เก็ตในห้างค้าปลีกต่างๆ จากการสำรวจยังพบว่าผักและผลไม้ในประเทศก็ยังมีสารพิษตกค้าง ซึ่งอาจสร้างความไม่เชื่อมั่นให้ผู้บริโภค ต่อไปนี้คือ 2 โมเดลของการบริหารจัดการเพื่อส่งผักผลไม้ปลอดภัยให้ถึงมือผู้บริโภค

 

ลึกถึงแหล่ง... เส้นทางผักผลไม้ปลอดภัย

  

ผักโครงการหลวง อยู่ดีกินดีอย่างปลอดภัย

จากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ให้ปลูกไม้เมืองหนาวทดแทนการปลูกฝิ่นและการแผ้วถางป่าทำไร่เลื่อนลอยของชาวเขาบนที่สูง จนเป็นผักผลไม้ในโครงการหลวง วันนี้โครงการหลวงก้าวเข้าสู่ตลาดและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคว่าผลผลิตที่วางขายในร้านโครงการหลวงมีความปลอดภัย เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น

เมธัส กิจโอภาส ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายตลาดมูลนิธิโครงการหลวง ให้คำตอบว่า เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริ ส่งเสริมให้ปลูกผักเมืองหนาวให้นักวิชาการทางด้านการเกษตรจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แม่โจ้ และ จ.เชียงใหม่ ทำการวิจัยและพัฒนาให้ที่ดินบนภูเขาสามารถปลูกพืชผักเหล่านี้ได้ พระองค์ท่านใช้กลไกด้านเศรษฐศาสตร์แก้ปัญหายาเสพติดและปากท้องไปพร้อมกัน “เมื่อชาวเขามีรายได้เพียงพอ เขาก็ไม่ทำลายป่า เขาก็มีความสุขและเขาก็ดูแลป่า เรียกว่าเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกไม่รู้กี่สิบตัว”

หากจะทำอย่างไรให้ผักของโครงการหลวงเป็นของดีและปลอดภัยต่อผู้บริโภค ขณะเดียวกันก็สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกร ดังนั้น จึงมีมาตรฐานการเกษตรที่ปลอดภัย หรือจีเอพี มาตรฐานนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก โครงการหลวงมีทั้งหมด 39 ศูนย์ มีเกษตรกรเป็นสมาชิกอยู่ ประมาณ 3 หมื่นคน กระจายตัวอยู่ใน 5 จังหวัดภาคเหนือ โครงการหลวงนำมาตรฐานเหล่านี้เข้าไปให้เกษตรกรใช้ปลูก เพื่อที่จะนำมาตรฐานเหล่านี้ไปสื่อสารกับผู้บริโภคถึงคุณภาพความปลอดภัย

ในมาตรฐานความปลอดภัยมีรายละเอียดหลายอย่าง เราไม่ได้พูดถึงความปลอดภัยต่อผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว เราต้องพูดถึงความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม และเกษตรกรผู้ปลูกด้วย เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกของเราอยู่ที่สูง ซึ่งหมายถึงต้นน้ำ การใช้สารเคมีมากๆ จะส่งผลกระทบต่อพื้นราบทั้งหมด น้ำจากปิง วัง ยม น่าน ลงมาสู่ภาคกลางและไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทย ฉะนั้น การจัดการอย่างโครงการหลวง ณ ปัจจุบันมีการจัดการหลายแบบ เพื่อที่จะทำให้ใช้สารเคมีน้อย ได้คุณภาพและผลผลิตสูงและในราคาที่ดี ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราทำ ระดับความปลอดภัยที่โครงการหลวงทำคือ เราทำระบบจีเอพีผักปลอดภัยระดับออร์แกนิก

โครงการหลวงมีผักอยู่ประมาณ 150 ชนิด ต้องมีการวางแผนในระดับเกษตรกรทุกคนว่า 1 ปี จะปลูกกะหล่ำปลีต่อเนื่องทั้งปีไม่ได้ ถ้าปลูกเกิน 3 ครั้ง เริ่มมีโรคสะสมจะแนะนำให้ปลูกพืชชนิดอื่นคั่น การตรวจสอบมาตรฐานต้องทดสอบทุกวัน ในเวลาก่อนเก็บผลผลิต 1 สัปดาห์ จะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปที่แปลงของเกษตรกรที่มีคิวในการเก็บ เพื่อเก็บตัวอย่างผักมาทดสอบ ถ้ามีสารเคมีตกค้างเราไม่ให้เก็บ รอจนกระทั่งพร้อม แต่เมื่อเก็บผักและทำการจัดส่งไปแล้วจะทำการตรวจหาสารเคมีอีกครั้ง หากพบว่ามีสารเคมีโครงการหลวงก็จะไม่ขอรับผักจากเกษตรกร หากเจอระหว่างการขนส่งก็จะทำลายทันที ซึ่งต้องสร้างมาตรฐานและสร้างความเข้าใจระหว่างเกษตรกรและโครงการหลวง

เมธัส เล่าต่อว่า การจัดการของโครงการหลวงจะมีเจ้าหน้าที่อยู่บนดอยทั้ง 39 ดอย เจ้าหน้าที่อารักขาพืช เรียกว่า หมอพืช เจ้าหน้าที่เหล่านี้เป็นเหมือนหมอให้กับพืชคือ ต้องจ่ายยา จดบันทึกการใช้ยา ทั้งชนิดและปริมาณ ทั้งสารเคมีและสารชีวภัณฑ์ รวมทั้งวินิจฉัยเรื่องการใช้แมลงลงไปแก้ปัญหาศัตรูพืชอย่างปลอดภัย มีคิวว่าจะเก็บวันไหนถ้ามาพืชไปตรวจแล้วพบว่าไม่มีสารเคมีก็ยืนยันให้เก็บ

“สำหรับเกษตรกรในโครงการหลวงขนาดของพื้นที่ที่เกษตรกรใช้เพาะปลูก แต่ละครอบครัวจะไม่เกิน 5 ไร่ หนึ่งครอบครัวสามารถทำงานได้โดยที่ไม่ต้องจ้างแรงงานเพิ่ม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการบริหารพื้นที่ใน 1 แปลงจะบริหารจัดการอย่างไรบ้าง เพื่อให้สารเคมีถูกใช้น้อยที่สุด โดยในพื้นที่ 5 ไร่ของเขาต้องมีไม้ผล เช่น อโวคาโด ลูกพลับ มะม่วง แล้วความสูงของพื้นที่ปลูกที่แตกต่างกัน มีการปลูกผัก ซึ่งผักจะกลายเป็นรายได้ที่เข้ามาทุกเดือน ผลไม้หรือไม้ผลอาจจะสร้างรายได้ให้ปีละหนึ่งครั้ง ปลูกไม้ไผ่เป็นไม้ใช้ประโยชน์ เช่น สร้างโรงเรือน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน ทำให้รายได้ของเกษตรกรมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การกำหนดว่าเกษตรกรในโครงการหลวงจะปลูกผักอะไร ขึ้นอยู่กับตลาดและการสำรวจความต้องการของผู้ซื้อ ซึ่งทางโครงการหลวงมีหน้าร้านที่สามารถสอบถามความต้องการของผู้บริโภคของผู้ซื้อได้โดยตรง”

 

ลึกถึงแหล่ง... เส้นทางผักผลไม้ปลอดภัย

 

ตลาดศรีเมืองโมเดลผักปลอดภัยในตลาดค้าส่ง

กฤช รังสิเสนา ณ อยุธยา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอ็กโกรคอมเมอร์ส กรุ๊ป กล่าวว่า ตลาดศรีเมือง ก่อตั้งเมื่อปี 2537 จากตลาดเล็กๆ ข้างสถานีขนส่ง ปัจจุบันกลายเป็นศูนย์รวมผลผลิตทางการเกษตรจากทั่วทุกภาค โดยเฉพาะภาคตะวันตกมีพื้นที่กว่า 271 ไร่ มีผักเข้าตลาดวันละไม่น้อยกว่า 5,000-6,000 ตัน ผลไม้วันละ 1,200 ตัน ผลผลิตที่มารวมที่ตลาดศรีเมืองจะส่งไปยังตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง ลงภาคใต้ ภาคตะวันออก อีสาน และกรุงเทพฯ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ เมียนมา เป็นต้น

“ชาวราชบุรีส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรมาตั้งแต่บรรพบุรุษและตกทอดมาสู่รุ่นลูกหลาน แต่เป็นการเกษตรแบบเก่าที่ยังใช้สารเคมีเพื่อให้ผักผลไม้สวยงาม แต่ส่งผลร้ายคือมีสารพิษตกค้างในปริมาณสูง และยังส่งผลเสียต่อสุขภาพของตัวเกษตรกรเองด้วย เมื่อปี 2540 ตลาดเริ่มเก็บข้อมูลของผลผลิตที่เข้าสู่ตลาด พบว่ามีสารปนเปื้อนสูงถึง 40% ทำให้เกิดยุทธศาสตร์อาหารปลอดภัย ตั้งทีมงานผ่ายพัฒนาการผลิต ลงพื้นที่ส่งเสริมและให้ความรู้เกษตรกรใน จ.ราชบุรี 26 กลุ่ม ซึ่งมีกว่า 5,000 ครัวเรือน เพื่อให้เขาตระหนักถึงความสำคัญของผักผลไม้ปลอดสารพิษ

นอกจากนี้ ยังประสานกับหน่วยงานภาครัฐ จัดตั้งกลุ่มเกษตรกรเพื่อส่งเสริมการใช้อินทรีย์ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและส่งเจ้าหน้าที่ไปอบรมการตรวจสอบหาสารพิษตกค้างในผักและผลไม้จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในปี 2542 ตลาดศรีเมืองสร้างห้องแล็บไว้ในตลาด เพื่อตรวจสอบสารพิษในผักผลไม้ โดยใช้ชุดตรวจของกรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์”

ปัจจุบันมีการสุ่มตรวจหาสารปนเปื้อนทุกวันพบสารเคมีและสารปนเปื้อนไม่ถึง 0.1% มีบาร์โค้ดสำหรับผู้ผลิตแต่ละราย เกษตรกรจะมีรหัสประจำกลุ่ม สุ่มตรวจทุกเช้า เก็บตัวอย่าง มีเลข พบหรือไม่พบจะแจ้งกลับทุกครั้ง หากพบจะแจ้งกลับไปยังเกษตรกรหรือฟาร์ม ทำให้ตลาดศรีเมืองเป็นตลาดค้าส่งแห่งเดียวที่มีระบบตรวจสอบย้อนกลับได้ ซึ่งขณะพยายามพัฒนาคิวอาร์โค้ดให้ง่ายขึ้น ตั้งเป้าเป็นฮับของอาหารปลอดภัยในเออีซี