posttoday

'ดิจิทัล สกิล' เตรียมพร้อมสู่ไทยแลนด์โฉมใหม่

23 กันยายน 2560

บุคลากรที่มีทักษะที่ผสมผสานทั้งด้านดิจิทัล (Digital Skill) และมีความรู้ในการบริหารจัดการธุรกิจ การตลาด

โดย โสภิตา สว่างเลิศกุล ภาพ : อีพีเอ/เอเอฟพี/เอพี  

 บุคลากรที่มีทักษะที่ผสมผสานทั้งด้านดิจิทัล (Digital Skill) และมีความรู้ในการบริหารจัดการธุรกิจ การตลาด รวมทั้งมีความสามารถวิเคราะห์ ประเมินผลกระทบก่อนตัดสินใจทางธุรกิจ ได้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานทั่วโลกในยุคปัจจุบันนี้

 การเตรียมบุคลากรที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่จำเป็น เพื่อเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในโลกดิจิทัลมากขึ้น เป็นเรื่องที่เป็นความจำเป็นอย่างเร่งเร็วและรอช้ามิได้ เพราะหนึ่งในทรัพยากรที่สำคัญสำหรับการประสบความสำเร็จในการออกแบบและการใช้กลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลคือการมีผู้นำขององค์กรและพนักงานที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี แต่ความหลากหลายของนวัตกรรมดิจิทัลเทคโนโลยีใหม่เองก็มีส่วนเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลด้วยเช่นกัน

 องค์กรจำเป็นต้องพัฒนาทักษะเฉพาะทางด้านนวัตกรรมดิจิทัลให้กับพนักงานก่อนที่จะเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลอย่างแท้จริง โดยองค์กรต้องมุ่งเน้นไปที่แนวโน้มของเทคโนโลยีบางอย่าง เช่น ระบบเซ็นเซอร์ หรือ IoT เพื่อใช้ในการสนับสนุนศักยภาพทางธุรกิจในองค์กร โดยจะเป็นการเปลี่ยนกระบวนการดำเนินงานให้เป็นอัตโนมัติ และเพิ่มกระแสรายได้ใหม่ ผ่านผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นแบบดิจิทัลเพิ่มขึ้น

'ดิจิทัล สกิล' เตรียมพร้อมสู่ไทยแลนด์โฉมใหม่

 แต่กระนั้นทรัพยากรบุคคลที่สามารถพัฒนาทักษะทางด้านเทคโนโลยีดังกล่าว มักจะมีจำกัดภายในองค์กร ถ้าในแง่นี้องค์กรก็ต้องรู้ว่าควรจะลงทุนเรื่องการพัฒนาทักษะให้กับพนักงานคนไหนและทักษะที่ขาดแคลนด้านอะไร เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรเหล่านี้

 คำจำกัดความของคำว่า ดิจิทัล สกิล (Digital Skill) หมายความรวมๆ ถึงการมีความรู้ความสามารถในการใช้งานคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ดิจิทัลในการเชื่อมต่อสู่อินเทอร์เน็ต ไปจนถึงความสามารถในการพัฒนาซอฟต์แวร์ต่างๆ ได้ และสามารถเข้าใจหรือเลือกทำในสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดผลในเชิงลบต่อตนเองบนโลกออนไลน์ เช่น การไม่หลงกลเทคนิคฟิชชิ่ง การไม่โพสต์คอนเทนต์ที่เป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามผู้อื่น ฯลฯ

 ความสำคัญควบคู่ไปกับความรู้คือเรื่องของทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นรากฐานในการปลูกฝังวิธีคิดและทัศนคติต่อไป ดิจิทัล สกิล เป็นหนึ่งในชุดทักษะขั้นพื้นฐานสำคัญที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการสร้างขีดความสามารถขององค์กรและของประเทศ

 จากผลการวิจัยของ ICDL-International Computer Drivers Licence ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่มุ่งหวังผลกำไร ซึ่งทำหน้าที่ยกระดับมาตรฐานดิจิทัล สกิล ของกำลังคนในทวีปยุโรป ได้เปิดเผยผลการวิจัย พบว่าบุคลากรที่มีดิจิทัล สกิล อยู่ในระดับมาตรฐานนั้น จะมีประสิทธิภาพในการทำงาน สรุปได้ดังนี้ ลดเวลาการทำงาน 36 นาที/วัน/คน ลดเวลาในการเรียกเจ้าหน้าที่ทางด้านไอทีเหลือ 10% จากเดิม 40% เนื่องจากสามารถแก้ปัญหาขั้นพื้นฐานได้ด้วยตนเอง สุดท้ายเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานขององค์กรโดยรวมถึง 22%

พลังขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม

 เมื่อปลายเดือน ก.ค. 2560 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดสถาบันพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลภาครัฐ (Thailand Digital Government Academy) และเปิดการอบรมหลักสูตรรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริหารระดับสูง (รอส.) รุ่นที่ 3

 พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "นโยบายการเตรียมความพร้อมของบุคลากรภาครัฐเพื่อรองรับการก้าวไปสู่ Digital Thailand" และเป็นสักขีพยานพิธีลงนาม บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ และหน่วยงานพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ยกระดับศักยภาพบุคลากรภาครัฐด้านดิจิทัล 

 โดยสถาบันพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลภาครัฐจะเป็นแกนหลัก เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรภาครัฐด้านดิจิทัล ที่บุคลากรภาครัฐทุกระดับต้องผ่านการอบรมจากสถาบันนี้ด้วยหลักสูตรที่เหมาะสมกับความสามารถทางด้านดิจิทัลในแต่ละระดับ หรือ Digital Literacy ของแต่ละบุคคล

 ย้อนกลับไปในการจัดงาน OSSC Forum ครั้งที่ 3 IT Update : Digital skill เพื่อก้าวเข้าสู่ Thailand 4.0 โดย ไชยเจริญ อติแพทย์ ผู้ทรงคุณวุฒิและเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งดำรงตำแหน่งหลากหลายดังนี้ คณะกรรมการบริหาร สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) คณะกรรมการจัดหาคอมพิวเตอร์ของรัฐ องค์คณะ อ.ก.พ. วิสามัญเกี่ยวกับการสร้างและพัฒนาคุณภาพกำลังคนภาครัฐ ก.พ. คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบสารสนเทศ สมาคมสโมสรนักลงทุน (บีโอไอ) คณะกรรมการอำนวยการโครงสร้างพื้นฐานระดับชาติด้าน e-Science President ASEAN CIO ASSOCIATION, ACIOA

 ไชยเจริญ ได้มาบรรยายถึงดิจิทัล สกิล ซึ่งได้ข้อสรุปคร่าวๆ กว้างๆ โดยประมาณ โดยเริ่มพูดถึงภาวะผู้นำในยุค Thailand 4.0 อาจกล่าวได้ว่า หนึ่งในปัจจัยที่สร้างความสำเร็จให้แก่องค์กรนั้น ย่อมหนีไม่พ้นเรื่องของภาวะผู้นำ (Leadership) ของผู้บริหารองค์กร

 ภาวะผู้นำถือเป็นทุนมนุษย์ของปัจเจกบุคคลที่สามารถสร้างขึ้นได้โดยไม่ยากนัก อย่างไรก็ตาม ในยุคการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาประเทศสู่ยุค Thailand 4.0 ที่มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยน โครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ “Value–Based Economy” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” โดยมุ่งเน้นการเปลี่ยนจากการผลิตสินค้า “โภคภัณฑ์” ไปสู่สินค้าเชิง “นวัตกรรม” เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม รวมทั้งเปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้าไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น

 ดังนั้น เมื่อการพัฒนาประเทศปรับเปลี่ยนการขับเคลื่อนเช่นนี้ องค์การที่ดำเนินงานในประเทศไทย ย่อมต้องมีการปรับเปลี่ยนองคาพยพให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาหลักของประเทศ "ภาวะผู้นำ" ของผู้บริหารองค์กร จึงต้องได้รับการส่งเสริมให้สอดคล้องกับยุค Thailand 4.0 ด้วย

 สิ่งแรกที่ทุกคนควรทำความเข้าใจคือ ภาวะผู้นำ (Leadership) คืออะไร ภาวะผู้นำ (Leadership) : ความสามารถของผู้นำในการทำให้บุคคลอื่นปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กร เมื่อผู้นำต้องสามารถทำให้บุคคลอื่นปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดได้จึงนำเสนอทฤษฎีว่าด้วยคุณลักษณะเฉพาะของผู้นำ (Trait Theory) ในการนำไปสู่การพัฒนาตามโมเดล Thailand 4.0 ดังนี้

 + คุณลักษณะทางความคิดและสติปัญญา (Conceptual Characteristics) หมายความว่า ผู้นำต้องมีความฉลาด หลักแหลม คิดวิเคราะห์และคาดการณ์ได้อย่างเป็นระบบ เล็งเห็นถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งกำหนดแนวทางตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในแบบโมเดลการพัฒนาประเทศแบบ Thailand 4.0

'ดิจิทัล สกิล' เตรียมพร้อมสู่ไทยแลนด์โฉมใหม่

 + คุณลักษณะทางความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น (Interpersonal Characteristics) หมายถึง ผู้นำต้องมีทักษะในการสื่อสาร มีทัศนคติเชิงบวก เป็นตัวอย่างที่ดีกับสังคม เนื่องจากในยุค Thailand 4.0 นั้น เป็นยุคแห่งการใช้ความคิดสร้างสรรค์สรรค์สร้างนวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการวิจัยและพัฒนาต่างๆ ซึ่งต้องอาศัยการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างบุคคลและระหว่างองค์กรเป็นอย่างมาก

 + คุณลักษณะทางด้านการทำงาน (Technical Characteristics) หมายถึง ผู้นำต้องมีความรู้เข้าใจ ความสามารถในการปฏิบัติงาน สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น มีวิธีการถ่ายทอดและสอนงานให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชา

 + คุณลักษณะส่วนตัว (Personal Characteristics) ที่ส่งเสริมต่อการขับเคลื่อนในยุค Thailand 4.0 เช่น ความมั่นใจในตนเอง มีความรับผิดชอบสูง/มุ่งมั่นตั้งใจ มีความรอบคอบ/กระตือรือร้น เป็นต้น

+ คุณลักษณะทางกายภาพ (Physical Characteristics) หมายถึง อายุ ส่วนสูง พละกำลัง น้ำหนัก คุณลักษณะนี้อาจเป็นส่วนสนับสนุนในการสร้างความน่าเชื่อถือของผู้นำแต่ละคนในการใช้ภาวะผู้นำต่อผู้ใต้บังคับบัญชา เสมือนคำกล่าวที่ว่า "บุคลิกภาพที่ดีส่งผลต่อความน่าเชื่อถือ"

 + คุณลักษณะทางพื้นฐานสังคม (Social Background Characteristics) เช่น ประวัติการศึกษาของผู้นำที่มีส่วนในการสร้างเครือข่ายการพัฒนาองค์กรได้ ซึ่งการขับเคลื่อนด้วยพลังประชารัฐ หมายถึง ผู้นำไม่สามารถขับเคลื่อนได้โดยลาพัง แต่ต้องมีเครือข่ายเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนด้วย-ทักษะที่จำเป็นในการทำงานยุค Thailand 4.0

 ไชยเจริญ ได้ย้ำถึงความเป็นดิจิทัล ลีดเดอร์ชิป หรือภาวะผู้นำในยุคดิจิทัลที่ต้องมีคือ ยอมรับ

 “ถ้าคุณไม่ยอมรับ ไม่ยอมเรียนรู้ และไม่นำมาใช้ในฐานะผู้นำเพื่อเป็นตัวอย่าง ไม่มีทางที่ประเทศนี้จะก้าวสู่ความเป็นดิจิทัลได้ เทคโนโลยีที่เข้ามาใหม่เจเนอเรชั่นที่เป็นผู้ใหญ่เข้าสู่สูงวัยยังไม่เข้าใจว่ามีประโยชน์อย่างไร ทักษะในเรื่องดิจิทัล ลีดเดอร์ชิป ต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมเดิมที่เคยเป็นมา ต้องมีการครอส บอร์เดอร์”

 สำหรับดิจิทัล สกิล หรือทักษะความชำนาญทางดิจิทัล ต้องประกอบด้วยทักษะการออกแบบและธุรกิจดิจิทัล (Digital Design & Business Skills) ทักษะคิดสร้างสรรค์หรือการคิดวิเคราะห์ (Creative & Critical Thinking Skills) ทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลและข่าวสาร (Database & Information Analytical Skills) ทักษะความสามารถที่หลากหลาย (Multi-skills) ทักษะการสร้างความสัมพันธ์และสื่อสารระหว่างบุคคล (Interpersonal & Communication Skills)-ความปลอดภัยในการทำงานยุค Thailand 4.0 ความปลอดภัย สำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของ Thailand 4.0

 ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าสู่ยุคดิจิทัลด้วยการปรับใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อพัฒนาศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้โมเดล "Thailand 4.0" ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีและการพัฒนาระบบดิจิทัล เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิต กำลังการผลิต และประสิทธิภาพการทำงาน หัวใจสำคัญของการพัฒนาสู่ "Thailand 4.0" ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคและการใช้ชีวิตประจำวันแบบดิจิทัลที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

 ปัจจุบันคนไทยใช้เวลากับอินเทอร์เน็ต และการใช้งานสมาร์ทโฟนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่าง มาก ทุกวันนี้องค์กรต่างๆ เปิดตัวโมเดลธุรกิจใหม่ๆ กันอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นของผู้บริโภคชาวไทยสำหรับดิจิทัลคอนเทนต์ ผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ

 ด้วยเหตุนี้ ไชยเจริญ จึงมองว่า “ระบบรักษาความปลอดภัย” จึงถือเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการเติบโตของโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่ต้องอาศัยความน่าเชื่อถือ และจะได้รับการใช้งานอย่างกว้างขวางก็ต่อเมื่อผู้บริโภคเชื่อมั่นในความสามารถขององค์กรนั้นๆ ในการปกป้องข้อมูลส่วนตัวและสร้างความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค ดังนั้นปัจจัยสำคัญของการก้าวเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 คือการวางรากฐานให้มั่นคงในอนาคต

 “อยากกระตุ้นยังเจเนอเรชั่นว่าสิ่งที่สำคัญคือเรื่องวิชั่น แพลนนิ่ง แล้วก็ต้องทำถึงจะเผชิญอุปสรรคต้องแก้ไข ถ้าคุณไม่พร้อมก็อยู่ไม่ได้ คุณไม่มีวันจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้เลย ถ้าคุณไม่กล้า…”

'ดิจิทัล สกิล' เตรียมพร้อมสู่ไทยแลนด์โฉมใหม่

กรณีศีกษา “Digital Skills Metro Map” ของไอร์แลนด์

 บีบีซีรายงานว่าปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีดิจิทัล สกิล (Digital Skill) กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ของโลก แม้แต่ประเทศอังกฤษที่พบว่าในแรงงานวัยผู้ใหญ่นั้นมีมากถึง 12.6 ล้านคนที่ขาดทักษะดังกล่าว ในขณะที่มี 5.8 ล้านคน ไม่เคยใช้งานอินเทอร์เน็ตมาก่อนเลย ซึ่งอังกฤษต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัล สกิล อีกราว 7.45 หมื่นตำแหน่ง ภายในปี 2017 การขาดแรงงานที่มีดิจิทัล สกิล ยังทำให้อังกฤษสูญเสียโอกาสในภาคธุรกิจคิดเป็นมูลค่าราว 63,000 พันล้านปอนด์/ปีด้วย

 ในบทความ “Digital Skill ที่คนไทยควรมีถ้าจะต้องก้าวไปสู่ Thailand 4.0” โดย รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ สถาบันไอเอ็มซี (IMC Institute) ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของคนในอุตสาหกรรมไอซีที และกลุ่มนักวิชาการ โดยการสนับสนุนของสมาคมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) ที่ต้องการเห็นการขับเคลื่อนของอุตสาหกรรมไอซีทีไทยให้สามารถที่จะแข่งขันบนเวทีโลกได้ ท่ามกลางกระแสของการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีสารสนเทศ

 บทบาทและภารกิจของ IMC Institute คือการที่จะเป็นผู้นำในการทำวิจัย และสำรวจข้อมูล ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ ในประเทศไทย ทั้งข้อมูลด้านบุคลากร การสำรวจการใช้งาน ตลอดจนสำรวจแนวโน้มการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศในประเทศ นอกจากนี้ยังจะเน้นในเรื่องของการพัฒนาบุคลากรและสร้างความตระหนัก การใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศให้กับผู้บริหารและองค์กรต่างๆ

 รศ.ดร.ธนชาติ เขียนบอกว่า มีโอกาสเข้าร่วมทำงานเป็นคณะอนุกรรมการวางแผนการผลิตและพัฒนากําลังคนเพื่อรองรับดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital Economy) ของสำนักงานการอุดมศึกษา และได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ใหญ่ในวงการการศึกษาหลายท่านในเรื่องของกำลังคน และทักษะทางด้านดิจิทัลที่คนไทยควรจะมีเพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ

 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลพยายามที่จะเน้นเรื่องของ Thailand 4.0 ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมาก การเตรียมการบุคลากรในอนาคตคงต้องรองรับทั้งกลุ่มที่เป็นนักวิชาชีพด้านไอทีและคนทั่วไปที่เป็นผู้ใช้ที่ต้องมีทักษะด้านดิจิทัลขั้นสูง

 รศ.ดร.ธนชาติ ชี้ให้เห็นภาพกว้างและลึกของดิจิทัล สกิล ของคนไทยว่า โดยมากมักจะเข้าใจว่าคนไทยเก่งด้านการใช้ไอที เด็กรุ่นใหม่เรียนรู้การใช้ไอทีเก่ง ทั้งการใช้คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน การเล่นโซเชียลมีเดีย หรือโปรแกรมต่างๆ แต่ รศ.ดร.ธนชาติ บอกว่าเขามักจะบอกกับคนว่าเด็กไทยขาดทักษะทางด้านดิจิทัล เพราะทักษะทางด้านดิจิทัลไม่ใช่แค่การใช้อุปกรณ์หรือซอฟต์แวร์ และมันมีองค์ประกอบหลายๆ ด้าน เคยบอกว่าเอสเอ็มอีไทยจำนวนมากใช้อีเมลไม่เป็น จริงๆ แล้วทักษะการใช้อีเมลมันมีความหมายมากกว่าการรับส่ง แต่ต้องเข้าใจพฤติกรรมและวัฒนธรรมที่ต้องเปลี่ยนไป เช่น การส่ง cc, bcc หรือการแนบไฟล์ต่างๆ รวมถึงวิธีการส่งที่เหมาะสม แต่คนเราก็ยังมักส่งอีเมลเสมือนว่าเป็นเครื่องมือธรรมดาแบบหนึ่ง แต่ไม่ได้เรียนรู้ทักษะวิธีการเขียน ความสำคัญของการแนบเอกสารหรือการส่งข้อมูลต่างๆ

 รศ.ดร.ธนชาติ ขยายภาพอีกว่า จริงๆ แล้วทักษะดิจิทัลมีเรื่องอื่นๆ ที่สำคัญมากกว่าการใช้เครื่องมืออีกมาก ทุกวันนี้นโยบาย Digital Economy ไปไม่ถึงไหน ส่วนหนึ่งก็ติดที่ทักษะของบุคลากรภาครัฐไม่เพียงแต่ใช้เครื่องมือไม่คล่องแล้ว ยังรวมถึงการขาด Digital Mindset และวัฒนธรรมดิจิทัลในองค์กร การศึกษาเราก็สอนแต่ให้นักเรียน นักศึกษาใช้เครื่องมือโดยไม่เข้าใจคำว่าทักษะดิจิทัลที่เด็กควรมี

 “Digital Skills Metro Map” ของประเทศไอร์แลนด์ ที่ใช้ในการกำหนดองค์ความรู้และทักษะทางด้านดิจิทัลของนักศึกษามหาวิทยาลัยของเขาทุกคน รศ.ดร.ธนชาติ นำมายกตัวอย่างและชี้ว่าแผนที่อันนี้น่าสนใจมากและเป็นแบบ Interactive ถ้าประเทศไทยจะก้าวไปเป็น Thailand 4.0 จะต้องทำให้คนไทยจำนวนมากมีทักษะแบบนี้ให้ได้

 ภาคราชการและภาคเอกชนก็ต้องมีบุคลากรที่มีทักษะดังภาพ ซึ่งเห็นแล้วบุคลากรไทยเรายังห่างไกลกันอีกมาก เผลอๆ กลุ่มแรกที่ต้องจับ Re-skill ก็คือผู้บริหารภาครัฐทั้งหมด แล้วบังคับให้ทำงานแบบใช้ Digital Skill เหล่านี้ พร้อมทั้งต้องสร้าง Digital Mindset/Culture ในทุกองค์กร

 สำหรับทักษะดิจิทัล 6 ด้านที่จำเป็นต้องมีคือ

 1.Tools & Technologies คือความสามารถในการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งอาจเป็นเรื่องยากที่จะตามเทคโนโลยีได้ทันทั้งหมด เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ต้องให้มีทักษะความเข้าใจพื้นฐานว่าเครื่องมือต่างๆ เหล่านี้ ทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ทำงานได้อย่างไร อะไรคือความสามารถของเทคโนโลยีและมีข้อจำกัดอย่างไร จะเห็นได้ว่าต้องครอบคุลมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วยอย่าง Internet of Things หรือ Collaboration Tools

 2.Find & Use ซึ่งไม่ได้แค่ความสามารถในการค้นข้อมูลจากกูเกิล หรือเสิร์ชเอนจิ้นต่างๆ ได้ แต่รวมถึงความสามารถในการที่วิเคราะห์และตัดสินใจข้อมูลที่มีคุณภาพจากข้อมูลที่มีอยู่มากมายในโลกอินเทอร์เน็ตได้ รวมถึงทักษะในการอ้างอิงข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ และเข้าใจถึงลิขสิทธิ์ของข้อมูลและการนำไปใช้

 3.Teach & Learn การเรียนการสอนแบบใหม่จะต้องให้ผู้มีเรียนและผู้สอนมีทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ถูกต้อง การใช้เครื่องมือบางอย่าง เช่น Presentation Tools เป็นเรื่องดี แต่ถ้าขาดทักษะและความเข้าใจที่ดีแล้ว ก็อาจทำให้การเรียนการสอนขาดคุณภาพได้ จึงจำเป็นต้องเข้ากระบวนการการเรียนการสอนแบบใหม่ การใช้เครื่องมือ การออกแบบหลักสูตร และเรื่อง Critical Thinking

'ดิจิทัล สกิล' เตรียมพร้อมสู่ไทยแลนด์โฉมใหม่

 4.Communication & Collaborate โลกของดิจิทัลทำให้ทุกคนเชื่อมต่อกัน สื่อสารกันได้ง่ายขึ้น รูปแบบการทำงานได้เปลี่ยนไป จึงจำเป็นต้องให้มีทักษะในการทำงานแบบใหม่ การใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น อีเมล Video Conference Wiki Messaging Colloboration Tools การแชร์ข้อมูล เพื่อที่จะให้สามารถทำงานร่วมกันได้ในสถานที่ต่างๆ

 5.Create & Innovate เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้สามารถที่จะสร้างนวัตกรรมในรูปแบบต่างๆ ได้มากมาย ทั้งข้อความ รูปภาพ ซอฟต์แวร์ หรือบริการต่างๆ ผู้ทำงานต้องมีทักษะในการสร้างเนื้อหาดิจิทัลเหล่านี้ เช่น Digital Images และ Graphics Design รวมถึงการเขียนโปรแกรมที่คนทุกคนควรมีทักษะ เพื่อที่จะสามารถสร้างสิ่งใหม่ๆ ได้

 6.Identity & Wellbeing โลกดิจิทัลมีความเสี่ยงต่อการใช้งานจากภัยคุกคามต่างๆ เราจำเป็นต้องสอนให้คนมีทักษะที่เข้าใจในเรื่องปกป้องข้อมูลตัวเอง การเก็บรหัสตัวตนต่างๆ รวมถึงความรับผิดชอบในการดูแลและป้องกันข้อมูลของผู้อื่นที่เกี่ยวข้องกับเรา รวมถึงการมีจรรยาบรรณในการใช้งาน

 ปิดท้ายบทความ รศ.ดร.ธนชาติ เขียนสรุปว่า จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นและพอสรุปได้ว่า คนไทยมีทักษะด้านดิจิทัลที่แท้จริงแค่ไหน ถึงเวลาหรือที่ต้องพัฒนาหลักสูตรอย่างจริงจังตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ไม่ใช่ให้แต่เรียนรู้การใช้เครื่องมือแต่มันต้องมีทักษะอื่นๆ อีกมากมาย เช่น Find & Use, Communication & Collorate ทำอย่างไรให้คนจบอุดมศึกษาทั้งประเทศ Coding เพราะต่อไปการใช้เครื่องมือต่างๆ แม้แต่รถยนต์ก็อาจต้องการทักษะแบบนี้ ถึงเวลาที่ต้องมาพัฒนาครูอาจารย์กันใหม่ ข้าราชการก็เป็นกลุ่มที่สำคัญที่ต้องมีทักษะเหล่านี้  ถ้าข้าราชการใหญ่ยังไม่มีทักษะแบบนี้ ต่อให้เปลี่ยนปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมอีกกี่คน Digital Economy ก็คงไปไม่ถึงไหน และนโยบาย Thailand 4.0 ก็คงเป็นแค่ Hit and Run Campaign อีกรายการหนึ่งของภาครัฐ

...........ล้อมกรอบ............

8 ทักษะความเชี่ยวชาญทางดิจิทัล

 สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.) ได้เผยแพร่ “8 ทักษะดิจิทัล (Digital Skills Set)” หัวใจสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ด้านเทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบ โดยการยกระดับคุณภาพบุคลากรภาครัฐให้มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลในสาขาที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้มข้น (Digital Perform) ด้วยทักษะระดับมาตรฐานสากล เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Value-Based Economy) และพัฒนาเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์ พร้อมร่วมผลักดันให้ประเทศก้าวเข้าสู่ Thailand 4.0 ในปี 2017

 1.Digital skill Leadership ทักษะความเป็นผู้นำภายใต้การบริหารงานในยุคดิจิทัล

 2.Digital skill Transformation ทักษะการขับเคลื่อนองค์กรเพื่อนำไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล

 3.Digital skill Governance ทักษะด้านการบริหารงานภายใต้ธรรมาภิบาลที่สอดคล้องกับนโยบายดิจิทัล

 4.Digital skill Project Management  ทักษะการบริหารโครงการในยุคดิจิทัล

 5.Digital skill Technology ทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับศักยภาพองค์กร

 6.Digital Services Design & Assurance ทักษะการออกแบบการให้บริการด้านดิจิทัลเพื่อการพัฒนาคุณภาพ

 7.Digital skill Compliance ทักษะในการประยุกต์ใช้กฎระเบียบ แผนดำเนินงาน นโยบาย และกฎหมายด้านดิจิทัล

 8.Digital skill Literacy ทักษะความรู้เท่าทันในการนำประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการพัฒนาองค์กร