posttoday

งานวิจัยไม่อยู่บนหิ้ง แต่หยิบลงมากินได้

05 ตุลาคม 2560

ภาพของงานวิจัยหนาเตอะ เขียนด้วยภาษาวิชาการ และวางอยู่บนหิ้ง ดูเหมือนจะเป็นภาพที่คนทั่วไปคิด แต่ก็ไม่เป็นจริงเสมอไป

 

ภาพของงานวิจัยหนาเตอะ เขียนด้วยภาษาวิชาการ และวางอยู่บนหิ้ง ดูเหมือนจะเป็นภาพที่คนทั่วไปคิด แต่ก็ไม่เป็นจริงเสมอไป เพราะยังมีงานวิจัยอีกมายมายที่สนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรมอันเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายอุตสาหกรรม ดำเนินการสนับสนุนงานวิจัย โดยภาคเอกชนจะร่วมทุนวิจัยตามสัดส่วนที่กำหนดไว้ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 8 ชุด ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ อุตสาหกรรมอาหาร  

การสนับสนุนทุนวิจัยต้องเริ่มจากความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่มีโจทย์วิจัยชัดเจนในประเด็นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยผู้ประกอบการต้องร่วมทุนอย่างน้อยร้อยละ 20 เพื่อให้มีส่วนร่วมในการทำงานอย่างจริงจังและยืนยันความตั้งใจที่จะนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์จริงในเชิงพาณิชย์ จากนั้นสำนักประสานงานชุดโครงการจะสรรหานักวิจัยจากสถาบันวิจัยภาครัฐและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเพื่อดำเนินงานวิจัยตามโจทย์ของภาคเอกชน

เมื่อได้โครงการวิจัยฉบับสมบูรณ์แล้วต้องผ่านการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิอย่างน้อย 3 ท่าน และหลังจากปรับข้อเสนอโครงการเป็นที่เรียบร้อย สกว. ฝ่ายอุตสาหกรรมจะพิจารณาอนุมัติทุนวิจัยและทำสัญญาร่วมกับผู้ประกอบการ โดยความเป็นเจ้าของสิทธิจะเป็นของมหาวิทยาลัยและ สกว. ยกเว้นว่าผู้ประกอบการจะลงทุนถึงร้อยละ 50 ก็จะได้สิทธิความเป็นเจ้าของร่วมกัน 

รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สกว. กล่าวว่า เป้าหมายหลักของฝ่ายอุตสาหกรรม คือ การทำให้งานวิจัยนำไปใช้ประโยชน์และขายได้จริง ดังนั้นงานวิจัยทุกชิ้นจึงต้องเกิดจากความต้องการของภาคเอกชนหรือผู้ที่ต้องการใช้ประโยชน์ ต่างจากงานวิจัยทั่วไปที่นักวิจัยอาจอยากทำเพื่อสร้างองค์ความรู้ตอบสนองความต้องการของตัวเอง

“ทุกอย่างไม่จำเป็นต้องตอบด้วยงานวิจัย เพราะบางอย่างอาจแก้ไขได้ด้วยการให้คำแนะนำหรือกลไกรัฐแบบอื่น ดังนั้นเราจึงมีสำนักประสานงานชุดโครงการตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อหาความต้องการของภาคเอกชนและสกัดประเด็นออกมาให้ได้ว่าต้องตอบด้วยงานวิจัยหรือไม่ ซึ่งบริษัทที่ฝ่ายอุตสาหกรรมจะเข้าไปช่วยหลักๆ คือ เอสเอ็มอี หรือบริษัทขนาดเล็กที่ไม่มีศูนย์วิจัยหรือนักวิจัยของตัวเองแต่ต้องการงานวิจัยไปพัฒนาผลิตภัณฑ์”

ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม ยังกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันมีสัดส่วนของนักวิจัย 11-12 คนต่อประชากร 1 หมื่นคน (ในจำนวนนี้เขาคิดว่าน่าจะมีนักวิจัยที่ทำงานกับภาคอุตสาหกรรมเพียง 1-2 คน) โดยมีเป้าหมายว่า อีก 5 ปีข้างหน้าประเทศไทยต้องมีนักวิจัยเพิ่มขึ้นเป็น 25 คนต่อประชากร 1 หมื่นคนตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564)

ทั้งนี้ ในแต่ละปีมีผู้ประกอบการที่มีความต้องการทำวิจัยด้านอุตสาหกรรมอาหารมากกว่า 100 ราย อย่าง 4 โครงการที่ยกมานี้ล้วนเป็น “งานวิจัย กินได้”

 

งานวิจัยไม่อยู่บนหิ้ง แต่หยิบลงมากินได้

 

เมล็ดมะขามกินได้

ทุกปี บริษัท ปิ่นเพชร ผู้ผลิตและจำหน่ายมะขามหวานอันดับต้นๆ ของไทยจะมีปริมาณ “เมล็ดมะขาม” ที่เป็นผลพลอยได้จากการแปรรูปผลิตภัณฑ์มะขามประมาณ 150-200 ตัน ซึ่งได้ส่งออกเมล็ดมะขามให้กับประเทศญี่ปุ่นและจีนเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมสี อย่างน้อย 5 ตันต่อเดือนในราคากิโลกรัมละ 2-3 บาท ทำให้ผู้ประกอบการเกิดคำถามว่า เมล็ดมะขามมีอะไรดี

จากการวิจัยพบว่า ในเมล็ดมะขามมีโพลีแซ็กคาไรด์ที่มีคุณสมบัติเป็นเจลเมื่อละลายอยู่ในน้ำ และไม่มีกรดกาแลคทูโรนิกหรือหมู่ฟังก์ชั่นของเมทิลยูโรเนท ทั้งยังสามารถคงรูปเจลอยู่ได้แตกต่างจากโพลีแซ็กคาไรด์

จากพืชชนิดอื่น สารตัวนี้เรียกว่า “เจลโลส” ซึ่งเป็นสารประเภทกัม (Gum) มีประโยชน์มากในอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น ให้ความเหนียวแก่เส้นใยในอุตสาหกรรมเส้นใย ใช้เป็นตัวนำพาตัวยาในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและเภสัชกรรม และใช้เป็นสารให้ความหนืดในผลิตภัณฑ์อาหารอย่างแยม โยเกิร์ต ไอศกรีม และเจลลี่ในอุตสาหกรรมอาหารซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของเจลโลส 

ด้าน รศ.ดร.วุฒิชัย นาครักษา คณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังและคณะ ได้ศึกษากรรมวิธีการสกัดเจลโลสจากแป้งเมล็ดมะขาม ซึ่งเจลที่ได้จากแป้งเมล็ดมะขามมีลักษณะคล้ายเพกติน แต่มีความแข็งแรงมาก มีเส้นใยอาหารสูง และต้นทุนการผลิตต่ำ รวมถึงได้ศึกษาการเก็บรักษาแป้งเมล็ดมะขาม และศึกษาสมบัติของเจลโลสจากแป้งเมล็ดมะขามต่อพฤติกรรมการเกิดเจล เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปใช้ทดแทนเพกตินในผลิตภัณฑ์อาหาร ลดการนำเข้าเพกตินจากต่างประเทศปีละกว่า 300 ล้านบาท และนำไปสู่การประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์เจลลี่มะขามและไอศกรีมมะขามเจลาโต

ปัจจุบัน บริษัท ปิ่นเพชร ได้ผลิตและจำหน่ายไอศกรีมเจลาโต้รสมะขามหวานที่ร้านปิ่นเพชรและร้านขายของฝากในเพชรบูรณ์ โดยไอศกรีมมะขามเจลาโต้สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากการประกวดสุดยอดนวัตกรรมอาหารไทย (กลุ่มนวัตกรรมอาหารในอนาคต) ประจำปี 2559 ทั้งยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ กับฝ่ายอุตสาหกรรม สกว. อีก เช่น ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากเจลโลสมะขามในรูปแบบเซรั่ม อาหารเสริมลดน้ำหนักจากเจลโลส การเพิ่มความหนืดในผลิตภัณฑ์ซอสมะขาม ซอสผัดไทยด้วยเจลโลส เป็นต้น

การยกระดับสินค้าทางการเกษตรด้วยนวัตกรรมจึงสามารถทดแทนการนำเข้าของวัตถุเจือปนในอาหารจากต่างประเทศ และเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์มะขาม โดยนำของที่เหลือจากกระบวนการผลิตมาพัฒนาให้เกิดมูลค่าเพิ่มในเชิงพาณิชย์

สแน็กปลานิล

ปลานิลขนาดเล็กที่ถูกคัดทิ้งจะไม่สูญค่าอีกต่อไป หลังจาก ผศ.ดร.สุชาดา ไม้สนธิ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ศึกษาการผลิต “ปลานิลทอดกรอบแบบสุญญากาศ” (Vacuum frying) เพื่อเพิ่มมูลค่าปลานิลตกเกรด

บริษัท เอ็กซ์ปอร์ตวัน ผู้ส่งออกปลานิลแช่แข็ง ตั้งโจทย์วิจัยจากปัญหาที่ว่า เมื่อคัดขนาดปลานิลขนาดใหญ่เพื่อจัดจำหน่าย จะเหลือปลานิลขนาดเล็กไว้ในตู้แช่แข็งจำนวนมาก ซึ่งแม้ว่าจะนำไปแปรรูปด้วยการทอด แต่กรดไขมันที่มีอยู่ในปลาและน้ำมันจากการทอดจะทำให้ปลามีกลิ่นหืนเมื่อเก็บรักษาไว้นาน แสดงถึงการเสื่อมคุณภาพของอาหารทอดและผู้บริโภคจะไม่ยอมรับในผลิตภัณฑ์

ผู้วิจัยจึงมุ่งเน้นศึกษาการผลิตปลานิลทอดกรอบและยืดอายุการเก็บรักษา โดยนำปลานิลนำตัวอย่างมาทอดแบบสุญญากาศ ศึกษาอุณหภูมิและเวลาในการทอดที่ความดันบรรยากาศ 700 มิลลิเมตรปรอท โดยใช้อุณหภูมิ 95 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 60 นาที และทำการสลัดน้ำมันในเครื่อง 10 นาที ที่ความเร็วรอบ 1,450 รอบ/นาที ทิ้งให้เย็น 10 นาที จากนั้นบรรจุในถุงเพาช์ซึ่งจะยืดอายุการเก็บรักษาปลานิลให้ได้นานขึ้น และจากการทํานายอายุการเก็บผลิตภัณฑ์ ปลานิลทอดสุญญากาศรสต้มยําสามารถเก็บได้ 223 วัน เมื่อเก็บที่อุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียส

อย่างไรก็ตาม ปลานิลทอดกรอบตรามิสเตอร์ไพน์ จะวางจำหน่ายเร็วๆ นี้ ซึ่งสามารถติดตามได้ทางเพจเฟซบุ๊ก Mr.PINE ปลาทอดสุญญากาศ

 

งานวิจัยไม่อยู่บนหิ้ง แต่หยิบลงมากินได้

 

ขนมเพื่อสุขภาพ

เทรนด์อาหารคลีนกำลังมาแรง แต่ที่มาแซงโค้งน่าจะเป็น “ขนมเพื่อสุขภาพ” ตรา เวล-บี (Wel-B) ของ บริษัท โจ-ลี่ แฟมิลี่ จากการวิจัยของ รศ.ดร.ศิริธร ศิริอมรพรรณ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และทีมวิจัย ที่ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวจำนวน 4 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สูตรบำรุงสายตา สูตรบำรุงหลอดเลือดและหัวใจ สูตรบำรุงสมองและประสาท และสูตรเบาหวานและมะเร็ง

ทีมวิจัยได้ทำการรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิจากผู้บริโภค คัดเลือกวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีสารออกฤทธิ์สอดคล้องกับสรรพคุณของสูตรต่างๆ จากนั้นทำการผสม ขึ้นรูป และผ่านกระบวนการทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง (Freeze Dry) ซึ่งเป็นกระบวนการทำแห้งที่คงคุณภาพด้านกายภาพ โดยองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นทางบริษัทสามารถนำไปผลิตเพื่อจัดจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้จริง รวมถึงยังนำข้อมูลไปประยุกต์ลงสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อเป็นองค์ความรู้สนับสนุนด้านการตลาด สร้างจุดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์ ให้ความรู้และความเข้าใจ ซึ่งง่ายต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค

นอกจากนี้ วัตถุดิบที่เลือกใช้ในแต่ละผลิตภัณฑ์จะมีความโดดเด่นของกลุ่มสารออกฤทธิ์ที่สอดคล้องกับชื่อสูตร ได้แก่ สูตรบำรุงสายตา ประกอบด้วยสารลูทีน สูตรบำรุงหลอดเลือดและหัวใจ ประกอบด้วยไลโคปีน และ โอเมก้า 3 สูตรบำรุงสมองและประสาท ประกอบด้วยกาบ้า และสูตรเบาหวานและมะเร็ง ประกอบด้วยสารประกอบฟีนอลิก โอเมก้า 3 และกาบ้า

ด้าน บริษัท โจ-ลี่ แฟมิลี่ ยังมองว่า ปัจจุบันตลาดผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยอาหารเพื่อสุขภาพที่มีสารต้านอนุมูลอิสระจัดเป็นสารที่ได้รับความนิยมมาก เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับการป้องกันและรักษาโรคหลายชนิด เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้นบริษัทจึงเล็งเห็นแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และลดความเสี่ยงการเกิดโรค ควบคู่ไปกับคุณค่าทางโภชนาการ รสชาติ ความทันสมัย และความสะดวกสบาย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค โดยในขณะนี้ผลิตภัณฑ์เวล-บี กำลังอยู่ในขั้นตอนการออกแบบบรรจุภัณฑ์ และคาดว่าจะผลิตออกสู่ตลาดในช่วงต้นปี 2561

 

งานวิจัยไม่อยู่บนหิ้ง แต่หยิบลงมากินได้

 

อาหารเด็กอินทรีย์

บริษัท ไร่ทอง ออแกนิกส์ ฟาร์ม ผู้ผลิตข้าว ผัก ผลไม้ออร์แกนิก และจำหน่ายผักผลไม้กล่องส่งถึงบ้านแบรนด์ CSA Munching Box มีแนวคิดที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ “อาหารเด็กอินทรีย์” สำหรับเด็กทารกและเด็กเล็ก เนื่องจากคำนึงถึงว่า ในช่วง 1,000 วันแรกของชีวิตเด็กจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพในชีวิตตอนปลายทั้งทางกายและพัฒนาการทางสติปัญญา รวมถึงมีความสำคัญในการป้องกันการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เป็นต้น

ผศ.ดร.สุเชษฐ์ สมุหเสนีโต คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร และทีมวิจัยจึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเด็กเหลว (Wet Baby Food) โดยเน้นการผลิตอาหารเด็กในลักษณะของอาหารฟังก์ชัน (Functional Food) ที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตและส่งเสริมพัฒนาการตามช่วงวัยของทารกและเด็กเล็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 12 ปี เพื่อหาสูตรและกระบวนการผลิตที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และสามารถนำไปจำหน่ายในเชิงพาณิชย์

จากการทดลองได้ค้นพบสูตรอาหารเด็กอินทรีย์ 4 ประเภท คือ พัฒนาสมองและระบบประสาท บำรุงกระดูกและฟัน บำรุงหัวใจ และบำรุงระบบขับถ่าย โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ เด็กเล็กตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป กำหนดราคาประมาณ 65-75 บาท อีกทั้งยังมีการนำสูตรที่ได้มาประยุกต์ใช้ในการผลิตมะกะโรนี 3 รสชาติ ซึ่งคาดว่าจะขายทางออนไลน์และออกสู่ตลาดในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 และมีแนวโน้มว่าจะส่งออกไปยังประเทศมาเลเซีย ฮ่องกง ไต้หวัน และจีนต่อไป

ด้าน รศ.ดร.พงศ์พันธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการในเมืองไทยยังไม่ตื่นตัวเรื่องวิจัยนัก แต่เขาเชื่อว่า ในอนาคตอันใกล้คนจะตื่นตัวมากขึ้น เพราะเห็นตัวอย่างจากบริษัทที่ประสบความสำเร็จโดยมีงานวิจัยแก้ปัญหาและพัฒนา ประกอบกับการตื่นตัวเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ 4.0 ในการนำเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศที่จะทำให้คนไทยเห็นคุณค่าของงานวิจัยมากขึ้น

นอกจากนี้ สกว.ฝ่ายอุตสาหกรรมยังสนับสนุนทุนวิจัยสำหรับอุตสาหกรรมอื่นที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพื่อลดการพึ่งพาและนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ แต่สำหรับบริษัทขนาดเล็กหรือเอสเอ็มอี ทางฝ่ายมีการเปิดรับโจทย์วิจัยทั้งปีและไม่จำกัดกรอบวงเงิน โดยผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่เว็บไซต์ www.trf.or.th ฝ่ายอุตสาหกรรม