posttoday

5 วิธีรับมืออาการซึมเศร้า

25 ตุลาคม 2560

วิธีรับมือกับความโศกเศร้าเสียใจ เพื่อไม่ให้นำไปสู่อาการซึมเศร้า

วิธีรับมือกับความโศกเศร้าเสียใจ เพื่อไม่ให้นำไปสู่อาการซึมเศร้า

ถึงแม้เวลาผ่านพ้นกว่า 1 ปี แต่น้ำตาแห่งความโศกเศร้าไม่เคยเหือดหายไปจากใจของคนไทย นับตั้งแต่ทราบข่าวการเสด็จสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งความเสียใจนั้นเกิดขึ้นได้ แต่เพื่อไม่ให้นำไปสู่ความซึมเศร้า ก็มีวิธีการที่จะรับมือ

5 วิธีรับมืออาการซึมเศร้า

1.พยายามอย่าอยู่คนเดียว - ทุกคนควรสังเกตคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ เพื่อนร่วมงาน เมื่อโศกเศร้ามากๆ หรือร้องไห้ฟูมฟาย อาจเกิดอาการหายใจถี่ มือ เท้าเกร็ง จนหมดสติเป็นลมได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยและผู้พิการ รวมถึงเด็กๆ ที่อาจสับสนกับปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นของผู้ใหญ่ ซึ่งควรให้กำลังใจกันอยู่เสมอ สำหรับใครที่รู้สึกเศร้า สะเทือนใจ ต้องหลีกเลี่ยงการอยู่คนเดียว ให้ออกไปพบไปพูดคุยกับคนรอบข้าง

2.ร่วมกิจกรรมอาสา - เปลี่ยนความโศกเศร้าเป็นพลังแห่งความดี ซึ่งการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมอาสาจะช่วยให้รู้สึกดี และรู้สึกถึงคุณค่าของตัวเองที่ได้มีส่วนช่วยเหลือผู้อื่น หรืออาจจะรวมกลุ่มกันทำความดีด้วยวิธีต่างๆ เช่น สวดมนต์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล บริจาคเลือด บริจาคร่างกาย

3.หากิจกรรมทำ - อย่าปล่อยให้ตัวเองอยู่ว่าง นั่งเหม่อใจลอย ซึ่งจะยิ่งทำให้รู้สึกเศร้า ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย เข้าวัดทำบุญ สวดมนต์ เพื่อให้รู้สึกสบายใจ นอกจากนั้น ยังมีคนจำนวนมากที่มักถ่ายทอดความโศกเศร้าออกมาเป็นเรื่องราว คำพูด หรือความเรียงบอกเล่าเรื่องราวถึงความประทับใจต่อพระองค์ท่านในแง่มุมต่างๆ ก็สามารถทำได้ แต่ก็ควรแสดงออกแต่พอดี

4.แสดงความจงรักภักดี - การน้อมนำแนวปรัชญา พระบรมราโชวาท พระราชดำรัส หรือแม้แต่บทเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ มายึดเป็นหลักในการดำเนินชีวิต เช่น บทเพลง ใกล้รุ่ง ที่แฝงความหมายการรอคอย ความหวัง ความสำเร็จที่ดีที่จะเกิดขึ้นในชีวิตของคนเรา ทั้งยังสามารถสื่อไปถึงความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติ รวมถึงการยึดแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิต

5.ดูแลสุขภาพร่างกาย - ไม่ควรลืมดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเองและคนรอบข้าง มีหลายคนเศร้าเสียใจ ร้องไห้ ไม่ยอมกิน ไม่นอน จนอาจทำให้สุขภาพร่างกายทรุดโทรมได้

ที่มา: M2F