posttoday

ดูแลผู้สูงอายุห่างจากโรคซึมเศร้าไม่ล้มไม่ลืม

10 ตุลาคม 2560

การทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้า ที่มักพบบ่อยในสังคมผู้สูงอายุ

การทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้า ที่มักพบบ่อยในสังคมผู้สูงอายุ

การที่หลายคนต้องประสบกับภาวะซึมเศร้า โดยเฉพาะในช่วงวัยสูงอายุนับว่าเป็นเรื่องที่หนักใจของใครหลายคน ทั้งญาติ ผู้ใกล้ชิด และตัวผู้สูงอายุเอง ดังนั้นการเรียนรู้และทำความเข้าใจกับภาวะซึมเศร้านี้ก็จะช่วยให้สามารถเตรียมรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น

ดูแลผู้สูงอายุห่างจากโรคซึมเศร้าไม่ล้มไม่ลืม

พญ.กานติ์ชนิต ผลประไพ จิตแพทย์ประจำ Mind Center รพ.พระรามเก้า บอกว่า สังคมไทยในปัจจุบันนับว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น เนื่องจากจำนวนประชากรการเกิดมีจำนวนลดลง และเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์มีการพัฒนาที่มากขึ้น ทำให้สังคมผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นด้วย

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่า ร้อยละ 95 ของผู้สูงอายุมีความเจ็บป่วยด้วยโรคและปัญหาสุขภาพ และมีเพียงร้อยละ 5 ที่มีสุขภาพแข็งแรง โดยผู้สูงอายุ 1 ใน 2 คน อ้วนและเป็นโรคอ้วน และมีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์เพียงร้อยละ 46 นอกจากนี้ รายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 ปี 2557 โดยสำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พบว่า มีผู้สูงอายุอายุ 60 ปีขึ้นไป มีภาวะสมองเสื่อม ร้อยละ 8.1

ดูแลผู้สูงอายุห่างจากโรคซึมเศร้าไม่ล้มไม่ลืม

ภาวะการซึมเศร้า เป็นภาวะของการเจ็บป่วยทางจิตใจชนิดหนึ่ง ซึ่งจะทำให้รู้สึกไม่มีความสุข ซึมเศร้า จิตใจหม่นหมอง ถ้ารุนแรงมากอาจมีพฤติกรรมทำร้ายตนเอง และมักเริ่มพบได้บ่อยในสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น ทางที่ดีควรเน้นให้ผู้สูงอายุหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อร่างกายที่แข็งแรง ไม่หกล้ม โดยให้ผู้สูงอายุออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย รวมถึงฝึกทักษะทางสมอง ส่งเสริมสุขภาพจิต และอารมณ์ หรือการเข้าร่วมกิจกรรมในชมรมผู้สูงอายุ โรงเรียนผู้สูงอายุ รณรงค์และส่งเสริมพฤติกรรมการไม่สูบบุหรี่

นอกจากนั้น ควรให้ผู้สูงอายุนอนหลับอย่างเพียงพอ กินอาหารตามหลักโภชนาการครบทั้ง 5 หมู่ ลดหวาน มัน เค็ม เน้นผัก ผลไม้ เลือกอาหารที่มีโปรตีนคุณภาพสูง เช่น ปลาทะเล เนื่องจากมีกรดโอเมก้า 3 สูง ช่วยบำรุงประสาท สายตา และสมอง ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพร่างกายที่ดี ลดอาการหลงลืม

ที่มา: M2F