posttoday

Thai-NMSQ แอพเพื่อผู้ป่วยพาร์กินสัน

23 กันยายน 2560

หากกล่าวถึงโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease) คนส่วนใหญ่อาจนึกถึงอาการที่ผิดปกติทางการเคลื่อนไหว เช่น อาการสั่น เคลื่อนไหวช้า กล้ามเนื้อแข็งเกร็งเท่านั้น

 โดย โสภิตา สว่างเลิศกุล          [email protected] 

 หากกล่าวถึงโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease) คนส่วนใหญ่อาจนึกถึงอาการที่ผิดปกติทางการเคลื่อนไหว เช่น อาการสั่น เคลื่อนไหวช้า กล้ามเนื้อแข็งเกร็งเท่านั้น

 แต่ในความเป็นจริงผู้ป่วยพาร์กินสันอาจมีอาการอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากอาการทางการเคลื่อนไหว (non-motor symptoms) ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและผู้ดูแลได้เช่นกัน

 โรคพาร์กินสันเป็นโรคเรื้อรังทางระบบประสาทที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุทั่วโลก หรือประมาณ 1% ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ความชุกของโรคจะพบสูงขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันพบผู้ป่วยพาร์กินสันที่มีอายุน้อยลง หรืออายุประมาณ 40-50 ปี เพิ่มขึ้น

 รศ.นพ.ประวีณ โล่ห์เลขา หน่วยประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า โรคพาร์กินสันเกิดจากการเสื่อมของเซลล์ในระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งมีหน้าที่ในการสร้างสารสื่อประสาทที่เรียกว่า โดปามีน (Dopamine) มีหน้าที่ในการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย

 เมื่อปริมาณของสารโดปามีนลดลงจนไม่เพียงพอต่อความต้องการ จะทำให้เกิดอาการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ เช่น อาการสั่น เคลื่อนไหวช้า กล้ามเนื้อแข็งเกร็งและทรงตัวลำบาก ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะมีการดำเนินโรคแบบค่อยเป็นค่อยไป

 นอกจากนี้ ผู้ป่วยมักมีอาการที่นอกเหนือจากการเคลื่อนไหว เช่น อาการอ่อนเพลีย ซึมเศร้า วิตกกังวล นอนไม่หลับ นอนละเมอ ท้องผูก ปัสสาวะลำบาก หลงลืมง่าย ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการที่นอกเหนือจากการเคลื่อนไหวมาก่อนกลุ่มอาการทางการเคลื่อนไหวอีกด้วย

Thai-NMSQ แอพเพื่อผู้ป่วยพาร์กินสัน

 

 “กลุ่มอาการที่นอกเหนือจากการเคลื่อนไหว เช่น อาการท้องผูกเป็นประจำ อาการนอนละเมอคล้ายตอบสนองต่อความฝัน (REM Behavior Disorder, RBD) อาการซึมเศร้าและความผิดปกติของการดมกลิ่นหรือรับรส สามารถพบได้ตั้งแต่ก่อนที่ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการทางการเคลื่อนไหว

 "ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเหล่านี้นำมาก่อนล่วงหน้าได้นานถึง 5-10 ปี อาการวิตกกังวล ปวดเกร็ง ปัสสาวะลำบาก อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ สามารถพบได้ในทุกระยะของโรค อาการหลงลืมง่าย ประสาทหลอน กลืนลำบาก สำลัก และทรงตัวลำบาก มักเป็นอาการที่ตามมาในระยะหลัง ประวัติของอาการในข้างต้นและการดำเนินโรคมีความสำคัญและมีส่วนช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยโรค”

 ผู้ป่วยพาร์กินสันแต่ละรายอาจมีอาการที่นอกเหนือจากการเคลื่อนไหวที่มากน้อยแตกต่างกัน หากผู้ป่วย ผู้ดูแลและแพทย์ตระหนักถึงปัญหาของอาการที่นอกเหนือจากการเคลื่อนไหวที่เป็นปัญหาหลักของผู้ป่วยได้อย่างชัดเจน ก็จะสามารถช่วยให้แพทย์ทำการรักษาได้อย่างละเอียดและถูกต้องมากยิ่งขึ้น

 ชมรมพาร์กินสันไทยและหน่วยประสาทวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้ร่วมกันพัฒนาแอพพลิเคชั่น Thai-NMSQ เพื่อเป็นเครื่องมือในการคัดกรองอาการที่นอกเหนือจากการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ซึ่งจะทำให้ได้ผลการรักษาที่ยั่งยืนและเหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด

 แอพพลิเคชั่น Thai-NMSQ ได้รับการออกแบบมาเพื่อเป็นแบบสอบถามอาการที่นอกเหนือจากการเคลื่อนไหวจำนวน 40 ข้อ ด้วยคำถามพร้อมภาพประกอบที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจแบ่งเป็น 10 หมวดหมู่ ได้แก่                        

 1.ปัญหาการนอนหลับและอาการอ่อนเพลีย 

 2.ปัญหาระบบไหลเวียนโลหิตและการอาการหกล้ม   

3.ปัญหาทางอารมณ์และพฤติกรรม

 4.ปัญหาด้านการรับรู้และอาการประสาทหลอน

 5.ปัญหาด้านความจำและสมาธิ

 6.ปัญหาทางระบบทางเดินอาหาร

 7.ปัญหาทางระบบทางเดินปัสสาวะ

 8.ปัญหาทางเพศ

 9.ปัญหาอื่นๆ

 10.อาการขาดความยับยั้งชั่งใจ ซึ่งอาจเป็นผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยยา

 โดยแต่ละคำถามนั้นจะมีระดับความถี่ของอาการในช่วงหนึ่งเดือนให้ผู้ป่วยได้เลือก พร้อมสรุปผลและบันทึกเป็นภาพ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการนำไปเป็นข้อมูลให้แพทย์ทำการวินิจฉัยต่อไป

 “การพัฒนาแอพพลิเคชั่น Thai-NMSQ นอกจากจะช่วยให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลสามารถจดจำอาการของผู้ป่วยได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังช่วยลดความเป็นกังวลของผู้ป่วยว่าอาการต่างๆ จะเป็นสัญญาณเสี่ยงถึงโรคอื่นๆ หรือไม่ รวมถึงย่นระยะเวลาการซักประวัติและการวินิจฉัยของแพทย์อีกด้วย” รศ.นพ.ประวีณ โล่ห์เลขา กล่าวเพิ่มเติม

 ผู้ป่วยและผู้ดูแลรวมถึงแพทย์สามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น Thai-NMSQ ฟรี ได้แล้วที่ App Store สำหรับระบบปฏิบัติการ iOS และที่ Google Play Store สำหรับระบบระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์