posttoday

‘สเปซ วอล์กเกอร์’ ตอบโจทย์อนาคตสังคมผู้สูงอายุ

31 ตุลาคม 2560

มาดูกันว่านวัตกรรมนี้สำหรับผู้สูงอายุที่คิดค้นประดิษฐ์โดยคนไทยจะตอบโจทย์อนาคตสังคมผู้สูงอายุได้อย่างไร?


ย้อนกลับไปเมื่อกลางเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ร่วมกับสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน และสถาบันพลาสติก กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ Autodesk Thailand ได้ประกาศผลโครงการประกวด “ITCi Award 2017” ในหัวข้อ “นวัตกรรมสำหรับบ้านผู้สูงวัย”

ภายใต้โจทย์อุปกรณ์ช่วยภายในบ้านเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระและสะดวกสบาย (Independent living) พร้อมสิทธิพิเศษในการใช้พื้นที่ทำงานและเครื่องมือเครื่องจักรพร้อมใช้ครบครันที่มารวมตัวกันใน “ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต” (Industry Transformation Center, ITC) แห่งใหม่ ที่ก่อตั้งขึ้นโดย 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

จุดที่น่าสนใจของการประกวดครั้งนี้ ก็คือ นวัตกรรมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ โดยได้รับความสนใจจากคณะกรรมาธิการการสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่พิจารณาติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ที่ดูแลผู้สูงอายุ และผู้พิการ รวมถึงผู้ที่คิดสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมเพื่อดูแลกลุ่มบุคคลดังกล่าว

มาดูกันว่านวัตกรรมนี้สำหรับผู้สูงอายุที่คิดค้นประดิษฐ์โดยคนไทยจะตอบโจทย์อนาคตสังคมผู้สูงอายุได้อย่างไร?

ประกวดนวัตกรรมสำหรับบ้านผู้สูงวัย

พรชัย ตระกูลวรานนท์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เล็งเห็นความสำคัญเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่จะมาช่วยตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งในอนาคตอันใกล้ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับการดูแล

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. จึงได้เปิดโอกาสเวทีส่งเสริมให้เยาวชน โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ได้แสดงความรู้ความสามารถอย่างสร้างสรรค์ พร้อมทั้งแสดงศักยภาพในการผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงวัย

รวมทั้งเป็นการผลักดันให้เกิดการสร้างเครือข่ายและกิจกรรมภายในศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (ITC) เพื่อให้เป็น Co-Working Space โดยเฉพาะในส่วนของ ITC-innovate ที่รวบรวมเครื่องจักรอุปกรณ์สำหรับการผลิตชิ้นงานต้นแบบเชิงอุตสาหกรรมเพื่อให้บริการแก่ผู้ประกอบการ และกระตุ้นให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมผลักดันอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ผลักดันประเทศไทยให้เกิดโอกาสทางธุรกิจทั้งในประเทศและตลาดโลก

“กิจกรรมการประกวดครั้งนี้จะเป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อนำเสนอสู่ตลาดและทดสอบความต้องการของตลาดเบื้องต้นก่อน ทำให้ช่วยประหยัดเวลา ค่าแรง และต้นทุนการผลิต ตลอดจนได้ต้นแบบที่เหมาะสมกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภคที่เป็นผู้สูงอายุซึ่งเริ่มมีมากขึ้นในสังคมไทย”

ดร.จุลเทพ ขจรไชยกุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กล่าวว่า คณะกรรมการได้คัดเลือกผลงานสร้างสรรค์ที่ส่งเข้ามาทั้งสิ้น  46 ทีม เหลือ 16 ทีม ซึ่งผลงานทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของผลงานที่ส่งเข้าร่วมโครงการ จะต้องเป็นผลงานที่จัดทำขึ้นใหม่ หรือไม่เคยผ่านการนำเสนอที่ใดมาก่อน รวมไปถึงจะต้องไม่มีการลอกเลียนแบบ หรือละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานอื่นใดเด็ดขาด ทั้งนี้ผลงานที่ส่งเข้าประกวดในโครงการถือเป็นสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของเจ้าของผลงานที่ส่งเข้าประกวด

ผู้อำนวยการเอ็มเทค กล่าวว่า ทั้งนี้สำหรับทีมที่ชนะเลิศ โครงการประกวด “ITCi Award 2017” ได้แก่ ทีม “สเปซ วอล์กเกอร์” โดย วรัตถ์ สิทธิ์เหล่าถาวร รมณ์ พานิชกุล และเมธาสิทธิ์ เกียรติ์ชัยภา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากผลงานนวัตกรรม “สเปซ วอล์กเกอร์” ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เดินด้วยตัวเองได้อย่างลำบาก หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง ช่วยในการฝึกเดินทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง โดยจะช่วยพยุงน้ำหนักของผู้สูงอายุ และช่วยในการเดิน และยังป้องกันการหกล้ม หากเกิดกรณีหกล้ม จะป้องกันเข่าและศีรษะของผู้ใช้งานไม่ให้กระแทกพื้น ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้ใช้งานง่ายสะดวกในการพกพา ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 2 แสนบาท พร้อมโล่รางวัล เกียรติบัตร และได้รับสิทธิเดินทางไปทัศนศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น

ส่วนทีมที่คว้ารางวัลที่ 2 ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 1 แสนบาท พร้อมโล่รางวัล และเกียรติบัตร ได้แก่ ทีม “Stand by Me” โดย สายรัก สอาดไพร บารมี บุญมี และชัยพัฒน์ ศรีขจรลาภ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากผลงานนวัตกรรม “Sit to Stand Trainer with Assessment of Balance Ability : An Apparatus for Rehabilitation and Exercise for Elderly at Home” เป็นเครื่องออกกำลังกายและกายภาพบำบัดสำหรับการฝึกลุกยืน โดยเครื่องมือจะช่วยประคองตัวในขณะลุกขึ้นยืนจากท่านั่ง ทั้งยังสามารถประเมินสมรรถภาพการทรงตัวของผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยได้

สำหรับรางวัลที่ 3 ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 5 หมื่นบาท พร้อมโล่รางวัล และเกียรติบัตร ได้แก่ ทีม “BotTherapist” โดย สุจิรัชย์ อัฏฐะวิบูลย์กุล เพ็ญพิชชา หวังลาวัลย์ และก้องเกียรติ รสหอมภิวัฒน์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จากผลงาน นวัตกรรม “หุ่นยนต์แบบเคลื่อนที่สำหรับอยู่เป็นเพื่อนผู้สูงอายุ” พัฒนามาจากหุ่นยนต์ส่งเสริมพัฒนาการเด็กออทิสติก โดยออกแบบเพื่อให้เป็นเพื่อนคลายเหงาให้กับผู้สูงอายุ และช่วยอำนวยความสะดวกในการดูแลผู้สูงอายุให้กับบุตรหลาน

สนช.ช่วยหนุน “สเปซ วอล์กเกอร์” ให้ใช้งานได้จริง

ผู้สูงอายุที่สามารถเดินได้ด้วยตนเอง นับได้ว่าเป็นผู้ที่มีความสุขในการดำรงชีวิตประการหนึ่ง เพราะสามารถไปไหนมาไหนได้ด้วยตนเอง แต่ปัญหาของผู้สูงอายุที่เรามักจะพบกันทั่วไปคือ หลายคนไม่สามารถเดินได้ด้วยตนเอง เมื่อเดินเองไม่ได้ จึงต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยการรอให้ผู้อื่นนำพาตนไปยังที่ต่างๆ ที่ต้องการจะไป แต่ที่เป็นปัญหาใหญ่กว่านั้น คือ เมื่อผู้สูงอายุเดินเองไม่ได้ หลายคนก็กลายเป็นผู้ที่เกิดอาการหงุดหงิด จิตตก กังวล และฟุ้งซ่าน เนื่องจากไม่ได้ออกไปสัมผัสกับโลกภายนอกตามที่ตนเองต้องการจะได้พบได้เห็น

จากผลงานนวัตกรรม “สเปซ วอล์กเกอร์” ที่ชนะเลิศโครงการประกวด “ITCi Award 2017” เนื่องจากมีความโดดเด่นของผลงาน สามารถนำไปใช้ได้จริง เพราะผลงานต้นแบบมีความสมบูรณ์มาก พร้อมนำไปประยุกต์ใช้ต่อได้ทันที ดังนั้นผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีปัญหาการเดิน อุปกรณ์ดังกล่าวช่วยตอบสนองได้เป็นอย่างดี

คณะกรรมาธิการการสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ที่ดูแลผู้สูงอายุ และผู้พิการ รวมถึงผู้ที่คิดสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมเพื่อดูแลกลุ่มบุคคลดังกล่าว จึงได้เชิญหน่วยงานที่มีงานด้านนวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการเข้าร่วมประชุม โดยให้ความสนใจกับสิ่งประดิษฐ์ด้านเครื่องช่วยเดินสำหรับผู้สูงอายุ หรือ สเปซ วอล์กเกอร์

คณะนักประดิษฐ์สเปซ วอล์กเกอร์ ได้เข้านำเสนอถึงมูลเหตุและแรงบันดาลใจในการผลิตนวัตกรรมนี้ให้เกิดขึ้นว่า เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกปี สถิติปี 2558 มีประชากรผู้สูงอายุจำนวนร้อยละ 11 ของประชากรทั้งหมด (ประมาณ 2 ล้านคน) ดังนั้น จึงคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) และจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดในปี 2574

ประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น คิดเป็นร้อยละ 28 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ดังนั้นเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาและเพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุได้อย่างสมบูรณ์ จึงเกิดแนวคิดค้นคว้าสิ่งประดิษฐ์เทคโนโลยี “สเปซ วอล์กเกอร์” หรือเครื่องช่วยเดินสำหรับผู้สูงอายุ

นอกจากกลุ่มผู้สูงอายุแล้ว ยังมีกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และผู้พิการทางการเคลื่อนไหว มีจำนวนประมาณ 10 ล้านคน ซึ่งต้องการเครื่องมือเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกเช่นเดียวกัน โดยผู้สูงอายุผู้พิการ และผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ส่วนใหญ่นอกจากจะสูญเสียความสามารถทางร่างกาย จึงมีข้อจำกัดในการเดินทางด้วยตนเอง

ในขณะเดียวกัน จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ด้านการฟื้นฟูและกายภาพบำบัดในประเทศไทยมีอยู่จำกัด และมีค่าใช้จ่ายสูงในการทำงานด้านการฟื้นฟู เพราะปัจจัยหลักคือต้นทุนการนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศมีราคาสูงมาก จึงส่งผลกระทบให้ผู้ที่ต้องการใช้เครื่องมือดังกล่าว โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยขาดโอกาสฟื้นฟูร่างกาย

ดังนั้น คณะนักวิจัยจึงคิดค้นต้นแบบนวัตกรรมที่ผู้พิการสามารถเข้าถึงการฟื้นฟูรักษาได้ในราคาประหยัด ซึ่งมีอุปกรณ์ช่วยเดินที่สามารถปรับแรงช่วยพยุงได้ สเปซ วอล์กเกอร์ ซึ่งได้รับรางวัลเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่นำเสนอร่วมกับอุปกรณ์อื่นๆ

โดยอธิบายว่า สเปซ วอล์กเกอร์ เป็นอุปกรณ์กายภาพบำบัดที่พัฒนามาจากวอล์กเกอร์ หรืออุปกรณ์ช่วยเดิน ซึ่งเป็นหนึ่งในอุปกรณ์พื้นฐานกายภาพบำบัดเพื่อทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง แต่ที่ผ่านมาอุปกรณ์ดังกล่าวไม่มีระบบพยุงน้ำหนักจึงเกิดความเสี่ยงที่ผู้ป่วยซึ่งกล้ามเนื้ออ่อนแรงจะหกล้มขณะฝึกเดิน ซึ่งในต่างประเทศจะมีอุปกรณ์เป็นเครื่องไดนามิกส์ช่วยพยุงน้ำหนักผู้ป่วยขณะเดินตามราง จึงตัดปัญหาการหกล้มได้เบ็ดเสร็จ

ดังนั้น จึงได้คิดค้นและพัฒนาอุปกรณ์ช่วยเดินที่สามารถปรับแรงช่วยพยุงได้ สเปซ วอล์กเกอร์ ขึ้นมาเพื่อช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อให้แข็งแรงและเพิ่มระบบพยุงน้ำหนักเพื่อป้องกันการหกล้ม รวมทั้งได้พัฒนาเครื่องกายภาพบำบัดให้มีระบบยกน้ำหนักและสามารถนำไปฝึกที่บ้านได้ เนื่องจากการทำกายภาพที่ดีควรฝึกทุกวันจึงจะเพียงพอที่จะฟื้นฟูกล้ามเนื้อ

อุปกรณ์ดังกล่าวถือเป็นนวัตกรรมชิ้นสำคัญ ที่จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นเนื่องจากราคาไม่แพง ทั้งนี้ได้กำหนดแผนการจัดจำหน่ายสู่ตลาดอย่างเป็นทางการในปี 2561