posttoday

100 ปี ดนตรียังมีชีวิต เธโลเนียส มังค์

15 ตุลาคม 2560

หนึ่งในนักดนตรีและแต่งเพลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของศตวรรษที่ 20

โดย เพ็ญแข สร้อยทอง

หนึ่งในนักดนตรีและแต่งเพลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของศตวรรษที่ 20 หากยังมีชีวิตอยู่ถึงตอนนี้ “เธโลเนียส มังค์” อายุครบ 100 ปี ไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

เธโลเนียส มังค์ ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักดนตรีผู้ยอดเยี่ยม และทรงอิทธิพลที่สุดของวงการดนตรีแจ๊ซ แม้เขาจะเสียชีวิตไปแล้ว 35 ปี ถึงตลอดชีวิตเขาจะแต่งเพลงประมาณแค่ 70 เพลงเท่านั้น แต่เพลงของเขากลับถูกนำไปบันทึกมากที่สุด รวมถึง Round Midnight, Blue Monk, Straight No Chaser, Epistrophy, Pannonica และ Bemsha Swing

ชายผู้ถูกเรียกว่าเป็น “มหาปุโรหิตแห่งบีบ็อป” อาจจะด้วยภาพลักษณ์ที่โดดเด่น ไม่ว่าจะเคราแพะ แว่นตากันแดดสีดำ หรือหมวกทรงแปลกที่เขาสวมใส่ เหนือกว่าสิ่งอื่นใด เธโลเนียส มังค์ ยังเป็นผู้นำเสนอจังหวะอันเร่งเร้า ยามเมื่อบรรเลงเพลง เท้าของเขาจะขยับเข้าจังหวะกับเปียโนอย่างเพลิดเพลิน ในขณะที่เพื่อนร่วมวงกำลังเล่นโซโล เขาจะลุกขึ้นเต้นไปด้วย

ในฐานะนักเปียโน เธโลเนียส มังค์ ได้นำรูปแบบเปียโนแจ๊ซแบบดั้งเดิมมาใช้ผสมผสานกับแนวคิดสมัยใหม่ ซึ่งก็มีนักดนตรีเพียงไม่กี่คนที่มีเสียงอันเป็น “ต้นฉบับ” ทั้งยังมีฝีมือการบรรเลงอิมโพรไวซ์อย่างที่ใครเลียนแบบไม่ได้

จากหนังสือประวัติ Thelonious Monk : The Life and Times of an American Original ผู้เขียนคือ โรบิน เคลลีย์ ระบุว่า เขาคือนักดนตรีที่สร้างสรรค์และล้ำหน้ามากที่สุด หนึ่งในนักแต่งเพลงแจ๊ซที่ยิ่งใหญ่

เกิดเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 1917 ณ ร็อกกีเมาท์ นอร์ท แคโรไลนา เมื่ออายุได้ 5 ขวบ ครอบครัวของเขาย้ายไปนิวยอร์ก ที่ซึ่งเขาเริ่มต้นเล่นเปียโน เธโลเนียส มังค์ เลิกเรียนไฮสกูลเพื่อหันมาเอาดีทางด้านเปียโน เขาโลดแล่นในแวดวงดนตรีช่วงต้นทศวรรษ 1940 ในห้วงเวลาที่บีบ็อปเพิ่งถือกำเนิด เมื่อวงบิ๊กแบนด์กำลังเปลี่ยนมาเป็นวงของคนมีฝีมือกลุ่มเล็กๆ

เธโลเนียส มังค์ มีผลงานบันทึกเสียงในฐานะที่เป็นผู้นำวงครั้งแรกในขณะที่อายุ 30 ปี และต้องใช้เวลาอีกเกือบ 10 ปีก่อนที่จะมีคนติดตามเขาอย่างจริงจัง และได้รับการยอมรับจากบรรดานักวิจารณ์

แรกๆ นั้นบริษัทแผ่นเสียงให้ภาพและให้ฉายาเขาว่าเหมือน “พระ” แต่ด้วยภาพลักษณ์ที่สื่อคุ้นเคย โดยเฉพาะบุคลิกประหลาดๆ ทำให้ต่อมา บริษัทแผ่นเสียงหันมานำเสนอภาพความเป็น “นักรบ” ของเขาออกมาในงานชุดหลังๆ อย่างเช่น งานชุด Underground ที่มีรูป เธโลเนียส มังค์ นั่งสะพายปืนเล่นเปียโน เป็นต้น

ต้นทศวรรษ 1960 เขาโด่งดังเป็นที่รู้จักกว้างขวางทั้งในอเมริกาและยุโรป ในปี 1964 เธโลเนียส มังค์ ขึ้นปกนิตยสาร Time ก่อนกลายเป็นหนึ่งในศิลปินที่สำคัญที่สุดในโลก

100 ปี ดนตรียังมีชีวิต เธโลเนียส มังค์

เมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนร่วมยุคอย่าง ชาร์ลี พาร์คเกอร์ และ ดิซซี กิลเลสพี เส้นทางของ เธโลเนียส มังค์ นั้นไม่แจ่มใสสวยงามนัก มีอยู่ช่วงหนึ่งเขาไม่สามารถแสดงดนตรีในมหานครนิวยอร์กได้ เนื่องจากตำรวจได้ยกเลิกใบอนุญาตของนักดนตรีของเขาหลังจากถูกจับหลายครั้ง เขายังมีปัญหาเรื่องจิตใจ (บางกระแสว่าเขามีอาการไบโพลาร์) ซึ่งแย่ลงในปลายทศวรรษ 1960 ช่วงบั้นปลายชีวิตเขาใช้ชีวิตอย่างเงียบๆ ไม่มีผลงานออกมา ก่อนจะเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวายในปี 1982 ขณะอายุ 64 ปี

เดวิด แอมแรม นักแต่งเพลงและนักดนตรีชาวฝรั่งเศส ซึ่งมีชีวิตร่วมยุคกับ เธโลเนียส มังค์ เคยบอกไว้ว่า เขาเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจ เป็นคนที่รื่นรมย์ อบอุ่น อ่อนไหว ตลก ฉลาด เป็นคนที่จะอยู่ใกล้ๆ และทั้งหมดที่เขาเป็นก็สะท้อนออกมาในดนตรีของเขา

งานของ เธโลเนียส มังค์ แตกต่างจากนักดนตรีบีบ็อป หรือนักเปียโนโมเดิร์นแจ๊ซคนอื่นๆ ความแตกต่างนี้เองทำให้เขาถูกกระแหนะกระแหน รวมทั้งชื่นชมยกย่องในเวลาเดียวกัน หลังจากการเสียชีวิตของเขา นักวิชาการและแฟนๆ ที่ได้ศึกษาผลงานของเขาอย่างจริงจังได้ค้นบความซับซ้อน และแก้ข้อขัดแย้ง ทำให้อัจฉริยภาพของเขาโดดเด่นขึ้นมา

นักวิชาการทางดนตรีให้เหตุผลว่า เธโลเนียส มังค์ มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักช้ากว่าคนอื่นๆ เพราะว่าเขาชอบเพลงช้าๆ มีจังหวะและท่วงทำนองที่ซับซ้อน แต่เพลงของเขาก็กลายเป็นสิ่งน่าสนใจสำหรับนักดนตรีแจ๊ซในยุคต่อมา

นักเปียโนแจ๊ซในยุคต่อมาเกือบทุกคนล้วนเล่นเพลงของเขาได้ เพราะเพลงของเขา คือ “ตัวอย่างของดนตรีแจ๊ซ”

เพลงของเขานั้น ฟังเมื่อใดก็ยังคงมีความสดใหม่ ลึกซึ้งและองค์ประกอบที่สร้างความประหลาดใจได้ นักดนตรีแจ๊ซรุ่นหลังจำนวนมากยอมรับในตัวศิลปินผู้นี้ เกิดเป็นคำพูดที่ว่า “เธโลเนียส มังค์ จะเปลี่ยนชีวิตคุณ แม้ว่าตัวเขาจะอยู่ในหลุมฝังศพ...”

เพื่อเฉลิมฉลองวันเกิดปีที่ 100 ของนักดนตรีแจ๊ซผู้ยิ่งใหญ่นี้ หลายที่จัดกิจกรรมพิเศษมากมาย โดยเฉพาะที่ในสหรัฐอเมริกา รวมทั้งงานที่น่าสนใจ ณ เดอะ เมโทรโพลิแทน มิวเซียม ออฟ อาร์ต นิวยอร์ก ในวันที่ 20 ต.ค. ซึ่งจะถึงนี้