posttoday

วงกลมคือท้องฟ้า สี่เหลี่ยมคือแผ่นดิน

29 ตุลาคม 2560

แม้ไทยยืมคำภาษาจีนมาไม่น้อย แต่ก็มีศัพท์ไทยกลุ่มหนึ่งที่ฟังได้อารมณ์จีนโดยที่ไม่ได้ประกอบขึ้นจากคำจีนเลย

โดย...นิธิพันธ์ วิประวิทย์

แม้ไทยยืมคำภาษาจีนมาไม่น้อย แต่ก็มีศัพท์ไทยกลุ่มหนึ่งที่ฟังได้อารมณ์จีนโดยที่ไม่ได้ประกอบขึ้นจากคำจีนเลย เช่น ฟ้าลิขิต, บัญชาฟ้า, ฟ้าพิโรธ, ฟ้าดินเป็นพยาน หรือพรรคฟ้าดิน

อารยธรรมจีนให้ความสำคัญกับฟ้าอย่างยิ่ง ฟ้าคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของอารยธรรมจีน แม้จีนจะใช้ฟ้าเป็นตัวแทนสวรรค์ไม่ต่างจากอารยธรรมอื่น แต่ในขณะที่อารยธรรมอื่นแต่งแต้มเทพเจ้าที่ทำหน้าที่ต่างๆ เพิ่มเติม จีนไม่ค่อยแต่งเติมเทพเจ้าให้มากความ แล้วนับถือฟ้าโดยตรง

แต่จะให้แหงนหน้าบูชาฟ้าอันเวิ้งว้างไร้รูปร่างโดยตลอดคงไม่ไหว ต้องทำให้ฟ้าจับต้องได้มากกว่านี้ ชาวจีนจึงริเริ่มใช้วงกลมเป็นสัญลักษณ์แทนฟ้า

ที่เลือกใช้สัญลักษณ์วงกลมย่อมมีที่มา หลักการ และคำอธิบาย เพื่อให้ทุกคนเข้าใจตรงกันหลายพันปี

เรื่องเห็นฟ้าเป็นวงกลมเป็นเรื่องเข้าใจง่าย เพราะก่อนยุคที่พิสูจน์ได้ว่าโลกกลม ไม่ว่าใครแหงนหน้าขึ้นฟ้าไป ย่อมมองเห็นฟ้าเสมือนฝาชีขนาดใหญ่ครอบลงมาบนดินทุกทิศทาง

ฟ้าจึงเป็นรูปทรงครึ่งวงกลมครอบแผ่นดินเอาไว้

เมื่อฟ้ามีรูปทรงแล้วคงจะไม่พูดเรื่องรูปร่างของดินไปไม่ได้... ฟ้าเป็นวงกลมแล้วแผ่นดินจะเป็นรูปอะไร?

อารยธรรมจีนให้แผ่นดินมีสัญลักษณ์เป็นสี่เหลี่ยม เมื่อประกอบร่วมกันทั้งจักรวาลฟ้าที่ครอบดินไว้จึงมีสัญลักษณ์เป็นสี่เหลี่ยมในวงกลม (เหรียญอีแปะจีนคือภาพการประกอบฟ้าเข้ากับดินที่เห็นได้ชัด)

แล้วทำไมแผ่นดินจึงไม่เป็นแปดเหลี่ยม หรือแผ่นกลม? หลายคนคงนึกสงสัย

คำอธิบายมีว่า เพราะลักษณะกายภาพของมนุษย์และสรรพสัตว์ที่มีด้านหน้าด้านหลังด้านซ้ายด้านขวา และวัตถุบนท้องฟ้าเคลื่อนที่อย่างมีทิศทาง เช่น พระอาทิตย์ขึ้นที่ด้านตะวันออกและจบลงที่ด้านตะวันตก แกนของธรรมชาติจึงมี 4 ด้านโดยปริยาย นั่นก็คือ ออก ตก เหนือ ใต้

และในเมื่อชาวจีนเดินทางไปสุดที่ขอบแผ่นดินแล้วต้องพบกับทะเลอันเป็นสถานที่แห่งเดียวที่มีสิทธิยื่นยาวไปแตะขอบฟ้า แผ่นดินภายใต้ฟ้าจึงต้องมีช่องว่างให้กับทะเลโดยรอบด้วยเช่นกัน ซึ่งนั่นก็คือพื้นที่ว่างที่เป็นรูปเสี้ยววงกลมที่เหลืออยู่ 4 ด้าน เชื่อมต่อเนื่องกันเป็นทะเลทั้งสี่

ในภาษาจีนนอกจากคำว่า ใต้ฟ้า ( - ไทยมักแปลว่า ใต้หล้า) แล้ว คำว่า "ทะเลทั้งสี่ ()" ต่างมีความหมายว่าโลกได้ทั้งสิ้น ศัพท์ทั้งสองคำล้วนมาจากภาพของจักรวาลในหัวของชาวจีนโบราณที่อธิบายไปข้างต้น

แน่นอนว่าชาวจีนยุคโบราณคงพบแต่ทะเลทางตะวันออก และทางใต้ ส่วนทะเลตะวันตกและเหนือยังไม่เคยมีชาวจีนโบราณไปถึง

อย่างไรเสียในเมื่อแผ่นดินทางเหนือและทางตะวันตกยังต่อเนื่องไปไม่สิ้นสุด และคาดเดาได้ว่าเมื่อไปถึงสุดก็คงเป็นทะเลอยู่ดี ภาพลักษณ์ว่าโลกเรานี้มี 4 ทะเล จึงยังอยู่ในอารยธรรมจีนเรื่อยมา พอมาถึงในยุคที่วิทยาการก้าวหน้า ภาพเหล่านี้ก็ฝังรากในภาษาและระบบสัญลักษณ์เสียแล้ว

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าชาวจีนโบราณจะเชื่อว่าผืนแผ่นดินเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัสเป๊ะๆ เพราะทั้งหมดคือแนวคิดเชิงสัญลักษณ์ เป็นไปเพื่ออธิบายธรรมชาติเบื้องต้นมาให้ผู้คนเข้าใจจึงกระชับกว่าความเป็นจริง

อันที่จริงในข้อจำกัดของความรู้และวิทยาการเมื่อ 4,000-5,000 ปีที่แล้ว ก็นับว่าเป็นคำอธิบายที่ทันสมัยและเรียบง่ายมาก ประหนึ่ง Infographic ที่สื่อยุคนี้ชอบทำกัน

ชาวจีนยึดถือสัญลักษณ์นี้ตลอดมา สะท้อนอยู่ในศิลปะและสถาปัตยกรรม

ในสมัยโบราณวัฒนธรรมจีนซึ่งยกย่องหยกเป็นหินมีค่าชั้นเลิศ หยกชั้นดีจะถูกคัดและสลักเป็นรูปจานวงกลมเรียบง่ายมีรูวงกลมตรงกลาง เพื่อถือเป็นของที่ฟ้าประทาน เป็นสิ่งมีค่าแห่งแผ่นดิน

ในส่วนผังเมืองหลวง หรือพระราชวังของจีนมักวางผังเป็นสี่เหลี่ยม เพื่อแสดงอำนาจของผู้ปกครองบนแผ่นดิน ส่วนสิ่งก่อสร้างที่เกี่ยวกับสวรรค์ก็มักต้องมีวงกลมเข้ามาเกี่ยวข้อง

สถานที่สักการบูชาฟ้าก็เป็นหนึ่งในนั้น ส่วนใหญ่มักสร้างขึ้นโดยมีองค์ประกอบจากวงกลม บ้างเลือกตั้งอยู่กลางบ่อน้ำวงกลม บ้างก็สร้างอาคารขึ้นมาจากผังวงกลมโดยตรง

และในเมื่ออารยธรรมจีนถือฮ่องเต้เป็นบุตรแห่งฟ้า (-โอรสสวรรค์) เมื่อฮ่องเต้องค์ใหม่จะขึ้นครองราชย์ ย่อมต้องประกอบพิธีกรรมเพื่อรับความยินยอมจากฟ้า (สวรรค์) เช่นกัน ทุกราชวงศ์จึงขาดสถานที่สักการบูชาฟ้าไปไม่ได้

หอบูชาฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์จีนอยู่ในยุคราชวงศ์ถัง ในสมัยพระนางหวู่เจ๋อเทียน (บูเช็กเทียน) จากหลักฐานทางบันทึก หอนี้มีผังอาคารรูปวงกลม ฐานอาคารกว้างด้านละประมาณ 90 เมตร และมีความสูงถึง 88 เมตร สูงเท่ากับตึก 27 ชั้น! นับเป็นวิหารไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมจีน (ส่วนหอบูชาฟ้าที่ปักกิ่งปัจจุบันมีความสูง 38 เมตร)

แม้รูปร่างหน้าตาของหอบูชาฟ้าสมัยราชวงศ์ถังจะไม่เหลือให้เห็น แต่ก็พอจะจินตนาการว่าคล้ายหอฟ้าที่ปักกิ่งซึ่งสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง แล้วใช้ต่อเนื่องกันมาถึงสมัยราชวงศ์ชิง และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังในปัจจุบัน

หรือแม้แต่สถาปัตยกรรมที่สร้างในยุคปัจจุบัน เช่น สนามรังนกและสนามลูกบาศก์น้ำของจีนที่สร้างขึ้น เพื่อใช้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2008 ก็ใช้แนวคิดการวางผังรูปร่างวงรี (แทนวงกลมตามความเหมาะสมในการใช้งาน) และสี่เหลี่ยมวางอยู่คู่กันให้เป็นสัญลักษณ์ของฟ้าและดิน

ความเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมมักเป็นเช่นนี้ แค่สี่เหลี่ยมและวงกลมง่ายๆ กลับกลายเป็นคำอธิบายเนิบนาบ ยืดยาวต่อเนื่องมานับพันปี และดูเหมือนว่าชาวจีนจะไม่มีสิทธิหลุดพ้นจากจักรวาลวงกลมและสี่เหลี่ยมเลยหรือไร แต่เปล่าเลย

เพราะนอกจากจะได้ทำความเข้าใจในมุมมองของผู้คนในอดีต หากเรายังสามารถมองลึกลงไปเห็นวิธีคิดซึ่งพยายามอธิบายจักรวาลตามความเข้าใจด้วยเครื่องมืออันจำกัดของยุคอดีต และกระบวนการถ่ายทอดออกมาเป็นวัฒนธรรม เมื่อนั้นเราก็จะสามารถเรียนรู้กรรมวิธีสร้างสรรค์สัญลักษณ์จากมุมมองของตนเองได้ และสามารถอ่านสิ่งที่ผู้คนต่างๆ ในโลกยุคปัจจุบันในหลากหลายวัฒนธรรมกำลังสร้างสรรค์ ภายในกรอบจักรวาลของยุคเราเอง

การศึกษาวัฒนธรรมที่ดูโบร่ำโบราณ จึงเป็นรากฐานของการสร้างสรรค์ในยุคใหม่ที่เชื่อมโยงกัน n