posttoday

รักการอ่าน เบ่งบานหัวใจ ใน ‘มหกรรมหนังสือระดับชาติ 2560’

30 กันยายน 2560

“...หนังสือเป็นการสะสมความรู้ และทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์ได้สร้างมา

โดย พรเทพ เฮง  

 “...หนังสือเป็นการสะสมความรู้ และทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์ได้สร้างมา ทำมา คิดมา แต่โบราณกาลจนทุกวันนี้ หนังสือจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นคล้ายๆ ธนาคารความรู้และเป็นออมสิน เป็นสิ่งที่จะทำให้มนุษย์ก้าวหน้าได้โดยแท้...”

 พระบรมราโชวาทที่ได้พระราชทานแก่คณะสมาชิกห้องสมุดทั่วประเทศ 25 พ.ย. 2514

 มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 22 ประจำปี 2560 ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ได้อัญเชิญพระบรมราโชวาทมาเป็นแกนหลักและประกาศความพร้อมจัด “มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 22 (Book Expo Thailand 2017)” ในระหว่างวันพุธที่ 18-วันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม 2560 (รวม 12 วัน) ตั้งแต่เวลา 10.00-12.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พบกับหนังสือมากกว่า 1 ล้านเล่ม จากสำนักพิมพ์ 389 ราย รวมทั้งสิ้น 939 บูธ บนพื้นที่กว่า 2 หมื่นตารางเมตร

 ภายใต้แนวคิด “ความทรงจำ” เชิญชมนิทรรศการความท๙งจำ/นิทรรศการภาพถ่าย “๙ สู่สวรรคาลัย”/เสวนาหัวข้อ “๙ วัน ๙ ความทรงจำ ธ สถิตอยู่ในใจไทยนิรันดร์”/นิทรรศการ 100 Annual Book and Cover Design 2017/นิทรรศการ “ขอบฟ้าขลิบทอง... ส่องทางเรา กวี-ชีวิต-อุชเชนี”/การจำหน่ายของที่ระลึก “ที่คั่นหนังสือแห่งความท๙งจำ” ออกแบบเป็นพิเศษ รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายมอบให้โรงพยาบาลศิริราช/การจำหน่ายตราไปรษณียากรชุดพิเศษ โดย บริษัท ไปรษณีย์ไทย และกิจกรรมน่าสนใจอีกมากมายตลอด 12 วัน

รีแบรนด์สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ

รักการอ่าน เบ่งบานหัวใจ ใน ‘มหกรรมหนังสือระดับชาติ 2560’

 มหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งนี้ เป็นครั้งแรกของการจัดงานที่นายกและคณะกรรมการชุดใหม่ของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ที่มารับตำแหน่งเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา พร้อมกับมีการรีแบรนดิ้งสมาคมใหม่หมดเพื่อเข้าสู่ยุค PUBAT 4.0

 สุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งระเทศไทย เปิดเผยว่า มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 22 ถือเป็นงานแสดงหนังสือระดับชาติที่ได้รับความสนใจและรอคอยจากบรรดาคนรักการอ่านมาตลอด โดยเริ่มจากการเปิดตัวภาพลักษณ์ใหม่ของ สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ผ่านโลโก้ใหม่ของ PUBAT ให้สอดคล้องกับนโยบาย PUBAT 4.0

 “ในรูปลักษณ์ที่เรียบง่าย มีความเป็นสากล ทันสมัยและเป็นมิตรกับทุกคน เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าการอ่านหนังสือเป็นเรื่องของคนทุกเพศทุกวัย ทุกกลุ่มอาชีพ และทุกคนในครอบครัว ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายและกิจกรรมของสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ที่จะส่งเสริมให้เกิดการอ่าน รณรงค์ให้คนไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการอ่าน และส่งเสริมให้อ่านหนังสืออย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้สำนักพิมพ์และผู้เกี่ยวข้อง เกิดความตื่นตัว ปรับปรุงและพัฒนาการผลิตหนังสือ ให้มีคุณภาพ มีความหลากหลาย เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน โดยการอ่านจะเป็นรากฐานสำคัญนำไปสู่การพัฒนาประเทศในทุกด้าน”

 สุชาดา ชี้ว่า สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ พร้อมผลักดันให้วงการหนังสือก้าวหน้าและยั่งยืน เพราะโลกของเราเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ก้าวสู่ยุค 4.0

 “การที่จะทำให้วงการหนังสืออยู่รอดปลอดภัย ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ เปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่ มีความทันสมัย เอานวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาจับ สิ่งที่คิดว่าจับต้องได้ง่ายที่สุด และสามารถทำให้ทุกคนเห็นภาพได้เร็วที่สุดในตอนนี้ก็คือ ภาพลักษณ์อันทันสมัย โฉบเฉี่ยว แล้วก็เป็นสากล ซึ่งตรงนี้เป็นโจทย์สำคัญว่า วงการหนังสือต้องการความทันสมัย ต้องการลุคใหม่ ต้องการความเป็นมิตร และสามารถโยงมาสู่เรื่องของการอ่านได้ด้วย”

 นอกจากนี้ ยังเป็นครั้งแรกที่จะมีบูธของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ซึ่งสุชาดา มองว่า ต้องใช้กลยุทธ์ในแนวรุกบ้าง

รักการอ่าน เบ่งบานหัวใจ ใน ‘มหกรรมหนังสือระดับชาติ 2560’

 “ปกติแล้วจะมีบูธของสำนักพิมพ์ ร้านหนังสือ โน่นนั่นนี่ แต่ลืมคิดถึงตัวเราเอง ตอนนี้จะออกมาพูดว่าภารกิจของสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ มีอะไรบ้าง อยากทำอะไรบ้าง ในเรื่องส่งเสริมการอ่านก็ดี ในเรื่องส่งเสริมอาชีพก็ดี แล้วในเรื่องสัมมนาอบรมต่างๆ ให้มีความทันสมัยมากขึ้น ไม่ได้ขายแต่หนังสือ เราทำมากกว่านั้น เพราะหนังสือเป็นสิ่งสำคัญที่พาให้คนก้าวพ้นวิกฤติ”

 ทางด้านผู้ออกแบบโลโก้หรือตราของสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ แบบใหม่ล่าสุด วิชิต หอยิ่งสวัสดิ์ กราฟฟิกดีไซเนอร์ ผู้ออกแบบ Corporate ldentity กล่าวต่อว่า ไอเดียที่จัดทำสัญลักษณ์ของ pubat คือทำให้มีความเรียบง่าย ใช้รูปทรงให้เห็นแล้วจดจำได้ง่าย มีลูกเล่นที่ดูสนุกสนาน วงกลมด้านล่างจะเป็นองค์ประกอบหลักที่เกี่ยวกับหนังสือ หากมองโดยรวมแล้วจะเหมือนคนกำลังนั่งล้อมวงอ่านหนังสืออยู่ จึงเป็นที่มาของสัญลักษณ์ pubat

 “ตัวโลโก้ใหม่ออกแบบให้มีความเป็นมิตรมากขึ้น แล้วใช้รูปทรงที่เรียบง่ายดูเป็นสากล โดยใช้ทรงเรขาคณิตเพื่อให้คนจดจำได้ง่าย ดูไม่เป็นทางการมากนัก มีลูกเล่นให้ดูสนุกสนาน จากไอเดียทั้งหมดมี 3 องค์ประกอบหลัก วงกลม 3 วง มีสำนักพิมพ์ ผู้จัดจำหน่าย ร้านหนังสือกับคนอ่าน

 “อ่านเป็นตัวย่อภาษาอังกฤษ pubat ได้ใช้อักษรตัวเล็กเพื่อลดความขึงขัง และสามารถมองเป็นเครื่องพิมพ์ได้ซึ่งสื่อถึงตัวองค์กรที่เกี่ยวพันกับธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ด้วย มองอีกมุมก็เหมือนคนอ่านหนังสือซึ่งสื่อถึงชุมชนการอ่าน พอลงไปในรายละเอียดตัวคำว่า pubat เป็นฟอร์มของสัญลักษณ์ไปในตัวด้วย พรีเซนต์ได้หลากหลายทั้งเรื่องธุรกิจหนังสือ เรื่องของการอ่าน ซึ่งมีความซับซ้อนอยู่มาก”

นิทรรศการ “ความท๙งจำ”

 ความน่าสนใจของการจัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติในปีนี้ นอกจากเป็นช่วงเวลาที่คนไทยทั้งประเทศใจจดจ่ออยู่ที่งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งงานหนังสือครั้งนี้ก็ให้ความสำคัญเป็นอย่างสูง

 มหกรรมหนังสือฯ ครั้งนี้จัดขึ้น ภายใต้แนวคิด “ความทรงจำ” ซึ่งเชื่อมโยงกับนิทรรศการหลักของงานคือ “ความท๙งจำ” โดยการสนับสนุนจาก กระทรวงวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กรมศิลปากร และสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นศูนย์กลางของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำหนังสือ ประสานความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐและเอกชน อาทิ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ชมรมบรรณาธิการไทย กสทช. มิวเซียมสยาม โครงการสารานุกรมไทย และสำนักพิมพ์ต่างๆ

 โดยทุกฝ่ายร่วมกันทำงาน เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่มีต่อวงการหนังสือของไทย ผ่านหนังสือพระราชนิพนธ์ และหนังสือที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์

 สำหรับแนวคิดมาสู่นิทรรศการ “ความท๙งจำ” อันทรงคุณค่าในห้วงเวลาที่สำคัญของชาวไทย และครั้งแรกที่จะนำนิตยสารวงวรรณคดี ที่จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2490 โดยได้รับพระบรมราชานุญาตพิเศษให้จัดพิมพ์พระราชนิพนธ์ “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์” มาจัดแสดงให้ชม

 สุชาดา นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เล่าถึงที่มาที่ไปว่า ตามธีม ความทรงจำ จะคิดถึงสิ่งที่เกี่ยวกับหนังสือเป็นหลักว่า

 “ความทรงจำ ต้องบอกว่าครั้งนี้เป็นโจทย์ยากเหมือนกัน เป็นความตั้งใจที่จะจัดงานนี้ วาระนี้ ในช่วงเวลานี้ นี่คือความเหมาะสมของคนที่อยู่ในวงการหนังสือ คนที่อยู่ในธุรกิจหนังสือ และของคนที่รักการอ่านมารวมตัวกันหลอมดวงใจและถวายความอาลัย เพราะฉะนั้นธีมงานครั้งนี้จะเป็นเรื่องของความทรงจำที่เกี่ยวกับหนังสือและของที่ระลึกในหลวงรัชกาลที่ 9 หลังสวรรคต

 “ในนิทรรศการจะพูดถึง 7 ทศวรรษ ไล่ไปเลยว่ามีเหตุการณ์อะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับในหลวงรัชกาลที่ 9 มีอะไรบ้างที่ทรงทำเพื่อประชาชน มีหนังสืออะไรบ้างในทศวรรษต่างๆ ในขณะเดียวกันในทศวรรษนั้นๆ ยกตัวอย่างทศวรรษที่ 1 เป็นช่วงแรกที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ขึ้นครองราชย์ และต้องกลับไปเรียนหนังสือ

 “มีประโยคที่ประชาชนบอกว่า ‘ในหลวงอย่าทิ้งประชาชน’ แล้วพระองค์ก็เขียนในบทความว่า ‘ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้า แล้วข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนได้อย่างไร’ จะอยู่ในหนังสือเล่มนี้เป็นบทพระราชนิพนธ์ที่รวบรวมมาชื่อ ‘วงวรรณคดี’ ชื่อบทความว่า ‘เมื่อข้าพเจ้าจากสยามอยู่สวิทเซอร์แลนด์’ เป็นพระราชนิพนธ์บทแรกของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่ง ‘วงวรรณคดี’ เปรียบเหมือนกับนิตยสาร ซึ่งในฉบับเดือน ส.ค. 2490 เล่มนี้มีบทพระราชนิพนธ์ของพระองค์ท่าน เล่มนี้เป็นความอนุเคราะห์จากคุณไพศาล ริเวอร์บุ๊คส์ เป็นผู้ถือครองต้นฉบับจริงของนิตยสารเล่มนี้ ได้ขออนุญาตถ่ายสำเนา แล้วนำมาก๊อบปี้เป็นนิตยสารแจกผู้มาร่วมงาน หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องของความทรงจำ เป็นสิ่งที่ควรจดจำ”

 ไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ สำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ นักสะสมหนังสือและภาพโบราณ เจ้าของนิตยสาร “วงวรรณคดี” ฉบับเดือน ส.ค. 2490 ที่ได้รับพระบรมราชานุญาตพิเศษพิเศษเฉพาะหนังสือเล่มนี้ให้จัดพิมพ์ พระราชนิพนธ์ “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์” ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์เรื่องแรก เมื่อทรงขึ้นครองราชย์

 เขาเล่าถึงความหลังที่ได้หนังสือเล่มนี้มาว่า เริ่มสะสมหนังสือมาตั้งแต่อายุ 13 ตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมฯ เริ่มซื้อหนังสือจากแผงสนามหลวง

 “เดินทุกวันตอนเย็น 40 กว่าปีมาแล้ว สะสมมาเรื่อยจนที่บ้านมีห้องสมุดส่วนตัว มีหนังสือประมาณ 3 หมื่นกว่าเล่ม ซึ่งเป็นหนังสือเก่าทรงคุณค่า วิธีการเก็บหนังสือเก่าเพื่อการอนุรักษ์ต้องไม่เก็บในห้องที่ร้อนเกินไป เพราะจะมีหนอนหนังสือขึ้น ต้องพยายามหั่นดูแลอย่างสม่ำเสมอ

 “ผมได้นิตยสาร ‘วงวรรณคดี’ เล่มนี้มาเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว โดยได้มาทีเดียว 30 กว่าเล่ม ซึ่งเป็นฉบับเดือนอื่นๆ ด้วย ไล่มาตั้งแต่ปี 2489 2490 2491 2492 2493 และมีเล่มฉบับเดือน ส.ค. 2490 ฉบับนี้มาด้วย ได้หนังสือทุกเล่มมาก็ต้องอ่าน ไม่อย่างนั้นคงไม่ซื้อ เล่มที่ได้มาเจ้าของเดิมได้ทำเครื่องหมายกากบาทสีแดงตรงบทความพระราชนิพนธ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 ไว้แล้ว แสดงว่าเป็นของสำคัญ

 “เมื่อผมได้มาก็เปิดอ่าน รู้สึกว่าซาบซึ้ง เป็นพระราชนิพนธ์แรกที่พระราชทานให้นิตยสารวงวรรณคดีโดยเฉพาะเลย แล้วก็มีภาพถ่ายที่เป็นฝีพระหัตถ์อยู่ในพระราชนิพนธ์นี้ด้วย ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 14 หน้า เป็นภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ที่หาชมได้ยากมาก ซึ่งสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ จะมีการจัดพิมพ์แจกจำนวนหนึ่ง ซึ่งผมดีใจว่าบทพระราชนิพนธ์นี้จะได้มีการต่อยอดออกไป เพราะฉบับเดือน ส.ค. 2490 นั้นหายากมาก ซึ่งหอจดหมายเหตุ หอสมุดแห่งชาติ ก็ไม่มี ซึ่งนักเลงหนังสือเก่าหรือนักสะสมส่วนใหญ่ก็ไม่มีเช่นกัน”

 นอกจากนี้ สุชาดา ชี้ว่า ยังมีนิทรรศการภาพถ่าย “๙ สู่สวรรคาลัย”/เสวนาหัวข้อ “๙ วัน ๙ ความทรงจำ ธ สถิตอยู่ในใจไทยนิรันดร์”

 “จริงๆ แล้ว ทั่วทั้งงาน มีการกระจายนิทรรศการไปอยู่ในแต่ละโซน เยอะแยะมาก อีกนิทรรศการหนึ่งตรงบริเวณพลาซ่าก็จะเป็นนิทรรศการ ‘ส่องฟ้าขลิบทองกวีชีวิต อุชเชนี’ ใครที่เป็นแฟนกวีของอุชเชนีก็ลองติดตามและไปดูประวัติชีวิตของท่าน เป็นเรื่องที่น่าสนใจอีกที่หนึ่ง

 “นอกเหนือจากนิทรรศการแล้วก็ยังมีรายการบนเวที จัดเต็มอีกเช่นเคย เสวนาหัวข้อ ‘๙ วัน ๙ ความทรงจำ ธ สถิตอยู่ในใจไทยนิรันดร์’ ตรงนี้จะมีนักคิดนักเขียนหรือว่าบุคคลที่ทำงานสนองพระองค์ในหลวงรัชกาลที่ 9 มาพูดถึงพระองค์ท่านในการทำงานร่วมกัน หรือว่าแง่คิดต่างๆ ยกตัวอย่างคือนายชวน หลีกภัย มีทุกวันในเวลา 18.00 น. 9 วันเต็มๆ มีรายการสนทนานี้บนเวที แล้วก็มี พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร พลาดไม่ได้เลย เพราะเป็นนายตำรวจที่ติดตามพระองค์ท่านตลอด แล้วก็มีนักเขียนหน้าใหม่ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่มาพูดถึงพระองค์ท่าน และมีอีกหลายคน นพ.ดนัย โอวัฒนาพานิช จะมาฉายภาพที่พระองค์ท่านสนใจเรื่องพระเครื่อง”

ความทรงจำในพระมหากรุณาธิคุณ

 วิบูลย์ เสรีชัยพร ผู้จัดการฝ่ายตลาดตราไปรษณียากร บริษัท ไปรษณีย์ไทย บอกว่า ร่วมงานสัปดาห์หนังสือฯ และมหกรรมหนังสือฯ มาตลอด ในงานในครั้งนี้ได้นำแสตมป์ที่เกี่ยวข้องกับในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นคอลเลกชั่นพิเศษ “ชุดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวง รัชการที่ 9” ในปีนี้จะเริ่มจำหน่ายวันที่ 25 ต.ค. 2560 ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งนี้

 “รวมแล้วมากกว่า 10 ปีแล้วล่ะที่ร่วมงานหนังสือ ไปรษณีย์ไทยก็เป็นหนึ่งในพับลิชเชอร์หรือสำนักพิมพ์ แต่ไม่ใช่ในแบบหนังสือที่เป็นรูปเล่ม ซึ่งโดยหลักแล้วก็เป็นการพิมพ์ดวงตราไปรษณียากร ซึ่งคล้ายเป็นจดหมายเหตุแห่งแผ่นดิน วันนี้แม้ทุกคนจะเข้าสู่ยุคใหม่ ห่างเหินจากการซื้อแสตมป์เก็บสะสมกัน แต่ยังคงต้องใช้เพราะเวลาส่งไปรษณีย์ อย่างไรก็ตาม แสตมป์ก็ยังมีความศักดิ์สิทธิ์ในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศซึ่งทุกประเทศก็จะมีแสตมป์

 “ดวงตราไปรษณียากรของประเทศไทยแม้ว่าดวงจะเล็กก็ตามแต่ก็เปรียบเสมือนจดหมายเหตุที่สืบทอดกันยาวนานมา 134 ปี ตั้งแต่ปี 2326 ซึ่งมีแสตมป์ดวงแรกของไทยบังเกิดขึ้น แสตมป์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มี 79 ชุด งานบุ๊กเอ็กซ์โปคราวนี้เราก็มีคอลเลกชั่นพิเศษ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นธีมของงานเพราะเป็นคอลเลกชั่นแห่งความทรงจำของแผ่นดิน ซึ่งมีไปแล้วเมื่อต้นปีในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ตราไปรษณียากรที่ระลึกฉลองการครองราชย์สมบัติ 70 ปี เป็นแสตมป์ที่ยาวที่สุดในโลกเพราะเราต้อการจารึกไว้ในแผ่นดินว่าพระองค์ท่านเป็นพระมหากษตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดเมื่อครั้งยังมีพระชนม์ชีพ”

 สำหรับแสตมป์ชุดนี้จัดพิมพ์จำนวน 3 ล้านชุด มีด้วยกัน 3 รูปแบบ โดยแผ่นแรกเป็นภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ ขณะทรงแย้มพระสรวล จำนวน 9 ภาพ ราคาดวงละ 9 บาท แผ่นที่ 2 ภาพเครื่องประกอบที่สำคัญ ได้แก่ พระบรมโกศ พระยานมาศสามลำคาน และพระมหาพิชัยราชรถ ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พื้นหลังเป็นภาพพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทที่ประดิษฐานพระบรมศพ รวม 3 ดวง ดวงละ 3 บาท และแผ่นที่ 3 เป็นภาพพระเมรุมาศ 1 ดวง ชนิดราคา 9 บาท ประกอบภาพพสกนิกรร่วมกันจุดเทียนถวายความอาลัย วิบูลย์ ขยายความว่า

 “ไปรษณียากรชุดนี้เรียกว่าเชิญผู้บริหารไปรษณีย์จากอดีตถึงปัจจุบัน มาทุ่มหัวจิตหัวใจและวิญญาณลงไปทำ ถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยทำมาในรอบ 70 ปี ซึ่งคือตราไปรษณียากรที่ระลึกพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ มีด้วยกัน 3 แบบ เก้าภาพจากนิรันดร์ เป็นพระองค์ท่านที่มีความสุขคัดสรรจากพระบรมฉายาลักษณ์ทั้งหมด เป็นรอยยิ้มแห่งพระมหากรุณาธิคุณแห่งในหลวงรัชกาลที่ 9 แบบที่ 2 มีด้วยกัน 3 ดวง ถ่ายทอดเรื่องราวพระราชประเพณีพระราชพิธีพระบรมศพ แบบที่ 3 เป็นภาพพระเมรุมาศบรรจุอยู่ในแผ่นที่มีพื้นหลังข้างบนเป็นท้องฟ้าที่บรรยากาศโศกเศร้าอาดูร ข้างล่างเป็นพสกนิกรมาประกอบเรื่องราวทั้งหมดโดยสมบูรณ์แบบ”

 วิบูลย์ บอกเพิ่มเติมว่า แสตมป์มีทั้งหมด 13 ดวง ราคารวม 99 บาท เป็นคอลเลกชั่นแห่งแผ่นดิน จำหน่ายในวันที่ 25 ต.ค. 2560 นอกจากนั้น ก็มีสิ่งสะสมที่เกี่ยวเนื่องกับดวงตราไปรษณียากรชุดนี้ ภาพโปสเตอร์ขนาดใหญ่ มีหนังสือ “2493 เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ซึ่งคัดกรองเรื่องราวและเนื้อหาที่นำเสนอในนิทรรศการที่ไปรษณีย์กลาง บางรัก มาไว้ในหนังสือเล่มนี้ มีจำนวนจำกัดเพียงแค่ 2 หมื่นเล่ม และของที่ระลึกชุดต่างๆ

 นอกจากนี้ ยังมีการจำหน่ายของที่ระลึก “ที่คั่นหนังสือแห่งความท๙งจำ” ออกแบบเป็นพิเศษ รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายมอบให้โรงพยาบาลศิริราช เพื่อสมทบทุนอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา สุชาดา ขยายภาพว่าของที่ระลึกที่คั่นหนังสือ เป็นรูปรถพระที่นั่งที่ใช้ลุยน้ำลุยโคลน คุณทองแดง กล้องถ่ายภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ใช้ทรงงานประจำพระองค์ถ่ายภาพนำมาดูเพื่อใช้แก้ปัญหาให้กับประชาชน มีทั้งคอลเลกชั่นโลหะ ไม้กับหนัง ขายเพียง 99 บาท และนำรายได้มอบให้กับศิริราชพยาบาล ทำ 9,999 ชิ้น ขายในงานมหกรรมหนังสือฯ ครั้งนี้เท่านั้น

 วีรดา ศิริพงษ์ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ แบรนด์ “carpenter” ผู้ออกแบบที่คั่นหนังสือไม้ บอกว่า นำเอาเศษไม้เหลือใช้จากการทำประตูหน้าต่าง ที่เขานำไปเป็นฟืน เอามาดีไซน์เป็นที่คั่นหนังสือ

 “เอามาทำให้เกิดเป็นของที่อยู่ยั่งยืนตามที่พระองค์ท่านในหลวงรัชกาลที่ 9 สอน ซึ่งแรงบันดาลใจเกิดจากภาพที่ทุกคนตราตรึงอยู่ในใจ เชื่อว่าทั้งสามภาพที่เลือกมาทุกคนไม่มีใครไม่เคยเห็น คุ้นตามาตั้งแต่เด็ก การที่ทุกคนมาในงานหนังสือก็เป็นนักอ่านอยู่แล้ว นำมาใช้คั่นหนังสือได้เลยใช้ง่ายไม่ต้องลึกซึ้งอะไร คือทุกคนใช้ได้ แต่ว่าความที่เป็นไม้กับหนังให้ความรู้สึกที่สัมผัสได้ ด้วยความระลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และมีพระราชดำรัสอยู่ที่แพ็กเกจด้วย”

 ส่วน ปิติ อัมระวงศ์ นักออกแบบอิสระ แห่ง สตูดิโอ o-d-a ซึ่งมาทำที่คั่นหนังสือโลหะเป็นของที่ระลึก นำเสนอความทรงจำใน 3 รูปแบบ บอกว่า ทำเป็นรูปทรงที่เป็นไอคอนที่คุ้นเคยภาพจำที่คุ้นตาอยู่แล้ว

 “กล้องที่ทรงใช้สุนัขทรงเลี้ยง รถยนต์ที่ใช้ทรงงาน เรื่องของความใกล้ตัวของคนเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้านหลังเป็นพระราชดำรัสของพระองค์ท่านด้วย ให้คนที่ใช้งานได้อ่านและระลึกถึง ซึ่งน่าจะมีประโยชน์กับคนที่ซื้อไปได้ใช้งานและนึกถึงความหมายที่ซ่อนอยู่ เป็นไอคอนที่เป็นกลางและเป็นเรื่องความทรงจำ"

………….ล้อมกรอบ...........

สำนักพิมพ์โพสต์บุ๊กส์ในมหกรรมหนังสือฯ ปีนี้

 มีหนังสือใหม่ออกมา 4 เล่ม คือ “นาคี 2”  โดย ตรี อภิรุม / “เป็นเด็กดีนะ” ต้าปิง เขียน ศุณิษา เทพธารากุลการ แปล / “Getting Things Done” (บริหารชีวิต พิชิตความสำเร็จ) David Allen เขียน อาวีกาญจน์-ปฏิพล แปล / “ทุนนิยมในศตวรรษที่ 21” (Capital in the Twenty-First Century โดย Thomas Piketty และแปลโดย นรินทร์ องค์อินทรี

 สำหรับรายละเอียดกิจกรรมของโพสต์บุ๊กส์ มีดังนี้

 + วันพฤหัสบดีที่ 19 ต.ค. 2560 เวลา 13.00-16.30 น. งานวิพากษ์ “จากบูรพาสู่อุษาคเนย์” ห้อง Meeting Room 3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

 + วันจันทร์ที่ 23 ต.ค. 2560 เวลา 13.00-14.00 น. งานแนะนำหนังสือ “Getthing Things Done-บริหารชีวิต พิชิตความสำเร็จ” เวทีกลางเอเทรียม

 + วันเสาร์ที่ 28 ต.ค. 2560 เวลา 12.00-13.00 น. งานเสวนา “ดั่งวายุอาชา ภูมิปัญญาจีน จากอดีตสู่ปัจจุบัน” หนังสือ “ย้อนอดีตราชวงศ์หมิง” “มองตะเกียบเห็นป่าไผ่” และ “เป็นเด็กดีนะ” เวทีกลางเอเทรียม

 + วันอาทิตย์ที่ 29 ต.ค. 2560 เวลา 13.00-14.00 น. งานแนะนำหนังสือ “Capital in the Twenty-First Century-ทุนนิยมในศตวรรษที่ 21” เวทีกลางเอเทรียม