posttoday

'ยิ่งให้ ยิ่งได้' จุฑารัตน์ จุลทอง

23 กันยายน 2560

พยาบาลสาวสวย ฝน-จุฑารัตน์ จุลทอง พยาบาลวิชาชีพ ห้องผู้ป่วยใน

โดย วราภรณ์

พยาบาลสาวสวย ฝน-จุฑารัตน์ จุลทอง พยาบาลวิชาชีพ ห้องผู้ป่วยใน โรงพยาบาลกรุงเทพ สาขาไชน่าทาวน์ วัย 26 ปี แม้เป็นคนสุราษฎร์ธานี รู้จักการให้ตั้งแต่เธอเรียนคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มาตั้งแต่อายุ 19 ปี

การออกค่ายอาสาพัฒนาได้ไปเจอน้องๆ ที่ขาดโอกาสตามต่างจังหวัด ทำให้เธอรู้คุณค่าของการให้ผู้อื่น เพราะครั้งหนึ่งเธอก็เคยขาด แต่ค่าที่เป็นเด็กเรียนดีจึงได้รับทุนการศึกษามาโดยตลอด แม้เป็นเงินก้อนเล็กๆ แต่ก็มีคุณค่าทางจิตใจมาก เธอจึงตั้งประณิธานอยากเป็นผู้ให้ หากมีเวลาเธอก็จะแบ่งปันไปช่วยเหลือผู้อื่นบ้าง

ตลอด 7 ปี ที่เป็นผู้แบ่งปัน ปัจจุบันเธอมักทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มโรงบ่มอารมณ์สุข และย้ายมาทำงานในกรุงเทพฯ ได้ 3 ปีแล้ว

“พอเรียนจบพยาบาลก็อยากมาเป็นพยาบาลในกรุงเทพฯ เพราะยังไม่อยากไปบ้าน คิดว่าถ้าอยู่กรุงเทพฯ น่าจะไปๆ กลับๆ ได้ ฝนก็ชอบชีวิตในกรุงเทพฯ นะ แต่มักไม่ค่อยมีเวลาไปเที่ยวเล่น โชคดีที่เวลาทำงานไม่ตรงกับชีวิตส่วนใหญ่ของคนกรุงเทพฯ เพราะฝนจะเริ่มงานราวๆ 7 โมงเช้า ออกเวรประมาณ 2 ทุ่ม ไปกลับจากที่พักรถจึงไม่ค่อยติด เวลาว่างส่วนใหญ่ซึ่งไม่ค่อยมี ก็จะเจียดไปทำกิจกรรมช่วยเหลือผู้อื่น มันได้ความสุขใจกว่าไปเที่ยวเล่นหรือใช้เวลาส่วนตัว”

ฝนเล่าว่า ชีวิตในกรุงเทพฯ เธอชอบเรื่องความสะดวกสบายในการเดินทาง เสน่ห์ของกรุงเทพฯ ยังมีอีกมากมาย เช่น ความศิวิไลซ์และความหลากหลายของผู้คนต่างอาชีพ ต่างถิ่น แต่มารวมกันในกรุงเทพฯ  ทำให้เธอได้เรียนรู้ถึงการปรับตัว ซึ่งเธอรู้จักมันดีตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือ

เพราะในชีวิตเรียนต่างบ้านตลอด ทำให้เธอมีการปรับตัวที่ดี เวลาไปฝึกงานหลังเรียนจบก็ไปตามจังหวัดต่างๆ ทำให้เธอได้เรียนรู้วัฒนธรรมต่างถิ่น พบเจอความแตกต่าง ทำให้เธอมีทักษะดำเนินชีวิตที่ดี

“ฝนเป็นคนชอบท่องเที่ยวคนเดียว ไม่ได้ซีเรียสจะดำเนินชีวิตมากนัก ฝนคิดเสมอว่าเราต้องปรับตัวเองให้เข้าและตรงกับสถานที่นั้นๆ ที่เราไปอยู่ ไม่ใช่ให้คนตรงนั้นปรับให้เข้ากับเรา แต่อันไหนที่ไม่ใช่เราก็หลีกเลี่ยง หรือทำอย่างไรให้อยู่กับตรงนั้นได้"

สำหรับแรงบันดาลใจการชอบทำงานจิตอาสา เธอมีความสุขกับการมาเป็นจิตอาสาให้โรงบ่มอารมณ์สุขที่มีกิจกรรมให้เลือกทำหลากหลาย แล้วเลือกให้เหมาะกับจริตตัวเอง แม้เธอเป็นคนไม่ได้ชื่นชอบงานฝีมือ แต่ก็สามารถนำตนเองไปทำงานที่เหมาะได้

“แรกๆ ฝนทำอะไรไม่เป็นเลย แต่มีกิจกรรมที่ลงแรง ฝนก็ไป กิจกรรมที่ฝนคิดว่าไปช่วยได้คือ ถักไหมพรม ทำที่วัดธนบัตร แม้ฝนไม่มีฝีมือด้านงานศิลปะ เราก็ไปช่วยจัดเตรียมสถานที่ได้ โดยฝนเลือกทำกิจกรรมที่เข้ากับตารางงาน ฝนเชื่อเสมอถึงคำพูดที่ว่า ยิ่งให้ ยิ่งได้รับ

"ฝนเคยทำงานเป็นกลุ่มจิตอาสาตอนเรียนฝนอยู่ชมรมพัฒนาอนามัย ตั้งแต่เรียนพยาบาลปี 1 จากตรงนั้นปลูกฝังให้ฝนทำมาเรื่อยๆ พออยู่กรุงเทพฯ เจอกลุ่มโรงบ่มอารมณ์สุข ครั้งแรกไปปลูกป่าที่ จ.ชัยภูมิ ทุ่งกระมัง เป็นอุทยานแห่งชาติ เราก็ไปปลูกป่า ถอนต้นไม้วัชพืชก็ทำหมด ไปออกค่ายอาสาพัฒนา ไปสอนหนังสือน้องๆ ฝนก็ไป 2 ครั้ง โดยแต่ละเดือนฝนจะไปช่วยถักไหมพรมกับทำที่วัดธนบัตรเกือบๆ ทุกเดือน หรือเว้นบ้างบางเดือนที่ไม่ได้หยุด”

ภาพความประทับใจของการทำงานจิตอาสา คือการเห็นการรวมกลุ่มของคนต่างเพศ ต่างอาชีพ ต่างวัย มาทำสิ่งหนึ่งร่วมกัน

“ฝนคิดว่าคนเรามีเวลาเท่ากัน คือ 24 ชั่วโมง แต่เราเอาเวลาแค่ 2-3 ชั่วโมง ไปให้ผู้อื่น สิ่งที่เราทำให้อีกคนทำให้เขาสามารถดำเนินชีวิตได้ เมื่อคนมารวมกลุ่มกัน ในฐานะฝนยังเด็กได้เจอรุ่นพี่ เราพูดคุยกันในบางเรื่อง ระหว่างพูดคุยเราได้แลกเปลี่ยนความคิด เจอปัญหาได้วิธีแก้ปัญหาต่างกันไป เราได้แชร์มุมมองกัน ซึ่งวิธีแก้ปัญหาของคนต่างอาชีพจะไม่เหมือนกัน ทำให้ฝนได้เรียนรู้และเกิดการเรียนรู้ขึ้นมาเอง เช่น พี่นุ้งนิ้งผู้นำกลุ่มเขาไม่ได้เก่งทุกอย่าง แต่เขานำคนที่เก่งมาสอนคนไม่เป็น แล้วคนไม่เป็นก็จะเป็นและเก่ง แล้วก็สามารถไปสอนคนอื่นๆ ต่อไปได้”

อีกสิ่งที่ฝนบอกว่า ได้เรียนรู้จากการทำกิจกรรมจิตอาสา คือควรรู้จักการเป็นผู้ให้อย่างไม่หวังผลก่อน  และความสุขใจก็จะตามมาในภายหลัง

“รอยยิ้มของคนที่เรานำสิ่งของไปให้ทำให้ฝนมีความสุข เราควรให้สิ่งที่เขาต้องการเพื่อประโยชน์สูงสุด เช่น นำเสื้อไหมพรมไปให้คนที่อยู่บนดอย ฝนเคยนำแค่ขนมปี๊บไปให้เด็กตามตะเข็บชายแดน แม้เป็นแค่ขนมปี๊บธรรมดา แต่เด็กๆ กินอย่างเอร็ดอร่อยมาก แต่เด็กอีกกลุ่มที่อยู่ในเมืองเรานำขนมคัพเค้ก ซึ่งเราคิดว่าดีมากๆ แล้วไปให้แต่เด็กกลับไม่สนใจ มันสอนฝนเรื่องนี้ ถ้ามีโอกาสฝนจะกลับไปเยี่ยมเด็กที่ตะเข็บชายแดนอีก เพราะสิ่งที่เราทำให้เด็กๆ มีค่ามากสำหรับเขา”

ฝน พยาบาลจิตใจดี บอกอีกว่า เธอตั้งใจจะทำงานจิตอาสาไปเรื่อยๆ และพยายามหาเวลาว่างไปทำกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เรื่อยๆ เธอตั้งประณิธานเอาไว้