posttoday

รมิดา ธนาจรัสรัช งานอาสารู้สึกถึงคำว่า ‘เสียสละ’

21 ตุลาคม 2560

เมื่อได้ทราบข่าวสำนักพระราชวัง เปิดให้ประชาชนเข้ากราบพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในฐานะพสกนิกรไทย

 โดย ราตรีแต่ง

 เมื่อได้ทราบข่าวสำนักพระราชวัง เปิดให้ประชาชนเข้ากราบพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในฐานะพสกนิกรไทย

 “น้ำทิพย์” รมิดา ธนาจรัสรัช จึงรวมตัวกับเพื่อนสนิททำงานจิตอาสา เพื่อทำความดีถวายแด่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ครั้งสำคัญที่สุด

 มีข่าวว่าประชาชนหลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศ ตั้งใจเดินทางมากราบพระบรมศพ ซึ่งอาจจะไม่ได้เข้าในพระราชวัง เพราะเสื้อผ้าไม่สุภาพ

 รมิดา และกลุ่มเพื่อนจึงจัดจุดบริการให้ยืมชุดเสื้อผ้าดำไว้ทุกข์ โดยทุกคนมีความตั้งใจสูง เริ่มรวบรวมระดมทุนจากเพื่อนๆ ญาติพี่น้อง และผู้อยากมีส่วนร่วมทำความดีในครั้งนี้

 “ความตั้งใจทั้งหมดนี้ เริ่มต้นจากตอนเด็กๆ เลยค่ะ ทิพย์ได้เห็นคุณพ่อ (พล.อ.ปานเทพ ภูวนารถนุรักษ์) รับราชการทหารได้ทำงานเพื่อประเทศชาติ ได้ทำงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทในหลวง รัชกาลที่ 9 คุณพ่อเล่าให้ฟังตลอดค่ะว่าพระองค์ท่านทรงงานเหนื่อยขนาดไหนเพื่อประชาชนทั่วทั้งประเทศ ทำให้ซึมซับในความจงรักภักดีที่คุณพ่อและคุณแม่มีต่อพระองค์ท่าน"    

รมิดา ธนาจรัสรัช งานอาสารู้สึกถึงคำว่า ‘เสียสละ’

 การจัดจุดให้บริการยืมเสื้อผ้าโทนสีดำเพื่อคนยากจน ซึ่งเป็นชุดเหมาะสมตามที่สำนักพระราชวังกำหนด ในช่วงแรกมาตรฐานค่อนข้างเคร่งครัด เสื้อผ้าต้องเป็นสีดำล้วน ห้ามสีลวดลาย ห้ามใส่เสื้อยืดคอกลม คอวี

 น้ำทิพย์ บอกว่า บางคนไม่มีเลย จึงนำเสื้อโปโลสีดำสำหรับหญิงและชาย ผ้าถุง กางเกงสแล็กส์ เนกไท รวมถึงรองเท้าหุ้มส้นสีดำที่เพื่อนๆ  รวบรวมของกันมาที่บูธ โดยได้รับความอนุเคราะห์ประสานพื้นที่จาก สน.ชนะสงคราม

 โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 28 ต.ค. 2559 ช่วงแรกประชาชนไม่ทราบว่ามีจุดบริการให้ยืมชุดสีดำ เมื่อเผยแพร่ข่าวจากสื่อมวลชน จึงมีหน่วยงานเอกชน บุคคลต่างๆ ร่วมบริจาคเสื้อโปโล ผ้าถุง รองเท้า กางเกงเข้ามาร่วมมากมาย ทำให้มีเสื้อผ้าจำนวนมากพอบริการประชาชน จนถึงวันสุดท้ายที่ให้เข้ากราบพระบรมศพรวมทั้งสิ้น 342 วัน

 "งานอาสารู้สึกถึงคำว่าเสียสละ การเป็นผู้ให้เพื่อผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนอย่างแท้จริงค่ะ ซึ่งในแต่ละวันต้องพบเจอกับประชาชนทุกรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป มีทั้งการชื่นชม การต่อว่าในการให้ข้อมูลสำหรับการแต่งกายที่ถูกต้อง การแสดงท่าทีไม่เปลี่ยนชุด เพราะคิดว่าชุดใดก็สามารถเข้ากราบได้

 แต่ส่วนใหญ่ก็จะได้รับคำขอบคุณ และรอยยิ้มกลับมา ทุกๆ เหตุการณ์เป็นบททดสอบจิตใจของเราอย่างหนึ่ง ตลอดระยะเวลาเกือบ 1 ปี ทำให้ทั้งยิ้มกับน้ำใจ มิตรภาพ และร้องไห้เพราะความท้อหลายต่อหลายครั้ง" น้ำทิพย์ เล่าแบบน้ำตารื้นๆ 

 "ทุกครั้งที่ท้อเราก็จะนึกถึงพระองค์ท่าน พอได้สติเราได้ทบทวนว่าทั้งหมดที่ทำไปเพื่อใคร พระองค์ทรงเหนื่อยกว่าเราเพื่อปวงชนชาวไทยมาตลอด 70 ปี เพียงแค่นี้เราไหว เราต้องทำได้ ทั้งหมดนี้เป็นจุดที่ทำให้เราสู้ต่อไป

 ประชาชนของพ่อมีหลายรูปแบบค่ะ เราต้องรองรับอารมณ์ผู้คนที่เข้ามา มีทั้งคนยากไร้ไม่มี ไปจนถึงคนที่มีและแต่งกายผิดระเบียบค่ะ ส่วนใหญ่ใส่เสื้อผ้าที่มีลวดลายสีขาว ซึ่งจริงๆ ต้องเป็นสีดำล้วน บางคนก็เป็นผ้าลูกไม้ซีทรู ซึ่งดูไม่เหมาะสม บางคนก็เป็นสูทสีน้ำเงิน สีน้ำตาล ซึ่งต้องเป็นสีดำล้วน

รมิดา ธนาจรัสรัช งานอาสารู้สึกถึงคำว่า ‘เสียสละ’

 ก็เข้าใจว่าทุกคนก็ไม่ได้มีเสื้อผ้าสีดำพร้อม บางคนอุตส่าห์ไปยืมเพื่อนบ้านแต่ก็ยังไม่ถูกต้องตามระเบียบ แต่พอเราแนะนำทุกคนก็ยอมค่ะเปลี่ยนเพื่อแต่งกายให้สมพระเกียรติในการเข้ากราบพระองค์ท่าน"

 สิ่งที่ประทับใจน้ำทิพย์มากๆ คือมีคุณตาคุณยายมายืมชุดไปแล้วเดินเอาชุดกลับมาคืน ซึ่งระยะทางเดินมาคืนชุดก็ไกลพอสมควร บางคนก็เดินไมค่อยไหว

 "คือซาบซึ้งในความตั้งใจและความซื่อสัตย์ ก็ต้องบอกว่าการนำชุดมาคืนเพื่อจะได้มีชุดไว้สำหรับให้ประชาชนคนอื่นได้ยืมต่อไปนะคะ บางคนสติไม่สมประกอบ หรือพิการเดินไม่สะดวก ก็มาต่อแถวเข้ากราบพระองค์บ่อยครั้ง จนเป็นขาประจำในการยืมชุด เราเลยให้ชุดไปโดยไม่ต้องลำบากมาคืน บางคนยกมือไหว้และขอบคุณเราทั้งน้ำตา เป็นสิ่งที่ได้กลับคืนมา เป็นภาพความประทับใจที่จำไม่รู้ลืมค่ะ"

 น้ำทิพย์ บอกเล่าถึงความรู้สึกที่ออกมาจาห้วงลึกภายในของตัวเธอว่า การได้เห็นคนจากทุกระดับของสังคม ได้พบคนทุกรูปแบบ ได้พบมิตรภาพกับเหล่าจิตอาสาที่มีหัวใจดวงเดียวกัน รวมตัวกันเพื่อทำงานเพื่อสังคม เห็นรอยยิ้ม และคราบน้ำตาของความปลื้มปีติกับคนที่เข้ากราบพระองค์ ตลอดระยะเวลา 1 ปี ค่อนข้างยาวนาน จิตอาสาทุกคนเข้ามาที่บูธเพื่อมาช่วยกันแบบไม่เคยย่อท้อ

 "เราทุกคนเป็นจิตอาสาโดยแท้ที่มารวมตัวกัน โดยไม่ได้ค่าตอบแทน ทุกคนมีใจตั้งมั่นมากๆ ทุ่มเทมากๆ แม้ว่าทุกคนมีภาระหน้าที่ต่างกันมีทั้งทำงานประจำ หรือทำธุรกิจส่วนตัว ได้แต่ความปีติในใจกับการได้ทำเพื่อพ่อหลวง ได้ความรู้สึกอบอุ่นรักใคร่กลมเกลียวสำหรับอาสาด้วยกัน"  

 จนถึงวันสุดท้ายที่สิ้นสุดการเข้ากราบพระบรมศพ น้ำทิพย์และทีมจิตอาสาภูมิใจได้ทำความตั้งใจได้ทำสำเร็จตลอด 342 วัน 

 "ทิพย์ขอจดจำสิ่งเหล่านี้ไปเล่าให้รุ่นลูกรุ่นหลานเราฟังได้ ต่อจากวันนี้จิตอาสาทุกคน ในจุดบริการเปลี่ยนชุดเพื่อกราบพ่อ ตั้งใจรวมตัวกันทำความดีเพื่อคนอื่นต่อไปค่ะ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นในรูปแบบไหน ซึ่งอาจจะไม่ได้ไปเป็นหมู่คณะ แต่เป็นบริการในจุดต่างๆ ที่ตัวเองถนัดค่ะ”