posttoday

ประณีตศิลป์ ในดวงใจไทยทั้งชาติ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง ร.9

14 ตุลาคม 2560

 โดย พรเทพ เฮง การถวายความอาลัยและจงรักภักดีอย่างที่สุด ด้วยทุกศาสตร์ทุกแขนงมาร่วมด้วยช่วยกันและเป็นการรวมพลังแห่งความรัก นั่นคือการจัดสร้างงานศิลปกรรมและงานประณีตศิลป์ เพื่อใช้ประกอบในพระราชพิธีและประกอบพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คำว่า ประณีตศิลป์ (Elaboration Art) หรืองานประณีตศิลป์ เป็นการช่างฝีมือที่ประดิดประดอยขึ้นด้วยความละเอียดอ่อน พิถีพิถัน ตั้งอกตั้งใจ มุ่งเน้นคุณค่าทางความงาม ให้ความสำคัญกับการสร้างสิ่งสวยงาม มีคุณค่า ควรชมยิ่งกว่าประโยชน์ใช้สอย ผลที่ได้จึงเป็นงานศิลปภัณฑ์ที่มีความวิจิตรบรรจงงดงามอย่างยอดเยี่ยม ชาติไทย เป็นชาติที่มีศิลปวัฒนธรรม และประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยปรากฏหลักฐาน โบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่เป็นงานประณีตศิลป์จำนวนมาก ที่ผ่านการคิดค้น สร้างสรรค์ ประดิษฐ์ขึ้นมา ด้วยความเพียรพยายาม ประณีต วิจิตร บรรจง สืบต่อกันมาเป็นเวลานานหลายร้อยปี หรืออาจถึงพันปี งานที่จัดว่าเป็นประณีตศิลป์ของไทย ที่มีลักษณะเฉพาะตัวแสดงออกซึ่งค่านิยมทางความงามของคนในชาติ กิจกรรมพิพิธภ

 โดย พรเทพ เฮง

 การถวายความอาลัยและจงรักภักดีอย่างที่สุด ด้วยทุกศาสตร์ทุกแขนงมาร่วมด้วยช่วยกันและเป็นการรวมพลังแห่งความรัก

 นั่นคือการจัดสร้างงานศิลปกรรมและงานประณีตศิลป์ เพื่อใช้ประกอบในพระราชพิธีและประกอบพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

 คำว่า ประณีตศิลป์ (Elaboration Art) หรืองานประณีตศิลป์ เป็นการช่างฝีมือที่ประดิดประดอยขึ้นด้วยความละเอียดอ่อน พิถีพิถัน ตั้งอกตั้งใจ มุ่งเน้นคุณค่าทางความงาม ให้ความสำคัญกับการสร้างสิ่งสวยงาม มีคุณค่า ควรชมยิ่งกว่าประโยชน์ใช้สอย ผลที่ได้จึงเป็นงานศิลปภัณฑ์ที่มีความวิจิตรบรรจงงดงามอย่างยอดเยี่ยม

 ชาติไทย เป็นชาติที่มีศิลปวัฒนธรรม และประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยปรากฏหลักฐาน โบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่เป็นงานประณีตศิลป์จำนวนมาก ที่ผ่านการคิดค้น สร้างสรรค์ ประดิษฐ์ขึ้นมา ด้วยความเพียรพยายาม ประณีต วิจิตร บรรจง สืบต่อกันมาเป็นเวลานานหลายร้อยปี หรืออาจถึงพันปี งานที่จัดว่าเป็นประณีตศิลป์ของไทย ที่มีลักษณะเฉพาะตัวแสดงออกซึ่งค่านิยมทางความงามของคนในชาติ

 กิจกรรมพิพิธภัณฑ์เสวนา ประจำปี 2560 ครั้งที่ 5 เรื่อง "งานประณีตศิลป์เนื่องในพระราชพิธีพระบรมศพ" ณ ห้องประชุมอาคารดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้ทำให้เห็นถึงกระบวนการรังสรรค์งานศิลปกรรมและงานประณีตศิลป์ไทย ที่ถือเป็นสุดยอดที่หนึ่งของโลกที่หาใครเสมอเหมือน

ประณีตศิลป์ ในดวงใจไทยทั้งชาติ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง ร.9

สรรค์สร้างประดิษฐ์ประดุจนฤมิตรว่าเป็นของทิพย์

 นิยม กลิ่นบุบผา ผู้ทรงคุณวุฒิผู้เชี่ยวชาญทางด้านศิลปกรรมและช่างศิลปะไทย และที่ปรึกษาการจัดสร้างงานศิลปกรรมและงานประณีตศิลป์ เพื่อใช้ประกอบในพระราชพิธีและประกอบพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บอกว่า งานศิลปกรรมและงานประณีตศิลป์ที่ถูกสร้างขึ้น มาจากคติความเชื่อ ความหมาย โดยชื่อว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นการจำลองเทวโลก

 “พระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทวราช พระราชฐานเวียงวังก็ประดุจทิพยสถานในสวรรค์ เพราะฉะนั้นงานประณีตศิลป์ที่ทรงอยู่ในฉลองพระองค์เลย ตั้งแต่ภูษาทรงเรื่อยไปจนถึงราชรถราชยานราชพาหนะก็คิดสรรค์สร้างประดิษฐ์ประดุจนฤมิตรว่าเป็นของทิพย์

 องค์พระมหากษัตริย์ก็คือเทวราชหรือเทวดา เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของทิพย์จึงเป็นของที่ทั่วไปในโลกไม่มี เพราะฉะนั้นรูปลักษณ์ศิลปะจึงมีใช้เฉพาะองค์พระมหากษัตริย์และในพระราชสำนัก ส่วนพระบรมวงศานุวงศ์ที่ใช้เป็นของพระราชทานทั้งหมด เป็นผู้ที่เนื่องในองค์พระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์เป็นแกนกลางจุดสูงสุดในสมมติเทวราช ทำให้เทวดามาเชิญเครื่องต่างๆ เป็นเทพบริวารที่มาแวดล้อมเทวราชา”

 นิยม ฉายภาพต่อว่า ศิลปกรรมที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธีพระบรมศพ หมายถึงงานประณีตศิลป์ คืองานวิจิตรศิลป์ที่วิจิตรพิสดารยิ่งกว่า ซึ่งต้องทำอย่างประณีตบรรจง มีขั้นตอนการทำหลากหลายมาก ทำไมจึงเรียกพระเมรุมาศ ซึ่งคำว่า มาศ แปลว่า ทอง พระเมรุมาศจะเป็นทอง 80% และเป็นสีสลับเพื่อให้เห็นลาน 20% โดยเป็นทรงบุษบก ส่งเสด็จสู่สรวงสวรรค์ด้วยความวิจิตรงดงามมาก เครื่องเมรุจะเป็นกระดาษเพื่อใช้ชั่วคราว

 “ความจริงแล้วงานประณีตศิลป์คืองานวิจิตรศิลป์อย่างเต็มที่ ส่วนงานวิจิตรศิลป์ บางทีไม่ประณีตเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นมีความสำคัญในการชี้บ่งบุคคลได้ว่างานประณีตศิลป์นี้ทำขึ้นเพื่อถวายพระมหากษัตริย์ เราจะรู้ว่าเป็นพระมหากษัตริย์ได้ก็ด้วยเครื่องประกอบอิสริยยศ เป็นเทวราชโดยสมมติ เป็นสมมติเทวราช การสร้างสรรค์ที่ปลงพระศพให้งดงามได้ทุกสิ่ง ซึ่งทั้งหมดเรียกว่างานประณีตศิลป์ แต่จะมีโครงใหญ่ๆ อยู่ โบราณไม่ได้แบ่งว่าเป็นงานสถาปัตยกรรมหรืองานอะไรงานที่ช่างทำทั้งหมดคือ ช่างต่างๆ อย่างช่างเขียน ช่างเครื่องประดับ ช่างเครื่องล่าง เป็นต้น ทุกอย่างประณีตหมด มีจังหวะชั้นเชิงงดงามต่างๆ วันนี้เรียกตามการบริหารและสายงานที่ปฏิบัติตามหน้างานเป็นหมวดหมู่ตามระบบราชการ ทั้งหมดเป็นงานช่างมาตั้งแต่โบราณ

 สวรรคต แปลว่า ไปสวรรค์ หมายความว่าเสด็จกลับสวรรค์ ซึ่งจะมีการส่งเสด็จ มีริ้วขบวนที่จะไปส่ง ที่ใส่โกศเพราะต้องมีเครื่องห่อหุ้มตามคติเดิม ที่เผาพระศพก็เป็นวิมานหรือพระเมรุมาศเป็นที่ประทับของเทพเจ้า หายวับไปในโลกมนุษย์และไปโผล่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ตามคติความเชื่อตามวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ของชาติไทยที่สืบทอดกันมายาวนานแล้ว”

 งานประณีตศิลป์ นอกจากเป็นการรักษาคติความเชื่อตามวัฒนธรรมแล้ว นิยม ก็มองว่าเป็นการรักษากระบวนการงานช่างไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่วิเศษสุดของชาติ

 “งานศิลปกรรมและประณีตศิลป์สามารถแสดงถึงความเป็นพระมหากษัตริย์ได้อย่างเต็มภาคภูมิ ตั้งแต่ขึ้นดำรงเป็นพระมหากษัตริย์ จนกระทั่งเสด็จสวรรคตเลย ไม่เท่านั้นงานประณีตศิลป์สามารถแสดงความเป็นชาติไทยทั้งชาติได้ด้วย

 งานประณีตศิลป์หรืองานช่างมีความสำคัญยิ่งใหญ่มาก แต่เราไม่ค่อยได้สังเกตหรือดูให้ลึกซึ้งเข้าไปเท่านั้นเอง ถ้าพิจารณาและสังเกตจะพบว่างานประณีตศิลป์จะปรากฏในความเป็นไทยตั้งแต่เกิดจนตายของคนทุกคน”

รักษาสืบสานของเดิม พัฒนาสร้างสรรค์ฝีมือช่างและงานให้ก้าวหน้า

 อำพล สัมมาวุฒธิ นักวิชาการช่างศิลป์เชี่ยวชาญ (ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านช่างศิลปกรรม (วิจัยและพัฒนาศิลปกรรม) สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ชี้แจงว่าสำหรับงานประณีตศิลป์ในงานพระบรมศพ พระเมรุมาศ ซึ่งผู้ทำงานช่างจะต้องศึกษา แล้วทำตามรูปแบบเดิมมีการสืบสาน แต่ลอกของเดิมไม่ได้จึงต้องมีการสร้างสรรค์ ตรงนี้คือการพัฒนาฝีมือช่างและรักษาสืบสานของเดิม รวมทั้งพัฒนาสร้างสรรค์งานให้ก้าวหน้าขึ้นไปอีก

 “งานช่างสิบหมู่ที่รับผิดชอบและดำเนินงานเพื่อการตกแต่งพระเมรุมาศให้วิจิตรงดงาม มีทั้งที่กรมศิลปากรทำเองและอาสาสมัครเข้ามาช่วยงาน ซึ่งทำให้งานสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว อาสาสมัครที่เป็นจิตอาสามีความอดทนมาก และทำเพื่อถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งงานจะมีหลายส่วน ในการจัดสร้างงานศิลปกรรมและงานประณีตศิลป์ประกอบพระเมรุมาศ ซึ่งมีงานประติมากรรมเยอะที่สุดตั้งแต่ผมทำงานมา มีรายละเอียดเยอะมาก”

 อำพล บอกว่า สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร มีส่วนร่วมในการดำเนินงานจัดพระราชพิธีออกพระเมรุมาศตลอดมา ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ได้รับภารกิจในการดำเนินงาน ดังนี้

1.ประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ ได้แก่ รูปหล่อ เทวรูป สัตว์หิมพานต์ เป็นต้น

 รูปประติมากรรมที่สำนักช่างสิบหมู่ดูแลการสร้างนี้ ใช้ประดับตกแต่งบนพระเมรุมาศและบริเวณปริมณฑลของพระเมรุมาศ โดยเฉพาะบนพระเมรุมาศเมื่อพิจารณาตามผังแบบของพระเมรุมาศ จะประกอบด้วยชั้นต่างๆ ดังนี้ จากชั้นที่หนึ่งคือ พื้นล่างสุดที่ติดกับถนนรอบๆ พระเมรุมาศ ถัดขึ้นมาเป็นฐานไพทีชั้นที่หนึ่ง สอง สาม ต่อขึ้นไปเป็นองค์มณฑปที่เป็นอาคารพระเมรุทรงมณฑปหรือบุษบกขนาดใหญ่ ประติมากรรมที่สถาปนิกผู้ออกแบบได้กำหนดพื้นที่จัดตั้งไว้ตามผังแบบ ดังนี้

 มหาเทพ 4 พระองค์ ได้แก่

 1.พระอิศวร (พระศิวะ) พระองค์ทรงประทานพรวิเศษให้แก่ผู้หมั่นทำความดี และยึดมั่นในศีลธรรม

 2.พระนารายณ์ (พระวิษณุ) การอวตารของพระนารายณ์มามีชีวิตบนโลกเพื่อปราบยุคเข็ญ

 3.พระอินทร์ พระผู้สามารถบันดาลความสุขให้แก่โลก ได้แก่ บันดาลให้เกิดฝนตกตามฤดูกาล  บันดาลให้พืชพรรณงดงาม

 4.พระพรหม พระผู้กำหนดชะตาชีวิตของมนุษย์

 มหาเทพทั้ง 4 เสด็จลงมาจากสวรรค์เพื่อรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสู่สวรรค์ พระมหาเทพทั้ง 4 พระองค์ได้กำหนดที่ประดิษฐานไว้บนฐานไพทีชั้นที่สาม ล้อมรอบองค์พระเมรุมาศ

 จตุโลกบาล 4 พระองค์ ได้แก่

 1.ท้าวธตรฐ ดูแลรักษาโลกด้านทิศตะวันออก

 2.ท้าววิรุฬหก ดูแลรักษาโลกด้านทิศใต้

 3.ท้าววิรูปักษ์ ดูแลรักษาโลกด้านทิศตะวันตก

 4.ท้าวกุเวร หรือท้าวเวสวัณ หรือท้าวเวสสุวรรณ ดูแลรักษาโลกด้านทิศเหนือ

 ท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 เป็นเทวดาผู้ป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่มนุษย์โลกไว้ทั้ง 4 ทิศ เสด็จลงมาจากสวรรค์เพื่อรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสู่สวรรค์ ท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 พระองค์ได้กำหนดที่ประดิษฐานไว้บนฐานไพทีชั้นที่หนึ่ง บริเวณมุมล้อมรอบองค์พระเมรุมาศ

ประณีตศิลป์ ในดวงใจไทยทั้งชาติ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง ร.9

 + พระพิเนก หรือพระพิฆเนศวร เป็นบุตรแห่งองค์พระอิศวรและพระอุมาเทวี เป็นเทพแห่งความสำเร็จ ทรงฉลาดรอบรู้ในทุกศิลปะและวิทยา แสดงถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงรอบรู้และทรงใช้สติปัญญาในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้แก่ประชาชนเสมอมา องค์พระพิฆเนศวรได้กำหนดที่ประดิษฐานไว้บนฐานไพทีชั้นที่สองในตำแหน่ง หน้าบันไดทางขึ้นฐานไพทีชั้นที่สามด้านทิศเหนือ

 + พระพินาย คือ พระโกญจนาเนศวร พระพินายะ หรือพระพินาย มีอีกนามว่า พระโกญจนาเนศวร เป็นโอรสของพระอิศวร มีศักดิ์เป็นน้องของพระพิฆเนศวร มีพระพักตร์เป็นช้างเช่นเดียวกับพระพิฆเนศวร เป็นเทพเจ้าแห่งช้างทุกชนิด เป็นผู้สร้างช้างเอราวัณ ช้างคิริยเมขละไตรดายุค และช้างเผือกในโลก และด้วยในแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีช้างเผือกบังเกิดขึ้นหลายเชือกเป็นมหามงคลแก่ประเทศไทย

 ด้วยพระมหากรุณาธิคุณยิ่งแก่ประชาชน ทรงจัดตั้งกองทุนการศึกษาขึ้นมากมาย เพื่อสร้างบุคลากรอันมีค่าเปรียบเช่นช้างเผือกที่อยู่ในป่านำมากลั่นกรองหล่อหลอมให้เป็นผู้มีคุณประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง องค์พระโกญจนาเนศวรได้กำหนดที่ประดิษฐานไว้บนฐานไพทีชั้นที่สองในตำแหน่งหน้าบันไดทางขึ้นฐานไพทีชั้นที่สาม ด้านทิศเหนือคู่กับองค์พระพิฆเนศ  มหาเทพทั้งสองพระองค์ คือ พระพิเนกและพระพินาย จัดสร้างพระรูปมาประหนึ่งรับเสด็จสู่สรวงสวรรค์

 + เทวดานั่งอัญเชิญบังแทรก/พุ่ม สำหรับรูปเทวดานั่งอัญเชิญบังแทรก/พุ่ม นี้ ได้กำหนดที่ประดิษฐานไว้บนฐานไพทีชั้นที่หนึ่ง สอง และสาม รวมทั้งสิ้น 56 องค์ แบ่งหน้าที่ในการอัญเชิญคือประกอบติดตั้ง ฉัตรและบังแทรกตามที่สถาปนิกกำหนด

 + เทวดายืนอัญเชิญฉัตร สำหรับรูปเทวดายืนอัญเชิญฉัตรนี้ ได้กำหนดที่ประดิษฐานไว้บนฐานไพทีชั้นที่สาม ติดกับบันไดทางขึ้นพระมณฑปพระเมรุมาศ รวมทั้งสิ้น 8 องค์

 + สัตว์สำคัญประจำทิศ สัตว์สำคัญประจำทิศที่สำนักช่างสิบหมู่จัดสร้างขึ้น เพื่อติดตั้งบริเวณบันไดทางขึ้นของฐานไพทีแต่ละชั้น ซึ่งจะเรียงตามลำดับเปรียบดังทางขึ้นเขาพระสุเมรุที่ล้อมรอบด้วยป่าหิมพานต์ จนถึงชั้นระดับสูงที่เป็นที่อยู่ของครุฑ โดยเริ่มจากสัตว์มงคลสี่ประเภทที่เป็นที่เกิดของแม่น้ำสี่สาย

 + ป่าหิมพานต์ หรือเขาหิมพานต์ มีสระสำคัญๆ อยู่ 7 สระ สระอโนดาตเป็นสระหนึ่งในสระทั้ง 7 ที่มีธารน้ำทั้งหลายไหลลงมาที่สระนี้ พื้นสระอโนดาตเป็นแผ่นหินกายสิทธิ์ ชื่อมโนศิลา บริเวณที่เป็นดิน ก็เป็นดินกายสิทธิ์ชื่อหรดาล (ใช้ถูตัวได้ดี) น้ำใสสะอาด ท่าอาบน้ำมีมากมาย เป็นที่สรงสนานแห่งพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย รวมถึงเหล่าผู้วิเศษผู้มีฤทธิ์ทั้งหลาย เช่น ฤๅษี วิทยาธร ยักษ์ นาค เทวดา เป็นต้น

 + รอบสระอโนดาต มียอดเขารายรอบอยู่ 5 ยอดเขา ได้แก่

 1.ยอดเขาสุทัสสนะ เป็นทองคำ รูปทรงโค้งตามแนวสระอโนดาต และปลายยอดเขา มีสัณฐานโค้งงุ้มดังปากกา โอบปิดด้านบนสระอโนดาตไว้ ไม่ให้โดนแสงอาทิตย์ แสงจันทร์

 2.ยอดเขาจิตตะ เป็นรัตนะ

 3.ยอดเขากาฬะ เป็นแร่พลวง หินแห่งยอดเขาสีนิล 

 4.ยอดเขาคันธมาทน์ ด้านบนยอดเขา เป็นพื้นราบเรียบ อุดมไปด้วยไม้หอมนานาพันธุ์

 5.ยอดเขาไกรลาส เป็นภูเขาเงิน วิมานฉิมพลีแห่งพญาครุฑก็อยู่ที่เขาไกรลาสนี้

 ยอดเขาทั้ง 5 (รูปทรงคล้ายยอดเขาสุทัสสนะ คือ มีสัณฐานโค้งงุ้มดังปากกา โอบปิดด้านบนสระอโนดาตไว้ ไม่ให้โดนแสงอาทิตย์ แสงจันทร์) ตั้งตระหง่านรายล้อมสระอโนดาตไว้ และมีเทวดารวมถึงนาคเป็นผู้ดูแลรักษา ธารน้ำทั้งหลายจากเขาหรือป่าหิมพานต์ทุกสารทิศจะไหลมาผ่านยอดเขา 5 ลูกนี้ (ลูกใดลูกหนึ่ง) จากนั้นก็จะไหลรวมลงสู่สระอโนดาต (เหตุที่ได้ชื่อว่า อโนดาต ก็เพราะมีเงื้อมผาโค้งงุ้มดังปากกา โอบบังแสงไว้ด้านบน ทำให้แสงอาทิตย์และแสงจันทร์ไม่สามารถส่องผ่านไปโดนน้ำได้ แสงเพียงลอดเข้าด้านข้างในแนวเหนือใต้ ตรงระหว่างรอยต่อยอดเขากับยอดเขาเท่านั้น สระนี้จึงได้ชื่อว่า “อโนดาต” แปลว่า ไม่ถูกแสงส่องให้ร้อน) 

 จากสระอโนดาตจะมีปากทางให้น้ำไหลระบายออกอยู่สี่แห่ง ทิศละแห่ง คือ

 1.สีหมุข ปากแม่น้ำแดนราชสีห์ (เป็นถิ่นที่ราชสีห์อาศัยอยู่มาก)

 2.หัตถีมุข ปากแม่น้ำแดนช้าง (เป็นถิ่นที่ช้างอาศัยอยู่มาก)

 3.อัสสมุข ปากแม่น้ำแดนม้า (เป็นถิ่นที่ม้าอาศัยอยู่มาก)

 4.อุสภมุข ปากแม่น้ำแดนโคอุสภะ (เป็นถิ่นที่โคอาศัยอยู่มาก)

 ทำให้เกิดเป็นแม่น้ำใหญ่ 4 สาย ไหลล่อเลี้ยงรอบนอกของเขาหิมพานต์ ก่อนลงสู่มหาสมุทร ดังนั้น สัตว์มงคล 4 ประเภท จึงได้แนวความคิดมาจากปากแม่น้ำสำคัญทั้งสี่สายและถิ่นที่อาศัยของสัตว์เหล่านี้

 บริเวณพื้นด้านข้างของรูปสัตว์สำคัญจากด้านข้างหนึ่งของรูปสัตว์ชนิดหนึ่ง ผ่านมุมพระเมรุมาศสู่ด้านข้างอีกหนึ่งของรูปสัตว์อีกชนิดหนึ่งจะตกแต่งเป็นสระน้ำ เขามอที่ประดับไปด้วยพันธุ์พืชสวยงาม รูปปั้นสัตว์ขนาดย่อส่วนลงสีของสัตว์สำคัญเป็นลักษณะต่างๆ เพื่อให้เข้ากับเรื่องราวความเป็นป่าหิมพานต์ โดยได้ความร่วมมือจากเครือข่ายปฏิบัติงาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่าง และคณะช่างอาสาสมัคร จ.เพชรบุรี โดยการนำของ สมชาย บุญประเสริฐ ในความดูแลของกรมศิลปากร

 + คชสีห์ และราชสีห์ สัตว์ทั้งสองเป็นสัตว์ใหญ่ที่ทรงพลังอำนาจอยู่เหนือกว่าสัตว์ทั้งปวงในป่าหิมพานต์ อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์แทนของข้าราชบริพารผู้จงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อันได้แก่ คชสีห์ เป็นตราประจำเสนาบดีที่สมุหกลาโหม เป็นสัญลักษณ์ผู้พิทักษ์แผ่นดินและพระมหากษัตริย์ แทนเหล่าทหารและตำรวจทุกเหล่าทัพ ราชสีห์ เป็นตราประจำเสนาบดีที่สมุหนายก เป็นคุณลักษณะที่ข้าราชการพลเรือนพึงมีในการปกครองดูแลทุกข์สุขของราษฎรแทนข้าราชการในทุกภาคส่วน

 + ครุฑ จะมีที่อาศัยอยู่บริเวณเชิงเขาพระสุเมรุในลักษณะเป็นวิมาน (วิมานฉิมพลี) และครุฑก็มีความสำคัญที่เป็นราชพาหนะแห่งองค์พระนารายณ์ ได้กำหนดที่ติดตั้งไว้ข้างบันไดทางขึ้นฐานไพทีชั้นที่สาม ด้านซ้าย-ขวาของในทิศตะวันออก ตะวันตก และทิศใต้ ของพระเมรุ รวม 6 รูป

 ส่วนประดับตกแต่งราวบันได ทางขึ้นของฐานไพทีแต่ละชั้น โดยประดับเป็นรูปพญานาค ดังนี้

 - บันไดทางขึ้นอาคารซ่างและหอเปรื่องเครื่อง นาค 1 เศียร  

 - บันไดทางขึ้นฐานไพทีชั้นที่ 1 นาค 1 เศียร ขนาด 70 ซม. ยาว 150 ซม.

 - บันไดทางขึ้นฐานไพทีชั้นที่ 2 นาค 3 เศียร ขนาด 70 ซม. ยาว 250 ซม.

 - บันไดทางขึ้นฐานไพทีชั้นที่ 3 นาค 5 เศียร ขนาด 70 ซม. ยาว 350 ซม.

 - บันไดทางขึ้นพระมณฑปกลางของพระเมรุ นาค 5 เศียร ขนาด 70 ซม. ยาว 510 ซม.

 + ส่วนประดับตกแต่งที่ฐานบัวเชิงบาตรของพระเมรุมาศ

 1.เทพชุมนุม รอบฐานท้องไม้เชิงบาตรฐานไพทีชั้นที่สามของพระเมรุมาศ ขนาดความสูง 60 เซนติเมตร จำนวน 108 องค์

 2.เทพพนม  ประดับรอบท้องไม้เชิงบาตรของฐานมณฑปกลางของพระเมรุมาศ ขนาดความสูง 60 เซนติเมตร จำนวน 28 องค์ 

 3.ครุฑยุดนาค ประดับรอบท้องไม้เชิงบาตรของฐานมณฑปกลางของพระเมรุมาศ ขนาดความสูง 60 เซนติเมตร จำนวน 28 รูป 

 + เสาครุฑ ติดตั้งอยู่บนฐานไพทีชั้นที่สอง และชั้นที่สาม บริเวณมุมไพทีทั้งสี่ด้าน รวม 8 เสา เหนือครุฑตั้งฉัตรโลหะฉลุลาย

 การดำเนินงานสร้างเพื่อใช้งานในครั้งนี้ กรมศิลปากรได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายปฏิบัติงาน จากสถาบันสิริกิติ์ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ คือ ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด และศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง ในการควบคุมอาจารย์สุดสาคร ชายเสม

 + คุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยง

 คุณทองแดงเป็นสุนัขเพศเมีย เป็นลูกของแดง ซึ่งเป็นสุนัขจรจัดบริเวณถนนพระราม 9 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงนำมาเลี้ยงไว้ พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ “เรื่องทองแดง (The Story of Tongdaeng)” ออกเผยแพร่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ การสร้างต้นแบบรูปคุณทองแดงนี้ได้รับความร่วมมือจากอดีตผู้เชี่ยวชาญด้านประติมากรรมของสำนักช่างสิบหมู่ คือ ชิน ประสงค์ เป็นผู้ดำเนินการปั้นต้นแบบ

ประณีตศิลป์ ในดวงใจไทยทั้งชาติ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง ร.9

2.จิตรกรรมฉากบังเพลิง และจิตรกรรมโครงการพระราชดำริ

 จิตรกรรมฉากบังเพลิงและจิตรกรรมโครงการพระราชดำริ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ดำเนินการออกแบบโดยมอบหมายให้ มณเฑียร ชูเสือหึง ตำแหน่งจิตรกรเชี่ยวชาญ และเกียรติศักดิ์  สุวรรณพงศ์ ตำแหน่งจิตรกรชำนาญการพิเศษ ดำเนินการ ประกอบด้วยฉากบังเพลิงประกอบพระเมรุมาศ มีทั้งหมด 4 ทิศ ดังนี้

 นารายณ์อวตารปางที่ 2 กูมาวตาร เป็นเต่าทอง นารายณ์อวตารปางที่ 1 มัสยาวตาร เป็นปลากรายทอง จิตรกรรมฉากบังเพลิง นารายณ์อวตารปางที่ 7 รามาวตาร เป็นพระรามในรามเกียรติ์ นารายณ์อวตารปางที่ 6 ปรศุรามาวตาร เป็นพราหมณ์ชื่อปรศุราม (รามผู้ถือขวาน) ออกแบบโดย เกียรติศักดิ์ สุวรรณพงศ์

 จิตรกรรมฉากบังเพลิง ออกแบบโดย มณเฑียร ชูเสือหึง นารายณ์อวตารปางที่ 4 นรสิงหาวตาร เป็นนรสิงห์ครึ่งคน นารายณ์อวตารปางที่ 3 วราหาวตาร เป็นหมูป่าเอกเขี้ยวเพชร นารายณ์อวตารปางที่ 10 กัลยาวตาร เป็นบุรุษขี่ม้าขาว นารายณ์อวตารปางที่ 8 กฤษณาวตาร เป็นพระกฤษณะ

 จิตรกรรมโครงการพระราชดำริ ภายในพระที่นั่งทรงธรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ดำเนินการออกแบบโดย มณเฑียร ชูเสือหึง ตำแหน่งจิตรกรเชี่ยวชาญ โดยความร่วมมือกันระหว่างสำนักช่างสิบหมู่ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเพาะช่าง ในการดำเนินงานเขียนจิตรกรรมโครงการพระราชดำริ ภายในพระที่นั่งทรงธรรม ประกอบด้วย โครงการพระราชดำริหมวด ดิน น้ำ ลม ไฟ อย่างละ 4 โครงการ รวม 12 โครงการ และเทวดาชุมนุม

3.การจัดสร้างพระโกศจันทน์และช่อไม้จันทน์

 พระโกศจันทน์และช่อไม้จันทน์ในครั้งนี้ ออกแบบโดย สมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร ตำแหน่ง นายช่างศิลปกรรมอาวุโส สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

 พระโกศจันทน์ เป็นโกศแปดเหลี่ยม มียอดประกอบด้วยโครงลวดตาข่ายประดับลายฉลุเป็นลายไม้ซ้อนทั้งองค์ องค์พระโกศจันทน์สามารถถอดแยกได้เป็น 3 ส่วน สำหรับประกอบกันเป็นองค์พระโกศ พระโกศจันทน์เป็นเครื่องเฉลิมพระเกียรติแก่พระบรมศพและพระศพ จะถูกใช้เมื่ออัญเชิญพระโกศพระบรมศพหรือพระศพประดิษฐานยังพระจิตกาธานภายในพระเมรุ หลังจากเปลื้องพระลองชั้นนอกออกแล้ว เจ้าพนักงานจะนำพระโกศจันทน์เข้าประกอบพระโกศลองใน ซึ่งประดิษฐานบนตะแกรงเหล็กช่วงรัดเอวของพระจิตกาธาน เพื่อถวายพระเพลิง

 การประดิษฐ์พระโกศจันทน์ เริ่มจากการใช้ลวดโครงเหล็กตัดตามรูปร่างและขนาดตามแบบมาเชื่อมกัน แล้วจึงนำตะแกรงลวดตาข่ายมาบุทับโครงภายนอกเพื่อไว้ติดลวดลายไม้จันทน์ ซึ่งจะนำไม้จันทน์ที่เป็นท่อน ซอยเป็นแผ่นบางๆ ตามขนาดที่ต้องการ เพื่อใช้ฉลุลวดลายตามขนาดที่กำหนด เช่น แปรรูปเป็นแผ่นรูปโค้งตามลักษณะลวดบัวต่างๆ ตามแบบ รวมทั้งทำการกลึงไม้เป็นยอดพระโกศจันทน์

 พระโกศจันทน์ที่ใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีรูปลักษณะใกล้เคียงกับพระโกศจันทน์ที่ใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนบนเป็นพระโกศทรงแปดเหลี่ยมมีฝาเป็นทรงมงกุฎ ส่วนล่างเป็นพระหีบรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าปากผาย มีความแตกต่างอยู่ที่ลวดลายที่ใช้ในการโกรกลายซ้อนไม้ประดับที่ตัวพระโกศจันทน์ที่สร้างขึ้นด้วยไม้จันทน์

 ช่อไม้จันทน์สำหรับในส่วนของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และพระบรมวงศานุวงศ์ เพื่อใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพส่งเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ออกแบบโดย สมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร ตำแหน่งนายช่างศิลปกรรมอาวุโส สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร สำหรับช่อดอกไม้จันทน์ทั้งหมดนั้นจัดสร้างโดยสถาบันสิริกิติ์

4.ฉัตรประดับพระเมรุมาศ ฉัตรโลหะกลีบบัว ฉัตรฉลุลายโลหะ (โปร่ง) ฉัตรประดับลายผ้าทองย่น 

 ฉัตรที่ประดับพระเมรุมาศประกอบด้วย ฉัตรโลหะกลีบบัว ฉัตรฉลุลายโลหะ (โปร่ง) ฉัตรประดับลายผ้าทองย่น 

 1.ฉัตรโลหะกลีบบัว เป็นฉัตรที่มีโครงสร้างเป็นโลหะ มีระบายฉัตรเป็นโลหะบางฉลุลายเป็นกลีบบัวเป็นกลีบๆ ดัดให้ผายออกเล็กน้อย ประดับรอบชั้นฉัตร มีขนาดลดหลั่นกันตามขนาดที่ออกแบบ มี 11 ชั้น ฉัตรกว้าง 120 เซนติเมตร สูง 820 เซนติเมตร ติดตั้งเป็นชุด ชุดละ 3 ต้น เรียงกัน ประกอบด้วยระบายฉัตรระบายสีเป็นทอง นากและเงิน จำนวนทั้งสิ้น 36 ต้น ซึ่งติดตั้งบริเวณด้านนอกของรั้วราชวัติ โดยรอบพระเมรุมาศ

 2.ฉัตรโลหะฉลุลาย (โปร่ง) เป็นฉัตรที่มีโครงสร้างเป็นโลหะ มีระบายฉัตรเป็นโลหะฉลุลายทั้งผืนมาประดับล้อมรอบโครงระบายฉัตรเป็นชั้นๆ และมีลายคาดส่วนบนในแต่ละชั้นฉัตรเรียกมาลัยเกี้ยว ขนาดแต่ละชั้นฉัตรจะลดหลั่นกันตามขนาดที่ออกแบบ เมื่อประกอบเสร็จลงรักปิดทองคำเปลวตกแต่ง ประกอบด้วย

 + ฉัตรโลหะฉลุลาย 7 ชั้น ขนาดกว้าง 90 เซนติเมตร สูง 370 เซนติเมตร จำนวน 12 คัน

 + ฉัตรโลหะฉลุลาย 5 ชั้น ขนาดกว้าง 40 เซนติเมตร สูง 110 เซนติเมตร จำนวน 8 คัน   

 + ฉัตรโลหะฉลุลาย 5 ชั้น ขนาดกว้าง 50 เซนติเมตร สูง 142 เซนติเมตร จำนวน 4 คัน  

 + ฉัตรโลหะฉลุลาย 3 ชั้น ขนาดกว้าง 30 เซนติเมตร สูง 80 เซนติเมตร จำนวน 26 คัน

 3.ฉัตรประดับลายผ้าทองย่น เป็นฉัตรที่มีโครงสร้างเป็นโลหะ มีระบายฉัตรเป็นผ้าสีตามกำหนด  แต่ละชั้นเป็นผ้าระบายซ้อนกันสองชั้น ผนึกตกแต่งด้วยลายผ้าทองย่นที่ผ่านการฉลุลายเรียบร้อยแล้ว มีขนาดของชั้นฉัตรลดหลั่นกันตามขนาดที่ออกแบบ ประกอบด้วย

 + ฉัตรประดับลายผ้าทองย่น 7 ชั้นฉัตร กว้าง 88 เซนติเมตร สูง 367 เซนติเมตร จำนวน 8 คัน ฉัตรชุดนี้เป็นฉัตรที่ประกอบเทวดายืนเชิญฉัตร บนฐานไพทีชั้นที่ 3

 + ฉัตรประดับลายผ้าทองย่น 7 ชั้นฉัตร กว้าง 60 เซนติเมตร สูง 250 เซนติเมตร จำนวน 12 คัน ฉัตรชุดนี้เป็นฉัตรที่ประกอบบนเสาหัวเม็ดของพนักกันตกของฐานไพทีชั้นที่ 2

 + ฉัตรประดับลายผ้าทองย่น 5 ชั้นฉัตร กว้าง 50 เซนติเมตร สูง 180 เซนติเมตร จำนวน 28 คัน ฉัตรชุดนี้เป็นฉัตรที่ประกอบบนเสาหัวเม็ดของพนักกันตกของฐานไพทีชั้นที่ 1

ประณีตศิลป์ ในดวงใจไทยทั้งชาติ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง ร.9

5.การจัดสร้างพระโกศพระบรมอัฐิ

 พระโกศทรงพระบรมอัฐิ คือพระโกศสำหรับบรรจุพระบรมอัฐิของพระเจ้าแผ่นดิน สมเด็จพระราชินี หรือพระประยูรวงศ์มาแต่อดีต มักสร้างด้วยโลหะมีค่า เช่น ทอง เงิน หรือมีการใช้โลหะอื่นแล้วกะไหล่ด้วยทอง ประดับด้วยอัญมณี หรือรัตนชาติ เพื่อให้สวยงามสมพระเกียรติ มีลักษณะรูปทรงกระบอก ประกอบด้วยส่วนฐาน ส่วนตัวพระโกศที่เป็นทรงกระบอกปากผาย และมีฝาสำหรับปิดส่วนบน รูปทรงโดยรวมอาจมีรูปทรงเหลี่ยม (มักเป็นแปดเหลี่ยม) หรือทรงกลมแล้วแต่ความเหมาะสมในสถานภาพแต่ละพระองค์ ถ้าเป็นชั้นระดับสูงมักมียอดทรงมงกุฎ ยอดประดับด้วยพุ่ม หรือฉัตรตามฐานันดรศักดิ์ มีส่วนประดับตกแต่งให้งดงามสมพระเกียรติด้วยดอกไม้เอว (ส่วนฐาน) ดอกไม้เพชร หรือดอกไม้ไหว (ส่วนฝา) และเฟื่องพู่ระย้าที่ปากฝาพระโกศ ภายในบรรจุพระโกศศิลา (ทำด้วยศิลาสีขาว) เป็นทรงกระบอกมีฝาเช่นเดียวกัน เพื่อใช้สำหรับบรรจุพระบรมอัฐิเป็นพระโกศ (โกศศิลาจะอยู่ชั้นในรองจากพระโกศทองด้านนอก)

 งานสร้างพระโกศพระบรมอัฐิครั้งนี้แบ่งออกเป็น 4 ส่วน (4 รูปแบบ) ดังนี้

 1.พระโกศพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ออกแบบโดย อำพล สัมมาวุฒธิ นักวิชาการช่างศิลป์เชี่ยวชาญ

 2.พระโกศพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในส่วนของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ออกแบบโดย สมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร ตำแหน่งนายช่างศิลปกรรมอาวุโส (จัดสร้างโดยสถาบันสิริกิติ์)

 3.พระโกศพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในส่วนของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ออกแบบโดย ณัฐพงค์ ปิยมาภรณ์ นักวิชาการ ช่างศิลป์ชำนาญการพิเศษ

 4.พระโกศพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในส่วนของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ออกแบบโดย สมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร ตำแหน่ง นายช่างศิลปกรรมอาวุโส

6.การออกแบบเครื่องสังเค็ด

 เครื่องสังเค็ดเป็นคำนาม หมายถึง ทานวัตถุมีตู้พระธรรม โต๊ะหมู่ เป็นต้น ที่เจ้าภาพจัดถวายแก่สงฆ์หรือภิกษุผู้เทศน์หรือชักบังสุกุลในเวลาปลงศพ สำหรับในพระราชพิธีครั้งนี้ กรมศิลปากร โดยสำนักช่างสิบหมู่ ได้รับภารกิจในการออกแบบเครื่องสังเค็ด ส่วนการจัดสร้างสำนักพระราชวังเป็นผู้ดำเนินการ โดยให้ทางกรมศิลปากรช่วยควบคุมดูแลให้เป็นไปตามรูปแบบ ดังรายการต่อไปนี้

 1.พัดรองสำหรับพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลการออกพระเมรุ

 2.พัดรองสำหรับพระราชพิธีทรงบำเพ็ญกุศลพระบรมอัฐิ

 3.พัดรองสำหรับถวายพระจีนนิกาย และอนัมนิกาย

 4.ตู้สังเค็ดหรือตู้ใส่หนังสือประดับด้วยภาพพระราชนิพนธ์ พระมหาชนก

 5.ธรรมาสน์ปาติโมกข์

 6.หีบพระปาติโมกข์พร้อมต่าง

7.การซ่อม สร้างเครื่องประกอบราชยาน (ผ้าระบายฉัตรพระมหาพิชัยราชรถ พระวิสูตรพระมหาพิชัยราชรถ ธงสามชายงอนราชรถ)

 การซ่อม สร้างเครื่องประกอบราชยาน ประกอบด้วย

 + ผ้าระบายฉัตรพระมหาพิชัยราชรถ

 + ผ้าที่ใช้ประกอบบนชั้นฉัตรของพระมหาพิชัยราชรถ เป็นฉัตร 5 ชั้น เดิมเป็นผ้าตาดทองระบายสองชั้น มีผ้าฝาหลังคาปิดบนในแต่ละชั้น พระราชพิธีครั้งนี้จึงสร้างผ้าระบายฉัตรให้เป็น ผ้าตาดทองลายทองแผ่ลวด จำนวนทั้ง 4 คัน

 + พระวิสูตรพระมหาพิชัยราชรถ พระวิสูตรก็เช่นเดียวกันกับผ้าระบายฉัตร พระราชพิธีครั้งนี้ได้จัดสร้างผ้าพระวิสูตรขึ้นใหม่ให้เป็นผ้าตาดทองลายทองแผ่ลวด จำนวนทั้ง 4 ผืน

 + ธงสามชายงอนราชรถ

 เนื่องจากธงงอนราชรถทุกองค์ได้สร้างไว้เป็นเวลานาน ทำให้สีผ้าซีดอ่อนลง แผ่นกระดาษทองเก่าเริ่มกรอบ ทองที่ปิดกระดาษมีความหม่นไม่สดใสเช่นเดิม จึงดำเนินการจัดทำขึ้นใหม่ เพื่อนำไปใช้ในขบวนพระราชอิสริยยศให้สมพระเกียรติและเป็นการอนุรักษ์ศิลปกรรมให้คงอยู่สืบไป

 โดยจัดทำขึ้นทั้งสิ้น 5 ชุด ชุดละ 3 ธง รวม 15 ธง ประกอบด้วย ธงงอนของพระมหาพิชัยราชรถ ธงงอนของเวชยันตราชรถ ธงงอนของราชรถน้อยหมายเลข 9782 ธงงอนของราชรถน้อยหมายเลข 9783 ธงงอนของราชรถน้อยหมายเลข 9784

………..

 ที่มาข้อมูลประกอบการเรียบเรียง : เอกสารประกอบในกิจกรรมพิพิธภัณฑ์เสวนา ครั้งที่ 5  เรื่อง “งานประณีตศิลป์เนื่องในพระราชพิธีพระบรมศพ”