posttoday

ศิลปะแห่งสังคมเศร้าหมอง

15 ตุลาคม 2560

หนังสือเล่มที่ 7 ของนักเขียนรุ่นใหม่ จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ เรื่อง ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า

โดย กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย

หนังสือเล่มที่ 7 ของนักเขียนรุ่นใหม่ จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ เรื่อง ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า ผ่านเข้ารอบสุดท้ายซีไรต์ ประจำปี 2560 โดยเขาได้รวบรวมเรื่องสั้นที่ดีที่สุดจำนวน 9 เรื่อง นำทุกเรื่องมาปัดฝุ่นและร้อยเรียงให้อยู่ในบรรยากาศเดียวกัน

“คอนเซ็ปต์ของหนังสือเป็นไปตามชื่อเรื่องคือ ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า ทั้ง 9 เรื่องจึงเป็นเรื่องเดียวกัน คือเกี่ยวกับการเพิ่งตระหนักได้ว่าสิ่งที่เพิ่งตัดสินใจไปในเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งนั้นเป็นการตัดสินใจที่ผิดไป ดังนั้นถ้าสังเกตในพารากราฟแรกของทุกเรื่องจะมีตัวละครที่เพิ่งตระหนักได้ และถ้าอ่านดีๆ ผมจะเขียนคำว่าเพิ่งตระหนักบ่อย ซึ่งเป็นความตั้งใจของหนังสือเล่มนี้”

ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้าเป็นการรวบรวมเรื่องสั้นที่นักเขียนคิดว่าดีที่สุด และสะท้อนภาพสังคมการเมืองตลอด 7 ปีที่เขียนหนังสือมา อย่างการจงใจเลือกปฐมบทเปิดด้วยเรื่อง น้ำตาที่ต่าง ที่สะท้อนสภาพสังคมที่ประชาชนอยู่ด้วยการโฆษณาชวนเชื่อจนทำให้ไม่เกิดคำถาม หรือหากมีใครแย้งขึ้นมาก็ไม่สามารถอยู่ในสังคมนี้ได้ หรือบทที่ 3 เพดานอาดูร เรื่องราวของหญิงสาวที่เข้าใจมาตลอดว่าเธออาศัยอยู่บนชั้นสูงสุดของคอนโดมิเนียม แต่อยู่มาวันหนึ่งกลับพบว่ามีอีกชั้นที่เหนือขึ้นไป ทว่าก็ต้องพบกับชั้นหนึ่งใหม่ซึ่งแฝงไปด้วยนัยของความไม่พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง

ศิลปะแห่งสังคมเศร้าหมอง

“เรื่องทั้งหมดไม่ใช่เรื่องเศร้า แต่ความเศร้าในหนังสือเล่มนี้เป็นพาโรดี้ (Parody) ความเศร้าของสังคม”

อย่างบท ประติมากรรมอากง เรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัวผสมความโรแมนติกนิดๆ แต่ยังเต็มไปด้วยคำถามที่ว่า มนุษย์เราเกิดย่อมมีเสรีภาพ แต่เสรีภาพที่มีอยู่เป็นความแท้จริงหรือไม่ หรือเรากำลังยึดโยงอยู่กับเงื่อนไขอะไรบางอย่าง เช่น หุ่นยนต์ที่อากงประดิษฐ์ขึ้น ที่สุดท้ายแล้วมันได้กลับมาถามผู้สร้างว่า มันเกิดมาทำไม

หรือบทสุดท้าย พระเจ้าทัมใจ หยอกล้อพระเจ้าทันใจที่ใครไปกราบไหว้จะสมหวังทันใจ ซึ่งเป็นทางลัดสู่สิ่งที่หวังไว้บางอย่าง แต่ในประเทศที่รัฐพร่ำบอกว่าจะคืนความสุขให้คนในชาติอยู่ทุกวัน สิ่งที่ขายดีที่สุดกลับเป็นธูป เทียน ดอกไม้ และเครื่องเซ่นไหว้ หรือคนต้องเปลี่ยนไปไหว้พระเจ้าทัมใจ เพราะสังคมทุกวันนี้คุณไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมหรือการเมืองได้ แต่สิ่งที่คุณทำได้คือต้องอยู่กับมันให้ได้หรือทนอยู่กับมันให้ได้

หนังสือเล่มนี้จึงเป็นเหมือนศิลปะชิ้นหนึ่งที่สะท้อนภาพสังคม ซึ่งโดยส่วนตัวเขาเป็นคนสนใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการเมือง และความเบื่อหน่ายในการเมืองกลับทำให้เขาเขียนเรื่องประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้าได้ดี

“เพราะเราไม่สามารถทำอะไรกับมันได้ เรามองเห็นความไม่เป็นเหตุเป็นผลในสังคมหลายเรื่องมากมาย แต่เราไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้เลย เราทำได้เพียงทำงานศิลปะที่สะท้อนออกไปให้เห็นว่าบ้านเมืองของเรากำลังมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมหรือเสรีนิยมในบ้านเรา ตอนนี้ต่างคนต่างเชื่อมั่นอย่างมากว่าสิ่งที่ทำอยู่มันถูก แต่ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกหมดทุกอย่าง ทุกคนย่อมมีความผิดพลาด เพียงต้องยอมรับและแลกเปลี่ยนกัน เพื่อสร้างการโต้เถียงที่เป็นเหตุเป็นผลและก่อให้เกิดการพัฒนา” เขากล่าวทิ้งท้าย

ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า สำนักพิมพ์แซลมอน จะวางแผงครั้งแรกในงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ วันที่ 18-29 ต.ค. 2560 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์